ฉือสี่ไท่โฮ่ว ตามสำเนียงกลาง หรือ ซูสีไทเฮา ตามสำเนียงฮกเกี้ยน (จีน: ????; พินอิน: C?x? T?ih?u; เวด-ไจลส์: Tz'u-Hsi T'ai-hou; 29 พฤศจิกายน 1835 – 15 พฤศจิกายน 1908) แปลว่า พระพันปีฉือสี่ (Empress Dowager Cixi) เป็นสตรีแมนจูสกุลน่าลา (???) ซึ่งปกครองประเทศจีนช่วงราชวงศ์ชิงโดยพฤตินัยเป็นเวลา 47 ปีตั้งแต่ปี 1861 จนสิ้นพระชนมชีพในปี 1908
พระพันปีฉือสี่ได้รับเลือกเป็นพระสนมพระเจ้าเสียนเฟิง (???) และประสูติพระโอรสในปี 1856 ครั้นพระเจ้าเสียนเฟิงสิ้นพระชนม์ในปี 1861 พระโอรสนั้นก็ขึ้นเป็นพระเจ้าถงจื้อ (???) พระนางในฐานะราชมารดาจึงได้เป็นพระพันปี พระนางยึดอำนาจจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งพระเจ้าเสียนเฟิงตั้งเอาไว้ แล้วพระนางขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการพร้อมกับพระพันปีฉืออัน (????) พระอัครมเหสีพระเจ้าเสียนเฟิง ภายหลังเมื่อพระพันปีฉืออันวายพระชนม์ลงในปี 1881 พระนางจึงสำเร็จราชการแต่ผู้เดียว
ครั้นพระเจ้าถงจื้อสิ้นพระชนม์ในปี 1875 พระพันปีฉือสี่ยกหลานของตนขึ้นเป็นพระเจ้ากวังซฺวี่ (???) แม้ขัดกับระเบียบการสืบสันตติวงศ์ก็ตาม แล้วพระนางก็สำเร็จราชการแทนพระเจ้าแผ่นดินต่อไป พระนางบอกปัดการบริหารราชการแผ่นดินอย่างตะวันตก แต่ก็ส่งเสริมการปฏิรูปทางวิทยาการและทางทหารหลายประการ รวมถึงขบวนการพัฒนาแบบตะวันตก (????)
ในปี 1898 พระพันปีฉือสี่พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพื่อให้พระเจ้ากวังซฺวี่ที่เจริญพระชนม์แล้วได้ปฏิบัติราชกิจด้วยพระองค์เอง พระเจ้ากวังซฺวี่จึงเริ่มการปฏิรูปร้อยวันในปีนั้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้ว พระเจ้ากวังซฺวี่ยังตั้งญี่ปุ่นเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน โดยมิได้ตระหนักว่า จักรวรรดิญี่ปุ่นกำลังพยายามแทรกแซงรัฐบาลราชวงศ์ชิง ด้วยประสงค์จะผนวกจีนเข้ากับตนตามแผน "รวมอุษาบูรพา" (East Asian Merger) ฝ่ายพระพันปีฉือสี่ แม้เห็นควรปฏิรูปบ้านเมือง แต่ก็เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงของพระเจ้ากวังซฺวี่นั้นจะเป็นภัยมากกว่าเป็นผล เมื่อเหล่านักปฏิรูปเตรียมปลงพระชนม์พระนาง พระนางจึงยึดอำนาจการปกครองจากพระเจ้ากวังซฺวี่ และให้ขังพระเจ้ากวังซฺวี่ไว้ยังตำหนักกลางสระ แต่ให้ปกปิดเรื่องพระเจ้ากวังซฺวี่สนับสนุนการสังหารพระนางเอาไว้ เพราะมาตุฆาตถือเป็นความอกตัญญูร้ายแรง ฝ่าฝืนหลักธรรมที่สังคมจีนยึดมั่นถือมั่นอยู่ในเวลานั้น ครั้นแล้ว พระนางก็กลับดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการอีกครั้ง
ช่วงนั้นเกิดกบฏนักมวย พันธมิตรแปดชาติยาตราเข้ายึดกรุงปักกิ่ง พระพันปีฉือสี่และคณะสามารถลี้ภัยจากกรุงไปยังเมืองซีอานได้ทันท่วงที ความกดดันทั้งภายในและภายนอกประเทศยังให้พระนางต้องปรับปรุงบ้านเมืองอย่างจริงจัง เมื่อพระนางนิวัตกรุงแล้ว ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1902 ก็ประกาศพระเสาวนีย์ฉบับแรกเป็นการยกเลิกประเพณีรัดเท้าซึ่งสตรีชาวฮั่นอันเป็นชนส่วนใหญ่ในประเทศได้ถือปฏิบัติมานานนับพันปี พระนางยังได้ตรากฎหมายอีกหลายฉบับเพื่อเตรียมนำประเทศเข้าสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ก่อนที่การปฏิรูปของพระนางจะบังเกิดผล พระนางก็ด่วนดับขันธ์ไปในปี 1908 สามปีให้หลัง ราชวงศ์ชิงก็ถึงกาลอวสาน และประเทศจีนก็เปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐในวันที่ 1 มกราคม 1912
นักประวัติศาสตร์สายอนุรักษนิยมทั้งจีนและต่างชาติมักพรรณนาว่า พระพันปีฉือสี่เป็นผู้ปกครองอย่างกดขี่ที่ต้องรับผิดชอบล่มสลายของราชวงศ์ชิง แต่นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่เห็นว่า เหล่าผู้สนับสนุนการปฏิรูปของพระเจ้ากวังซฺวี่ล้วนประสบความสำเร็จทำให้พระนางกลายเป็นแพะรับบาปในสิ่งที่นอกเหนือความควบคุมของพระนาง เพราะราชวงศ์ชิงสิ้นสุดลงไปหลังจากที่พระนางเสียชีวิตแล้ว นอกจากนี้ ที่พระนางก้าวเข้ามาก็เพื่อยับยั้งความโกลาหลในบ้านเมือง กับทั้งพระนางก็มิได้โหดร้ายมากไปกว่าผู้ปกครองคนอื่น ๆ ที่มีมา และพระนางยังเป็นนักปฏิรูปที่มีประสิทธิภาพ แม้ว่าการปฏิรูปของพระนางจะสายเกินไปก็ตาม
ข้อมูลเกี่ยวกับพระชาติพงศ์และขณะทรงพระเยาว์ของพระพันปีฉือสี่ ถึงแม้จะมีอยู่มากมาย แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด ทั้งส่วนใหญ่เป็นแต่มุขปาฐะและปรัมปรา หาข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานยืนยันได้น้อยมาก อย่างไรก็ดี ในหนังสือเกี่ยวกับพระราชประวัติส่วนใหญ่มักอ้างว่า ทรงเป็นธิดาในข้าราชการแมนจูระดับล่างชื่อ ฮุ่ย เจิง (??) กับภรรยาเอก ทั้งนี้ ฮุ่ย เจิง มาจากสกุลเย่เฮ่อน่าลา (????) และภรรยาของเขาซึ่งเป็นพระชนนีของพระพันปีฉือสี่นั้นมาจากสกุลฟู่ฉา (??) เอ็ดเวิร์ด แบร์ (Edward Behr) นักประวัติศาสตร์จีน สันนิษฐานว่า พระพันปีฉือสี่ประสูติในปี 1835 มีพระนามแต่แรกเกิดว่า หลันเอ๋อร์ (??) แปลว่า นางกล้วยไม้ โดยสันนิษฐานจากการที่ผู้สืบสันดานแห่งพระเชษฐาของพระนาง คือ เกิน เจิง นั้นมีชื่อแต่เด็กว่า ซิ่งเอ๋อร์ ประกอบกับพระนามที่พระนางทรงใช้เมื่อทรงเข้ารับการศึกษาขณะทรงพระเยาว์มีว่า ซิ่งเจิน (??)
บรรดามุขปาฐะที่แพร่หลายมากที่สุดว่า พระนางทรงเป็นชาวแคว้นแยงซีก็มี, ว่าทรงเป็นชาวเมืองชางจื่อก็มี, ว่าทรงเป็นชาวมณฑลชานซีก็มี (ฉบับนี้ว่า ตระกูลของพระนางเป็นชาวฮั่นที่เข้ารีตเป็นแมนจูด้วย), ว่าทรงเป็นชาวฮูฮอตก็มี, ว่าทรงเป็นชาวมองโกเลียในก็มี, และว่าทรงเป็นชาวปักกิ่งก็มี ทั้งนี้ เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่า ทรงใช้ชีวิตขณะทรงพระเยาว์ที่มณฑลอันฮุย และย้ายรกรากไปปักกิ่งในระหว่างที่มีพระชนมายุได้สิบสามถึงสิบห้าพรรษาโดยประมาณ
ฮุ่ย เจิง นั้นรับราชการเป็นนายทหารประจำกองธงสีฟ้ารักษาชายแดน ณ มณฑลชานซี กองธงสีฟ้าเป็นกองธงหนึ่งในจำนวนแปดกองธงซึ่งมีอำนาจหน้าที่ด้านการทหาร ต่อมา ฮุ่ย เจิง ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการมณฑลอันฮุย แต่ถูกปลดจากราชการในปี 1853 หลังจากที่พระนางถวายตัวแก่ราชสำนักแล้วสองปี เนื่องจากฮุ่ย เจิง เพิกเฉยหน้าที่ในการปราบกบฏไทเปในมณฑลอันฮุย และหนังสือบางเล่มกล่าวว่า ในการนี้ ฮุ่ย เจิง ต้องโทษประหารชีวิต และถูกตัดศีรษะด้วย
เดือนกันยายน 1851 พระนางพร้อมด้วยเด็กสาวชาวแมนจูอีกหกสิบรายได้รับคัดเลือกเป็นพระสนมของพระเจ้าเสียนเฟิง พร้อมกับนางทาทาลา, นางเว่ย์กียา, นางหนิวฮูลู ประธานการคัดเลือกในครั้งนั้น คือ พระนางคังฉิน พระมเหสีของพระเจ้าเต้ากวง ซึ่งปกครองวังหลัง พระพันปีฉือสี่เป็นหนึ่งในไม่กี่คนจากจำนวนหกสิบรายนั้นที่ได้รับพระราชทานยศศักดิ์เป็นพระสนมจริง ๆ โดยได้รับตำแหน่ง ซิ่ว-นฺหวี่ (??) แปลว่า "นางงาม" และตำแหน่งพระมเหสีชั้น 5 ตามลำดับ ครั้นวันที่ 27 เมษายน ปีถัดมา ก็ประทานพระประสูติกาลแก่พระโอรสพระนามว่า ไจ้ฉุน พระโอรสนี้เป็นพระรัชทายาทเพียงหนึ่งเดียวของพระเจ้าเสียนเฟิงและต่อมาเสวยราชย์เป็นพระเจ้าถงจื้อ รัชกาลถัดมา ครั้งนั้น โปรดให้เลื่อนตำแหน่งพระพันปีฉือสี่ขึ้นเป็นพระมเหสีชั้น 4 และเมื่อองค์ชายไจ้ฉุนมีพระชนม์หนึ่งพรรษา ก็โปรดพระราชทานชื่อใหม่ให้แก่พระพันปีฉือสี่ให้ใช้เป็นชื่อตัวว่า อี้ (?) แปลว่า "ประเสริฐ" กับทั้งให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นพระมเหสีชั้น 2 ซึ่งรองจากพระมเหสีชั้น 1 คือ พระอัครมเหสีเจิน (???)
