จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ถือกำเนิดจาก "โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน" ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2442 พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ "พระเกี้ยว" มาเป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียน การดำเนินงานของโรงเรียนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 (นับแบบเก่า) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประดิษฐานขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย และพระราชทานนามว่า "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถของพระองค์ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2460 ถึงปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีผู้บัญชาการและอธิการบดีมาแล้ว 16 คน อธิการบดีคนปัจจุบัน คือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) รับรองมาตรฐานการศึกษาในระดับดีมาก เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ สมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN) และสมาคมมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิก (APRU) นอกจากนี้ ในการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา พบว่า มีผู้สมัครสอบที่ทำคะแนนรวมสูงสุดเลือกเข้าศึกษาต่อในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกปีการศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ใช้คำว่า "นิสิต" เรียกผู้เข้าศึกษาในสังกัดของสถาบัน เพราะเมื่อแรกก่อตั้งที่ตั้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือว่าอยู่ห่างไกลจากเขตพระนครซึ่งเป็นศูนย์กลางความเจริญในสมัยนั้นอย่างมาก ทำให้การเดินทางมาศึกษาเป็นไปอย่างยากลำบาก จึงมีการสร้างหอพักเพื่อให้ผู้เข้าศึกษาสามารถพักอาศัยในบริเวณมหาวิทยาลัยได้ และใช้คำว่า "นิสิต" ที่แปลว่า "ผู้อาศัย" เรียกผู้เข้าศึกษา ซึ่งมีความเป็นมาคือ ในอดีตนั้นนักเรียนจะเรียนวิชาใด ต้องไปฝากตัวเป็นศิษย์ในสำนักอาจารย์ต่าง ๆ เช่น ในยุโรปไปฝากตัวที่สำนักของบาทหลวง ในประเทศไทยไปฝากตัวที่วัดเป็นศิษย์ของพระและอาศัยวัดเป็นสถานที่ศึกษา ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษจึงใช้คำว่า "matriculated student" ที่แปลว่า "นักศึกษาที่ได้รับเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว" เรียกผู้เข้าศึกษา เช่นเดียวกับคำว่า "นิสิต" ทั้งนี้ ในอดีต โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือนใช้คำว่า "นิสิต" เรียกผู้จบการศึกษาประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายและเรียนเพื่อสอบวิชาเป็นบัณฑิต และแม้ว่าในปัจจุบันการเดินทางจะสะดวกขึ้นเป็นอันมาก เขตปทุมวันซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงไปเป็นย่านธุรกิจการค้าใจกลางเมือง นิสิตไม่มีความจำเป็นจะต้องพักในหอพักนิสิตทุกคน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังคงใช้คำว่า "นิสิต" เรียกผู้เข้าศึกษา เพื่อเป็นที่รำลึกถึงความเป็นมาของสถาบัน
เมื่อกล่าวถึงคำว่า "สามย่าน" สามารถอนุมานถึงจุฬาลงมหาวิทยาลัยได้ เพราะอาณาเขตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยติดต่อกับสี่แยก 2 แห่ง คือแยกสามย่านและแยกปทุมวัน ทั้งสองแห่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพมหานครและประเทศไทย เป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ สถาบันการเงิน หอศิลป์และห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง จนกลายเป็นภาพลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและถูกนำไปใช้ในการแปรอักษรของงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ ที่จัดขึ้นทุกปีระหว่างสองมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของประเทศคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ
ปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประกอบไปด้วย 19 คณะวิชา 1 สำนักวิชา ครอบคลุมทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ และมีหน่วยงานประเภท วิทยาลัย 3 แห่ง บัณฑิตวิทยาลัย 1 แห่ง สถาบัน 14 แห่ง และสถาบันสมทบอีก 2 สถาบัน จำนวนหลักสูตรรวมทั้งสิ้น 506 หลักสูตร ประกอบด้วย ระดับปริญญาตรี 113 หลักสูตร ระดับบัณฑิตศึกษา 393 หลักสูตร ในจำนวนนี้เป็นหลักสูตรนานาชาติและหลักสูตรภาษาอังกฤษ 87 หลักสูตร
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือกำเนิดจาก “โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2442 (นับวันขึ้นปีใหม่แบบไทยคือ พ.ศ. 2441) ณ ตึกยาว ข้างประตูพิมานชัยศรี ในพระบรมมหาราชวัง ด้วยมีพระราชปรารภที่จะทรงจัดการปกครองพระราชอาณาจักรให้ทันกาลสมัย จึงจัดตั้งโรงเรียนเพื่อฝึกหัดนักเรียนสำหรับรับราชการปกครองขึ้นในกระทรวงมหาดไทย ซึ่งนักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับราชการใกล้ชิดพระองค์ และด้วยประเพณีโบราณที่ข้าราชการจะถวายตัวเข้าศึกษางานในกรมมหาดเล็ก ก่อนที่จะออกไปรับตำแหน่งในกรมอื่น ๆ ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามโรงเรียนเป็น “โรงเรียนมหาดเล็ก” เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2445 เพื่อเป็นรากฐานของสถาบันการศึกษาขั้นสูงต่อไปในอนาคต ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานแก่พระราชวงศ์ และข้าราชการซึ่งเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในงานของโรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง ความตอนหนึ่งดังนี้
...เมื่อได้กล่าวถึงโรงเรียนนี้ ว่าจะเปนการสงเคราะห์แต่ตระกูลเจ้านายดังนี้ ใช่ว่าจะลืมตระกูลข้าราชการและราษฎรเสียเมื่อไร โรงเรียนที่มีอยู่แล้วแลที่จะตั้งขึ้นต่อไปภายน่า โดยมากได้คิดจัดการโดยอุส่าห์เต็มกำลังที่จะให้เป็นการเรียบร้อย พร้อมเพรียงเหมือนอย่างโรงเรียนนี้ แลคิดจะให้แพร่หลายกว้างขวาง เปนคนที่ได้เรียนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งจะมีโรงเรียนวิชาอย่างสูงขึ้นไปอีกซึ่งกำลังคิดจัดอยู่บัดนี้ เจ้านายตั้งแต่ลูกฉันเปนต้นไป ตลอดจนถึงราษฎรที่ต่ำสุด จะให้ได้มีโอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้าว่าขุนนางว่าไพร่ เพราะฉะนั้นจึ่งขอบอกได้ว่า การเล่าเรียนในบ้านเมืองเรานี้จะเปนข้อสำคัญที่หนึ่ง ซึ่งฉันจะอุส่าห์จัดให้เจริญขึ้นจงได้
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริที่จะขยายการจัดการศึกษา เพื่อผลิตนักเรียนไปรับราชการในกระทรวง ทบวง กรมอื่น ๆ ไม่เฉพาะกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนมหาดเล็กเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน โดยใช้วังวินด์เซอร์เป็นสถานที่ประกอบการเรียนการสอน และสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2453 พร้อมทั้ง พระราชทานนามโรงเรียนแห่งนี้ว่า “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริจัดตั้งขึ้น และได้ใช้เงินคงเหลือจากการที่ราษฎรเรี่ยรายกันเพื่อสร้างพระบรมรูปทรงม้า เป็นเงินจำนวน 982,672 บาท 47 สตางค์ มากกว่ามูลค่าการก่อสร้างพระบรมรูปทรงม้าถึงห้าเท่าตัว มาใช้เป็นทุนของโรงเรียนแห่งนี้ นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดที่ดินพระคลังข้างที่รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 1,309 ไร่เป็นเขตโรงเรียน โดยมีการจัดการศึกษาใน 5 โรงเรียน (คณะในปัจจุบัน) ได้แก่ โรงเรียนรัฎฐประศาสนศาสตร์ โรงเรียนคุรุศึกษา (โรงเรียนฝึกหัดครู) โรงเรียนราชแพทยาลัย โรงเรียนเนติศึกษา (โรงเรียนกฎหมาย) และโรงเรียนยันตรศึกษา
