ดาวเทียมไทยโชต (Thaichote) หรือ ดาวเทียมธีออส (THEOS: Thailand Earth Observation Satellite) เป็นดาวเทียมสำรวจข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing) เพื่อใช้สำรวจทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย
โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศส ดำเนินงานโดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ. หรือ GISTDA) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ บริษัท อี เอ ดี เอส แอสเตรียม (EADS Astrium) ประเทศฝรั่งเศส ด้วยงบประมาณ 6,000 ล้านบาท นับเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ชื่อ THEOS มาจากคำย่อภาษาอังกฤษว่า Thailand Earth Observation Satellite หมายถึง ระบบสำรวจพื้นผิวโลกโดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียมของประเทศไทย โดยพ้องกับภาษากรีก แปลว่า พระเจ้า
วันที่ 20 มกราคม 2554 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีหนังสือไปยัง สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อขอพระราชทานชื่อใหม่ให้ดาวเทียม THEOS ต่อมา วันที่ 18 มกราคม 2555 สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือตอบกลับความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อดาวเทียมดังกล่าว ว่า ไทยโชต และให้ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Thaichote ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2554 สืบไป โดยมีความหมายว่า "ดาวเทียมที่ทำให้ประเทศไทยรุ่งเรือง"
ดาวเทียมไทยโชต เป็นดาวเทียมขนาดเล็ก มีน้ำหนัก 750 กิโลกรัม เป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit: LEO) โคจรสูงจากพื้นโลกประมาณ 820 กิโลเมตร โคจรรอบโลกซ้ำแนวโคจรเดิมทุก 26 วัน มีอายุทางเทคโนโลยีขั้นต่ำ 5 ปี แต่อายุการใช้งานจริงมากกว่านั้น มีกล้องถ่ายภาพ 2 กล้อง ใช้ระบบซีซีดี สามารถบันทึกภาพจากการสะท้อนแสงของพื้นโลก (ต้องการแสงอาทิตย์) ได้ทั้ง ภาพแบบขาวดำ (Panchromatic) ที่รายละเอียด 2 เมตร ความกว้างของภาพที่มุมตั้งฉากกับพื้นผิวโลก 22 กม. และภาพแบบหลายช่วงคลื่น (Multispectral) เพื่อนำมาแสดงร่วมกันให้เห็นเป็นภาพสี จำนวน 4 ช่วงคลื่น ที่รายละเอียด 15 เมตร ความกว้างของภาพที่มุมตั้งฉากกับพื้นผิวโลก 90 กิโลเมตร ได้แก่ 3 ช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็น (ช่วงคลื่นแสงสีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน) และ 1 ช่วงคลื่น ใกล้อินฟราเรด (Near IR)
ดาวเทียมธีออส ขึ้นสู่อวกาศ วันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เวลาในประเทศไทย 13:37:16 น. หรือ 6:37:16 น. ตามเวลามาตรฐานสากล (UTC)
โดยจรวดนำส่ง เนปเปอร์ (Dnepr) ของบริษัท ISC Kosmotras ประเทศยูเครน จากฐานส่งจรวดเมืองยาสนี (Yasny) ประเทศรัสเซีย
เหตุการณ์การส่งดาวเทียมไม่สามารถถ่ายทอดสดได้ เนื่องจากฐานส่งจรวดที่เมืองยาสนีเป็นเขตทหาร จึงเป็นการรายงานสดทางโทรศัพท์มายังสถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมธีออส อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จรวดถูกยิงสู่ท้องฟ้าจากไซโลด้วยแรงขับเคลื่อนของจรวดท่อนที่ 1 ไปทางทิศใต้ตามแนวขั้วโลกมีมุมเอียงไปทางตะวันตก 8.9 องศา จรวดท่อนที่ 1 ขับเคลื่อนจากพื้นดินเป็นเวลา 110 วินาทีขึ้นไปที่ระดับสูง 60 กิโลเมตร แล้วแยกตัวออกและตกลงสู่พื้นโลกที่ประเทศคาซัคสถาน ต่อจากนั้นจรวดท่อนที่ 2 ขับเคลื่อนและนำดาวเทียมขึ้นต่อไปอีกเป็นเวลา 180 วินาที ได้ระดับความสูง 300 กิโลเมตร หรือเมื่อผ่านไป 290 วินาทีจาก Lift-off แล้วจรวดท่อนที่ 2 แยกตัวและตกลงในมหาสมุทรอินเดีย จรวดส่วนสุดท้ายพร้อมดาวเทียม เคลื่อนต่อไปตามวิถีการส่งจนถึงระดับความสูง 690 กิโลเมตร ดาวเทียมแยกตัวออกมาโคจรเป็นอิสระจากจรวดส่วนสุดท้าย ที่เวลาในประเทศไทย 15:09 น. สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมที่เมืองคิรูนา (Kiruna) ประเทศสวีเดน จะเป็นสถานีแรกที่ติดต่อกับดาวเทียมได้ (First Contact) ต่อจากนั้นดาวเทียมโคจรผ่านประเทศไทยครั้งแรก เวลา 21:16 น. ซึ่งสถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมธีออส อ.ศรีราชา เริ่มปฏิบัติการควบคุมการโคจรดาวเทียมและตรวจสอบการทำงานต่างๆ เพื่อให้ดาวเทียม THEOS มีความสมบูรณ์พร้อมใช้งาน อันเป็นงานและภารกิจหลักในการให้บริการข้อมูลดาวเทียมแก่หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ
สถานีรับสัญญาณดาวเทียมอยู่ที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร และสถานีควบคุมดาวเทียม อยู่ที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากฝรั่งเศสจะเดินทางมาเพื่ออบรม และจัดสัมมนาให้แก่เจ้าหน้าที่ไทยทุกปี