ในเดือนกันยายน 1860 กองทหารผสมของสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส โดยบังคับบัญชาของเอิร์ลเจมส์ บรูซ (อังกฤษ: James Bruce) เข้าโจมตีกรุงปักกิ่งโดยมีสาเหตุเนื่องมาจากสงครามฝิ่น และในเดือนถัดมากองผสมก็สามารถยึดกรุงได้และเผาทำลายหมู่พระราชวังฤดูร้อนจนย่อยยับ ทั้งนี้ เพื่อตอบโต้จีนที่ได้สั่งให้จับกุม คุมขัง และทรมานชาวต่างชาติทั้งปวงในจักรวรรดิ นักโทษคนสำคัญคือ แฮร์รี พากส์ (อังกฤษ: Harry Parkes) ราชทูตอังกฤษ ระหว่างนั้น พระเจ้าเสียนเฟิงได้เสด็จลี้ภัยพร้อมด้วยข้าราชการบริพารทั้งมวลจากกรุงปักกิ่งไปประทับยังพระราชวังที่เมืองเฉิงเต๋อ (จีน: ??; พินอิน: Ch?ngd?) มณฑลเหอเป่ย์ ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินเมื่อทรงรับทราบว่าหมู่พระราชวังอันวิจิตรและเป็นที่ทรงรักยิ่งพินาศลงสิ้น ก็ประชวรพระโรคสมองเสื่อม (อังกฤษ: dementia) และภาวะซึมเศร้า มีรับสั่งให้ถวายน้ำจันทน์และฝิ่นมิได้ขาด ทำให้พระพลานามัยเสื่อมทรามลงตามลำดับ
วันที่ 22 สิงหาคม 1861 พระเจ้าเสียนเฟิงเสด็จสวรรคต ณ พระราชวังที่เมืองเฉิงเต๋อ ทั้งนี้ ก่อนจะสวรรคตได้ทรงเรียกประชุมเสนาบดีสำคัญจำนวนแปดคน และตั้งให้เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีซู่ ชุ่น (??) เป็นประธาน และมีไจ่-ยฺเหวียน (??) และตฺวันหฺวา (??) เป็นรองประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการและสนับสนุนพระเจ้าแผ่นดินใหม่ให้ขึ้นทรงราชย์โดยเรียบร้อย เนื่องจากขณะนั้นองค์ชายไจ้ฉุน พระรัชทายาท มีพระชันษาเพียงห้าพรรษาเท่านั้น นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าฯ ให้พระอัครมเหสีเจิน และพระมเหสีชั้น 2 หรือพระพันปีฉือสี่ เฝ้าฯถึงพระบรรจถรณ์ และพระราชทานตราประทับให้ทั้งสองเพื่อให้ร่วมมือกันอภิบาลดูแลพระเจ้าแผ่นดินน้อยได้เจริญพระชันษาขึ้นอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังเพื่อให้พระมเหสีทั้งสองคอยตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย
ภายหลังจากที่พระเจ้าเสียนเฟิงเสด็จสวรรคตแล้ว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยของพระมเหสีทั้งสอง โดยพระอัครมเหสีเจิน พระชนมายุยี่สิบห้าพรรษา เป็นพระพันปีหลวงฉืออัน (?????) ส่วนพระพันปีฉือสี่ ซึ่งกำลังดำรงตำแหน่งพระมเหสีชั้น 2 และมีพระชันษายี่สิบเจ็ดนั้น เป็นพระพันปีหลวงฉือสี่ (?????) ทั้งนี้ คำว่า "ฉืออัน" หมายความว่า "ผู้พร้อมไปด้วยมาตุคุณและความสงบ" ส่วน "ฉือสี่" แปลว่า "ผู้พร้อมไปด้วยมาตุคุณและโชค" นอกจากนี้ ในประเทศจีนยังนิยมเรียกพระพันปีทั้งสอง โดยเรียกพระพันปีฉืออันว่า พระพันปีบูรพา เนื่องจากมักประทับพระราชวังจงฉุยในฟากตะวันออก และเรียกพระพันปีฉือสี่ว่า พระพันปีปัจฉิม เนื่องจากมักประทับพระราชวังฉู่ซิ่วในฟากตะวันตก
เหตุการณ์ในเมืองเฉิงเต๋อ ขณะที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กำลังเตรียมการอัญเชิญพระบรมศพกลับกรุงปักกิ่งนั้น พระพันปีฉือสี่ได้ทรงเตรียมการยึดอำนาจเช่นกัน ตำแหน่งพระพันปีนั้นย่อมไม่สะดวกและไม่ชอบด้วยกฎหมายที่จะใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดิน กับทั้งพระเจ้าแผ่นดินใหม่ก็ทรงพระเยาว์นัก ไม่อาจใช้เป็นกลไกในการยึดอำนาจบริหารราชการแผ่นดินได้ ดังนั้น พระพันปีฉือสี่จึงเสด็จไปเกลี้ยกล่อมพระพันปีฉืออันให้ทรงพระดำริถึงประโยชน์ที่ทั้งสองพระองค์จะได้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ร่วมกัน ซึ่งพระพันปีฉืออันก็ทรงเห็นดีด้วย
ในระยะนี้ ความตึงเครียดระหว่างคณะผู้สำเร็จราชแทนพระองค์กับพระพันปีทั้งสองพระองค์ทวีขึ้นเรื่อย ๆ คณะผู้สำเร็จราชการไม่ชอบใจในการก้าวก่ายทางการเมืองของพระพันปีฉือสี่ การเผชิญหน้าซึ่งกันบ่อยครั้งขึ้นเป็นเหตุให้พระพันปีฉือสี่มีพระราชอารมณ์ขึ้งขุ่นในคณะผู้สำเร็จราชการมากขึ้น ครั้งหนึ่งถึงกับไม่เสด็จออกขุนนางโดยทรงปล่อยให้พระพันปีฉืออันเสด็จออกเพียงพระองค์เดียว เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง พระพันปีฉือสี่ทรงรวบรวบไพร่พลเป็นการลับ ซึ่งประกอบด้วยบรรดาเสนาบดีและข้าราชการพลเรือนที่มากความสามารถ ข้าราชการทหารหลายฝ่าย และบรรดาผู้ไม่พอใจในคณะผู้สำเร็จราชการ[ต้องการอ้างอิง] เป็นต้นว่า องค์ชายกงชั้นหนึ่ง (???) ผู้เป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่หกของพระเจ้าเต้ากวง มีพระสันดานทะเยอทะยาน และทรงถูกคณะผู้สำเร็จราชการกีดกันจากอำนาจบริหาราชการแผ่นดิน[ต้องการอ้างอิง] และองค์ชายฉุนชั้นหนึ่ง (???) พระอนุชาขององค์ชายกง
ในระหว่างที่ฝ่ายพระพันปีฉือสี่กำลังเตรียมการรัฐประหารกันนี้ ได้มีฎีกามาจากมณฑลชานตงทูลเกล้าฯ ถวายพระพันปีฉือสี่ขอพระราชทานให้ทรงว่าราชการหลังม่าน ฎีกาฉบับเดียวกันยังขอให้องค์ชายกงทรงเข้าร่วมบริหารราชการแผ่นดินเฉกเช่นผู้อภิบาลพระเจ้าถงจื้อด้วย[ต้องการอ้างอิง]
เป็นประเพณีที่พระพันปีทั้งสองพระองค์จะต้องเสด็จนิวัตกรุงปักกิ่งพร้อมข้าราชบริพารก่อนขบวนพระบรมศพ เพื่อไปทรงอำนวยการเตรียมพระราชพิธีต่าง ๆ ในกรุง และในการเสด็จนิวัตนี้ ไจ่-ยฺเหวียน และตฺวันหฺวา ผู้สำเร็จราชการได้โดยเสด็จด้วย ส่วนซู่ ชุ่น และผู้สำเร็จราชการที่เหลือจะได้กำกับขบวนอัญเชิญพระบรมศพกลับไปทีหลัง ซึ่งเป็นผลดีต่อพระพันปีฉือสี่เพราะจะได้ทรงใช้เวลาที่เหลือเตรียมการให้รัดกุมยิ่งขึ้น กับทั้งจะได้เป็นที่วางพระราชหฤทัยว่าผู้สำเร็จราชการจะไม่อาจคิดการใด ๆ ได้ตลอดรอดฝั่งเพราะไม่ได้อยู่ด้วยกันครบจำนวน
เมื่อขบวนอัญเชิญพระบรมศพถึงพระนคร ผู้สำเร็จราชการทั้งแปดคนก็ถูกจับกุมโดยพลัน พระพันปีฉือสี่โดยสมรู้ร่วมคิดกับองค์ชายกง ออกประกาศว่าด้วยความผิดของบุคคลดังกล่าวแปดข้อหา เป็นต้นว่า คบคิดกับชาวต่างชาติให้เข้าปล้นเมืองจนเป็นเหตุให้พระเจ้าเสียนเฟิงต้องเสด็จลี้ภัย เปลี่ยนแปลงพระราชประสงค์จนส่งผลให้สวรรคต และลักลอบใช้อำนาจในพระนามาภิไธยของพระพันปีทั้งสองโดยไม่ชอบ จากนั้นได้มีพระราชเสาวนีย์โปรดให้พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการทั้งคณะ และพระราชทานโทษประหารชีวิตแก่ซู่ ชุ่น ส่วนผู้สำเร็จราชการคนที่เหลือ พระราชทานแพรขาวให้กระทำอัตวินิบาตกรรม ทั้งนี้ พระพันปีฉือสี่ไม่ทรงเห็นด้วยที่จะให้ประหารชีวิตสมาชิกในครอบครัวของผู้สำเร็จราชการตามประเพณี "ฆ่าล้างโคตร" ของราชสำนักชิงที่มักกระทำแก่ผู้เป็นกบฏ