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นสมควรที่จะขยายการศึกษาในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น คือ ไม่เฉพาะสำหรับผู้ที่จะเล่าเรียนเพื่อรับราชการเท่านั้น แต่ผู้ใดที่มีความประสงค์จะศึกษาขั้นสูงก็สามารถเข้าเรียนได้ทั่วถึงกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้สังกัดอยู่ในกระทรวงธรรมการ ซึ่งเป็นไปตามพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่ผู้มาร่วมงานพระราชพิธีวางศิลาพระฤกษ์ตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ในปัจจุบัน) เมื่อวันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 ดังนี้
วันนี้เรายินดีที่ได้รับอัญเชิญให้มาวางศิลาฤกษ์สำหรับมหาวิทยาลัยนี้ เพราะเป็นกิจอันหนึ่งซึ่งเราปรารถนาอยู่นานแล้ว ที่จะยังให้เป็นผลสำเร็จตามพระราชประสงค์ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงพระราชปรารถนามานานแล้ว ในเรื่องที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นสำหรับเป็นสถานอุดมศึกษาของชาวสยาม แต่ในรัชสมัยของพระองค์ ยังมีเหตุติดขัด ซึ่งการจะยังดำเนินไม่ได้ตลอดปลอดโปร่ง ตัวเราเป็นรัชทายาทจึ่งรู้สึกเป็นหน้าที่อันหนึ่ง ที่จะต้องทำการนั้นให้สำเร็จตามพระราชประสงค์โดยรู้ว่าเมื่อทำได้สำเร็จแล้ว จะเป็นเครื่องเพิ่มพูนพระเกียรติยศ เป็นราชานุสาวรีย์เป็นที่คำนึงถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชของชาติไทยเรา เป็นการสมควรยิ่งนักที่จะสร้างพระราชานุสาวรีย์อันใหญ่และถาวรเช่นนี้ ทั้งจะได้เป็นเครื่องที่จะทำให้บังเกิดประโยชน์แก่ชาติไทยไม่มีเวลาเสื่อมสูญด้วย เรามีความยินดีที่ได้เห็นการดำเนินล่วงมาได้มากแล้ว ในบัดนี้เราจะได้วางศิลาฤกษ์ด้วยความหวังที่แลเห็นความดีงามในอนาคตกาลแห่งมหาวิทยาลัยนี้ส่วนการที่ดำเนินไปได้จนเป็นรูปถึงเพียงนี้แล้ว ก็ต้องอาศัยความอุตสาหะของกรรมการผู้ได้รับมอบเป็นหน้าที่ผู้อำนวยการ ประกอบกับความอุตสาหะแห่งบรรดาผู้มีหน้าที่เป็นครู อาจารย์สั่งสอนในโรงเรียนนี้ ของกรรมการที่ได้รับมอบหน้าที่ไปจากเราให้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนจงได้รับความขอบใจของเราแล้ว และขอให้แสดงความขอบใจของเรานี้แก่ครู อาจารย์ทั้งหลายที่พยายามทำการตามหน้าที่อย่างสามารถด้วย ขอจงมีความเจริญสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคลทั่วกัน ความมุ่งหมายและกิจการซึ่งต่างก็ตั้งหน้าพยายาม เพื่อจะให้เป็นความดีความงามแก่มหาวิทยาลัยในเบื้องหน้านั้น ก็ขอให้ได้ผลสำเร็จ สมปรารถนาโดยเร็วเทอญฯ
ในระยะแรกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยอยู่เพียงระดับประกาศนียบัตรพร้อมกับเตรียมการเรียนการสอนในระดับปริญญา โดยจัดการศึกษาออกเป็น 2 วิทยาเขต คือ วิทยาเขตปทุมวันและวิทยาเขตโรงพยาบาลศิริราช จัดการเรียนการสอนออกเป็น 4 คณะ ได้แก่ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ส่วนโรงเรียนฝึกหัดครูย้ายกลับไปสังกัดกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ และโรงเรียนกฎหมายย้ายกลับไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2465 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ทรงเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการติดต่อขอความร่วมมือจากมูลนิธิร็อกเกอะเฟลเลอร์เพื่อปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผลให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถจัดการศึกษาในระดับปริญญาได้
หลังจากนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ขยายการจัดการศึกษาโดยจัดตั้งคณะและแผนกอิสระเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ (โดยรวมโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมและแผนกวิชาข้าราชการพลเรือน (คณะรัฐประศาสนศาสตร์เดิม) เข้าไว้ด้วยกัน)แผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ แผนกอิสระสัตวแพทยศาสตร์ แผนกอิสระสถาปัตยกรรมศาสตร์ และแผนกอิสระทันตแพทยศาสตร์ นอกจากนี้ ยังเริ่มเน้นการเรียนการสอนอันเป็นพื้นฐานของวิชาชีพในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยจัดตั้งโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัย คือ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในปัจจุบัน)
ระหว่างปี พ.ศ. 2476–2486 การจัดการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยมีการโอนย้ายส่วนราชการออกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบางส่วนเพื่อจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ขึ้น กล่าวคือ เมื่อ พ.ศ. 2476 มีการโอนคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ไปขึ้นตรงกับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน) และ พ.ศ. 2486 มีการโอนย้ายคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล แผนกอิสระทันตแพทยศาสตร์ แผนกอิสระสัตวแพทยศาสตร์ และแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ เพื่อตั้งเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) อย่างไรก็ตาม คณะเภสัชศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ ยังคงใช้สถานที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อจัดการศึกษาอยู่ ดังนั้น ทั้ง 3 คณะจึงถูกโอนกลับมาเป็นคณะวิชาในสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้งในระยะต่อมา
เมื่อจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงด้านภาษาและหนังสือหลายประการ เช่น ยกเลิกการใช้อักษร "ฬ" ให้ใช้ "ร, ล" แทน และ ยกเลิกการใช้ "ณ" ให้ใช้ "น" แทน ดังนั้น จึงได้ปรากฏการเขียนชื่อมหาวิทยาลัยในรูปแบบอื่นอีก ได้แก่ "จุลาลงกรน์มหาวิทยาลัย" ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ ในปี พ.ศ. 2487 ก็มีการประกาศยกเลิกการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และให้กลับไปใช้การเขียนภาษาในรูปแบบเดิม การเขียนชื่อมหาวิทยาลัยจึงกลับเป็นแบบเดิม หลังจากนั้น ในช่วง พ.ศ. 2497–พ.ศ. 2514 ยังสามารถพบการเขียนนามมหาวิทยาลัยว่า "จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย" ซึ่งไม่มีเครื่องหมายทัณฑฆาตที่ "ณ" เช่น พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ฉบับที่ 4, 5 และ 6
ระหว่างปี พ.ศ. 2486–2503 มหาวิทยาลัยก็ได้ขยายการศึกษาไปยังสาขาต่าง ๆ ให้กว้างขวางขึ้นโดยเน้นการศึกษาในระดับปริญญาตรีเป็นหลัก โดยมีการจัดตั้งคณะขึ้นใหม่หลายสาขา และตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยได้ขยายการศึกษาระดับปริญญาตรีอย่างกว้างขว้าง พร้อมกับพัฒนาการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และก่อตั้งหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนและงานบริการทางวิชาการแก่สังคม
พื้นสำรด "สีเหลือง" สำหรับฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบรมราชจักรีวงศ์
พื้นสำรด "สีดำ" สำหรับระดับบัณฑิตและมหาบัณฑิต เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันเสาร์
พื้นสำรด "สีแดงชาด" สำหรับระดับดุษฎีบัณฑิต เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันอังคาร
นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีผู้บัญชาการและอธิการบดี ดังรายพระนามและรายนาม ต่อไปนี้
