ซะยาซาน (พม่า: ?????, Saya San) เกิดเมื่อ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2419 เสียชีวิตเมื่อ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 เป็นพระภิกษุและผู้นำของกบฏซะยาซาน ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความสำคัญทางประวัติศาสตร์และชาติ ซะยาซานและการต่อต้านของเขายังถูกพูดถึงในปัจจุบัน
ซะยาซานเป็นชาวชเวโบซึ่งเป็นศูนย์กลางของกลุ่มชาตินิยมและกลุ่มนิยมเจ้าในพม่าภาคกลางตอนเหนือ ชเวโบเป็นที่ประสูติของพระเจ้าอลองพญาผู้ก่อตั้งราชวงศ์คองบองที่ปกครองพม่าตั้งแต่ พ.ศ. 2295 จนกระทั่งตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษใน พ.ศ. 2429 ซะยาซานเกิดเมื่อ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2419 ชื่อเดิมคือยาจอ บิดาของเขาชื่ออูเจ มารดาชื่อดอว์เพะ ซะยาซานบวชเป็นสามเณรตั้งแต่ยังเด็ก จนเป็นหนุ่มจึงได้ลาสิกขาและแต่งงานกับมะเก มีบุตรสองคน คือ โกโปตินและมะเซน ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ซะยาซานได้เดินทางไปมะละแหม่งในพม่าตอนล่างและได้เริ่มบทบาททางการเมืองขึ้นในปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2473 ซะยาซานจัดให้กรรมกรออกมาประท้วง และมีผู้เสนอให้เขาครองราชสมบัติเช่นเดียวกับพระเจ้าอลองพญา แต่อังกฤษสามารถปราบปรามการลุกฮือนี้ได้ ซะยาซานหนีไปรัฐฉานทางตะวันออก ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2474 เขาถูกจับกุมตัวได้ และถูกตัดสินให้ประหารชีวิตเมื่อ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474
ชาวพม่าเข้ามาตั้งรกรากในบริเวณปัจจุบันตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 14 และได้ตั้งอาณาจักรพุกามเมื่อ พ.ศ. 1600 และล่มสลายลงเมื่อกุบไลข่านเข้ามารุกรานเมื่อ พ.ศ. 1830 ราชวงศ์ตองอูรวบรวมแผ่นดินได้อีกในราวพุทธศตวรรษที่ 21 ส่วนราชวงศ์คองบองได้ขึ้นสู่อำนาจเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 23 ก่อนจะถูกผนวกเข้าเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และพระเจ้าธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้ายถูกส่งไปลี้ภัยยังประเทศอินเดีย อังกฤษเข้าปกครองพม่าแม้จะมีการลุกฮือต่อต้านทั่วดินแดนเดิมที่เป็นราชอาณาจักรพม่า แต่อังกฤษก็ปราบปรามได้ อังกฤษได้ทำลายความเป็นราชอาณาจักรของพม่า ส่งราชบัลลังก์ของกษัตริย์พม่าเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ที่กัลกัตตา พระราชวังมัณฑะเลย์ถูกเปลี่ยนเป็นสโมสรสำหรับชาวอังกฤษในพม่าตอนบน
การต่อต้านอังกฤษในพม่าเกิดขึ้นทั่วไประหว่าง พ.ศ. 2429- 2433 ขบวนการต่อต้านเหล่านี้นำโดยอดีตเชื้อพระวงศ์ เช่น เจ้าฟ้ามยีนไซง์ ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2433 มีพระสงฆ์กลุ่มเล็ก ๆ เข้าร่วมกันจัดตั้งองค์กรเพื่อรักษาสถานะของศาสนาในสังคม จนกระทั่ง พ.ศ. 2449 ได้จัดตั้งสมาคมยุวพุทธขึ้นในย่างกุ้ง เป็นช่องทางให้เสมียนและผู้มีการศึกษาเข้ามาเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงในสังคมอาณานิคม และต้องการให้ความสำคัญกับการศึกษาทางด้านวัฒนธรรม ต่อมาได้จัดตั้งสภาทั่วไปของสมาคมชาวพม่าที่วางแผนให้มีการประท้วง และสมาคมยังพยายามเข้าไปสร้างฐานที่มั่นในชนบท ซะยาซานเข้าร่วมกับสมาคมนี้ในชนบทเป็นเวลา 2 ปีจนเป็นที่นิยม
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2473 เกิดแผ่นดินไหวที่หงสาวดีและปยู ชาวพม่าเชื่อว่าเป็นอาเพศเพราะไม่มีกษัตริย์ จึงได้ยกซะยาซานขึ้นเป็นกษัตริย์ในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2473 ซะยาซานหรือราชาคาลนได้ตั้งพระราชวังที่ธาราวดี (ตายาวะดี) ประกาศจะจัดตั้งราชวงศ์ที่ยอมรับพุทธศาสนา และขับไล่อังกฤษออกไป ในคืนวันที่ 22 ธันวาคม ได้เกิดเหตุปะทะที่ธาราวดี เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในพม่าตอนล่าง ดินแดนนี้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ราคาข้าวตกต่ำ ทำให้ชาวพม่าหันไปเลื่อมใสซะยาซานมากขึ้น หลังเกิดเหตุรุนแรงในธาราวดี อังกฤษได้ส่งทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ การลุกฮือเกิดขึ้นอีกในพื้นที่ใกล้เคียงคือ พยาโบน, ฮีนตาดะ, อีนเซน, หงสาวดี, ตองอู, แปร, ตะแยะ, นองโช และกลุ่มรัฐฉานทางเหนือ ผู้นำกบฏคนอื่น ๆ เข้าร่วมในการลุกฮือครั้งนี้ด้วย อังกฤษที่ย่างกุ้งได้ขอความช่วยเหลือจากทหารอังกฤษในอินเดียในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2474 ทำให้มีการส่งทหารเพิ่มเติมเข้ามาจากอินเดีย มีความพยายามประกาศกฎอัยการศึกในเดือนกรกฎาคม แต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งจับกุมตัวซะยาซานได้ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2474 เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2475 กบฏถูกฆ่ามากกว่าพันคน และที่ยอมแพ้ถูกจับกุมอีกกว่า 9,000 คน ซะยาซานและกบฏอีก 125 คนถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ และถูกตัดสินจำคุกอีกเกือบ 1,400 คน