ดาวเคราะห์คล้ายโลก (อังกฤษ: terrestrial planet) หรือบางครั้งเรียกว่า ดาวเคราะห์หิน (rocky planet) หรือ ดาวเคราะห์ชั้นใน (inner planet) หมายถึงดาวเคราะห์ที่มีองค์ประกอบพื้นฐานเป็นหินซิลิเกต ในระบบสุริยะจะหมายถึงดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มาก นอกจากนี้ยังใช้เรียกดาวเคราะห์ที่มีลักษณะภายนอก "คล้ายกับโลก" มาก
ดาวเคราะห์คล้ายโลกจะมีองค์ประกอบพื้นฐานที่แตกต่างจากดาวเคราะห์แก๊สยักษ์อย่างเด่นชัด โดยที่ดาวเคราะห์แก๊สยักษ์จะไม่มีพื้นผิวเป็นของแข็งที่ชัดเจน และมีองค์ประกอบพื้นฐานส่วนมากเป็นไฮโดรเจน ฮีเลียม และน้ำ ในสถานะต่างๆ
ในระบบสุริยะของเรามีดาวเคราะห์คล้ายโลกจำนวน 4 ดวง คือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก และดาวอังคาร และมีดาวเคราะห์แคระคล้ายโลกอีก 1 ดวง คือ ซีรีส วัตถุบางชนิดเช่น พลูโต แม้จะคล้ายคลึงกับดาวเคราะห์คล้ายโลก เพราะมีพื้นผิวที่เป็นของแข็งชัดเจน ทว่าองค์ประกอบส่วนใหญ่ของดาวนั้นเป็นน้ำแข็ง เชื่อว่าในระหว่างการก่อตัวของดาวเคราะห์ของระบบสุริยะ อาจมีดาวเคราะห์ชั้นในเป็นจำนวนมากกว่านี้ แต่ดาวเคราะห์เหล่านั้นเกิดรวมตัวกันหรือแตกกระแทกสลายไปจนเหลือเพียง 4 ดวง ในจำนวนนี้มีเพียงโลกเท่านั้นที่มีชั้นบรรยากาศซึ่งห่อหุ้มด้วยน้ำ
ดวงจันทร์ของโลก รวมถึงดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี คือ ไอโอ และ ยูโรปา อาจนับเป็นดาวเคราะห์คล้ายโลกด้วยเช่นกัน แม้ว่ามันจะโคจรรอบดาวเคราะห์ดวงอื่น จึงไม่ได้มีสถานะเป็น "ดาวเคราะห์" โดยตรง
ยิ่งดาวเคราะห์ใกล้โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้น เช่น ซีรีส และดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่อีก 2 ดวง มีแนวโน้มที่ความหนาแน่นของดาวจะยิ่งน้อยลง