หมายเหตุ คำนำหน้าพระนามหรือนามของผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหรืออธิการบดี เป็นคำนำหน้าพระนามหรือนามในขณะดำรงตำแหน่ง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดทำการเรียนการสอนครอบคลุมทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ รวมทั้งสิ้น 19 คณะ 1 สำนักวิชา 3 วิทยาลัย บัณฑิตวิทยาลัย สถาบัน 2 สถาบัน และยังมีสถาบันสมทบอีก 2 สถาบัน ในปีการศึกษา 2556 เปิดทำการสอนด้วยจำนวนหลักสูตรทั้งหมด 506 สาขาวิชา โดยจำแนกเป็นระดับปริญญาตรี 113 สาขาวิชา, หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต 9 สาขาวิชา หลักสูตรระดับปริญญาโท 230 สาขาวิชา หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง 39 สาขาวิชา และหลักสูตรระดับปริญญาเอก 115 สาขาวิชา ในจำนวนนี้เป็นหลักสูตรนานาชาติและหลักสูตรภาษาอังกฤษ 87 หลักสูตร ปัจจุบันประกอบด้วยส่วนงานทางวิชาการที่จัดการเรียนการสอน ได้แก่
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีส่วนงานที่มีวัตถุประสงค์หลักในการก่อตั้งเพื่อเป็นสถาบันวิจัยในศาสตร์สาขาต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
หน่วยงานที่สนับสนุนการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ อีก ได้แก่ ศูนย์บริการวิชาการ (Unisearch) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้คณาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยนำผลการศึกษาวิจัยออกสู่สังคมและหน่วยงานนอกมหาวิทยาลัย ส่วนหน่วยงานสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผลงานศึกษาวิจัยได้พัฒนาและนำไปสู่การจดสิทธิบัตรประเภทต่าง ๆ นอกจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังสนับสนุนทุนสำหรับการสร้างหน่วยปฏิบัติการวิจัย (RU) และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (CE) ปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีหน่วยปฏิบัติการวิจัยมากกว่า 100 หน่วย และมีศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางทั้งในระดับชาติและมหาวิทยาลัยมากกว่า 20 ศูนย์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กำหนดให้มีกลุ่มวิจัยหลักซึ่งเป็นการรวมศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางและนักวิชาการที่มีเฉพาะเรื่องเข้ามาบูรณาการให้เป็นการวิจัยแบบสหศาสตร์ รวมทั้ง เน้นการบริหารจัดการการวิจัยที่เป็นองค์รวม มีการติดตามและประเมินผลแบบอัตโนมัติ โดยแบ่งออกเป็น 10 กลุ่มวิจัยหลัก ได้แก่
ในปี พ.ศ. 2557 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติในฐานข้อมูล Web of Science ของสถาบัน ISI บริษัท Thomson Reuters จำนวน 1,488 เรื่อง ซึ่งมีจำนวนงานวิจัยมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยรองจากมหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนผลงานตีพิมพ์ฐานข้อมูล Scopus ของบริษัท Elsevier B.V. มีจำนวนงานวิจัยมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยมีจำนวนถึง 1,857 เรื่อง นอกจากนี้ จำนวนการอ้างอิงจากฐานข้อมูล Web of Science มีจำนวนทั้งสิ้น 25,119 ครั้ง และฐานข้อมูล Scopus 27,531 ครั้ง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเริ่มมีการให้บริการทางวิชาการขึ้นในมหาวิทยาลัยแก่บุคลากร นิสิตและประชาชนทั่วไปตั้งแต่เริ่มมีการก่อตั้งห้องสมุดโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นในปี พ.ศ. 2453 และมีพัฒนาการด้านการบริการไปพร้อมกับการวิวัฒน์ขึ้นของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน เพื่อเป็นการรองรับกิจการที่กว้างขวางขึ้นของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ในปี พ.ศ. 2458 ห้องสมุดโรงเรียนข้าราชการพลเรือนจึงเปลี่ยนชื่อเป็นหอสมุดกลางและขยายการบริการทางวิชาการให้กว้างขวางขึ้น โดยตั้งอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จนกระทั่ง วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมา มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สถาบันวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 โดยรวมหน่วยงานหลัก 3 หน่วยงาน คือ หอสมุดกลาง ศูนย์เอกสารประเทศไทย และศูนย์โสตทัศนศึกษากลาง เมื่อสถาบันวิทยบริการมีการขยายงานบริการที่หลากหลายขึ้นจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานวิทยทรัพยากรพร้อมทั้งปรับการบริหารภายในองค์กร สำนักงานวิทยทรัพยากรตั้งอยู่ที่อาคารมหาธีรราชานุสรณ์ บนพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝั่งตะวันตกของถนนพญาไท
ในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 สถาบันวิทยบริการ(สำนักงานวิทยทรัพยากร) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทย ที่เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตเต็มรูปแบบตลอด 24 ชั่วโมง นำมาซึ่งความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศและองค์ความรู้ทุก ๆ แขนงแก่บุคลากร นิสิต และประชาชนทั่วไปที่สนใจอีกทั้งเป็นการสร้างรากฐานที่สำคัญของการศึกษาวิจัยในประเทศไทย ด้วยการเข้าถึงของอินเทอร์เน็ต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงสามารถขยายบริหารทางวิชาออกไปได้อย่างกว้างขวาง อาทิ
ศูนย์พัฒนาสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยี สำนักงานวิทยทรัพยากรยังมีหน้าที่ผลิตสื่อวิดีทัศน์ สื่อผสมรูปแบบสื่อใหม่ สื่อภาพถ่ายดิจิทัล สื่อเสียง สื่อกราฟิก ให้แก่มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ศูนย์พัฒนาสื่อยังมีหน่วยผลิตสื่อเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ซึ่งได้ติดตั้งอุปกรณ์การบันทึกรายการ และชุดตัดต่อที่สามารถออกนอกสถานที่ เพื่อไปบันทึกกิจกรรมตามสถานที่ต่างๆ และส่งสัญญาณภาพและเสียงนำมาถ่ายทอดรายการ ผ่านระบบเครือข่าย ทำให้ผู้ชมสามารถรับชมรายการสำคัญๆ ได้ทุกที่ที่มีสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยไม่จำกัดสถานที่ หรือสามารถรับชมผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่าง ๆ (Mobile Device) ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต เช่น พิธีพระราชทานปริญญาบัตร งานดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ 42 และงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 16 หรืองานวิศิษฏศิลปินสรรพศิลป์สโมสร เป็นต้น
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังให้บริการทางวิชาการแก่ประชาชนทั่วไปผ่านการออกอากาศทางสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานีวิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz อีกหนึ่งช่องทางด้วย โดยสถานีวิทยุจุฬาฯ เป็นสถานีวิทยุเพื่อการศึกษา มีการเผยแพร่เอกสารสื่อการสอนบนเว็บไซต์ของสถานีเป็นจำนวนมาก และมีการจัดรายการข่าวสารเชิงวิชาการ ให้ความรู้แก่ผู้ฟังตลอดช่วงเวลา 06.00-23.59 น. เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมการให้ความรู้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเพื่อการสอบเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา ในทุก ๆ ปี สถานีวิทยุจุฬาฯ จะจัดสอนพิเศษให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและถ่ายทอดภาพและเสียงไปทั่วประเทศ ภายใต้รายการชื่อว่า "เปิดประตูสู่มหาวิทยาลัย" โดยจัดขึ้นที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อปี พ.ศ. 2549 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยระดับดีเลิศ ทั้งในด้านการเรียนการสอนและการวิจัย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย นอกจากนี้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ได้เข้าประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับรองมาตรฐานในระดับดีมากแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ส่วนการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการโดย สกว. ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยครั้งที่ 3 ในปีพ.ศ. 2554 พบว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการประเมินในระดับ 5 หรือในระดับดีเยี่ยมในกลุ่มสาขาวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มสาขาเทคโนโลยี กลุ่มสาขาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร และสัตวแพทยศาสตร์ และกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
นอกจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยหน่วยงานในประเทศไทยแล้ว ยังมีหน่วยงานจัดอันดับมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีเกณฑ์การจัดอันดับและการให้คะแนนที่แตกต่างกัน ได้แก่
การจัดอันดับโดย The Times Higher Education หรือ THE ที่จัดอันดับ มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก มีเกณฑ์การจัดอันดับในด้าน คุณภาพการสอน สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ของผู้เรียน คุณภาพงานวิจัย ปริมาณ รายได้ และชื่อเสียงของงานวิจัย การอ้างอิงในงานวิจัย การนำงานวิจัยของสถาบันไปใช้อ้างอิง ความเป็นนานาชาติ และ รายได้ทางอุตสาหกรรม ในปี พ.ศ. 2558 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ช่วงอันดับที่ 601-800 เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยของเว็บโอเมตริกซ์ ประจำปี พ.ศ. 2559 จัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่าง ๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก อันดับ Webometrics จะบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ในเว็บไซต์ของสถาบัน โดยพิจารณาจากจำนวน Link ที่เชื่อมโยงเข้าสู่เว็บนั้น ๆ จากเว็บภายนอกโดยวัดจากการสืบค้นด้วยSearch Engine และนับจำนวนเอกสารตีพิมพ์ออนไลน์ในกลุ่มของไฟล์ .pdf .ps .ppt และ .doc และจำนวนเอกสารที่มีการอ้างอิง (Citation) แบบออนไลน์ผ่านกูเกิลสกอลาร์ (Google Scholar) โดยจะจัดอันดับปีละ 2 ครั้ง ได้แก่ เดือนมกราคม และ เดือนกรกฎาคม โดยล่าสุดการจัดอันดับรอบที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2559 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 2 ของประเทศไทย อันดับที่ 42 ของเอเชีย และอยู่ในอันดับที่ 331 ของโลก
จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกโดยแควกเควเรลลี ไซมอนด์ส ประจำปี พ.ศ. 2557 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับในภาพรวมอยู่ในอันดับที่ 243 ของโลก ส่วนการจัดอันดับแบบแยกเป็นสาขาวิชา 5 สาขา พบว่า สาขามนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์ ไม่ติดอันดับ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี อยู่ในอันดับที่ 123 สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ อยู่ในอันดับที่ 248 สาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ อยู่ในอันดับที่ 281 และสาขาสังคมศาสตร์ อยู่ในอันดับที่ 127 โดยเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศไทยทั้งในการจัดอันดับแบบภาพรวมและในการจัดอันดับแบบแยกเป็นสาขาวิชา 4 สาขา จากที่จัดอันดับทั้งหมด 5 สาขา
ส่วนการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในทวีปเอเชียประจำปี พ.ศ. 2558 โดยแควกเควเรลลี ไซมอนด์ส ที่มีเกณฑ์การจัดอันดับแตกต่างจากระดับโลก พบว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับในภาพรวมอยู่ในอันดับที่ 53 ของเอเชีย ส่วนการจัดอันดับแบบแยกเป็นสาขาวิชา 5 สาขา พบว่า สาขาศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์ อยู่ในอันดับที่ 23 สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ อยู่ในอันดับที่ 19 สาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ อยู่ในอันดับที่ 34 สาขาสังคมศาสตร์ อยู่ในอันดับที่ 19 และสาขาวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี อยู่ในอันดับที่ 33 โดยเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 2 ของประเทศไทยในการจัดอันดับแบบภาพรวม และเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทยในการจัดอันดับแบบแยกเป็นสาขาวิชา 4 สาขา จากทั้งหมด 5 สาขา
อันดับมหาวิทยาลัยโดย SCImago Institutions Ranking หรือ SIR ซึ่งเป็นการจัดอันดับสถาบันที่มีผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ ในปี พ.ศ. 2557 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 479 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย 6 ปีซ้อน นับตั้งแต่ปี 2552
การจัดอันดับโดย Center for World University Rankings หรือ CWUR ที่มีเกณฑ์การจัดอันดับคือ คุณภาพงานวิจัย ศิษย์เก่าที่จบไป คุณภาพการศึกษา คุณภาพของอาจารย์ และภาควิชาต่าง ๆ ประจำปี พ.ศ. 2558 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศไทย และอยู่ในอันดับที่ 311 ของโลก
อันดับที่จัดโดย University Ranking by Academic Performance หรือ URAP ปี พ.ศ. 2557 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย และอันดับ 479 ของโลก โดยมีพื้นฐานทางด้านวิชาการตรงตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คุณภาพและปริมาณของบทความตีพิมพ์ทางวิชาการ บทความวิจัย การเผยแพร่ และการอ้างอิง
U.S. News & World Report นิตยสารการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากที่สุดของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกล่าสุด “2016 Best Global Universities Rankings” จากการสำรวจมหาวิทยาลัย 60 ประเทศทั่วโลก และมีเกณฑ์จัดอันดับหลายด้าน เช่น ชื่อเสียงการวิจัยในระดับโลก และระดับภูมิภาค สื่อสิ่งพิมพ์ การถูกนำไปอ้างอิง ความร่วมมือระหว่างประเทศ จำนวนบุคลากรระดับปริญญาเอก เป็นต้น โดยมีมหาวิทยาลัยของไทยติดอันดับ 2 แห่ง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถูกจัดอันดับให้เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย และอันดับที่ 579 ของโลก
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพื้นที่ทั้งหมด 1,153 ไร่ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ตามลักษณะการใช้พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เขตการศึกษา 595 ไร่ พื้นที่ส่วนราชการเช่าใช้ 184 ไร่ และพื้นที่เขตพาณิชย์ 374 ไร่ โดยแต่เดิมพื้นที่ทั้งหมดมี 1,309 ไร่ แต่ในปัจจุบันวัดได้ 1,153 ไร่ เพราะตัดที่ดินส่วนที่ใช้เป็นถนนและซอยต่าง ๆ ในเขตที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกไป
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพื้นที่การศึกษา 595 ไร่ แบ่งออกเป็น 6 ส่วน ซึ่งอยู่บริเวณ แขวงวังใหม่และแขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ได้แก่
ส่วนที่ 1 ฝั่งตะวันออกของถนนพญาไท ตั้งอยู่ในแขวงปทุมวัน ประกอบด้วย สระน้ำ สนามรักบี้ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ อาคารมหาวชิราวุธ ศาลาพระเกี้ยว ศูนย์หนังสือจุฬาฯ (สาขาศาลาพระเกี้ยว) ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สาขาศาลาพระเกี้ยว) หอประวัติ (ตึกจักรพงษ์) อาคารจุลจักรพงษ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี วิทยาลัยประชากรศาสตร์ สถาบันภาษา สถาบันวิจัยสังคม สถาบันเอเชียศึกษา และสถาบันการขนส่ง พื้นที่ส่วนนี้ยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สถานีสามย่านอีกด้วย