พระพันปีฉือสี่ได้ประกาศสถาปนาพระองค์เองและพระพันปีฉืออันขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยออกว่าราชการอยู่หลังม่าน ซึ่งเป็นการขัดจารีตประเพณีของราชวงศ์ชิงที่ห้ามไม่ให้ราชนารีข้องเกี่ยวกับการเมือง พระพันปีฉือสี่จึงทรงเป็นราชนารีพระองค์แรกและพระองค์เดียวในราชวงศ์ชิงที่ออก "ว่าราชการอยู่หลังม่าน" (จีน: ????; พินอิน: chu? li?n t?ng zh?ng, ฉุยเหลียนทิงเจิ้ง)[ต้องการอ้างอิง]
การรัฐประหารของพระพันปีฉือสี่ครั้งนี้เป็นที่รู้จักกันในนาม "รัฐประหารซินโหย่ว" (จีน: ????; พินอิน: X?ny?uzh?ngbi?n, ซินโหย่วเจิ้งเปี้ยน) คำว่า "ซินโหย่ว" เป็นชื่อปีที่รัฐประหารนั้นเกิดขึ้น
ไม่กี่วันหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารซินโหย่ว พระพันปีฉือสี่ได้แต่งตั้งให้องค์ชายกงเป็นเสนาบดีกระทรวงอำนวยการและกระทรวงกลาโหม โดยให้ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นสองเท่าจากปรกติ กับทั้งสถาปนาพระธิดาขององค์ชายกงขึ้นเป็นองค์หญิงตำแหน่ง "กู้หรุน" (Gurun) อันเป็นตำแหน่งที่สงวนไว้พระราชทานแก่พระราชธิดาพระองค์แรกของพระอัครมเหสีเท่านั้น[ต้องการอ้างอิง] ถึงแม้องค์ชายกงจะทรงได้รับตำแหน่งสูงและมากเพียงไร พระพันปีฉือสี่ก็ทรงพยายามเลี่ยงที่จะให้องค์ชายกงมีพระอำนาจทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ
ในการออกว่าราชการหลังม่านครั้งแรกของพระพันปีทั้งสองพระองค์ซึ่งประทับคู่กัน ณ พระราชบัลลังก์หลังม่าน โดยมีพระเจ้าถงจื้อซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่ประทับพระราชอาสน์อยู่หน้าม่านนั้น พระพันปีฉือสี่ในพระนามพระเจ้าแผ่นดินได้ตราพระราชกฤษฎีกาสำคัญสองฉบับ ฉบับแรกให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสองมีพระราชอำนาจในการตัดสินพระทัยเกี่ยวกับราชการบ้านเมืองได้โดยเบ็ดเสร็จ ผู้ใดจะแทรกแซงมิได้ และฉบับที่สองให้เปลี่ยนชื่อรัชกาลปัจจุบันจาก ฉีเสียง (??) ที่แปลว่า "สมบูรณ์พูนสุข" เป็นถงจื้อ (??) เนื่องจากพระพันปีฉือสี่ทรงพอพระราชหฤทัยในความหมายของชื่อนี้ ซึ่งแปลว่า การปกครองแผ่นดินด้วยกันระหว่างพระพันปีฉือสี่และพระพันปีฉืออัน มากกว่า[ต้องการอ้างอิง]
พระพันปีฉือสี่เถลิงอำนาจในยามที่การเมืองของประเทศยังไม่นิ่ง อันเป็นผลมาจากการที่ข้าราชการเอาแต่ฉ้อราษฎร์บังหลวง การแทรกแซงจากต่างชาติ และสงครามฝิ่นที่ยังไม่ระงับไปเสียทีเดียวเนื่องจากกบฏเมืองแมนแดนสันติ (????) ยังคงลุกลามครอบคลุมภาคใต้ของจีนอยู่ทั่วไปโดยยังคอยแบ่งแยกดินแดนทีละน้อย ๆ พระพันปีฉือสี่จึงทรงจัดให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติราชการ โดยให้ข้าราชการระดับสูงตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นไปมีหน้าที่เฝ้าทูลละอองธุรีพระบาทครั้งละรายเพื่อทรงสอบด้วยพระองค์เอง ซึ่งพระพันปีฉือสี่ก็ได้ทรง "เชือดไก่ให้ลิงดู" ด้วยการสั่งประหารชีวิตข้าราชการสองรายทันทีเมื่อทรงตรวจพบพฤติการณ์ทุจริต คือ ชิง อิ๋ง ผู้พยายามติดสินบนเพื่อตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้น และ เหอ กุ้ยชิง ผู้สำเร็จราชการมณฑลแยงซีที่เอาตัวรอดหนีไปยังอำเภอฉางโจวในขณะที่กบฏเมืองแมนฯ เข้าโจมตีมณฑลของตน[ต้องการอ้างอิง]
ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่พระพันปีฉือสี่ทรงเผชิญคือ ความเสื่อมลงของระบบราชการ เนื่องจากแต่ก่อนตำแหน่งหน้าที่ราชการมักสงวนไว้แก่ชาวแมนจูซึ่งเข้าปกครองประเทศจีนเท่านั้น ส่วนชาวฮั่นซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ถึงแม้จะมีความสามารถแต่ก็ไม่อาจรับราชการในตำแหน่งสูงได้ พระพันปีฉือสี่ทรงเล็งเห็นข้อนี้ และทรงพบว่ายังมีข้าราชการทหารชาวฮั่นนายหนึ่งชื่อว่า เจิง กั๋วฝัน (???) มีความสามารถทางการทหารเป็นล้นพ้น จึงทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีภารกิจแรกคือการปราบปรามกบฏเมืองแมนฯ โดยเร็ว[ต้องการอ้างอิง] และอีกสองถึงสามปีถัดมา พระพันปีฉือสี่ยังได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งชาวฮั่นผู้มีความสามารถสูงเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดทางภาคใต้ทุกจังหวัด ซึ่งฝ่ายชาวแมนจูเองเห็นเป็นการลดทอนอำนาจตนลงไปถนัดตา
เจิงกั๋วฝันและกองทัพสามารถปราบปรามกบฏเมืองแมนฯ ได้อย่างราบคาบในเดือนกรกฎาคม 1864 ที่เมืองหนานจิง เจิงกั๋วฝันจึงได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานศักดินาระดับ "เจ้าพระยา" ของไทย ซึ่งในภาษาอังกฤษเขียนว่า "นายพล" (อังกฤษ: General)[ต้องการอ้างอิง] กับทั้งวงศาคณาญาติของเจิงกั๋วฝันและข้าราชการทหารชาวฮั่นระดับนายพลที่ร่วมป้องกันประเทศครั้งนี้ก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และยศถาบรรดาศักดิ์โดยถ้วนหน้า[ต้องการอ้างอิง]
เนื่องเพราะกบฏเมืองแมนฯ มีสาเหตุมาจากการเอาใจออกห่างรัฐบาล พระพันปีฉือสี่จึงทรงพระปริวิตกเกี่ยวกับภัยคุกคามภายในต่อพระราชอำนาจของพระองค์ โดยเฉพาะองค์ชายกงซึ่งทรงมีคนจงรักภักดีเกือบครึ่งประเทศ ทำให้ต้องทรงเฝ้าระวังองค์ชายกงเป็นพิเศษ[ต้องการอ้างอิง] และด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าองค์ชายกงจะได้ทรงปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นที่น่าพอใจถึงขนาดที่ได้รับพระราชทานบำเหน็จตอบแทนและประโยชน์อื่นมากมาย แต่เมื่อขุนนางไช่เช่าฉี (พินอิน: Cai Shaoqi) ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอให้ทรงปลดองค์ชายกงออกจากตำแหน่งทั้งปวงทางราชการเสีย ก็ทรงพระกรุณาให้รับเรื่องไว้พิจารณาทันที ฝ่ายองค์ชายกงไม่ทรงเห็นว่าฎีกาดังกล่าวสลักสำคัญอย่างไร เพราะมีพระดำริว่าทรงมีพรรคพวกและผู้สนับสนุนพอสมควรแล้ว ครั้นเดือนเมษายน 1865 พระพันปีฉือสี่ประกาศความผิดขององค์ชายกง ข้อหนึ่งในรายการอันยาวเหยียดนั้นว่า เพราะองค์ชายกงทรงประพฤติไม่บังควรหน้าที่นั่งหลายครั้งหลายครา สุดที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสองจะทรงอดกลั้นไว้ได้อีก แล้วจึงมีพระราชเสาวนีย์ให้องค์ชายกงพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ทางราชการทั้งปวง แต่ให้ทรงดำรงพระยศองค์ชายต่อไปได้
