ประวัติศาสตร์ชาวยิวในประเทศไทยนั้นมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 ด้วยการมาถึงของครอบครัวชาวยิวแบกแดดจำนวนหนึ่ง ถึงแม้ว่าชาวยิวในประเทศไทยปัจจุบันนั้นส่วนใหญ่จะประกอบด้วยชาวยิวอัชเคนาซิ ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยจากรัสเซีย และสหภาพโซเวียตในเวลาต่อมา นอกจากนี้ ยังมีชาวยิวเปอร์เซียอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อหนีการไล่ล่าและสังหารในอิหร่าน ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 และ 1980
ชาวยิวที่ตั้งรกรากถาวรในประเทศไทยส่วนใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยชาวยิวไม่เกิน 1,000 คน อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณถนนข้าวสาร) ถึงแม้ว่าประชาคมชาวยิวที่มีขนาดเล็กกว่าและมีธรรมศาลายิวจะมีอยู่ในจังหวัดภูเก็ต จังหวัดเชียงใหม่ และเกาะสมุย ในช่วงวันหยุดของชาวยิว จำนวนชาวยิวในบริเวณดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก (เป็นหลายพัน) เนื่องจากมีชาวยิวเดินทางเข้ามาในช่วงวันหยุดเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอิสราเอลและสหรัฐอเมริกา ตามการขอจัดตั้งธรรมศาลายิวสองแห่งขึ้นในกรุงเทพมหานคร เบธ อีลิเชวาและอีเวน เชน, ราไบโยเซฟ ชาอิม คันทอร์ ได้ดำรงตำแหน่งราไบถาวรคนแรกในกรุงเทพมหานคร ใน พ.ศ. 2536 เขาอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2536 ในปีเดียวกับที่สมาคมชาวยิวแห่งประเทศไทยได้รับการก่อตั้งขึ้น และเป็นสมาชิกชาบัด
ชาบัดในกรุงเทพมหานครเป็นชาบัดเฮ้าส์ขนาดใหญ่ ซึ่งบริการให้แก่นักท่องเที่ยวหนุ่มสาวชาวอิสราเอลเป็นส่วนใหญ่ สถานที่ดังกล่าวเป็นศูนย์บรรเทาภัยพิบัติที่สำคัญหลังจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อ พ.ศ. 2547 นอกจากนี้ ยังได้เสิร์ฟมื้ออาหารชาบัตให้แก่นักท่องเที่ยวชาวยิวหลายร้อยคนต่อสัปดาห์ และอีกหลายร้อยคนในช่วงเทศกาลปัสกา
ปัจจุบัน มีการศึกษาชาวยิวครบวงจรในกรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งเยชิวานิกายออร์โธด็อกซ์ที่เพิ่งเปิดใหม่ด้วย หลังจากที่ได้มีการขอรัฐบาลมาเป็นเวลาหลายปี ในที่สุดรัฐบาลก็อนุญาตให้มีการก่อตั้งสุสานชาวยิวได้