ซีอุย แซ่อึ้ง (พ.ศ. 2470 — 16 กันยายน พ.ศ. 2502) เป็นชื่อของฆาตกรที่ฆ่าเด็กและนำตับมาต้มกินในช่วงปี พ.ศ. 2497–2501 มีเด็กอย่างน้อย 6 คนที่ถูกซีอุยสังหาร ภายหลังนำมาทำเป็นภาพยนตร์
ซีอุย มีชื่อจริงว่า หลีอุย แซ่อึ้ง แต่คนไทยเรียกเพี้ยนเป็น ซีอุย หรือคนสมัยใหม่ให้สมญานามว่า เวนดิโกเมืองไทย เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2470 ที่เมืองซัวเถา โดยเป็นลูกคนที่ 3 จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 12 คน ของนายฮุนฮ้อ กับ นางไป๋ติ้ง แซ่อึ้ง ในครอบครัวยากจนที่ทำการเกษตร เมื่อยังเป็นเด็กและเป็นวัยรุ่น ซีอุยมีส่วนสูง 150 เซนติเมตรเท่านั้น จึงมักถูกรังแกอยู่เสมอ จนกระทั่งมีนักบวชรูปหนึ่งได้แนะนำเขาว่า ถ้าอยากจะมีร่างกายแข็งแรงต้องกินเนื้อหรืออวัยวะมนุษย์ คำสอนนี้ได้ฝังอยู่ในใจซีอุยมาเสมอ
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2488 ซีอุยอายุครบ 18 ปีเต็ม ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ซีอุยประจำอยู่หน่วยรบทหารราบที่ 8 ในขณะที่จีนและญี่ปุ่นทำสงครามกันอยู่ ซีอุยถูกส่งไปรบในสมรภูมิพม่าแนวสนามรบตามรอยต่อตะเข็บแดนของจีน เป็นเวลาถึงหนึ่งปีเต็มที่ซีอุยต้องเผชิญกับความลำบากและเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายตลอด อาหารก็ขาดแคลน ขณะที่เพื่อนทหารก็ทยอยตายไปเรื่อย ๆ จากการสู้รบ ซีอุยจึงได้ลิ้มรสชาติเนื้อมนุษย์เป็นครั้งแรกจากที่นี่ เมื่อสงครามสงบ ซีอุยถูกปลดจากการเป็นทหาร ด้วยความแร้งแค้น ซีอุยถูกเพื่อน ๆ ชักชวนให้เข้ามาหางานทำในเมืองไทย โดยหลบหนีเข้าเมืองมาด้วยการเป็นกรรมกรรับจ้างในเรือขนส่งสินค้าชื่อ "โคคิด" เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2489 ด้วยการหลบซ่อนมาเป็นเวลา 3 สัปดาห์เต็ม โดยขึ้นฝั่งที่ท่าเรือคลองเตย และหลบซ่อนตัวในโรงแรมห้องแถวเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ต่อมาได้เดินทางไปยังอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อไปหาญาติ ที่นั่น ซีอุยทำงานด้วยการรับจ้างทำสวนผักและรับจ้างทั่วไปเป็นเวลานานถึง 8 ปีเต็ม ก่อนที่ซีอุยจะก่ออาชญากรรม โดยที่ซีอุยมีนิสัยชอบเกาหัวและหาวอยู่เสมอ ๆ มีบุคลิกชอบเก็บตัว
ซีอุยได้จับเด็กมาผ่าเอาตับมากินโดยเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ โดยได้ฆ่าเด็ก 3 รายแรก ที่ อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก่อนที่จะหลบหนีไปโดยรถไฟและก่อเหตุอีกที่งานฉลองตรุษจีนที่บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เมื่อปี พ.ศ. 2500 สุดท้ายถูกจับได้หลังจากคดีฆาตกรรมในจังหวัดระยอง เมื่อปี พ.ศ. 2501 ซึ่งมีเพียงเหยื่อรายแรกและเป็นรายเดียวเท่านั้นที่รอดชีวิตมาได้ เป็นเด็กผู้หญิงอายุ 8 ขวบในขณะนั้น (พ.ศ. 2497) สุดท้ายเขาถูกจับขังคุกและประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า เพราะในระหว่างดำเนินคดี 9 วัน ซีอุยยอมรับสารภาพว่าเป็นคนลงมือ 7 คดี และจิตแพทย์ลงความเห็นว่า ซีอุยไม่ได้เป็นบ้า ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2502
ภายหลังมีการสืบค้นคดีโดยรายการโทรทัศน์ บางอ้อ ทางช่อง 9 รวมทั้งรายการ ย้อนรอย ทางไอทีวี มีหลักฐานพยานและรูปคดีที่บ่งชี้ว่า ซีอุย ไม่ได้ฆ่าเด็กทุกคน มีเพียงเด็กคนสุดท้ายเท่านั้นที่เป็นหลักฐานมัดตัว ขณะตำรวจได้เข้าจับกุมหลังจากซีอุยลงมือฆ่า และอวัยวะในร่างกายของเหยื่อทุกรายก็ไม่ได้สูญหาย จึงเป็นที่สงสัยว่าเหตุใด ซีอุย จึงรับสารภาพว่าเป็นผู้ฆ่าเหยื่อทุกราย และนำอวัยวะมากิน ซึ่งก็ยังเป็นประเด็นของรูปคดีที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดในปัจจุบัน บ้างก็เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ของไทยได้ให้สัญญากับซีอุยว่าให้ซีอุยรับสารภาพ แล้วจะจัดการให้ได้กลับเมืองจีน ด้วยความที่ไม่จัดเจนในภาษาทำให้ซีอุยรับสารภาพ และถูกประหารชีวิตในที่สุด ชาวบ้านร่วมสมัยที่ยังอาศัยในพื้นที่บางคนที่ยังมีชีวิตอยู่เชื่อว่าซีอุยไม่ได้เป็นฆาตกรตัวจริง
ปัจจุบัน ศพของซีอุยเก็บไว้ที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งมีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า "พิพิธภัณฑ์ซีอุย"
เรื่องราวของซีอุยได้เล่าขานต่อ ๆ กันมาในสังคมไทย และสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์หลายครั้ง มีนักแสดงหลายคนที่รับบทซีอุยเป็น ได้แก่ ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง, นพพล โกมารชุน, เทอดพร มโนไพบูลย์ และต้วนหลง นักแสดงชาวจีน รวมถึงในวงการมวยไทย มีนักมวยไทยใช้ชื่อ ซีอุย ส.สุนันท์ชัย ในการแข่ง