ตำรวจไทย หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ตำรวจแห่งชาติ (อังกฤษ: Royal Thai Police) เป็นตำรวจแห่งชาติของประเทศไทย ประกอบด้วย บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง มีฐานะเป็นกรม และอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ตรวจตรารักษาความสงบ จับกุม และปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย เป็นผู้ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงในการดูแลคุ้มครอง ให้เกิดความสงบสุขแก่พลเมืองของประเทศ
คำว่า โปลิศ เป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษคือ Police ใช้เรียกผู้ทำหน้าที่ตำรวจที่จัดตั้งอย่างเป็นองค์กรเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยได้ทรงพระกรุณาฯโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้นายร้อยเอก แซมมวล โยเซฟ เบิร์ด เอมส์ เป็นผู้จัดตั้งกองโปลิศเมื่อ พ.ศ. 2403 มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศแทนข้าหลวงกองจับและกองตระเวนซ้ายขวา องค์กรตำรวจที่ตั้งขึ้นใหม่นี้โดยมากจ้างพวกแขกมลายูและแขกอินเดียมาเป็นตำรวจเรียกกองตำรวจนี้ว่ากองโปลิศคอนสเตเบิ้ล ต่อมาจึงมาใช้คนไทย
คำว่า พลตระเวน เป็นคำที่แปลงคำเรียกตำรวจอีกคำหนึ่งคือ COP ย่อมาจาก Constable of Patrol เป็นคำภาษาอังกฤษ แปลว่า ตำรวจลาดตระเวน หรือ พลตระเวน โดยหลังจากที่ทรงพระกรุณาฯโปรดเกล้าฯตั้งกองโปลิศ เมื่อปี พ.ศ. 2403 แล้ว ต่อมาก็ได้เปลี่ยนชื่อกองโปลิศ เป็นกองพลตระเวน ซึ่งในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 นี้ มีองค์กรที่ทำหน้าที่ตำรวจ 2 หน่วย คือ กองพลตระเวนขึ้นกับกระทรวงนครบาล กับกรมตำรวจภูธร ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ทั้ง 2 หน่วยนี้ต่างทำหน้าที่เป็นตำรวจเช่นเดียวกัน ต่อมา พ.ศ. 2458 สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ รวมกองพลตรวะเวนกับกรมตำรวจภูธร เรียกชื่อว่า "กรมตำรวจ"
ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ตำรวจไว้ใน ลักษณะที่ 1 บททั่วไป มาตรา 6 สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
อำนาจของตำรวจตามพฤตินัย ตำรวจมีแนวทางในการประพฤติปฏิบัติหน้าที่ ตามประเพณีที่เป็นแบบอย่างดังนี้ ตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและมีอำนาจจะสอบสวน จับกุม คุมขัง ปราบปราม เป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่อำนาจเหล่านี้สามารถสร้างคุณและโทษได้เท่าๆ กัน สุดแต่การใช้ ตำรวจทุกคนจึงจำเป็นต้องควบคุมจิตใจให้มั่นคง
มีการพบหลักฐานกิจการตำรวจที่เก่าแก่ที่สุดของไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดเกล้าฯ ให้ตราระเบียบการปกครองบ้านเมืองเป็น 4 เหล่า เรียกว่า จตุสดมภ์ ได้แก่ เวียง วัง คลัง นา ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้มีตำรวจขึ้นด้วยและให้ขึ้นอยู่กับกรมเวียง มีเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี เป็นผู้บังคับบัญชา
กิจการตำรวจครั้งนั้นแบ่งออกเป็นตำรวจพระนครบาล ตำรวจภูธร ส่วนตำรวจหลวงให้ขึ้นอยู่กับวัง มีเจ้าพระยาธรรมาธิบดีศรีรัตนมณเฑียรบาล เป็นผู้บังคับบัญชา และโปรดเกล้าฯ ให้ตราศักดินาของตำรวจไว้เป็นบรรทัดฐานในบทพระอัยการระบุตำแหน่งนายพลเรือน เช่นเดียวกับข้าราชการฝ่ายอื่น ดังนี้