การปลดองค์ชายกงยังให้เกิดความสนเท่ห์ในหมู่ข้าราชการยิ่งนัก และโดยนำขององค์ชายอี้ชงชั้นหนึ่ง (????) และองค์ชายฉุนชั้นหนึ่ง (???) พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ห้าและที่เจ็ดในพระเจ้าเต้ากวง ได้มีการเข้าชื่อกันทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานให้ทรงคืนตำแหน่งหน้าที่แก่องค์ชายกงดังเดิม ซึ่งพระพันปีฉือสี่ได้ทรงคืนตำแหน่งเสนาบดีต่างประเทศให้แก่องค์ชายกงเพียงตำแหน่งเดียว และนับแต่นั้นมา องค์ชายกงก็ไม่ได้ทรงมีบทบาททางการเมืองอีกเลย
พระพันปีฉือสี่เถลิงอำนาจในยามที่ยุทธนาการของจีนล้วนพ้นสมัย และที่สำคัญ จีนไม่คบค้าสมาคมกับมหาอำนาจทางตะวันตก เป็นเหตุให้ขาดการติดต่อแลกเปลี่ยนวิทยาการอันจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศ กับทั้งโดยที่ทรงเล็งเห็นว่า ไม่มีทางที่เศรษฐกิจอันมีการกสิกรรมเป็นหลักของจีนจะไปสู้เศรษฐกิจอันมีอุตสาหกรรมเป็นหลักของชาติตะวันตกได้ พระพันปีฉือสี่จึงทรงตัดสินพระราชหฤทัยให้ริเริ่มเรียนรู้และรับเอาวิทยาการตะวันตก นโยบายในการบริหารประเทศเช่นนี้มีขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของรัฐราชาธิปไตยจีน[ต้องการอ้างอิง] โดยได้มีพระราชเสาวนีย์ให้ข้าราชการชาวฮั่นคนสำคัญอันได้แก่ เจิงกั๋วฝัน, หลี่ หงจาง (จีน: ???; พินอิน: L? H?ngzh?ng) และ จั่วจงถัง (จีน: ???; พินอิน: Zu? Z?ngt?ng) ไปร่างและควบคุมโครงการด้านอุตสาหกรรมในภาคใต้ของประเทศ
เพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าว ในปี 1863 ผู้สำเร็จราชการแทนพระองคฺ์ทั้งสองจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งวิทยาลัยถงเหวินกว่าน (จีน: ???; พินอิน: T?ng W?n Gu?n; "วิทยาลัยสหวิทยาการ") ขึ้นในกรุงปักกิ่ง เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ภาษาตะวันตก และต่อมาได้ขยายครอบคลุมถึงการเรียนรู้วิทยาการและนวัตกรรมต่างประเทศด้วย
วิทยาลัยถงเหวินกว่านเปิดสอนภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษารัสเซีย และภาษาญี่ปุ่น กับทั้งเคมี แพทยศาสตร์ กลศาสตร์ ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และกฎหมายนานาชาติ โดยรัฐบาลว่าจ้างผู้ชำนัญพิเศษชาวต่างชาติเป็นอาจารย์ กระนั้น ถงเหวินกว่านไม่ใช่วิทยาลัยแรกที่เปิดสอนภาษาต่างประเทศในจีน เพราะก่อนหน้านี้ในสมัยราชวงศ์หมิงได้มีการจัดตั้งวิทยาลัยเอ๋อหลัวซีกว่าน (จีน: ????; พินอิน: ? Lu? S? Gu?n; "วิทยาลัยรัสเซีย") ขึ้นเมื่อปี 1708 เพื่อสอนวิชาการแปลและการเป็นล่ามภาษาเอเชียทั้งหลาย ซึ่งต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาให้วิทยาลัยถงเหวินกว่างรับวิทยาลัยเอ๋อโหล๋วสีกว่านเข้าสมทบ ปัจจุบัน วิทยาลัยถงเหวินกว่างสังกัดมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
อนึ่ง ในครั้งนั้นยังได้มีการจัดส่งชายหนุ่มจำนวนหนึ่งไปศึกษาเล่าเรียนในต่างประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ดี นโยบายของรัฐบาลจีนดังกล่าวดำเนินไปได้ไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากด้านการทหารนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปใหม่ทั้งระบบ แต่พระพันปีฉือสี่กลับทรงแก้ไขปัญหาด้วยการซื้อเรือรบเจ็ดลำจากสหราชอาณาจักร อันเรือรบนั้นเมื่อมาเทียบท่าจีนก็ได้บรรทุกกะลาสีชาวอังกฤษซึ่งอยู่ในบังคับของอังกฤษมาด้วยเต็มลำ ชาวจีนเห็นว่าการที่สหราชอาณาจักรทำดังกล่าวเป็นการยั่วโมโห เพราะเรือเป็นของจีนซึ่งถือตนว่าเป็นศูนย์กลางของโลก มีฐานะและเกียรติยศสูงส่ง แต่กลับเอาต่างชาติซึ่งจีนเห็นว่าเป็นอนารยชนทุกชาติไปนั้นมาใส่ จีนจึงให้สหราชอาณาจักรเอาเรือกลับคืนไปทุกลำ เรือนั้นเมื่อกลับไปแล้วก็นำไปประมูลต่อไป และการกระทำของรัฐบาลจีนครั้งนี้ก็เป็นที่ขบขันของชาติตะวันตกอยู่ระยะหนึ่ง[ต้องการอ้างอิง]
ส่วนด้านวิชาการนั้นก็ประสบอุปสรรค เนื่องจากพระราชอัธยาศัยและวิธีการคิดเก่า ๆ แบบอนุรักษนิยมของพระพันปีฉือสี่ที่ทรงพระกังวลเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระองค์ว่าจะถูกลิดรอนไป[ต้องการอ้างอิง]
ในการก่อสร้างทางรถไฟหลวงนั้น พระพันปีฉือสี่ไม่พระราชทานพระราชานุมัติ โดยทรงอ้างว่าเสียงอันดังของรถไฟอาจไปรบกวนบรรดาบูรพกษัตริย์ที่บรรทมอยู่ในสุสานหลวง กระทั่งปี 1877 ได้ทรงเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีรถไฟในจักรวรรดิตามคำกราบบังคมทูลของหลี่ หงจาง จึงพระราชทานพระราชานุมัติให้จัดสร้างได้ แต่ต้องเป็นรถไฟแบบม้าลาก
พระพันปีฉือสี่ยังทรงหวั่นเกรงแนวคิดเสรีนิยมของผู้ที่ไปเล่าเรียนต่างประเทศกลับมา เนื่องจากทรงเห็นว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นภัยรูปแบบใหม่ที่จะคุกคามพระราชอำนาจของพระองค์ ดังนั้น ในปี 1881 จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้เลิกจัดส่งเด็กหนุ่มไปเล่าเรียนยังต่างประเทศ และพระราชอัธยาศัยเปิดกว้างที่ทรงมีต่อต่างชาติก็ค่อย ๆ ตีบแคบลงนับแต่นั้น[ต้องการอ้างอิง]
สำหรับด้านการอภิบาลพระเจ้าถงจื้อนั้น พระพันปีฉือสี่ทรงเข้มงวดกวดขันพระเจ้าแผ่นดินในทุก ๆ ด้านอย่างยิ่ง โดยด้านการศึกษา ทรงเลือกสรรและแต่งตั้งราชครูสำหรับพระเจ้าแผ่นดินด้วยพระองค์เอง ราชครูทูลเกล้าฯ ถวายการสอนวิชาวรรณกรรมคลาสสิก และให้ทรงศึกษาคัมภีร์โบราณ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงสนพระราชหฤทัยแม้แต่น้อย พระพันปีฉือสี่จึงทรงเข้มงวดกับพระราชโอรสกว่าเดิมเพื่อให้ทรงใฝ่พระราชหฤทัยศึกษาเพื่อพระเจ้าแผ่นดินเอง
ราชครูเวิง ถงเหอ (จีน: ???; พินอิน: W?ng T?ngh?) บันทึกไว้ว่า พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงสามารถอ่านหนังสือได้จบประโยคแม้จะมีพระชนมพรรษาสิบหกพรรษาแล้วก็ตาม[ต้องการอ้างอิง] ทำให้พระพันปีฉือสี่ทรงพระปริวิตกเกี่ยวกับความหย่อนพระปรีชาสามารถของพระเจ้าแผ่นดินอย่างยิ่ง
ในปี 1872 เมื่อพระเจ้าถงจื้อมีพระชนมพรรษาได้ 17 พรรษา พระพันปีทั้งสองพระองค์ต่างมีพระราชประสงค์จะให้ได้ทรงอภิเสกสมรสกับสตรีที่ตนคัดสรรเอาไว้แล้ว
