ดูไบ (อาหรับ: ????, Dubayy?; อังกฤษ: Dubai) เป็นนครใหญ่สุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีพื้นที่ประมาณ 4,000 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 2 ล้านคน เมืองดูไบถือได้ว่าเป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งบนโลก และมีอัตราการเจริญเติบโตของเมืองสูงมาก
ในช่วงทศวรรษที่ 1820 ดูไบถูกกล่าวถึงในชื่อ อัลวาเซิล ตามนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ อย่างไรก็ตาม มีบางบันทึกที่อ้างถึงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือชื่อของรัฐที่ผู้คนท้องถิ่นบอกต่อๆ กันมาตามคติชน ที่มาของคำว่าดูไบ ยังมีการถกเถียงกันอยู่ บ้างก็ว่ามาจากภาษาเปอร์เซีย แต่บ้างก็เชื่อว่ามาจากภาษาอาหรับที่เป็นรากศัพท์ของคำ ตามที่เฟเดล แฮนด์ฮัล นักวิจัยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คำว่า ดูไบ (Dubai) น่าจะมาจากคำว่า Daba (ดาบา) (ดัดแปลงมาจากคำว่า Yadub) ซึ่งมีความหมายว่าการคืบคลาน ซึ่งอาจมาจากการไหลของน้ำในคลองดูไบ (Dubai Creek) ที่อยู่ภายในแผ่นดิน
ในปี ค.ศ. 1833 ชนเผ่าบานียาส ประมาณ 800 คน นำโดยตระกูลมักตูม ซึ่งยังเป็นผู้ปกครองรัฐอยู่ในปัจจุบัน ได้อพยพมาตั้งหลักแหล่งบริเวณปากอ่าว ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นท่าเรือที่อุดมสมบูรณ์จึง ทำให้ดูไบกลายเป็นศูนย์กลางของการค้าทางทะเล รวมทั้งการทำประมงและการทำฟาร์มไข่มุก หลังจากนั้นในศตวรรษที่ 20 ดูไบก็กลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าและการส่งออกที่สำคัญ โดยมีซุก (ชื่อเรียกของตลาดบริเวณตะวันออกกลาง) ขนาดใหญ่ที่สุดตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่าเดียรา (Deira)
การค้าขายในดูไบประสบความสำเร็จมาก สามารถดึงดูดให้พ่อค้าชาวอิหร่าน และอินเดียมาตั้งถิ่นฐานเพื่อทำการค้าขายในรัฐได้ แต่ขณะที่การค้าขายเจริญมากขึ้น ฐานะทางการปกครองของดูไบก็ยังคงเป็นแค่รัฐในอารักขาของอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งอยู่ในส่วนหนึ่งบนพื้นที่ทางตอนเหนือของชายฝั่งของคาบสมุทรอาหรับ ดังนั้นภายหลังจากที่อังกฤษได้ถอนตัวออกจากการปกครอง ในปี ค.ศ. 1971 ดูไบพร้อมด้วยอีกหลายรัฐ ได้ร่วมกันก่อตั้งประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
และถัดจากนั้นในช่วงยุค 1980-1990 ดูไบได้ลงทุนสร้างสิ่งก่อสร้างเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากมาย ทั้งนี้ เพื่อให้ดูไบเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ โดยในปี ค.ศ. 2000 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าในดูไบมีจำนวน 3 แสนคน
เมืองดูไบตั้งอยู่บนชายฝั่งอ่าวเปอร์เซีย ทางตอนเหนือของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 16 เมตร รัฐดูไบติดต่อกับรัฐอาบูดาบีทางทิศใต้ ติดกับรัฐชาร์จาห์ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และประเทศโอมานทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และยังมีแผ่นดินส่วนแยกติดกับเมืองฮัตตา ซึ่งมีประเทศโอมานและรัฐอื่นๆ ได้แก่ รัฐอัจมาน (ทิศตะวันตก) รัฐราสอัลไคมาห์ (ทิศเหนือ) และอ่าวเปอร์เซียทางทิศตะวันตก ดูไบตั้งอยู่ที่ 25?16?11?N 55?18?34?E? / ?25.2697?N 55.3095?E? / 25.2697; 55.3095 และมีพื้นที่ 4,114 ตารางกิโลเมตร (1,588 ตารางไมล์) ดูไบตั้งอยู่ภายในทะเลทรายอาหรับ อย่างไรก็ตาม ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของดูไบก็แตกต่างจากส่วนอื่นๆ ทางใต้ของประเทศ เนื่องจากมีภูมิทัศน์เป็นทะเลทรายสวยงามมีลวดลาย ในขณะที่ทางตอนใต้ของประเทศเป็นทะเลทรายกรวด ทรายประกอบด้วยเศษเปลือกหอย และเศษปะการัง สีขาวเรียบเนียน ทางตะวันออกของเมืองมีพื้นที่ราบเกลือ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ซับกาห์ (sabkha) ทอดจากทางเหนือไปใต้ตามสันทราย ไกลออกไปอีกทางตะวันออกมีสันทรายที่ใหญ่ขึ้นและมีสีแดงประกอบด้วยสารเหล็กออกไซด์ ทะเลทรายก็ยังแผ่ออกไปยังภูเขาฮาจาร์ตะวันตก ซึ่งมีความยาวไปตามอาณาเขตของดูไบ โอมานและเมืองฮัตตา แนวเขาฮาจาร์ตะวันตกจะมีอากาศแห้ง