ส่วนที่ 2 ฝั่งตะวันตกของถนนพญาไท ตั้งอยู่ในแขวงวังใหม่ ประกอบด้วย สำนักงานมหาวิทยาลัย (กลุ่มอาคารจามจุรี 1-5, 8-9) บัณฑิตวิทยาลัย สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารเฉลิมราชสุดากีฬาสถาน (อาคารศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ฟิตเนสเซ็นเตอร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ ศูนย์วิทยทรัพยากร สถานีวิทยุจุฬาฯ โรงพิมพ์จุฬาฯ ธรรมสถาน สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ หอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารวิทยพัฒนา อาคารแว่นแก้ว อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา(อาคารจามจุรี 10) หอพักศศนิเวศ อาคารศศปาฐศาลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์
ส่วนที่ 3 ตั้งอยู่ในฝั่งตะวันนออกของถนนพญาไท ทิศใต้ของถนนพระรามที่ 1 ด้านหลังสยามสแควร์ อยู่ในแขวงปทุมวัน ประกอบด้วย คณะทันตแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ โอสถศาลาหรือสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชนของคณะเภสัชศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข อาคารวิทยกิตติ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์หนังสือจุฬาฯและสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร พื้นที่ส่วนนี้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยามด้านถนนพระรามที่ 1
ส่วนที่ 4 ทิศตะวันออกของถนนอังรีดูนังต์ ตั้งอยู่ในแขวงปทุมวัน บริเวณตั้งแต่สี่แยกศาลาแดง จนถึงสี่แยกอังรีดูนังต์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของสภากาชาดไทย โดยมีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทยและวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันสมทบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ พื้นที่ส่วนนี้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีศาลาแดงและรถไฟฟ้ามหานคร(MRT) สถานีสีลม
ส่วนที่ 5 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพื้นที่ส่วนนี้คืนจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (พลศึกษา) และกรมพลศึกษา ตั้งอยู่ในแขวงวังใหม่ คือ พื้นที่บริเวณระหว่างห้างมาบุญครอง และสนามกีฬาแห่งชาติ ในส่วนนี้เป็นกลุ่มอาคารจุฬาพัฒน์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะสหเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะจิตวิทยา ศูนย์วิทยาศาตร์ฮาลาล และอาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์บริการวิทยาศาสตร์สุขภาพ พื้นที่ส่วนนี้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ
ส่วนที่ 6 คือ พื้นที่ภายในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน (ได้รับคืนจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน) ในส่วนนี้เป็นกลุ่มอาคารจุฬาวิชช์ อันเป็นส่วนขยายของคณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะจิตวิทยา และโครงการขยายโอกาสอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พื้นที่ส่วนนี้ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของถนนพญาไทจึงอยู่ในแขวงปทุมวัน
ในส่วนพื้นที่การศึกษานี้ มีต้นไม้สำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวม 6 ต้น ได้แก่ ต้นจามจุรีพระราชทาน 5 ต้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกไว้บริเวณเสาธง หน้าหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของถนนพญาไท และต้นพระศรีมหาโพธิ์ ตั้งอยู่บริเวณระหว่างอาคารมหาธีรราชานุสรณ์ (หอสมุดกลาง) และอาคารจามจุรี 5 ใกล้คณะครุศาสตร์ ทางฝั่งตะวันตกของถนนพญาไท นอกจากนี้ บริเวณพื้นที่ลานจอดรถหน้าศาลาพระเกี้ยว ทุก ๆ วันศุกร์ (หรือตามแต่กรรมการสโมสรอาจารย์เป็นผู้กำหนด) จะจัดเป็นตลาดนัดตั้งแต่เช้าจรดเย็น เรียกกันว่า "ตลาดพิกุล" เนื่องจากพื้นที่นั้นมีต้นพิกุล กิจกรรมดังกล่าวดำเนินการโดยสโมสรอาจารย์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดสรรพื้นที่ไว้สำหรับให้หน่วยงานราชการเช่าใช้ เป็นจำนวน 184 ไร่ ได้แก่
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวลาต่อมา) พระองค์มีพระราชประสงค์ให้ใช้ที่ดินส่วนหนึ่งเพื่อเป็นที่ปลูกสร้างสถานศึกษาและอีกส่วนหนึ่งให้ใช้จัดหาผลประโยชน์เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนซึ่งจะต้องเติบโตขึ้นในอนาคต โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณแผ่นดินแต่เพียงอย่างเดียว โดยพื้นที่ของมหาวิทยาลัยในเขตปทุมวัน มีการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ตามลักษณะการใช้พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เขตการศึกษา 595 ไร่ พื้นที่ส่วนราชการเช่าใช้ 184 ไร่ และพื้นที่เขตพาณิชย์ 374 ไร่ รวม 1,153 ไร่ โดยแต่เดิมพื้นที่ทั้งหมดมี 1,309 ไร่ แต่ในปัจจุบันวัดได้ 1,153 ไร่ เพราะตัดที่ดินส่วนที่ใช้เป็นถนนและซอยต่าง ๆ ในเขตที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกไป
พื้นที่พาณิชย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นแยกออกจากพื้นที่การศึกษาเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน โดยพื้นที่เขตพาณิชย์จะเป็นส่วนมุมของที่ดินซึ่งมีถนนสายสำคัญตัดผ่านเพื่อเป็นประโยชน์แก่การเดินทางและการค้าขาย โดยมีพื้นที่พาณิชย์ทั้งหมด 374 ไร่ ปัจจุบันสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานพัฒนาพื้นที่เขตพาณิชย์เหล่านี้
นอกจากพื้นที่ในกรุงเทพมหานครแล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมีพื้นที่การศึกษาในจังหวัดต่าง ๆ (ไม่ใช่วิทยาเขต)ได้แก่
พื้นที่จังหวัดนครปฐมเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2511 หลังจากการโอนย้ายคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลับคืนมาเป็นคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพลเอก ประภาส จารุเสถียร อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ปรารภว่า "การโอนคณะสัตวแพทยศาสตร์โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น การโอนก็ไม่มีความหมาย" ดังนั้น จึงได้โอนที่ดินของกระทรวงมหาดไทยที่ขณะนั้นว่างเปล่าอยู่ 79 ไร่ ในเขตตำบลบ่อพลับ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เพื่อจัดเป็นไร่ฝึกแก่นิสิตใช้ฝึกปฏิบัติวิชาสัตวบาลจนพัฒนาเป็น "ศูนย์ฝึกนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" และ "โรงพยาบาลปศุสัตว์" ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงขอใช้ชื่อว่า "ไร่ฝึกนิสิตจารุเสถียร" นอกจากจะใช้พื้นที่สำหรับสนับสนุนการเรียนการสอน การค้นคว้าวิจัย และตรวจรักษาปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงของประชาชนแล้ว คณะสัตวแพทยศาสตร์ยังใช้ผลผลิตฟาร์มเป็นผลพลอยได้จำหน่ายเป็นสวัสดิการให้อาจารย์-บุคลากรของคณะและมหาวิทยาลัย
พื้นที่จังหวัดน่านเป็นที่ตั้งของ "ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการเครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" สำหรับให้บริการการศึกษาเรียนรู้สำหรับนิสิตโดยเฉพาะในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณทิต สาขาวิชาการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร ประกอบด้วย อาคารวิชชาคาม 1 อาคารวิชชาคาม 2 และกลุ่มอาคารชมพูภูคา
