จอมพล อาร์เธอร์ เวลสลีย์ ปฐมดยุกแห่งเวลลิงตัน (อังกฤษ: Arthur Wellesley, 1st Duke of Wellington) เป็นทหารและรัฐบุรุษ และเป็นหนึ่งในผู้กำหนดนโยบายทางการทหารและการเมืองของอังกฤษในศตวรรษที่ 19 เขาสามารถมีชัยเหนือนโปเลียนแห่งฝรั่งเศสได้ในยุทธการที่วอเตอร์ลูในปี 1815 ซึ่งทำให้เขากลายเป็นวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกองทัพอังกฤษ และมีสมญานามว่า ดยุกเหล็ก ทั้งนี้ ในปี 2002 ชื่อของเขาอยู่ในอันดับ 15 ของชาวอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดหนึ่งร้อยลำดับ
เกิดที่ดับลินในไอร์แลนด์ เริ่มจากการเป็นนายธงในกองทัพอังกฤษในปี 1787 โดยประจำการในไอร์แลนด์ในฐานะทหารคนสนิทของข้าหลวงใหญ่แห่งไอร์แลนด์ นอกจากนี้ยังได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาสามัญชน (สภาล่าง) ของไอร์แลนด์ และดำรงยศเป็นพันเอกในปี 1796 โดยเข้าร่วมราชการสงครามในเนเธอร์แลนด์ในช่วงสงครามมหาสัมพันธมิตรครั้งที่หนึ่ง และในอินเดียในช่วงสงครามอังกฤษ-ไมซอร์ครั้งที่สี่ และจึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการสรีรังฆะพัฒนะและไมซอร์ในปี 1799 และต่อมาจึงได้รับแต่งตั้งเป็นพลตรีภายหลังชัยชนะเหนือจักรวรรดิมราฐาในปี 1803
เวลสลีย์เป็นผู้บัญชาการศึกคาบสมุทรในสงครามนโปเลียน และได้รับการเลื่อนขึ้นขึ้นเป็นจอมพลภายหลังสามารถนำกองทัพพันธมิตรมีชัยเหนือฝรั่งเศสได้ในยุทธการที่วิกตอเรียในปี 1813 ซึ่งตามมาด้วยการเนรเทศนโปเลียนในปีต่อมา เวลสลีย์เข้ารับตำแหน่งเป็นราชทูตประจำฝรั่งเศส และได้รับบรรดาศักดิ์เป็นดยุก ต่อมาระหว่างสมัยร้อยวันในปี 1815 กองทัพพันธมิตรของเขาร่วมกับกองทัพปรัสเซียที่นำโดยบลูเชอร์ มีชัยเหนือนโปเลียนในยุทธการที่วอเตอร์ลู ชีวิตทหารของเขานั้นเป็นที่น่ายกย่องอย่างยิ่ง จากรายงานราชการสงคราม ตลอดชีวิตทหารของเขาได้ผ่านศึกสงครามมากว่า 60 ครั้ง เขามีชื่อเสียงขึ้นมาจากการปรับตัวและใช้กลยุทธ์ในการตั้งรับข้าศึกจนสามารถมีชัยนับครั้งไม่ถ้วนเหนือข้าศึกที่มีกำลังเหนือกว่า ในขณะที่ตัวเขาเองก็ได้รับบาดเจ็บน้อยมาก เขาจึงได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้บัญชาฝ่ายตั้งรับตลอดกาล กลยุทธ์และแผนการรบของเขาจำนวนมากถูกนำไปสอนในวิทยาลัยการทหารชั้นนำของโลก
