ช่องเขามานา (อังกฤษ: Mana Pass; จีน: ????) หรือ มานาลา, ชีร์บิตยา, ชีร์บิตยา-ลา และ ดังกรี-ลา เป็นช่องเขาระหว่างเทือกเขาหิมาลัย ตั้งอยู่ระหว่างพรมแดนทิเบตกับอินเดีย อยู่ที่ความสูง 5,545 เมตร (18,192 ฟุต) เป็นช่องที่เดินทางด้วยพาหนะที่สูงที่สุดในโลก ถนนที่ใช้สัญจรสร้างในช่วงปี ค.ศ. 2005–2010 สำหรับปฏิบัติการทางทหารโดยองค์การถนนพรมแดน (Border Roads Organisation) ของอินเดีย สามารถมองเห็นถนนเหล่านี้ได้บนกูเกิล เอิร์ธ
ช่องเขามานาตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาตินันทาเทวี (Nanda Devi National Park) ห่างจากตอนเหนือของเมืองมานา 24 กิโลเมตร และ 27 กิโลเมตรจากเมืองพัทรีนาถ (Badrinath) เมืองที่มีความสำคัญของศาสนาฮินดูในรัฐอุตตราขัณฑ์ ช่องเขาแห่งนี้เป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำสรัสวตี แม่น้ำสาขาของแม่น้ำอลกนันทา (Alaknanda River) ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาที่ยาวที่สุดของแม่น้ำคงคา นอกจากนี้ยังเป็นจุดที่เหมาะสำหรับการปีนยอดเขาชอคามบา (Chaukhamba)
ช่องเขามานาเป็นเส้นทางสัญจรและค้าขายระหว่างรัฐอุตตราขัณฑ์กับทิเบตมาตั้งแต่โบราณ คำว่า "มานา" มาจาก "มณีภัทรอาศรม" (Manibhadra Ashram) ซึ่งเป็นเมืองโบราณในเขตเมืองมานา ในปี ค.ศ. 1624 นักบวชชาวโปรตุเกสจากคณะเยสุอิต 2 รูปคือ อังตอนีอู ดือ อังดราดือ (Ant?nio de Andrade) และมานูแอล มาร์กึช (Manuel Marques) เป็นชาวยุโรป 2 คนแรกที่เดินทางเข้าทิเบตผ่านช่องเขาแห่งนี้ มีการใช้ช่องเขามานาเรื่อยมาจนประเทศจีนประกาศปิดเส้นทางในปี ค.ศ. 1951 ต่อมาในวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1954 ประเทศจีนและประเทศอินเดียได้ร่วมกันลงนามในข้อตกลงยินยอมให้ชนพื้นเมืองและผู้แสวงบุญมีสิทธิ์ในการเดินทางเข้าออกสองประเทศผ่านช่องเขาแห่งนี้