ด้านพระพันปีฉืออันนั้น ทรงหมายพระเนตรสตรีแมนจูผู้มากคุณสมบัตินางหนึ่งจากสกุล “อาหลู่เท่อ” (???) นางอาหลู่เท่อนั้นเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีการศึกษาสูง บิดาเป็นข้าราชการระดับสูงและมากความสามารถหลายด้านชื่อว่า ”ฉงฉี่” (??) นางได้รับการอบร่มบ่มเพาะมาอย่างดี มีความสามารถมากเช่นเดียวกับสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว ประวัติศาสตร์บันทึกว่านางมีความสามารถโดดเด่นทางด้านการประพันธ์ วรรณกรรม การดนตรี และศิลปะ และยังบันทึกอีกว่านางสามารถอ่านหนังสือสิบบรรทัดได้ในหนึ่งกะพริบตาเท่านั้น ด้านพระพันปีฉือสี่นั้น มีพระราชดำริจะให้พระเจ้าแผ่นดินได้อภิเสกสมรสกับข้าหลวงในพระองค์นางหนึ่งจากสกุล “ฝูฉา” (??) ทำให้พระพันปีทั้งสองทรงผิดพระราชหฤทัยกัน พระพันปีฉือสี่ซึ่งมีพระราชดำริว่าพระพันปีฉืออันเป็นสตรีโง่เขลาแต่เมื่อนานมาแล้วก็ไม่พอพระราชหฤทัยพระพันปีฉืออันยิ่งขึ้น ด้านพระพันปีฉืออันนั้นก็ได้ตรัสบริภาษพระพันปีฉือสี่ว่าควรมีจริยธรรมในการปกครองครอบครัวมากกว่านี้ เพราะสตรีที่พระพันปีฉือสี่ทรงคัดเลือกไว้นั้นมีชาติตระกูลและคุณสมบัติต่ำกว่าสตรีที่พระพันปีฉืออันทรงเลือกไว้อย่างเห็นได้ชัด
ความขัดแย้งดังกล่าวสิ้นสุดลงเมื่อพระเจ้าถงจื้อมีพระราชวินิจฉัยเลือกนางอาหลู่เท่อเป็นพระอัครมเหสี โดยโปรดให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมรสขึ้นในวันที่ 15 กันยายน 1872 และมีพระบรมราชโองการให้สถาปนานางอาหลู่เท่อขึ้นเป็นพระอัครมเหสี มีพระนามาภิไธยว่า เจียชุ่น (??) ส่วนสตรีที่พระพันปีฉือสี่ทรงเลือกสรรไว้นั้น โปรดรับเอาไว้เป็นพระชายา
เดือนพฤศจิกายน 1873 พระเจ้าถงจื้อมีพระชนมพรรษาครบสิบแปดพรรษา ซึ่งถือว่าทรงบรรลุนิติภาวะและทรงสามารถบริหารพระราชภาระได้โดยพระองค์เองแล้ว อันหมายความว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสองก็จะพ้นจากตำแหน่งโดยนิตินัย แต่โดยพฤตินัยแล้ว พระพันปีฉือสี่ยังทรงกำกับการบริหารราชการแผ่นดินอยู่เช่นเคย เนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินทรงแต่พระสำราญกับนางใน หาได้เอาใจใส่กิจการบ้านเมืองอย่างเต็มที่ไม่
พระพันปีฉือสี่พระราชทานพระราโชวาทแก่พระเจ้าถงจื้อและพระนางเจียชุ่นว่าทั้งสองพระองค์ยังทรงอ่อนพระชนมพรรษาเกินไป สมควรกลับไปทรงศึกษาวิธีการบริหารบ้านเมืองให้บังเกิดประสิทธิผลให้ทรงเข้าพระทัยอย่างถ่องแท้เสียก่อน สมควรแล้วที่พระพันปีฉือสี่จะได้ทรงยื่นพระหัตถ์เข้ามาช่วยกำกับราชการ พระพันปีฉือสี่ยังได้ทรงส่งขันทีในพระองค์ปลอมปนเข้าไปสอดแนมความเคลื่อนไหวของฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ทรงทราบว่า ทั้งสองพระองค์ไม่ทรงนำพาพระราโชวาทดังกล่าว ก็มีพระราชเสาวนีย์เป็นเด็ดขาดให้พระเจ้าแผ่นดินเอาใจใส่พระราชภาระให้มากขึ้น ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินก็ได้แต่ทรงตกปากรับคำ
ระหว่างที่พระเจ้าแผ่นดินทรงบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองในปี 1873— 1875 ได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการปฏิสังขรณ์พระราชวิสุทธอุทยาน (???) ที่ถูกกองผสมนานาชาติเผาทำลายไปในสงครามฝิ่น โดยทรงปรารภว่าเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเป็นของขวัญแด่พระพันปีทั้งสองพระองค์ ทั้งนี้ พระราชวิสุทธอุทยานตั้งอยู่ตอนเหนือของกรุงปักกิ่ง และได้รับการขนานนามจากนานาชาติว่าเป็น "ยอดอุทยาน"[ต้องการอ้างอิง] ทั้งนี้ นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่า ความจริงแล้วพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชประสงค์จะให้พระพันปีฉือสี่เสด็จแปรพระราชฐานไปให้ไกลจากพระราชวังหลวง เพื่อได้ทรงบริหารพระราชภาระได้โดยไม่ต้องมีผู้ใดคอยควบคุมอีกต่อไป[ต้องการอ้างอิง]
อนึ่ง ในระยะดังกล่าว พระคลังมหาสมบัติร่อยหรอลงไปจนเหลือเพียงน้อยนิดเนื่องเพราะใช้จ่ายไปการสงครามกับต่างชาติและการปราบปรามอั้งยี่ซ่องโจรภายใน พระเจ้าแผ่นดินจึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้คณะกรรมการบริหารพระคลังมหาสมบัติกระทำการใด ๆ ให้ได้มาสู่พระคลังซึ่งเงินและทรัพย์สิน กับทั้งรับสั่งให้พระบรมวงศ์ ข้าราชการชั้นสูง และผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งปวงช่วยกันบริจาคเงินและทรัพย์สินให้แก่พระคลัง ในการนี้ ยังได้ทรงติดตามและตรวจสอบผลการดังกล่าวด้วยพระองค์เองด้วย
อย่างไรก็ดี พระเจ้าแผ่นดินไม่มีพระราชขันติเพียงพอต่อความคับข้องพระราชหฤทัยในอันที่ถูกพระราชชนนีบริภาษและบังคับเคี่ยวเข็ญ กับทั้งมีพระราชดำริว่าพระองค์ทรงโดดเดี่ยวเปลี่ยวพระราชหฤทัยเกินไป จึงทรงระบายพระราชอารมณ์บ่อย ๆ ด้วยการทรงโบยขันทีอย่างรุนแรงด้วยพระองค์เองสำหรับความผิดเล็กน้อย อันเป็นผลจากพระโทสะที่ร้ายกาจขึ้นเพราะความบกพร่องลงของพระขันติดังกล่าว[ต้องการอ้างอิง] นอกจากนี้ ด้วยความช่วยเหลือและชักชวนของบรรดาขันทีและองค์ชายไจ้เชิง พระโอรสพระองค์แรกขององค์ชายกง และพระสหายคนสนิทของพระเจ้าถงจื้อ จึงทรงสามารถเสด็จออกไปทรงพระสำราญพระราชหฤทัยนอกพระราชวังได้บ่อยครั้ง โดยทรงพระภูษาเช่นสามัญชนแล้วลอบเสด็จฯออกจากพระราชวังในยามเย็นเพื่อไปประทับอยู่ ณ หอคณิกาตลอดคืน[ต้องการอ้างอิง]
เนื่องเพราะ "ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิดก็ไม่มิด" พฤติกรรมทางเพศดังกล่าวของพระเจ้าแผ่นดินจึงเป็นที่โจษจันตลอดทั้งชาววังถึงชาวบ้านร้านตลาด และยังได้รับการบันทึกไว้ในเอกสารทางประวัติศาสตร์จีนหลายฉบับด้วย[ต้องการอ้างอิง] ดังนั้น ในเดือนสิงหาคม 1874 บรรดาพระบรมวงศ์ตลอดจนข้าราชการและพนักงานของรัฐชั้นผู้ใหญ่ที่ต่างระอาในพระเจ้าแผ่นดิน จึงพากันเข้าชื่อกันทูลเกล้าฯ ถวายคำแนะนำเพื่อให้ทรงนำพาราชการไปให้ตลอดรอดฝั่ง และขอพระราชทานให้ทรงงดการปฏิสังขรณ์พระราชวิสุทธอุทยานเสีย ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงสบพระราชอารมณ์อย่างยิ่ง มีพระบรมราชโองการให้ปลดองค์ชายกงซึ่งทรงร่วมเข้าพระนามด้วย ออกเสียจากฐานันดรศักดิ์ในพระราชวงศ์ กลายเป็นสามัญชน ไม่กี่วันถัดจากนั้นได้มีพระบรมราชโองการให้ปลด องค์ชายตุน (จีน: ?; พินอิน: D?n) , องค์ชายฉุน, องค์ชายอี้จวน (พินอิน: Yizuan) , องค์ชายอี้ฮุย (พินอิน: Yihui) , องค์ชายชิง (พินอิน: Qing) ตลอดจนข้าราชการและรัฐบุรุษคนอื่น ๆ ที่เข้าชื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาดังกล่าว เช่น นายพลเจิงกั๋วฝัน, หลี่ หงจาง , เหวินเสียง (จีน: ??; พินอิน: W?n Xi?ng) ฯลฯ ออกจากจากฐานันดรศักดิ์ในพระราชวงศ์ บรรดาศักดิ์ และตำแหน่งหน้าที่ทางราชการทั้งสิ้น