การพัฒนาที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เขตอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2532 โดยมีพื้นที่ทั้งหมดรวม 3,364 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่กรมป่าไม้อนุญาตให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้ประโยชน์ 2,632 ไร่ และพื้นที่ที่มูลนิธินิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ใช้ประโยชน์ 732 ไร่ โดยมีการแบ่งเขตพื้นที่ออกเป็น 5 เขต ได้แก่ เขตพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ เขตศูนย์วิจัยเฉพาะทาง เขตโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-สระบุรี เขตบริการวิชาการและการศึกษา และเขตบริหารจัดการ โดยได้รับความร่วมมือจาก 6 คณะที่จะเข้าไปจัดทำโครงการในเขตพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะครุศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์
พื้นที่การศึกษาเหล่านี้เป็นเพียงพื้นที่ใช้สนับสนุนการสอนและการวิจัยเท่านั้น มิได้มีสถานะเป็นวิทยาเขต เพราะมหาวิทยาลัยมีนโยบายที่ชัดเจนไม่จัดตั้งวิทยาเขตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องเป็นหนึ่งเดียว นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยแห่งอื่น เช่น พระตำหนักดาราภิรมย์ จังหวัดเชียงใหม่, พระจุฑาธุชราชฐานและพิพิธภัณฑ์ชลทัศนสถาน เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี
อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ เป็นอาคารที่มีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไทย ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2457 เพื่อเป็นตึกบัญชาการของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในช่วงแรกสถาปนาและเป็นอาคารเรียนของคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะรัฏฐประศาสนศาสตร์ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 จึงได้ใช้เป็นอาคารเรียนของคณะอักษรศาสตร์ อาคารนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. 2530
อาคารมหาวชิราวุธ ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2496 โดยถอดแบบจากอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ทุกประการและมีการสร้างทางเดินเชื่อมกับอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ด้วยสถาปัตยกรรมไทยเช่นเดียวกับตัวอาคารทั้งสอง อาคารทั้งสองจึงเรียกว่า "เทวาลัย" ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักคณบดีคณะอักษรศาสตร์ สำนักงานเลขานุการคณะอักษรศาสตร์ สมาคมนิสิตเก่าคณะอักษรศาสตร์ ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของห้องพิพิธพัสดุ์ไท-กะไดและห้องโครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการคณะอักษรศาสตร์
หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างขึ้นในสมัย จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นอธิการบดี โดยมีความมุ่งหวังให้เป็นที่รับรองพระบรมวงศานุวงศ์ที่เสด็จมาประกอบพระกรณียกิจที่มหาวิทยาลัย และใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ตัวอาคารมีลักษณะคล้ายกับพระอุโบสถของวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ที่สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำ พ.ศ. 2545 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมป์
เรือนภะรตราชา สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่สมัยก่อตั้งมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นที่พักของผู้บริหาร อาจารย์ชาวต่างประเทศ และข้าราชการของมหาวิทยาลัย หลังจากเกิดการชำรุดตามกาลเวลา เรือนหลังนี้จึงได้รับการบูรณะเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานและเป็นการระลึกถึงพระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) อดีตผู้บัญชาการมหาวิทยาลัย ที่เคยพำนักอยู่ ณ เรือนแห่งนี้ เรือนภะรตราชาได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. 2540
เรือนไทย สร้างขึ้นในโอกาสครบรอบ 70 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2530 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธียกเสาเอก ประกอบด้วย เรือน 5 หลัง โดยเรือนประธานเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระราชทาน ศีรษะครูเทพเจ้าทางดนตรีไทย เครื่องดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ และระนาดทรงของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรือนที่เหลือจัดแสดงเครื่องใช้และวัตถุโบราณ เครื่องจักสานไทยของภาคต่าง ๆ และมีศาลากลางน้ำสำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ
ศาลาพระเกี้ยว เริ่มการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2508 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2509 ในสมัย จอมพล ประภาส จารุเสถียร ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ถูกออกแบบให้มีโครงสร้างคล้ายพระเกี้ยวเพื่อควบคุมคุณภาพเสียงอีกทั้งยังสื่อถึงสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมของนิสิตเช่น การลงทะเบียนแรกเข้าของนิสิตชั้นปีที่ 1 งานจุฬาฯ วิชาการ แต่ในระหว่างการก่อสร้างได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในส่วนชั้นใต้ดินให้เป็นที่ทำการต่าง ๆ เช่น ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาศาลาพระเกี้ยว, ร้านสหกรณ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในระยะแรกนั้นมีแผนที่จะทำเป็นสถานที่จอดรถ
ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมีสถาปัตยกรรมสำคัญอีกหลายแห่ง แต่ละแห่งมีเอกลักษณ์เป็นที่จดจำของนิสิตและบุคลากรรวมทั้งผู้เข้ามาเยือน อาคารที่มีสถาปัตยกรรมแบบไทย เช่น อาคารสำราญราษฎร์บริรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ เรือนภะรตราชา และยังมีอาคารที่เป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัย เช่น อาคารวิศวกรรมศาสตร์ 1 อาคารวิศวกรรมศาสตร์ 2 และลานเกียร์ และอาคารนารถ โพธิประสาท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
ภายในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนอกจากเป็นที่ตั้งของคณะวิชาและหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว ยังประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ที่ตั้งอยู่ทั้งภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ทั้งในเชิงวิชาการและการอนุรักษ์ โดยพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ภายในคณะวิทยาศาสตร์ ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑสถานธรณีวิทยา พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ พิพิธภัณฑสถานพืชศาสตราจารย์กสิน สุวะตะพันธุ์ และพิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับไทย ส่วนคณะแพทยศาสตร์เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานออร์โธปิดิกส์ และพิพิธภัณฑสถานกุมารศัลยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานวาจวิทยาวัฑฒน์ คณะเภสัชศาสตร์เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานเครื่องยาไทยและประวัติเภสัชกรรมไทย และคณะสัตวแพทยศาสตร์เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานปรสิตวิทยาในสัตว์ ส่วนหอศิลป์ภายในมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย หอศิลปวิทยนิทรรศน์ ตั้งอยู่บริเวณ ชั้น 7 สถาบันวิทยบริการ และหอศิลป์จามจุรี ตั้งอยู่ที่อาคารจามจุรี 8
นอกจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมีพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในความดูแลที่ตั้งอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ จังหวัดเชียงใหม่, พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐานและพิพิธภัณฑ์ชลทัศนสถาน ณ เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี
การเรียนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะใช้เวลาใกล้เคียงกับการเรียนในมหาวิทยาลัยอื่น โดยทั่วไปจะใช้เวลา 4 ปีในการเรียน แต่สำหรับคณะครุศาสตร์และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ใช้เวลา 5 ปี ในขณะที่ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์จะใช้เวลา 6 ปี ตลอดระยะเวลาการเรียน มีทั้งการเรียนในคณะของตนเอง และการเรียนวิชานอกคณะ ได้พบปะกับบุคคลและบรรยากาศการเรียนการสอนที่แตกต่างออกไปของคณะอื่น นอกจากนี้ ยังมีการร่วมกิจกรรมในมหาวิทยาลัยหลายอย่าง ไม่ว่าการเข้าชมรมของมหาวิทยาลัย การเข้าชมรมของคณะ การเล่นกีฬา การร่วมเป็นอาสาสมัครในงานสำคัญต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยที่ทางองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(อบจ.) ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือและสร้างการมีส่วนร่วมให้กับนิสิตเสมอ การเข้าร่วมกิจกรรมระหว่างมหาวิทยาลัยที่มีมากมายในทุก ๆ คณะ หรือการพบปะกับเพื่อนหรือรุ่นพี่ที่มาจากโรงเรียนเดียวกันที่โต๊ะโรงเรียน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยที่นิสิตเดินทางเข้ามาเรียนจากหลายภาคของประเทศไทย ทำให้ความแตกต่างของรูปแบบการดำเนินชีวิตมีมาก หอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เป็นอีกที่หนึ่งที่ทำให้นิสิตได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เคารพความแตกต่างของแต่ละบุคคลในทุกด้าน ช่วยเสริมสร้างให้นิสิตผู้ที่จะเป็นบัณฑิตในอนาคตเป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีหอพักของมหาวิทยาลัยเรียกว่า "หอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" หรือเรียกกันในหมู่นิสิตหอพักว่า "ซีมะโด่ง" มีพื้นที่อยู่ทางทิศตะวันตกของถนนพญาไท ตรงข้ามกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เนื่องจากหอพักมีจำนวนจำกัดและราคาถูกกว่าหอพักภายนอกที่ตั้งอยู่ใกล้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หอพักนิสิตฯ จึงมีขั้นตอนการคัดกรองนิสิตที่สมัครหลายด้าน เช่น รายได้และภาระหนี้สินของครอบครัว ประวัติการเข้าร่วมกิจกรรมและที่พักในกรุงเทพมหานครของนิสิต โดยหอจะแบ่งออกเป็น
หอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก่อตั้งขึ้นพร้อมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2459 แต่เดิมหอพักตั้งอยู่ในบริเวณวังวินด์เซอร์ ปัจจุบันพื้นที่นั้นได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นที่ตั้งของกรีฑาสถานแห่งชาติ หอพักนิสิตฯ มีพัฒนาการขึ้นตามลำดับจนกระทั้งย้ายมาอยู่ในที่ตั้งปัจจุบัน ถือเป็นหอพักภายในมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมีหอพักพวงชมพู หรือเรียกว่า หอ U-center ตั้งอยู่บริเวณหลังตลาดสามย่านแห่งเดิมซึ่งตั้งอยู่บริเวณมุมแยกสามย่าน ด้านข้างคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2546
การเข้าร่วมกิจกรรมชมรมในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่มีการจำกัดชั้นปี โดยชมรมของมหาวิทยาลัยนั้นเปิดให้นิสิตในแต่ละคณะรวมกัน และเจอกับนิสิตคณะอื่น พบปะสังสรรค์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และมีชมรมที่จัดขึ้นเฉพาะคณะต่าง ๆ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ตึกจุลจักรพงษ์ โดยชมรมต่าง ๆ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
กิจกรรมระหว่างมหาวิทยาลัยที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วม มีความหลากหลาย ส่วนใหญ่จะเป็นการแข่งขันกีฬา งานด้านวิชาการ ทั้งกิจกรรมระดับมหาวิทยาลัย กิจกรรมระดับคณะ หรือกิจกรรมระดับภาควิชา เช่น
งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์, งานรักบี้ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์, การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย, งานฟุตบอลยูลีก, คอนเสิร์ตประสานเสียงสามสถาบัน จุฬาฯ เกษตรศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (CKT)
คือกิจกรรมที่แต่ละคณะได้จัดการแข่งขันกับคณะหรือภาควิชาเดียวกันในมหาวิทยาลัยอื่น เช่น เกียร์เกมส์, กีฬาสามเส้า, กีฬาวิศวกรรมเคมีสัมพันธ์, อะตอมเกมส์, กีฬาเคมีสัมพันธ์, กีฬาเคมีสัมพันธ์, กีฬาสัมพันธภาพฟิสิกส์, กีฬาคณิตศาสตร์สัมพันธ์, กีฬาสิ่งแวดล้อมนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, งานกีฬา-วิชาการจุลชีววิทยาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย(โคโลนีเกมส์), กีฬาเข็มสัมพันธ์, กีฬาสองเข็ม, กีฬาเภสัชสัมพันธ์, งานกอล์ฟประเพณีสัตวแพทย์จุฬาฯ - เกษตร, กีฬาสหเวชศาสตร์-เทคนิคการแพทย์สัมพันธ์, กีฬาเศรษฐสัมพันธ์, กีฬานิติสัมพันธ์, กีฬาสิงห์สัมพันธ์, กิจกรรมประเพณีสัมพันธ์ สิงห์ดำ-สิงห์แดง, งานจ๊ะเอ๋ลูกนก, ไม้เรียวเกมส์, วิทยาศาสตร์การกีฬาสัมพันธ์, งานวันอาร์ทส์, กีฬาสถิติสัมพันธ์, งานโลจิสติกส์สัมพันธ์, กีฬาเปิดกระป๋อง เป็นต้น
นิสิต บุคลากร และบุคคลทั่วไป สามารถเดินทางมาจุฬาฯ ได้หลายเส้นทาง ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้ามหานคร และ รถโดยสารประจำทาง
สามารถเดินทางมาจุฬาฯ ด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส(BTS) สามารถลงได้สองสถานี คือ สถานีสยามและสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ส่วนรถไฟฟ้ามหานคร(MRT) สามารถลงได้สองสถานีเช่นเดียวกัน คือ สถานีสามย่าน ทางออกที่ 2 เชื่อมต่อกับพื้นที่ฝั่งตะวันออกของถนนพญาไท และสถานีสีลมเชื่อมต่อกับคณะแพทยศาสตร์
สำหรับการเดินทางในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีรถโดยสารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือเรียกโดยนิสิตว่า "รถปอพ."(รถป็อป Pop Bus) ให้บริการกับนิสิต บุคลากร และผู้มาติดต่อภายในพื้นที่การศึกษาและพื้นที่พาณิชยกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยไม่คิดค่าบริการใด ๆ รถโดยสารนี้ใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 6 สาย ดังนี้
รถโดยสารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ และวันเสาร์จะให้บริการเพียงสาย 1 และสาย 2 เท่านั้น ผู้ใช้บริการสามารถเรียกดูตำแหน่งของรถแต่ละสาย ประกาศกำหนดการเดินรถในงานพิธีต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและข้อมูลปลีกย่อยได้จากโปรแกรมประยุกต์(application software) CU Popbus บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และไอโอเอส
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีจักรยานสาธารณะให้บริการแก่นิสิตและบุคลากรที่ได้สมัครเป็นสมาชิก มีชื่อที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า " CU BIKE " โดยศูนย์บริการอยู่ที่ชั้น 1 อาคารมหิตลาธิเบศร และมีสถานีจักรยานอยู่หลายจุดทั่วพื้นที่ส่วนการศึกษาของจุฬาฯ ดังนี้
ระบบยืม-คืนจักรยานเป็นระบบที่ทันสมัย สามารถบันทึกสถานะการใช้งานของสมาชิก ระยะทางที่ปั่น และต้องมีการใส่รหัสผ่านทุกครั้งที่จะยืมหรือคืน สถานีจักรยานทุกจุดใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ในจักรยานแต่ละคันยังมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็กสำหรับให้พลังงานแก่ไฟส่องสว่างทั้งด้านหน้า ด้านหลังและเลี้ยงกล่องควบคุม โดยแปลงพลังงานกลจากการปั่นจักรยานเป็นพลังงานไฟฟ้า หากจำเป็นต้องจอดจักรยานชั่วคราวนอกสถานี สามารถดึงสายคล้องเพื่อล็อกตัวจักรยานไว้กับจุดจอดได้
