จาม (เวียดนาม: ng??i Ch?m เหงื่อยจัม, ng??i Ch?m เหงื่อยจ่าม; จาม: Urang Campa อูรัง จัมปา) จัดอยู่ในตระกูลภาษามาลาโยโพลินีเชียน อาศัยอยู่บริเวณทางใต้ของเวียดนาม และเป็นกลุ่มชนมุสลิมเป็น 1 ใน 54 ชาติพันธุ์ของประเทศเวียดนาม
ในอดีตชนชาติจามตั้งอาณาจักรจามปาที่ยิ่งใหญ่ มีความเจริญรุ่งเรืองช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 2-15 ด้วยอาณาเขตติดทะเล ชาวจามจึงมีความสามารถเดินเรือและค้าขายไปตามหมู่เกาะ ไกลถึงแถบตะวันออกกลาง รวมถึงประเทศจีน ส่วนใหญ่เป็นผ้าไหม ไม้หอม เครื่องปั้นดินเผา ปัจจุบันคือบริเวณเมืองดานัง เมืองท่าในตอนกลางของเวียดนาม มีเมืองหลวงชื่อ วิชัย (ปัจจุบันคือเมืองบิญดิ่ญ) มีโบราณสถานกระจัดกระจายอยู่ตามภูเขาต่าง ๆ ในเวียดนาม
กระทั่งในปี ค.ศ. 1471 อาณาจักรจามปาสู้รบกับชนชาติเวียดนามเดิม ที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ทำให้อาณาจักรจามปาล่มสลาย ชาวจามส่วนใหญ่ต้องอพยพลงไปใต้ปัจจุบันมีชาวจามอาศัยอยู่ทางตอนกลางของเวียดนาม ที่เมืองนิงห์ถ่วง เมืองบินห์ถ่วง เตยนินห์ โฮจิมินห์ ส่วนทางใต้จะอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากที่เมืองอันยาง
ชาวจามเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมใกล้เคียงกับกลุ่มชาติพันธุ์ในมาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยในอดีตชาวจามได้ก่อตั้งอาณาจักรจามปา ซึ่งในอดีตพื้นที่ของอาณาจักรจะครอบคลุมเมืองเว้ กว่างนาม ถัวเถียน ฟานรัง และญาจาง ของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน
ราว พ.ศ. 989 กองทัพจีนยกทัพมาตีราชธานีวิชัย (เมืองบิญดิ่ญในปัจจุบัน)ได้สำเร็จช่วงนี้ชาวจีนที่มีชื่อ หม่าตวนหลิน เข้ามาบันทึกเรื่องชาวหลินอี้ (ชาวจาม) ความว่า
...สร้างบ้านด้วยอิฐฉาบปูน หญิงและชายมีผ้าฝ้ายผืนเดียวห่อหุ้มร่างกาย ชอบเจาะหูและห้อยห่วงเล็ก ผู้ดีใส่รองเท้าหนัง ไพร่เดินเท้าเปล่า พระราชาสวมพระมาลาทรงสูง ทรงช้าง และล้อมรอบด้วยบริพารถือธงและกลดกั้น
อาณาจักรจามปา รุ่งเรืองสูงสุดช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-15 แต่ช่วงปลายต้องกรำศึกสงครามกับอาณาจักรไดเวียดทางทิศเหนือ และอาณาจักรขอมโบราณกระหนาบทางทิศใต้อย่างต่อเนื่อง จนในปี พ.ศ. 1688 พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้ที่สร้างนครวัด เข้ายึดครองเมืองหลวงได้ ต่อมา ชาวจามปารวมตัวกันติด จัดกองทัพยกมาตีเอาเมืองเมืองหลวงคืนได้ พ.ศ. 1692
ใน พ.ศ. 1720 กองทัพเรือจามปายังยกพลขึ้นบกเข้าโจมตีและปล้นสะดม เผาทำลายเมืองพระนครเสียหายยับเยิน อำนาจอาณาจักรนครหลวงเสื่อมไประยะหนึ่ง จนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1763?) พระองค์ได้กระทำสงครามปราบกษัตริย์จามปาสำเร็จ โดยปรากฏมีภาพสลักยุทธนาวีกับกองทัพจาม ณ ปราสาทนครธมด้วย โดยได้ผนวกอาณาจักรจามปาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอมโบราณถัดจากพระองค์นี้ อาณาจักรก็อ่อนแอลงเรื่อยมา
แม้ชาวอาณาจักรจามปาพยายามรวมตัวถือโอกาสปลดแอกจากอาณาจักรขอมได้สำเร็จ แต่ต่อมาก็ถูกอาณาจักรไดเวียด พ.ศ. 2014 กษัตริย์เลถั่นตองแห่งไดเวียดส่งทัพตีเมืองหลวงวิชัย ยึดสำเร็จ กระทั่ง พ.ศ. 2375 สมเด็จพระจักรพรรดิมิงห์หม่างจึงได้ผนวกดินแดนส่วนที่เหลือของจามปาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนาม และกลืนชาวจามจนกลายเป็นชนกลุ่มน้อย
