ตึกโดม หรือ แม่โดม (ชื่อที่นิยมเรียกอย่างเคารพของบุคคลภายในมหาวิทยาลัย) แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการออกแบบโดย นายจิตรเสน (หมิว) อภัยวงศ์ ด้วยการเชื่อมต่ออาคารทั้ง 4 หลัง ที่เป็นของกองพันทหารราบที่ 4 เดิม เข้าเป็นตึกเดียวกัน โดยจุดเชื่อมตรงกลางระหว่างอาคารที่ 2 และ 3 ได้ออกแบบให้มีลักษณะโดนเด่น ซึ่งศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้ให้แนวคิด เพื่อให้เป็นสถาปัตยกรรม ที่มีลักษณะที่โดดเด่น ไม่ได้เลียนแบบชาติอื่นแต่อย่างใด
ตึกโดมในปัจจุบัน คงเหลือเพียงอาคาร 2 และ 3 เดิม เท่านั้น เนื่องได้มีการทุบตึกฝั่งเหนือและใต้ออกเพื่อสร้างตึกคณะเศรษฐศาสตร์ สำนักหอสมุด (หอสมุดปรีดี พนมยงค์) และอาคารเอนกประสงค์
แต่อีกนัยหนึ่ง โดม หมายถึง ดินสอเขียนฟ้า นั่นคือ โดมเปรียบประดุจดินสอ ที่ใช้จดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ มากมายลงบนท้องฟ้า
บริเวณชั้น 3 เป็นหอเกียรติยศ และพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นวันธรรมศาสตร์
สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เสนอชื่ออาคารโดมธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตึกโดม แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ได้รับพระราชทานรางวัล อาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทสถาบันและอาคารสาธารณะ ในงานสถาปนิก 48 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี