ตะวันออกกลาง คือ พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ซึ่งประกอบด้วยดินแดนรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางด้านใต้และตะวันออก ซึ่งเป็นอาณาบริเวณที่ต่อเนื่องจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกไปยังอ่าวเปอร์เซีย เอเชียตะวันออกกลางเป็นอนุภูมิภาคของแอฟริกา-ยูเรเชีย หรือให้เฉพาะเจาะจงลงไปก็คือทวีปเอเชีย และบางส่วนของแอฟริกา สามวัฒนธรรมหลักของภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลางได้แก่ วัฒนธรรมเปอร์เซีย วัฒนธรรมอาหรับ และวัฒนธรรมตุรกี
อิทธิพลของวัฒนธรรมทั้งสามนี้ ได้ก่อกำเนิดเชื้อชาติและภาษาที่แตกต่างกันสามกลุ่ม คือ เปอร์เซีย ตุรกี และอาหรับ
ตะวันออกกลาง ได้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งกิจกรรมต่าง ๆและอารยะธรรมต่างๆ ของโลกเริ่มตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา และปัจจุบันนี้ก็ยังคงความเป็นภูมิภาคที่มีความอ่อนไหวมากที่สุดของโลก ทั้งในด้านยุทธศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเมือง และวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีแหล่งสำรองน้ำมันดิบอยู่ใต้ดินจำนวนมหาศาล เป็นแผ่นดินเกิดและศูนย์กลางทางจิตวิญญานของศาสนาสำคัญหลายศาสนา เช่น ศาสนายูดาย ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น ภูมิภาคแห่งนี้ยังเป็นพื้นที่ที่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวอาหรับและอิสราเอลเกิดขึ้นและดำรงอยู่ต่อมายาวนานอีกด้วย
คำว่า ตะวันออกกลาง เป็นคำจำกัดความภูมิภาคอย่างกว้าง ๆ จึงไม่มีการกำหนดขอบเขตพรมแดนของอาณาบริเวณของภูมิภาคนี้ไว้อย่างเจาะจง แต่โดยทั่วไปแล้วเป็นที่เข้าใจกันว่า ภูมิภาคตะวันออกกลางนั้นจะครอบคลุมพื้นที่ประเทศต่าง ๆ ดังนี้คือ บาห์เรน อียิปต์ อิหร่าน ตุรกี อิรัก อิสราเอล จอร์แดน คูเวต เลบานอน โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยเมน และดินแดนปาเลสไตน์ (เวสต์แบงก์และฉนวนกาซา)
กลุ่มประเทศมาเกร็บ (Maghreb หรือแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งประกอบด้วยแอลจีเรีย ลิเบีย โมร็อกโก และตูนีเซีย) มักถูกเชื่อมโยงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตะวันออกกลางด้วย เนื่องจากมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเชื่อมโยงใกล้ชิดกันมาก ซึ่งก็รวมทั้งซูดาน มอริเตเนีย และโซมาเลียด้วยเช่นกัน
ขณะที่ตุรกีและไซปรัสนั้น แม้ว่าโดยสภาพทางภูมิศาสตร์แล้วจะตั้งอยู่ภายในภูมิภาค แต่ทั้ง 2 ชาติก็มักจัดให้ประเทศตนว่าเป็นส่วนหนึ่งของยุโรปมากกว่า (แม้ว่ามหาวิทยาลัยเทคนิคตะวันออกกลางจะตั้งอยู่ในกรุงอังการา ประเทศตุรกีก็ตาม) ส่วนทางตะวันออกคือประเทศอัฟกานิสถานนั้น บางครั้งก็ถูกจัดโยงเข้ากับตะวันออกกลางด้วย
นักวิชาการบางส่วนให้คำจำกัดความภูมิภาคตะวันออกกลางโดยผ่านมุมมองจากศูนย์กลางยุโรป (Eurocentrism) นั่นคือ ภูมิภาคนี้จะอยู่ทางตะวันออกถ้าพิจารณาจากมุมมองของยุโรปตะวันตก ขณะสำหรับชาวอินเดียนั้น ภูมิภาคตะวันออกกลางจะตั้งอยู่ทางตะวันตกของอินเดีย และตั้งอยู่ทางใต้ในมุมมองจากประเทศรัสเซีย