พื้นผิวขรุขระ ซึ่งภูเขาบางลูกมีความสูงประมาณ 1,300 เมตร ดูไบไม่มีแม่น้ำหรือโอเอซิสตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ดูไบก็ยังมีคลองดูไบ ขุดลอกโดยเรือ ซึ่งลึกพอที่เรือขนาดใหญ่จะสามารถแล่นผ่านได้ตลอดเส้นทาง ดูไบมีหุบเขาและบ่อน้ำ ซึ่งตั้งอยู่ประปรายแถวภูเขาฮาจาร์ตะวันตก ส่วนทะเลทรายกว้างใหญ่ปกคลุมทางตอนใต้ของดูไบ และใต้ลงไปอีกก็จะเป็นทะเลทรายขนาดใหญ่เรียกว่า ดิเอ็มทีควาร์เตอร์ (The Empty Quarter) ส่วนด้านวิทยาแผ่นดินไหว ดูไบตั้งอยู่ในแผ่นดินที่มีความมั่นคง มีรอยเลื่อนที่ใกล้ที่สุดชื่อ รอยเลื่อนซาร์กอส (Zargos Fault) ตั้งอยู่ห่าง 120 กิโลเมตรจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และการเกิดแผ่นดินไหวในดูไบแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญได้คาดการณ์ว่าเป็นไปได้ที่จะเกิดคลื่นสึนามิในพื้นที่ แต่มีโอกาสน้อยมาก เพราะอ่าวเปอร์เซียมีความลึกไม่มากพอที่จะทำให้เกิดคลื่นขึ้นได้
ทะเลทรายที่ล้อมรอบดูไบมีหญ้าป่าและมีต้นอินทผลัมซาอุ (date palm) ขึ้นอยู่บ้าง มีต้นไฮยาซินธ์มากในบริเวณที่ราบซับกาห์ทางตะวันออกของเมือง มีต้นอาเคเชียและต้นกาห์ฟ (ghaf) ขึ้นในบริเวณภูเขาฮาจาร์ตะวันตก ส่วนพืชพื้นเมืองอื่นๆ เช่น อินทผลัมซาอุ และสะเดา ส่วนสัตว์พื้นเมืองของดูไบมักอาศัยอยู่ในทะเลทราย เช่น นกบัสตาร์ด ไฮยีนา คาราคัล สุนัขจิ้งจอกทะเลทราย เหยี่ยว และ โอริกซ์อาระเบีย ดูไบยังเป็นสถานที่แห่งหนึ่งของสัตว์อพยพจากทางยุโรป เอเชีย และแอฟริกาเมื่อถึงฤดูหนาว ซึ่งในจำนวนนี้มีนกมากกว่า 320 สายพันธุ์ และดูไบยังมีแหล่งน้ำที่มีปลาอาศัยอยู่กว่า 300 สายพันธุ์ เช่น ปลาตุ๊กแก (hammour)
คลองดูไบ ทอดตัวผ่านเมืองจากทางตะวันออกเฉียงเหนือสู่ตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนตะวันออกของเมืองพัฒนามาจากเดียร่า มีรัฐชาร์จาห์ติดต่อทางตะวันออกและเมืองอัลอเวียร์ติดทางทิศใต้ ดูไบมีท่าอากาศยานนานาชาติดูไบ ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของเดียร่า ในขณะที่มีปาล์มเดียร่าตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเดียร่าในอ่าวเปอร์เซีย อสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่จำนวนมากก่อสร้างขึ้นรวมเป็นกลุ่มทางตะวันตกของคลองดูไบบนแถบชายหาดจูเมร่าห์ ซึ่งท่าเรือราชิด ท่าเรือเจเบลอาลี บูร์จอัลอาหรับ เกาะปาล์มจูเมร่าห์ และสถานที่อื่นๆ เช่นบิสสิเนสเบย์ ก็ตั้งอยู่ที่นี่เช่นเดียวกัน มีถนนหลัก 5 สายที่ผ่านดูไบ ได้แก่ ถนน E 11 (ถนนชิค ซาเยด), E 311 (ถนนเอมิเรตส์), E 44 (ทางหลวงดูไบ-ฮัตตา), E 77 (ถนนดูไบ-อัลฮาบับ) และ E 66 (ถนนอัดเมตา) เชื่อมโยงเมืองดูไบกับเมืองอื่นๆ และเอมิเรตส์ นอกจากนี้ยังมีเส้นทางสำคัญเชื่อมโยงสถานที่ต่างๆ ภายในเมือง เช่น D 89 (ถนนอัลมักทัม), D 85 (ถนนบานิยาส), D 75 (ถนนชิค ราชิด), D 73 (ถนนอัลดียาฟา), D 94 (ถนนจูเมราห์) และ D 92 (ถนนคาลีจ) ส่วนทางตะวันออกและตะวันตกของเมืองเชื่อมโดยสะพานอัลมักทัม สะพานอัลการ์ฮัด อุโมงค์อัลชินดากาห์ ทางตัดบิสสิเนสเบย์ และ สะพานโฟลททิง
ดูไบมีอากาศแห้งแล้ง ในฤดูร้อนจะมีอุณหภูมิสูงมาก ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 42 องศาเซลเซียส และตอนกลางคืนมีอุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส ส่วนในฤดูหนาวจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 23 องศาเซลเซียส และตอนกลางคืนมีอุณหภูมิต่ำกว่า 14 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงที่สุดที่เคยวัดได้ในดูไบคือ 47.3 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดที่เคยวัดได้คือ 7 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนมีค่อนข้างน้อย ประมาณ 150 มิลลิเมตร (6 นิ้ว) ต่อปี ซึ่งจะมีมากในช่วงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม อย่างไรก็ตาม ฝนตกหนักที่สุดเคยเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1988 มีปริมาณน้ำฝนถึง 150.2 มิลลิเมตรภายใน 24 ชั่วโมง ปริมาณความชื้นในดูไบมีค่าประมาณ 60% และจะสูงกว่านี้ในช่วงเดือนที่มีอากาศเย็น