ระหว่างสงครามทำลายล้างชาวจามของขอม และไดเวียดนั้น ชาวจามบางส่วนอพยพเข้าสู่ดินแดนสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199 - 2231) จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงได้มีผู้อพยพชาวจามเข้ามามากที่สุดอีกช่วงหนึ่ง คือเมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดครองกัมพูชาเมื่อกว่า 100 ปีก่อน โดยได้บีบบังคับห้ามนับถือศาสนาอิสลาม ชาวจามจึงเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตริย์ไทย
วัฒนธรรมของอาณาจักรจามปานั้น ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งไศวนิกายมาตั้งแต่ต้น ศาสนาพุทธนิกายมหายานมีอิทธิพลเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในราวพุทธศตวรรษที่ 14 แต่หลังจากนั้นศาสนาฮินดูก็กลับมาเป็นศาสนาหลักอีกครั้ง
ส่วนศาสนาอิสลามเริ่มเข้าสู่อาณาจักรจามในพุทธศตวรรษที่ 15 จากการค้าขายกับชาวอาหรับ แต่ก็ไม่แพร่หลายมากนัก ศาสนาฮินดูยังคงเป็นศาสนาหลักอยู่ แต่ต่อมาหลังจากที่อาณาจักรจามแพ้เวียดนามในปี พ.ศ. 2014 ศาสนาอิสลามก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้น จนกระทั่งในราวพุทธศตวรรษที่ 22 ราชวงศ์ของกษัตริย์แห่งจามปาก็ยอมรับนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งก็ยิ่งทำให้ประชาชนทั่วไปนับถือศาสนาอิสลามมากขึ้นตามไปด้วย
ปัจจุบันนี้ แม้ว่าคนที่สืบเชื้อสายจามส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่ทว่าอิทธิพลของวัฒนธรรมฮินดูนั้นก็ยังคงมีอยู่กับชาวจามอยู่ค่อนข้างมาก
ชาวจามในอดีตนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและพุทธมหายานได้ปรากฏในโบราณสถานต่างๆของชาวจาม แต่ต่อมาชาวมาเลย์ได้มาเผยแพร่ศาสนาอิสลามแก่ชาวจาม โดยชาวจามที่แบ่งตามศาสนาสามารถแยกออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
แขกจามในไทยสะสมมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ชาวจามเหล่านี้น่าจะถูกกวาดต้อนมาจากดินแดนของตัวเอง(เวียดนามปัจจุบัน)ตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แล้วตั้งถิ่นฐานอยู่ในปริมณฑลของนครธม จนเมื่อถูกเจ้าสามพระยาโจมตีจึงเริ่มถูกกวาดต้อนมาอยู่อยุธยา ในช่วงสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่สอง ชุมชนชาวจามนี้ก็เป็นกำลังส่วนหนึ่งในการสู้รบกับการรุกรานของพม่าด้วย แต่ภายหลังการหลังเสียกรุง ชาวจามที่เหลือรอดได้เข้าสวามิภักดิ์กับพระเจ้ากรุงธนบุรี และได้ตั้งถิ่นฐานที่บ้านครัว ในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี มีการรุกรานเขมรและกวาดต้อนครัวจามมาเพิ่มเติมที่บ้านครัวเพิ่มอีก
ในสงคราม 9 ทัพ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้มีการเกณฑ์เชลยศึกกองทัพอาสาจามไปต่อสู้กับพม่าจนได้รับชนะ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินผืนหนึ่ง เพื่อให้ทำมาหากินอยู่รวมกันเป็นหมู่นอกเขตพระนคร โดยมีต้นไม้ใหญ่เป็นแนวเขต และมีร่องน้ำลำกระโดงตามธรรมชาติไหลผ่านริมคลองมหานาคและคลองแสนแสบ คือชุมชนบ้านครัว เขตปทุมวันในปัจจุบัน
หลักฐานที่ปรากฏชัดเจนเกี่ยวกับชาวจามตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ที่บ้านครัวเป็นแหล่งที่อยู่ ของขุนนางและทหารเรือของกรมอาสาจาม ภายใต้การนำของ พระยาราชวังสัน (บัว) ชาวบ้านครัวมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง หญิงชาวจามมีความชำนาญในเรื่องการทอผ้าไหมมาก หญิงบ้านครัวจึงทอผ้าเป็นหัตถกรรมในระยะแรก เพราะตามประเพณีดั้งเดิมของชาวจามจะทอผ้าเอาไว้ใช้เองในครอบครัว
อีกกลุ่มหนึ่ง ลงเรือมาขึ้นปากอ่าวลำคลองท่าตะเภา และปากอ่าวคลองน้ำเชี่ยว อยู่ตำบลน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด อีกกลุ่มขึ้นปากน้ำระยอง และกลุ่มที่สามไปถึงกรุงเทพฯ กลุ่มนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานที่ดินให้อยู่ที่บ้านครัว เขตปทุมวัน มาจนทุกวันนี้