พระพันปีฉือสี่และพระพันปีฉืออันทรงทราบความโกลาหลในพระราชสำนักแล้ว ก็เสด็จออก ณ ท้องพระโรงด้วยกันขณะที่พระจักพรรดิถงจื้อทรงออกขุนนาง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์รัฐราชาธิปไตยจีน[ต้องการอ้างอิง] ทั้งสองพระองค์ตรัสบริภาษพระเจ้าแผ่นดิน พร้อมมีพระราโชวาทแนะนำให้ทรงยกเลิกพระบรมราชโองการปลดพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเหล่านั้นเสีย เป็นเหตุให้พระเจ้าแผ่นดินทรงเสียพระราชหฤทัยนักที่ไม่อาจทรงบริหารพระราชอำนาจได้อย่างเด็ดขาด และทรงระบายพระราชอารมณ์ด้วยการเสด็จประทับโรงหญิงนครโสเภณีเช่นเดิมอีก
หลังจากนั้นเป็นที่ร่ำลือทั่วกันว่า พระเจ้าแผ่นดินประชวรพระโรคซิฟิลิส ซึ่งโบราณเรียก “โรคสำหรับบุรุษ” เกิดจากการสัมผัสหรือร่วมประเวณีกับผู้ป่วยโรคนี้ พระพันปีฉือสี่จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้คณะแพทย์หลวงเข้าตรวจพระอาการ พบว่าพระเจ้าแผ่นดินประชวรพระโรคซิฟิลิสจริง[ต้องการอ้างอิง] เมื่อทรงทราบแล้วพระพันปีฉือสี่ทรงเตือนให้คณะแพทย์เก็บงำความข้อนี้เอาไว้ เพราะเรื่องดังกล่าวย่อมเป็นความอื้อฉาวน่าอดสูขนานใหญ่ คณะแพทย์จึงจัดทำรายงานเท็จเกี่ยวกับพระอาการแทน โดยรายงานว่าพระเจ้าแผ่นดินประชวรไข้ทรพิษ และถวายการรักษาตามพระอาการไข้ทรพิษ อันไข้ทรพิษนั้นมีลักษณะและอาการแต่ผิวเผินคล้ายคลึงกับโรคซิฟิลิส และชาวจีนยังนิยมว่าผู้ป่วยเป็นเป็นไข้ทรพิษถือว่ามีโชค[ต้องการอ้างอิง]
อย่างไรก็ดี เมื่อพระเจ้าแผ่นดินประชวรนั้น พระพันปีฉือสี่ได้ทรงประกาศในพระนามพระเจ้าแผ่นดินว่า พระเจ้าแผ่นดินประชวรไข้ทรพิษ ถือเป็นมงคลแก่บ้านเมือง[ต้องการอ้างอิง] และในระหว่างการรักษาพระองค์นี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระพันปีฉือสี่และพระพันปีฉืออันเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน ซึ่งนับได้ว่าพระพันปีฉือสี่กลับเข้าดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกครั้ง
โดยที่คณะแพทย์ถวายการรักษาพระอาการไข้ทรพิษเพื่อตบตาผู้คน แต่ความจริงแล้วทรงเป็นซิฟิลิส พระเจ้าถงจื้อจึงเสด็จสวรรคตใน13 มกราคม|วันที่ 13 มกราคม 1875
เมื่อพระเจ้าถงจื้อเสด็จสวรรคตแล้ว พระพันปีฉือสี่ทรงพระพิโรธว่าเป็นความผิดของพระอัครมเหสีเจียชุ่น และมีพระราชเสาวนีย์ให้ตัดข้าวตัดน้ำพระอัครมเหสีนับแต่นั้น พระอัครมเหสีจึงลอบส่งลายพระหัตถ์ไปถึงพระราชบิดาขอให้ช่วย ซึ่งพระราชบิดาทรงตอบกลับมาด้วยความจนปัญญาว่า "ทรงพระปรีชาอยู่แล้ว" (????) พระอัครมเหสีจึงทรงกระทำอัตวินิบาตกรรม ซึ่งพระพันปีฉือสี่ได้มีรับสั่งให้จัดพระราชพิธีพระบรมศพถวายอย่างสมพระเกียรติ และให้ประกาศว่าพระอัครมเหสีทรงกระทำเช่นนั้นด้วยความ "รักและคิดถึง" พระราชภัสดาอย่างยิ่งยวด
ด้วยถงจื้อมิได้ทรงตั้งรัชทายาทไว้ และในการเฟ้นหาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมในการสืบราชสันตติวงศ์ก็ไม่อาจหาพระราชวงศ์ในลำดับชั้นสูงกว่าพระเจ้าแผ่นดินคือที่ประสูติก่อนพระเจ้าแผ่นดินได้ จึงจำต้องคัดเลือกจากผู้มีประสูติกาลในรุ่นเดียวกับหรือรุ่นหลังจากรุ่นดังกล่าว พระพันปีฉือสี่จึงทรงเห็นชอบให้[[พระเจ้ากวังซฺวี่|องค์ชายไจ้เทียน พระโอรสในองค์ชายฉุน (จีน: ????; พินอิน: Ch?n Xi?n Q?n W?ng) กับพระขนิษฐภคินีของพระพันปีฉือสี่ พระชนม์สี่พรรษา เสวยราชย์เป็นรัชกาลถัดมา โดยให้เริ่มปีที่ 1 แห่งรัชศก "กวังซฺวี่" อันมีความหมายว่า "รัชกาลอันรุ่งเรือง" ในปี 1875 เมื่อพระพันปีฉือสี่มีพระราชเสาวนีย์ดังนั้น องค์ชายไจ้เทียนก็ทรงถูกนำพระองค์ไปจากพระราชฐานทันทีและนับแต่นี้ไปจนตลอดพระชนม์ก็ทรงถูกตัดขาดจากครอบครัวโดยสิ้นเชิง ทรงได้รับการศึกษาจากราชครูเวิง ถงเหอ (จีน: ???; พินอิน: W?ngt?ngh?) เมื่อมีพระชนม์ได้ห้าพรรษา
วันที่ 8 เมษายน 1881 ระหว่างทรงออกขุนนางตอนเช้า พระพันปีฉืออันทรงรู้สึกไม่สบายพระองค์จึงนิวัตพระราชฐาน และสวรรคตในบ่ายวันนั้น การสวรรคตโดยปัจจุบันทันด่วนของพระพันปีฉืออันสร้างความตื่นตะลึงแก่ประชาชนทั่วไป เพราะพระสุขภาพพลานามัยของพระพันปีอยู่ในขั้นดียิ่งยวดเสมอมา ครั้งนั้น เกิดข่าวลือแพร่สะพรัดทั่วไปในจีนว่าเป็นพระพันปีฉือสี่ที่ทรงวางพระโอสถพิษแก่พระพันปีฉืออัน ว่ากันว่าสาเหตุอาจเป็นเพราะกรณีประหารขันทีอันเต๋อไห่ หรือเพราะพระพันปีฉืออันทรงถือพระราชโองการจากพระเจ้าแผ่นดินในพระโกศให้มีพระราชอำนาจสั่งประหารพระพันปีฉือสี่ได้หากว่าพระนางทรงก้าวก่ายการบ้านการเมืองหรือมีพระราชวิสัยไม่เหมาะสมอย่างไร[ต้องการอ้างอิง] อย่างไรก็ดี ข่าวลือดังกล่าวยังไร้หลักฐานยืนยันข้อเท็จจริง และนักประวัติศาสตร์ไม่ยอมรับอย่างเต็มร้อยในเรื่องการวางพระโอสถพิษดังกล่าว แต่สันนิษฐานกันว่าพระพันปีฉืออันประชวรพระโรคลมปัจจุบันโดยอ้างอิงบันทึกทางการแพทย์ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารทางประวัติศาสตร์สมัยนั้น[ต้องการอ้างอิง] การทิวงคตของพระพันปีฉืออันส่งผลให้พระพันปีฉือสี่ทรงเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินแต่เพียงผู้เดียวอย่างเต็มพระองค์
เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องว่า ในขณะที่ทหารเรือจีนพ่ายแพ้[[สงครามจีน-ญี่ปุ่น 1897 อย่างราบคาบและสูญเสียอาวุธยุโธปกรณ์สมัยใหม่ไปมากในครั้งนี้ พระพันปีฉือสี่แทนที่จะทรงอนุมัติงบประมาณไปปรับปรุงกองทัพ กลับนำไปปฏิสังขรณ์พระราชวังฤดูร้อนส่วนพระองค์ ซึ่งความจริงแล้ว เงินงบประมาณดังกล่าวตั้งไว้สำหรับพระราชทานแก่พระราชวงศ์และข้าราชการต่าง ๆ เป็นบำเหน็จในการปฏิบัติหน้าที่ แต่เพื่อนำเงินไปปรับปรุงกองทัพ พระพันปีฉือสี่จึงมีพระราชเสาวนีย์โปรดให้ยกเลิกงานแซยิดของพระองค์อันกำหนดให้จัดขึ้นในปีถัดมา ยังให้บุคคลหลายฝ่ายไม่พอใจเพราะมิได้รับเงินบำเหน็จดังกล่าว[ต้องการอ้างอิง] ส่วนเงินที่นำไปปรับปรุงพระราชวังพระพันปีฉือสี่นั้นได้แก่เงินสิบล้านตำลึงซึ่งพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระพันปีฉือสี่ในวันแซยิดของพระพันปีฉือสี่เมื่อ 1895 นอกจากนี้ ในครั้งนั้น องค์ชายจุน พระชนกของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งทรงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองทัพเรือจีนแทนองค์ชายกงที่ทรงถูกปลดไปเป็นองคมนตรีเหตุเพราะไม่อาจทรงนำชัยในสงครามจีน-ฝรั่งเศสมาได้ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายงบประมาณของกองทัพเรือไปสมทบทุนการปฏิสังขรณ์พระราชวังเอง เพราะทรงต้องการช่วยให้พระโอรสมีพระราชอำนาจในการบริหารราชการอย่างเต็มที่ โดยให้พระพันปีฉือสี่แปรพระราชฐานไปยังพระราชวังฤดูร้อน จะได้ไม่ต้องอยู่ใกล้กับราชการแผ่นดินอีก ซึ่งพระพันปีฉือสี่ก็มิได้ทรงปฏิเสธการปฏิสงขรณ์พระราชวังถวายแต่อย่างใด
1887 หลังจากที่พระเจ้ากวังซฺวี่มีพระชนมพรรษาได้สิบหกพรรษา เป็นการทรงบรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้โดยลำพัง พระพันปีฉือสี่จึงมีประกาศพระราชเสาวนีย์ให้จัดพระราชพิธีเถลิงถวัลยราชสมบัติ อย่างไรก็ดี ด้วยความเกรงพระทัยและพระราชอำนาจของพระพันปีฉือสี่ บรรดาข้าราชการ นำโดยองค์ชายฉุน (จีน: ????; พินอิน: Ch?n Xi?n Q?n W?ng) และราชครูเวิง ถงเหอ (จีน: ???; พินอิน: W?ngt?ngh?) ซึ่งต่างคนต่างก็มีความมุ่งประสงค์ต่างกันไป ได้พากันคัดค้านและเสนอให้เลื่อนเวลาเสวยพระราชอำนาจตามลำพังของพระเจ้าแผ่นดินออกไปก่อนโดยให้เหตุผลว่ายังทรงพระเยาว์นัก พระพันปีฉือสี่ก็ทรงสนองคำเสนอดังกล่าว และมีประกาศพระราชเสาวนีย์ความว่า ด้วยพระเจ้าแผ่นดินยังทรงพระเยาว์นัก พระพันปีจึงทรงจำต้องอภิบาลราชการแผ่นดินทั้งปวงต่อไปอีก
อย่างไรก็ดี พระพันปีฉือสี่ก็จำต้องทรงคลายพระหัตถ์ออกจากพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อพระเจ้าแผ่นดินมีพระชนมพรรษาได้สิบแปดพรรษาและทรงอภิเสกสมรสในปี 1889 ทั้งนี้ ก่อนหน้าพระราชพิธีอภิเสกสมรส บังเกิดอาเพศเป็นมหาเพลิงลุกไหม้หมู่พระทวารแห่งนครต้องห้ามโดยเป็นผลมาจากพิบัติภัยทางธรรมชาติในช่วงนั้น แต่ตามความเชื่อของจีนว่ากันว่าเป็นลางบอกว่า พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ปัจจุบันทรงถูกสวรรค์เพิกถอน "อาณัติ" เสียแล้ว[ต้องการอ้างอิง]
และเพื่อให้ทรงสามารถครอบงำกิจการทางการเมืองได้ต่อไป พระพันปีฉือสี่ทรงบังคับให้พระเจ้าแผ่นดินทรงเลือกนางจิ้งเฟิน (??) พระราชภาคิไนยของพระพันปีฉือสี่เอง เป็นพระอัครมเหสี ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินไม่โปรดเช่นนั้นแต่ก็ไม่อาจทรงขัดขืนได้ และในระยะต่อมาก็โปรดประทับอยู่กับสนมเจิน (??) มากกว่ากับพระอัครมเหสี ยังให้พระพันปีฉือสี่ทรงพระพิโรธอยู่เนือง ๆ ในปี 1894 เมื่อสนมเจิน สนับสนุนให้พระเจ้าแผ่นดินก่อรัฐประหารเพื่อชิงอำนาจทางการเมืองจากพระพันปีฉือสี่ พระพันปีฉือสี่ซึ่งทรงสดับความก่อนก็เสด็จไปบริภาษสนมเจิน ต่าง ๆ นานา และด้วยข้อหาว่าพระมเหสีทรงก้าวก่ายกิจการบ้านเมืองก็มีพระราชเสาวนีย์ให้ลงโทษเฆี่ยนตีและนำพระมเหสีไปจำขังไว้ ณ ตำหนักเย็นจิตนับแต่นั้น[ต้องการอ้างอิง]
นอกจากนี้ ถึงแม้พระเจ้าแผ่นดินจะมีพระชนมพรรษาสิบเก้าพรรษาแล้ว และถึงแม้พระพันปีฉือสี่จะเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับยังพระราชวังฤดูร้อนโดยทรงอ้างเหตุผลว่าเพื่อให้พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงคลายพระราชหฤทัยว่าจะไม่ทรงก้าวกายการบริหารราชการแผ่นดินอีก แต่โดยพฤตินัยแล้วพระพันปีฉือสี่ยังทรงมีอิทธิพลเหนือพระเจ้าแผ่นดินผู้ซึ่งต้องเสด็จไปพระราชวังฤดูร้อนทุก ๆ วันที่สองหรือสามของสัปดาห์ เพื่อทูลถวายรายงานเกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองต่าง ๆ ต่อพระพันปีฉือสี่ และหากพระพันปีฉือสี่มีรับสั่งประการใดก็ต้องเป็นไปตามนั้น
หลังจากที่ทรงสามารถบริหารพระราชอำนาจโดยลำพังตามนิตินัยแล้ว พระเจ้ากวังซฺวี่ก็มีพระราชหฤทัยใฝ่ไปในทางพัฒนาอย่างสมัยใหม่มากกว่าใฝ่อนุรักษนิยมอย่างพระพันปีฉือสี่ และภายหลังที่จีนพ่ายแพ้สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งแรก และด้วยแรงผลักดันของนักปฏิรูปนิยมอย่างคังหยูเว่ย และเหลียงฉีเฉา พระเจ้าแผ่นดินจึงทรงเห็นดีเห็นงามในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอันมีญี่ปุ่นและเยอรมนีเป็นตัวอย่าง ซึ่งทรงเห็นว่าจะช่วยพัฒนาการเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศจีนไปสู่ความรุ่งเรืองได้ ดังนั้น จึงทรงเริ่ม "การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" หรือที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า "การปฏิรูปร้อยวัน" เพราะดำเนินไปเพียงหนึ่งร้อยวันก็ถูกพระพันปีฉือสี่ล้มเลิกหมดสิ้น การปฏิรูปดังกล่าวเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 1898 โดยพระเจ้าแผ่นดินมีพระบรมราชโองการเป็นจำนวนมากให้มีการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการเมือง ด้านกฎหมาย และด้านสังคม เพื่อให้เปลี่ยนเข้าสู่ระบอบราชาธิปไตยฯ ดังกล่าว
การปฏิรูปการเช่นว่าเป็นสิ่งที่ปัจจุบันทันด่วนเกินไปสำหรับประเทศจีนที่อิทธิพลของลัทธิขงจื้อยังมีอยู่มาก และยังทำให้พระพันปีฉือสี่ไม่สบพระราชหฤทัยอย่างยิ่งในแนวคิดเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอีกด้วยเฉกเช่นเดียวกับข้าราชการบางกลุ่ม พระพันปีฉือสี่จึงก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินอีกครั้ง โดยในเช้ามืดของวันที่ 21 กันยายน 1898 เสด็จพระราชดำเนินนำสรรพกำลังบุกเข้าพระราชวังต้องห้าม แล้วมีพระราชเสาวนีย์ให้ทหารของหรงลู่จับกุมองค์พระเจ้าแผ่นดินไปคุมขังไว้ ณ พระตำหนักสมุทรมุข ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะจำลองที่จัดทำขึ้นกลางทะเลสาบจงหนานถัดออกไปจากหมู่นครต้องห้าม แล้วทรงประกาศพระราชเสาวนีย์ความว่า ด้วยเหตุที่สภาวะบ้านเมืองระส่ำระสาย มีการกบฏทั่วไปโดยมีอิทธิพลญี่ปุ่นหนุนหลังอันแทรกซึมมาภายใต้แนวคิดการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินไม่มีพระปรีชาสามารถพอจะทรงรับมือกับสถานการณ์ได้ จึงกราบบังคมทูลเชิญพระพันปีฉือสี่ให้ทรงรับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกครั้ง นับว่ารัชกาลของพระเจ้ากวังซฺวี่สิ้นสุดลงโดยพฤตินัยตั้งแต่วันนั้น
การยึดอำนาจการปกครองของพระพันปีฉือสี่ ส่งผลให้บรรดาสมัครพรรคพวกของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น คัง โหย่วเหวย เป็นต้นถูกเนรเทศออกจากประเทศ และคนอื่น ๆ ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินถูกประหารชีวิตในที่สาธารณะ สำหรับคัง โหย่วเหวย นั้นแม้จะถูกเนรเทศแต่ก็คงมีใจซื่อตรงต่อพระเจ้ากวังซฺวี่และปฏิบัติงานต่าง ๆ เพื่อการปฏิรูปตามแนวคิดของพระองค์เสมอ เขายังตั้งความหวังไว้ว่าสักวันหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะได้ทรงกลับสู่พระราชบัลลังก์อีกครั้ง นอกจากนี้ ยังส่งผลให้นานาชาติและประชาชนทั่วไปไม่พอใจการยึดอำนาจของพระพันปีฉือสี่อย่างยิ่ง[ต้องการอ้างอิง]