แท้จริงแล้วคำว่า "กลาง (Middle) " นั้น ยังนำไปสู่ความสับสนด้วยเช่นกันเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงคำจำกัดความ ตัวอย่างเช่น ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 คำว่า "ตะวันออกใกล้ (Near East) " ที่ใช้กันในภาษาอังกฤษมีความหมายถึงประเทศในคาบสมุทรบอลข่านและจักรวรรดิออตโตมาน (Ottoman Empire) ในขณะที่คำว่า "ตะวันออกกลาง (Middle East) " หมายความถึงประเทศเปอร์เซีย อัฟกานิสถาน และบางครั้งก็รวมถึงเอเชียกลาง เตอร์กีสถาน และคอเคซัสเอาไว้ด้วย (ตะวันออกไกล (Far East) หมายถึงประเทศอย่างเช่นมาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่งตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
การล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมานในปี ค.ศ. 1918 จึงไม่มีการใช้คำว่า "ตะวันออกใกล้" กันอีก ในขณะที่คำว่า "ตะวันออกกลาง" นั้น ก็นำไปใช้หมายถึงประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ในโลกอาหรับ แต่อย่างไรก็ตาม การใช้คำว่าตะวันออกใกล้ก็ยังใช้กันอยู่ในหมู่นักวิชาการบางสาขาที่เคร่งครัดหลักการ เช่น ด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์โบราณ ซึ่งยังคงอธิบายพื้นที่ที่ควรระบุเป็นตะวันออกกลาง ว่าเป็น "ตะวันออกใกล้" ทั้งนี้เนื่องจากนักวิชาการเหล่านั้นจะไม่ใช้คำว่า "ตะวันออกกลาง" ในสาขาวิชาของตน
มีถ้อยคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า "ตะวันออกใกล้" และ "ตะวันออกกลาง" ที่ใช้กันอยู่ในภาษายุโรปอื่น ๆ อีกหลายคำ แต่เนื่องจากเป็นคำจำกัดความที่เชื่อมโยงกัน ความหมายจึงขึ้นอยู่กับประเทศ และแตกต่างกันจากถ้อยคำทั่ว ๆ ไปในภาษาอังกฤษ ดูตัวอย่างเช่น Fr:Proche-Orient fr:Moyen-Orient และ de:Naher Osten
ในบางลักษณะ ความคลุมเครือของ "ตะวันออกกลาง" ก็เป็นประโยชน์ เนื่องจากคำดังกล่าวสามารถนำไปใช้ได้ในสถานการณ์ที่สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมและการเมืองกำลังเปลี่ยนแปลงไป แต่อย่างไรก็ตาม ความกำกวมของคำดังกล่าวก็สร้างความรำคาญให้แก่นักภูมิศาสตร์หลายรายซึ่งกำลังพยายามสร้างความนิยมให้หันมาใช้คำว่า "เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ (Southwest Asia) " แทนเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรก็ตาม
คำที่เป็นทางเลือกอื่น ๆ ยังมีอีก เช่น "เอเชียตะวันตก (West Asia) " ซึ่งเป็นคำจำกัดความของตะวันออกกลางที่ใช้กันอยู่ในอินเดียทั้งในระดับราชการและสื่อต่าง ๆ "โลกอาหรับ (Arab world) " ซึ่งใช้กันในบางเรื่องนั้นก็ไม่รวมถึงประชาชนที่ไม่ใช่เชื้อสายอาหรับที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอาไว้ด้วย และ "ตะวันออกกลาง-แอฟริกาเหนือ (Middle East-North Africa หรือ MENA) " ซึ่งบางครั้งใช้เพื่อรวมเขตพื้นที่จากโมร็อกโกไปจนถึงอิหร่าน ซึ่งเป็นคำที่นักการทูตของกลุ่มจี-8 ใช้ในการกล่าวถึง "ดินแดนตะวันออกกลางที่ยิ่งใหญ่ (Greater Middle East) " ซึ่งรวมประเทศต่าง ๆ ทั้ง ประเทศในกลุ่มสันนิบาตอาหรับ (Arab League) ซึ่งรวมเอาบรรดาชาติสมาชิกจากแอฟริกาของกลุ่มทั้งหมดไว้ด้วย