ช้างอินเดีย (อังกฤษ: Indian elephant; ชื่อวิทยาศาสตร์: Elephas maximus indicus) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ในวงศ์ Elephantidae หรือช้าง เป็นช้างที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุคไพลโอซีนหรือประมาณ 5 ล้านปีก่อนมาแล้ว
เป็นชนิดย่อยของช้างเอเชีย (E. maximus) ชนิดหนึ่ง นับเป็นช้างเอเชียชนิดที่มีการกระจายพันธุ์และจำนวนประชากรมากที่สุด พบกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางในแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชีย ตั้งแต่เอเชียใต้จนถึงภูมิภาคอินโดจีน นับจาก ประเทศเนปาล, ภูฐาน, อินเดีย, พม่า, ไทย, ลาว, เวียดนาม, กัมพูชา, มณฑลยูนนาน และมาเลเซีย ในประเทศไทยพบได้ในป่าทุกภูมิภาค โดยพบมากที่สุด ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีทั้งหมดประมาณ 300 ตัว โดยสถานที่ ๆ มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก คือ อุทยานแห่งชาติกาจิรังคา ในอินเดีย ขณะที่ในป่าสงวนของเขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน มีจำนวนช้างอินเดียประมาณ 300 ตัว นับเป็นประเทศเดียวที่จำนวนประชากรช้างอินเดียในธรรมชาติมีการเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการอนุรักษ์
ช้างอินเดีย มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับช้างเอเชียชนิดอื่น ๆ เพียงแต่มีสีผิวที่สว่างกว่าช้างเอเชียชนิดอื่น แต่คล้ำกว่าช้างสุมาตรา (E. m. sumatranus) มีความสูงประมาณ 2-4 เมตร (จากเท้าถึงหัวไหล่) และมีน้ำหนักประมาณ 3,000-5,000 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มที่จะกินอาหารวันหนึ่งประมาณ 200 กิโลกรัม และดื่มน้ำมากถึงวันละ 50 แกลลอนต่อวัน อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง โดยมีช้างตัวเมียที่มีอายุมากที่สุดเป็น จ่าฝูง เรียกว่า "แม่แปรก" ตัวเมียจะไม่มีงา ขณะที่ช้างตัวผู้หากมีงาสั้น ๆ จะเรียกว่า "ช้างสีดอ" มีอายุการตั้งท้องนานถึง 22 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว มักอาศัยอยู่ในป่าโปร่ง หรือทุ่งหญ้า มากกว่าป่าดิบ นับเป็นช้างชนิดที่มนุษย์ผูกพันและนำมาใช้งานมากที่สุด
ปัจจุบัน ช้างเอเชียตัวที่เชื่อว่าใหญ่ที่สุดในโลก เป็นช้างอินเดียตัวผู้ ชื่อ "บีมกาส" อาศัยอยู่ในป่าลึกของอุทยานแห่งชาติบาเดียทางตะวันตกของเนปาล มีความสูง 10 ฟุตครึ่ง หรืออาจจะถึง 11 ฟุต มีอายุมากกว่า 25 ปี มีเส้นผ่าศูนย์กลางของรอยเท้าถึง 22 นิ้ว เป็นช้างที่ไม่ค่อยจะได้มีผู้พบเห็นตัว และมีภาพถ่ายอย่างเป็นทางการยืนยันได้แค่ภาพเดียวเท่านั้น ซึ่งในยุคทศวรรษ 1980 ก็มีช้างตัวผู้ลักษณะใหญ่โตแบบนี้เช่นเดียวกัน คือมีส่วนสูง 11 ฟุต วัดจากเท้าถึงหัวไหล่ 3.5 เมตร เท่ากับว่าใหญ่กว่าช้างเอเชียทั่วไปเท่าตัว และมีส่วนหัวขนาดใหญ่กว่าช้างทั่วไป จึงมีข้อสันนิษฐานว่าช้างอินเดียในแถบนี้อาจมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสเตโกดอน ช้างในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อกว่า 20,000 ปีก่อน และมีลักษณะเช่นนี้ แต่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว จากหลักฐานที่ค้นพบว่าสเตโกดอนได้อพยพจากไซบีเรียลงมาสู่อนุทวีปอินเดีย
จากการล่าช้างเพื่อเอางา ทำให้ช้างอินเดียตัวผู้ในธรรมชาติ ปัจจุบันกลายเป็นช้างไม่มีงา หรือช้างสีดอมากถึงร้อยละ 4 โดยครึ่งหนึ่งนั้นเป็นประชากรช้างที่อาศัยอยู่ในจีน