ในปี 1900 บรรดานักมวยในประเทศจีนสมาคมกันต่อต้านชาวต่างชาติในประเทศ เรียก "กบฏนักมวย" (อังกฤษ: Boxer Rebillion) โดยเริ่มปฏิบัติการที่ทางภาคเหนือของจีน พระพันปีฉือสี่พระราชทานพระราชูปถัมภ์แก่กบฏนี้ด้วยความที่มีพระราชประสงค์จะอนุรักษ์คุณค่าทางประเพณีนิยมอย่างโบราณของจีนไว้และมีพระดำริว่าชาวต่างชาติเป็นศัตรูที่ป่าเถื่อนและร้ายกาจ โดยมีประกาศพระราชเสาวนีย์สนับสนุนกบฏฯ อย่างเป็นทางการด้วย[ต้องการอ้างอิง]
นานาชาติจึงพร้อมใจกันส่งกองทหารผสมแปดชาติเข้าต่อต้านกบฏในจีน ฝ่ายกองทัพจีนซึ่งมีแต่ความล้าสมัยอย่างที่สุด เพราะงบประมาณสำหรับพัฒนากองทัพนั้นพระพันปีฉือสี่ทรงนำไปจัดสร้างพระราชวังต่าง ๆ เสียหมด ไม่อาจต้านทานกองผสมนานาชาติซึ่งอาวุธยุทโธปกรณ์ล้วนแต่ทันสมัยได้ กองผสมจึงสามารถยึดกรุงปักกิ่งและพระราชวังต้องห้ามได้ในปีนั้น
ฝ่ายพระพันปีฉือสี่นั้นก่อนทหารนานาชาติจะเข้ากรุง ได้มีพระราชเสาวนีย์ให้พระเจ้ากวังซฺวี่ และข้าราชบริพารทั้งปวง ขึ้น[[เกวียนโดยปลอมแปลงพระองค์และตัวอย่างชาวบ้านธรรมดาเพื่อลี้ภัยไปยังนครซีอาน มณฑลฉ่านซี ระหว่างเตรียมการเสด็จลี้ภัยนั้น สนมเจินในพระเจ้าแผ่นดินซึ่งพระพันปีฉือสี่มีพระราชเสาวนีย์ให้จำขังไว้ในตำหนักเย็นจิตได้ทูลขอให้พระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ในพระนครเพื่อเป็นขวัญกำลังใจของประชาชนและเพื่อเจรจากับต่างชาติ พระพันปีฉือสี่ทรงสดับแล้วก็ทรงพระพิโรธนัก มีพระราชเสาวนีย์ให้ขันทีทั้งหลายเข้ากลุ้มรุมจับสนมเจินไปทิ้งลงบ่อน้ำนอกพระตำหนักหนิงเซี่ย (อังกฤษ: Ningxia Palace) ทางตอนเหนือนครต้องห้าม ถึงแก่กาลทิวงคต
ฝ่ายนานาชาติเมื่อยึดได้เมืองหลวงของจีนแล้ว ก็เสนอทำสนธิสัญญากับพระพันปีฉือสี่ ให้ทรงรับประกันว่าจะไม่มีกบฏของจีนมาต่อต้านชาวต่างชาติอีก ให้มีทหารต่างชาติประจำอยู่ในจีนได้ และให้รัฐบาลจีนชำระค่าปฏิกรรมสงครามต่อนานาชาติเป็นเงินเกือบสามร้อยสามสิบสามล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งพระพันปีฉือสี่ก็ทรงจำพระราชหฤทัยลงพระนามในสนธิสัญญาอันฝ่ายจีนมองว่าเป็น "ความรู้สึกถูกทำให้อัปยศ" อย่างยิ่ง และทรงยินยอมตามทุกข้อเสนอ
วันที่ 14 พฤศจิกายน 1908 พระเจ้ากวังซฺวี่สวรรคตอย่างปัจจุบันทันด่วน พระพันปีฉือสี่จึงทรงสถาปนาผู่อี๋ เจ้าฟ้าพระองค์น้อย เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป ก่อนพระองค์เองจะสวรรคตในวันรุ่งขึ้น ณ พระที่นั่งจงไห่อี๋หลวนเตี้ยน (จีน: ?????; พินอิน: Zh?ngh?iy?lu?ndi?n; อังกฤษ: Middle Sea Hall of Graceful Bird) ตามไป ครั้งนั้น มีข่าวลือสะพรัดว่าพระพันปีฉือสี่ทรงทราบในพระสังขารของพระองค์เองว่าจะทรงดำรงพระชนมชีพต่อไปได้อีกไม่นาน ก็ทรงพระปริวิตกว่าพระเจ้าแผ่นดินจะรื้อฟื้นการปฏิรูปแผ่นดินอีกหลังพระพันปีฉือสี่สวรรคตแล้ว บ้างก็ว่าทรงเกรงว่าพระเจ้าแผ่นดินจะทรงเล่นงานบรรดาคนสนิทของพระพันปีฉือสี่ จึงมีรับสั่งให้ขันทีคนสนิทไปลอบวางพระโอสถพิษพระเจ้าแผ่นดิน ครั้นทรงทราบว่าพระเจ้าแผ่นดินทิวงคตแล้ว พระพันปีฉือสี่ก็ทรงจากไปโดยสบายพระราชหฤทัย
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2008 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ตามที่รัฐบาลจีนได้แต่งตั้งคณะแพทย์ให้ปฏิบัติการทางนิติเวชศาสตร์เพื่อชันสูตรพระบรมศพพระเจ้ากวังซฺวี่ บัดนี้ ผลปรากฏว่า พระเจ้าแผ่นดินสวรรคตอย่างเฉียบพลันเพราะทรงต้องสารหนู โดยปริมาณของสารหนูที่ตรวจพบมีมากถึงสองพันเท่าจากปริมาณที่อาจพบได้ในร่างกายมนุษย์โดยทั่วไป หนังสือพิมพ์ไชนาเดลียังรายงานโดยอ้างคำกล่าวของนายไต้อี้ (พินอิน: Dai Yi) นักประวัติศาสตร์ชาวจีน อีกว่าการชันสูตรดังกล่าวทำให้ข่าวลือเรื่องพระพันปีฉือสี่มีพระราชเสาวนีย์ให้ปลงพระชนม์พระเจ้าแผ่นดินเป็นเรื่องจริง
พระพันปีฉือสี่ทรงได้รับการเฉลิมพระบรมนามาภิโธยหลังสวรรคตว่า "พระจักรพรรดินีเสี้ยวชิงฉือสี่ตวนโย้วคังอี๋จาวยู้จวงเฉิงโช้วกงชิงเสี้ยนฉงซีเป่ย์เทียนซิงเชิงเสี่ยน" (พินอิน: Xi?o Q?ng C? X? D?an Y? Kang-Yi Zhao-Yu Zhuang-Cheng Shou-Gong Qin-Xian Chong-Xi Pei-Tian Xing-Sheng Xi?n) เรียกโดยย่อว่า "พระจักรพรรดินีเสี้ยวชิงเสี่ยน" (จีน: ???; พินอิน: Xi?o Q?ng Xi?n) ทั้งนี้ พระบรมศพพระพันปีฉือสี่ได้รับการบรรจุ ณ สุสานหลวงราชวงศ์ชิงฝ่ายตะวันออก (จีน: ???; พินอิน: Q?ngd?ngl?ng, ชิงตงหลิง) ห่างจากกรุงปักกิ่งไปทางตะวันออกเป็นระยะทางหนึ่งร้อยยี่สิบห้ากิโลเมตร เคียงข้างกับพระบรมศพของพระพันปีฉืออันและพระเจ้าเสียนเฟิง
พระพันปีฉือสี่มีพระราชเสาวนีย์ให้เตรียมฮวงซุ้ยไว้สำหรับพระองค์เองตั้งแต่ยังทรงพระชนมชีพอยู่แล้ว และมีขนาดใหญ่โตมโหฬารกว่าของพระพันปีฉืออันหลายเท่านัก อย่างไรก็ดี เมื่อฮวงซุ้ยสร้างเสร็จครั้งแรกก็ไม่ทรงพอพระราชหฤทัย มีพระราชเสาวนีย์ให้ทำลายเสียทั้งหมด[ต้องการอ้างอิง] แล้วให้สร้างใหม่ในปี 1895 หมู่ฮวงซุ้ยใหม่ของพระพันปีฉือสี่ประกอบด้วยเหล่าพระอาราม พระที่นั่ง และพระทวาร ซึ่งประดับประดาด้วยใบไม้ทองและเครื่องเงินเครื่องทองตลอดจนรัตนชาติอัญมณีต่าง ๆ อย่างหรูหรา[ต้องการอ้างอิง]
ในเดือน[[กรกฎาคม 1928 นายพลซุน เตี้ยนอิง (จีน: ???; พินอิน: S?n Di?ny?ng) แห่งพรรคก๊กมินตั๋ง ได้ยกพลเข้าปิดล้อมและยึดหมู่ฮวงซุ้ยของพระพันปีฉือสี่ แล้วสั่งทหารให้ถอดเอาของมีค่าที่ประดับประดาฮวงซุ้ยออกทั้งหมด[ต้องการอ้างอิง] ก่อนจะระเบิดเข้าไปถึงห้องเก็บพระบรมศพ แล้วเปิดหีบขว้างพระบรมศพออกมาเพื่อค้นหาของมีค่า ไข่มุกเม็ดโตซึ่งบรรจุในพระโอษฐ์พระบรมศพตามความเชื่อโบราณว่าจะพิทักษ์พระบรมศพมิให้เน่าเปื่อยยังถูกฉกเอาไปด้วย ว่ากันว่าไข่มุกเม็ดดังกล่าวได้รับการนำเสนอให้แก่นายพลเจียง ไคเช็ก หัวหน้าพรรคฯ และนายพลเจียงไคเช็กได้นำไปเจียระไนเป็นเครื่องประดับรองเท้าของนางซ่ง เหม่ยหลิง (จีน: ???; พินอิน: S?ng M?il?ng) ภริยาตน แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานรองรับเรื่องดังกล่าว[ต้องการอ้างอิง] ทั้งนี้ โชคดีว่ามิได้เกิดความเสียหายอันใดแก่พระบรมศพพระพันปีฉือสี่ ต่อมาภายหลัง 1949 รัฐบาลจีนได้สั่งให้ปฏิสังขรณ์หมู่ฮวงซุ้ยของพระพันปีฉือสี่ และปัจจุบันก็เป็นสุสานพระบรมศพราชวงศ์จีนที่มีความงดงามจับใจเป็นที่สุดแห่งหนึ่ง[ต้องการอ้างอิง]