ชัยนาทแปลตามศัพท์มีความหมายว่า "เสียงบันลือแห่งชัยชนะ" เป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่ง ตัวเมืองเดิมอยู่บริเวณฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองแพรกศรีราชา ใต้ปากน้ำเก่า สันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นในสมัยพญาเลอไทครองกรุงสุโขทัยระหว่าง พ.ศ. 1860-1879 เมืองแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า เมืองแพรกหรือเมืองสรรค์ มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านทางใต้ เมื่อกรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง เมืองแพรกได้กลายเป็นเมืองหน้าด่านทางตอนเหนือของกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้เกิดชุมชนใหม่ไม่ไกลจากเมืองสรรค์ เมืองที่เกิดขึ้นใหม่นี้เป็นเมืองใหญ่ มีชื่อว่า ชัยนาท ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ย้ายตัวเมืองจากบริเวณแหลมยาง มาตั้งตรงฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนเมืองสรรค์นั้นเสื่อมลงเรื่อย ๆ เพราะผู้คนอพยพมาอยู่ที่ชัยนาทเป็นส่วนใหญ่ ในที่สุดก็กลายเป็นเพียงอำเภอหนึ่งของชัยนาทเท่านั้น ชัยนาทเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เคยใช้เป็นที่ตั้งทัพรับศึกพม่าหลายครั้งและมีชัยทุกครั้งไป จึงเป็นที่มาของชื่อเมืองชัยนาทแห่งนี้
เป็นการนำฟางข้าวที่ไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ มาประดิษฐ์เป็นรูปนกขนาดใหญ่หลายชนิด โดยนก แต่ละชนิด นำมาติดตั้งบนรถแต่ละคัน ซึ่งตกแต่งไว้อย่างสวยงามเป็นรูปขบวน หลังจากการ ประกวดหุ่นฟางนกทั้งหมดจะนำมาตั้งแสดงที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัด กำหนดจัดงานประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี นอกจากนี้ ในบริเวณงานจะมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง และผลิตผลทางการเกษตร
ชัยนาทเป็นจังหวัดที่สามารถปลูกส้มโอทุกพันธุ์ได้ผลดี ส้มโอสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดชัยนาทคือ ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา ซึ่งมีลักษณะพิเศษดังนี้คือ ผลกลม ผิวเรียบ เปลือกบาง รสหวานกรอบอมเปรี้ยวนิด ๆ ไม่มีรสขม ปัจจุบันจังหวัดเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนปลูกกันเป็นอาชีพและจัดงานส้มโอชัยนาทเป็นประจำทุกปี ช่วงระหว่างปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายนที่บริเวณหน้าศาลากลาง จังหวัดชัยนาท มีกิจกรรมที่น่าสนใจคือการประกวดส้มโอ การจัดนิทรรศการให้ความรู้ จากหน่วยงานทางราชการ การออกร้านจำหน่ายกิ่งพันธุ์และผลส้มโอของเกษตรกรชาวชัยนาท