นอกจากนี้ยังมีเอกสารหลายชิ้นที่แสดงว่าบุคคลที่จะเป็นตำรวจได้นั้นต้องคัดเลือกจากผู้ที่มีชาติกำเนิดสืบเชื้อสายมาจากตระกูลที่ได้ทำคุณความดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และต้องเป็นบุคคลที่ทรงวางพระราชหฤทัย การบังคับบัญชาตำรวจก็ต้องขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะแต่พระองค์เดียว กิจการตำรวจในยุคนี้จะจัดตั้งเพื่อให้ทำหน้าที่ในวงจำกัด และมิได้ขยายไปยังส่วนการปกครองทั่วประเทศเท่าไหร่นัก แต่เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป มีการติดต่อกับชาวต่างประเทศมากขึ้น กรมตำรวจจึงได้รับความสนใจที่จะปรับปรุงรูปแบบเพื่อให้เป็นไปตามแบบอย่างประเทศตะวันตก
กิจการตำรวจระหว่างปี พ.ศ. 2403 ถึง พ.ศ. 2475 เป็นสมัยที่ได้มีการปฏิรูปการปกครองประเทศไทยอย่างขนาดใหญ่ในทุกๆ ด้าน ตามแบบอย่างอารยประเทศตะวันตก เริ่มปรากฏมีหลักฐานว่า ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ครุฑ) เป็นแม่กอง รับผิดชอบกองโปลิศ (POLIS) หรือกรมกองตระเวน ขึ้นครั้งแรก โดยจ้าง ชาวพม่า อินเดีย สิงคโปร์ เริ่มทำงานครั้งแรกที่ย่านตลาดพาหุรัด ในพระนคร และต่อมาในปี พ.ศ. 2405 ได้ว่าจ้าง กัปตัน เอส.เย.เบิร์ด เอมส์ (Captain Sammoal Joseph Bird Ames) ชาวอังกฤษ ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็น หลวงรัฐยาภิบาลบัญชา มาเป็นผู้พิจารณาวางโครงการจัดตั้งกองตำรวจ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเขตนครหลวงตามแบบอย่างยุโรปขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เนื่องจากเหตุทางการเมืองระหว่างประเทศในสมัยนั้นซึ่งเป็นยุคที่ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส โปรตุเกส ฮอลันดา กำลังแข่งขันกันหาเมืองขึ้นในทวีปเอเชีย การจัดระเบียบการปกครองประเทศขณะนั้นจึงเพ่งเล็งไปในด้านป้องกันประเทศเป็นหลักใหญ่ นโยบายการตำรวจก็ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายการเมืองระหว่างประเทศและทหารด้วยเป็นธรรมดา
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 การปรับปรุงการตำรวจ นอกจากได้ขยายงานตำรวจนครบาลโดยให้ นาย เอ.เย.ยาดิน (A.J.Jardine) มาช่วยงานเพิ่มขึ้นแล้ว ยังได้จัดตั้งตำรวจภูธรขึ้นในรูปทหารโปลิศ เมื่อ พ.ศ. 2419 สำหรับเป็นกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในส่วนภูมิภาคและให้สามารถปฏิบัติการทางทหารได้ด้วย โดยว่าจ้าง นาย ยี.เชา. (G.Schau) ชาวเดนมาร์คมา เป็นผู้วางโครงการ ผู้บังคับบัญชาส่วนมากก็โอนมาจากนายทหาร ต่อมาใน พ.ศ. 2420 ได้เปลี่ยน "กองทหารโปลิศ" เป็น "กรมกองตระเวนหัวเมือง" จนถึงปี พ.ศ. 2440 ได้ตั้ง "กรมตำรวจภูธร" ขึ้นแทนกรมกองตระเวนหัวเมือง โดยมี พลตรีพระยาวาสุเทพ (ยี.เชา.) เป็นเจ้ากรมตำรวจภูธร
ในปี พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมาเพื่อผลิตนายตำรวจให้ทำหน้าที่ผู้บังคับหมวดรับราชการในกรมตำรวจภูธร โดยในขณะนั้นมีนายร้อยโท ม.ร.ว.แดง (หม่อมแดง) ผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 3 นครราชสีมา ทำหน้าที่เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรคนแรก ถือเป็นรากฐานเริ่มต้นของโรงเรียนนายร้อยตำรวจยุคปัจจุบัน ซึ่งในปี ร.ศ.121 (พ.ศ. 2445) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชหัตถเลขาถึงกรมหลวงดำรงราชานุภาพ มีพระบรมราชานุญาตโปรดเกล้าฯให้ย้ายที่ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจจากมณฑลนครราชสีมา ไปตั้งอยู่ที่ ต.ห้วยจระเข้ จ.นครปฐม ตามการกราบบังคมทูลขอของกรมหลวงดำรงราชานุภาพ
กำลังพลในระยะแรกใช้ตำรวจ แต่ต่อมาเมื่อทางทหารได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ทางตำรวจภูธรก็ได้ขออนุมัติใช้กฎหมายฉบับนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2448 ได้เกณฑ์คนเข้าเป็นตำรวจด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อได้จัดตั้งกรมตำรวจภูธรขึ้นแล้ว ก็ได้พยายามขยายการตำรวจไปยังหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคตามลำดับ เพื่อให้มีกำลังตำรวจสำหรับป้องกันปราบปรามโจรผู้ร้าย อำนวยความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่ประชาชาชน
ต่อมาได้ขยายกิจการตำรวจภูธรไปยังหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ทางด้านตำรวจนครบาลก็ได้ว่าจ้าง นาย อีริค เซนต์ เจ.ลอซัน (Mr. Eric Saint J.Lawson) ชาวอังกฤษเข้ามาช่วยอีกคนหนึ่ง
กิจการตำรวจในยุคนี้ขึ้นอยู่กับ 2 กระทรวงคือ กระทรวงนครบาล (กรมพลตระเวน หรือ ตำรวจนครบาล) และกระทรวงมหาดไทย (กรมตำรวจภูธร) และต่อมาได้รวมเป็นกรมเดียวกันภายใต้การบังคับบัญชาของอธิบดีคนเดียวกันเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2458 เรียกว่า "กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน" กรมตำรวจจึงถือว่าวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันตำรวจ และในปลายปีนั้นเองได้เปลี่ยนเป็น "กรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาล" ยกฐานะเจ้ากรมขึ้นเป็นอธิบดี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2465 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมกระทรวงนครบาลกับกระทรวงมหาดไทยเข้าเป็นกระทรวงเดียวกันเรียกว่า กระทรวงมหาดไทย กรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาลจึงโอนมาขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย และในปี พ.ศ. 2469 ได้เปลี่ยนนามกรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาลเป็น "กรมตำรวจภูธร" แต่ยังคงแบ่งตำรวจออกเป็น 2 ประเภทคือ
หลังจากที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว กิจการตำรวจได้แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ตามประกาศเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเรื่องการแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ พ.ศ. 2475 คือ
หลังจากที่ได้ปรับปรุงกิจการตำรวจเพื่อวางรากฐานตำรวจในระบอบประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ. 2475 แล้ว กรมตำรวจได้ปรับปรุงการบริหารให้ดีขึ้น และเหมาะสมสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมปริมาณและคุณภาพของงานเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2541ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาโอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ไปจัดตั้งเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีการบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
ธงชัยประจำหน่วยตำรวจ นี้ เป็นธงซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้รับพระราชทานเป็นครั้งแรกจำนวน 6 ธง เมื่อวันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2495 ณ ลานพระราชวังดุสิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ในการพระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยตำรวจด้วยพระองค์เอง ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2495 ความสำคัญของธงชัย ลักษณะ การได้มาของธงชัยประจำหน่วยตำรวจ มีลักษณะเช่นเดียวกับธงชัยเฉลิมพลของทหารทุกประการ โดยผืนธงมีสีลักษณะเดียวกับธงชาติ ที่ซุ้มยอดธงบรรจุเส้นพระเกศา (เส้นพระเจ้า) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และบรรจุพระพุทธรูปองค์เล็ก เรียกว่า "พระยอดธง" เอาไว้ อันมีความหมายว่าธงชัยนี้เป็นตัวแทนของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่ข้าราชการตำรวจทั้งหลาย และประชาชนชาวไทยให้ความเคารพนับถือ โดยความสำคัญของธงชัยประจำหน่วยตำรวจนี้ ปรากฏในพระบรมราโชวาทในวันพิธีสวนสนามและพระราชทานธงชัยประจำหน่วยตำรวจเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2495 ความตอนหนึ่งที่ว่า
“...ในการที่ข้าพเจ้าได้มอบธงชัยให้แก่หน่วยต่างๆในกรมตำรวจในวันนี้ ก็โดยที่ระลึกว่า หน้าที่สำคัญของตำรวจทั้งหลายในปัจจุบัน มิใช่เพียงรักษาความสงบภายในบ้านเมืองเท่านั้น แต่ต้องป้องกันความไม่สงบที่อาจจะมาจากภายนอกประเทศอีกด้วย ธงนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะเป็นสัญลักษณ์แทนตัวข้าพเจ้า ผู้ซึ่งเอาใจใส่ตัวท่านทั้งหลายตลอดเวลา เพราะเป็นที่หมาย ที่เคารพในเวลาที่กองตำรวจได้เข้าเป็นหมวดหมู่อยู่ประจำ และเมื่อถึงวาระจำเป็นที่คับขัน เมื่อท่านได้ระลึกถึงธงชัยนี้แล้ว ก็จะเป็นเครื่องชักนำให้องอาจกล้าหาญ และร่าเริงใจที่จะประกอบหน้าที่ บำเพ็ญตนให้สมกับเป็นตำรวจของชาติไทย อย่าให้ผู้ใดติเตียนว่าเราเกิดมาเสียชาติเกิดได้ ฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงรับธงนี้ไว้ด้วยความรัก และความเคารพเทิดทูน และพิทักษ์รักษาธงนี้ไว้ยิ่งกว่าชีวิตตน และให้เป็นมิ่งขวัญที่เป็นศักดิ์ศรีของกรมตำรวจสืบไป ...”
และปรากฏในพระบรมราโชวาทในวันพิธีสวนสนามและพระราชทานธงชัยประจำกองโรงเรียนตำรวจภูธรภาค 4 วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2496 ความตอนหนึ่งว่า
“... ข้าพเจ้าได้มอบธงชัย ประจำกองโรงเรียนตำรวจภูธรภาค 4 ในวันนี้ก็โดยเห็นว่า กองโรงเรียนนี้เป็นแหล่งฝึก และอบรมตำรวจส่วนหนึ่ง เพื่อเพิ่มพูนกำลังของประเทศชาติ ในด้านรักษาความสงบภายใน และทั้งป้องกันความไม่สงบ อันจะมีมาจากภายนอกประเทศด้วย จึ่งสมควรจะได้มีธงประจำกองนี้ไว้เป็นมิ่งขวัญประจำกอง เพราะธงชัยนี้เป็นเสมือนเครื่องหมายแทนชาติ สาสนา และตัวข้าพเจ้า จงพิทักษ์รักษาธงนี้ด้วยความรักและเคารพให้ยิ่งกว่าชีวิตของตน เพื่อเป็นมิ่งขวัญ และศักดิ์ศรีของกรมตำรวจสืบไป ...”
โดยธงชัยประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจนั้น จะมีการเชิญไปกระทำพิธีกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของนักเรียนนายร้อยตำรวจ เนื่องในวันตำรวจ 13 ตุลาคม ของทุกปีตลอดมา
แม้ว่าธงชัยประจำหน่วยต่างๆของตำรวจจะมิได้ปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522 แต่เมื่อพิจารณาถึงการได้รับพระราชทาน การพระราชพิธีตรึงหมุดธงโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความสำคัญของธง ลักษณะต่างๆ ของธง และเอกสารหลักฐานต่างๆ ของสำนักราชเลขาธิการที่เรียกธงดังกล่าวว่า “ธงชัยเฉลิมพล” มาโดยตลอด ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า “ธงชัยประจำกอง” ประจำหน่วยตำรวจที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกันกับธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารทุกประการ ทั้งนี้ ตามหลักฐานของส่วนราชการต่างๆ ได้กล่าวถึงธงชัยประจำหน่วยตำรวจในชื่อต่างๆ ได้แก่ “ธงชัยเฉลิมพลประจำกอง” หรือ “ธงประจำกอง” หรือ “ธงชัย” หรือ “ธงชัยประจำกอง” ของหน่วยตำรวจ ซึ่งล้วนเป็นธงเดียวกัน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แบ่งส่วนราชการดังนี้ ก. สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แบ่งเป็นส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากองบัญชาการ ดังต่อไปนี้