ภายหลังออกจากราชการทหาร เขาก็กลับคืนสู่งานการเมือง โดยได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรสองสมัยโดยสังกัดพรรคทอรี ระหว่างปี 1828 ถึง 1830 และอีกครั้งเป็นช่วงเวลาไม่ถึงเดือนในปี 1834 ต่อมาเขาได้ดำรงตำแหน่งผู้นำในสภาขุนนาง จนกระทั่งเกษียณอายุแต่ยังคงเป็นผู้บัญชาการกองทัพอังกฤษจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม
อาเธอร์เกิดในตระกูลชนชั้นสูงครึ่งอังกฤษ-ไอร์แลนด์ ในราชอาณาจักรไอร์แลนด์ เป็นบุตรชายคนที่สามในบรรดาบุตรชายห้าคนของ เอิร์ลที่ 1 แห่งมอร์นิงตัน กับภริยานามว่าแอนน์ ซึ่งเป็นบุตรีของไวเคานต์แดนแกนนอนที่ 1 ชีวประวัติของเขามักจะอ้างอิงจากหลักฐานหนังสือพิมพ์เก่า ซึ่งระบุไว้ว่าเขาเกิดในวันที่ 1 พฤษภาคม 1769 ซึ่งเป็นวันที่เข้ารับศีลล้างบาป แต่ไม่ได้ระบุถึงสถานที่เกิดที่แน่นนอน แต่เชื่อว่าเขาน่าจะเกิดที่ทาวเฮาส์ของครอบครัวในกรุงดับลิน
อาเธอร์ใช้ชีวิตในวัยเด็กส่วนใหญ่ของเขาอยู่ที่บ้านสองหลังของครอบครัว หลังแรกคือบ้านขนาดใหญ่ในดับลิน และอีกหลังคือปราสาทแดนแกนทางตะวันตกเฉียงเหนือของดับลิน บิดาของเขาถึงแก่อสัญกรรมในปี 1781 ซึ่งริชาร์ด ผู้เป็นพี่ชายคนโตของเขาก็เป็นผู้สืบต่อตำแหน่งเอิร์ลแห่งมอร์นิงตัน
เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนโบสถ์ขณะอาศัยอยู่ที่แดนแกน และสถาบันมิสเตอร์ไวนต์ขณะอาศัยอยู่ที่ดับลิน และโรงเรียนบราวน์ขณะอาศัยอยู่ในลอนดอน แล้วจึงเข้าเรียนในวิทยาลัยอีตันระหว่างปี 1781 ถึง 1784 ความโดดเดี่ยวของเขาทำให้เขาเกลียดที่นี่มาก เขามักจะพูดว่า "ชนะศึกวอเตอร์ลูที่ลานกีฬาของอีตัน" ทั้งๆที่อีตันไม่มีลานกีฬา ในปี 1785 จากการที่เขาไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการเรียนที่อีตัน ประกอบกับครอบครัวเริ่มมีปัญหาขัดสนเงินทองภายหลังการอสัญกรรมของบิดา ทำให้เขาและมารดาต้องย้ายไปอาศัยอยู่ที่บรัสเซลส์ในเบลเยียม แม้อายุจะย่างเข้ายี่สิบแล้ว แต่เขาก็แสดงความเด่นประกายออกมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในขณะที่มารดาของเขาก็ตระหนักถึงความเกียจคร้านในตัวเขา เธอเคยกว่าวว่า "ชั้นไม่รู้ว่าควรจะทำยังไงกับอาเธอร์เจ้าลูกชายจอมเทอะทะของฉันดี"
ในปีต่อมา อาเธอร์เข้าศึกษาที่ราชวิทยาลัยการทรงตัวในเมืองอ็องเฌของฝรั่งเศส เขาเริ่มแสดงออกถึงความก้าวหน้า และกลายเป็นนักขี่ม้าที่ดี และยังได้เรียนภาษาฝรั่งเศสซึ่งภายหลังได้เป็นประโยชน์ต่อเขาอย่างมาก และจึงกลับไปยังอังกฤษในปลายปี 1786 ซึ่งพัฒนาการของเขาทำให้มารดาของเขาประหลาดใจอย่างมาก