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดให้มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 ณ ตึกบัญชาการ (อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ในปัจจุบัน) โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่เวชชบัณฑิต (แพทยศาสตรบัณฑิต) ของมหาวิทยาลัย ซึ่งนับได้ว่าเป็นพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของประเทศไทย ในการนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยบัณฑิตพิเศษแด่พระองค์ด้วย หลังจากพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งนั้นเสร็จสิ้นแล้ว สภามหาวิทยาลัยได้เสนอให้กระทรวงธรรมการกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตสงวนธรรมเนียมนี้ไว้ กล่าวคือ "ถือว่าการพระราชทานปริญญาบัตรเป็นการหน้าที่นั่ง หากเสด็จไม่ได้ก็จะเป็นการถวายปฏิญญาต่อพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ และรับพระราชทานปริญญาบัตรจากผู้แทนพระองค์" เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่มหาวิทยาลัยกราบบังคมทูลขอ ดังนั้น พิธีพระราชทานปริญญาบัตรจึงเป็นธรรมเนียมที่สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตร ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครั้งแรกและครั้งเดียวของพระองค์
ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 และได้เสด็จพระราชดำเนินมาในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เองเรื่อยมา อย่างไรก็ตาม ในบางปีนั้นพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตในระดับปริญญาตรีด้วยพระองค์เอง ส่วนมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตนั้นจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรต่อหน้าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครุยพระบรมราชูปถัมภกแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นประจำทุกปี
เป็นวันที่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกันประกอบกิจกุศล โดยบริจาคทุนทรัพย์และสิ่งของนำไปแจกจ่ายแก่เด็กอนาถาตามสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ บรรดานิสิตอาสาสมัครจะไปแสดงดนตรี และให้ความสนุกสนานรื่นเริงแก่เด็ก ๆ การบำเพ็ญประโยชน์ มีวัตถุประสงค์ เพื่อการน้อมเกล้าฯ รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และโดยเสด็จพระราชกุศลในดิถีอันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา
นายสงคราม สมบูรณ์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี 2509 ได้ทำหนังสือ ที่ 32/2509 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2509 ไปยังสำนักราชเลขาธิการ เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้นาม “วันภูมิพล” สำหรับการบำเพ็ญประโยชน์ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันที่ 5 ธันวาคม ตลอดไป ซึ่งหม่อมเจ้าวงศานุวัตร เทวกุล รองเลขาธิการ กองการในพระองค์ ได้ทำหนังสือแจ้งตอบ ที่ ร ล 0002 /3478 ว่า “ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ได้รับ พระราชทานพระบรมราชานุญาต และทรงอนุโมทนาในกุศลเจตนาของบรรดานิสิตที่ร่วมกันบำเพ็ญประโยชน์นี้”
บุคคลที่เกี่ยวข้องกับจุฬาลงกรณ์รวมถึงคณาจารย์และศิษย์เก่ามีหลากหลาย ซึ่งรวมถึงบุคคลสำคัญในด้านการเมืองการปกครองไม่ว่าจะเป็นรองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีประจำกระทรวงต่าง ๆ , ปลัดกระทรวง และข้าราชการระดับสูง และรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ นอกจากนี้ ยังมีผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ 6 คน นักเขียนผู้ได้รับรางวัลซีไรต์ 3 คน นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ (พ.ศ. 2427-2555) อีก 72 คนนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น 13 คน (2525-2557) ศิลปินแห่งชาติ 13 คน (2528-2549) ศิษย์เก่าได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นของแพทยสภาแห่งประเทศไทย 8 คน บุคลากรได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นของแพทยสภาแห่งประเทศไทย 1 คน และรางวัลพยาบาลดีเด่นของพยาบาลสภาแห่งประเทศไทย 1 คน รวมถึงเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ นักแสดง นักดนตรีของประเทศไทยอีกหลายคน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐสมบูรณ์อย่างเป็นทางการ เมื่อพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 29 ก เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 โดยนายกรัฐมนตรี พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จากนี้สถานภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยจะได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ และข้าราชการมีสิทธิที่จะขอเปลี่ยนสภาพเป็นพนักงานได้ ภายในระยะเวลา 90 วัน และจะไม่มีข้าราชการเพิ่มขึ้นอีกตามมาตรา 78 ของพระราชบัญญัติ
การนำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกจากระบบราชการหรือที่เรียกว่าสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาลนั้น เป็นประเด็นขัดแย้งโดยมีการรวบรวมรายชื่อเพื่อคัดค้านมาโดยตลอด จนถึงขั้นตอนการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันคัดค้าน สนช. ในการผ่านร่าง พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ... อย่างเร่งรีบโดยไม่ฟังเสียงจากประชาคมจุฬาฯ จนกระทั่งวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาของ สนช. โดยประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ. จุฬาฯ เป็นกฎหมายด้วยมติ 134:6 เสียง (งดออกเสียง 4 เสียง) มีผลทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐลำดับที่ 13 ของประเทศ
วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2550 น.ต. ประสงค์ สุ่นศิริ, พล.อ. ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์, พล.ร.อ. บรรณวิทย์ เก่งเรียน, และนายไพศาล พืชมงคล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวกรณี สนช. 27 คน เข้าชื่อให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีร่าง พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีข้อความที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 และตราขึ้นมาโดยไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีบทบัญญัติหลายมาตราที่มีข้อความและเนื้อหาที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหลายมาตรา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสร้างขึ้นมาด้วยปณิธานที่ว่าจะจัดการศึกษาให้กับพสกนิกรไทย แต่การยกร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีลักษณะฉ้อฉลปล้นทรัพย์แผ่นดินเพื่อให้คณะบุคคลเอาไปใช้สอยและเป็นการทำลายพระราชปณิธานแห่งการสถาปนาจุฬาฯ เพื่อเอาไปใช้ประโยชน์หรือตอบสนองประโยชน์สำหรับการศึกษาขั้นสูงสำหรับผู้มีรายได้และไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน การตรากฎหมายในลักษณะนี้จึงไม่ใช่วิธีทางแห่งรัฐธรรมนูญที่ต้องการความเสมอภาค เสรีภาพ และการรักษาผลประโยชน์ของชาติ อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยได้แถลงว่าผู้ที่สามารถสอบเข้าเรียนในจุฬาฯ ได้ในหลักสูตรปกตินั้นจะได้เรียนจนจบในระดับปริญญาตรี เนื่องจากมหาวิทยาลัยเตรียมทุนการศึกษาไว้ปีละมากกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท ซึ่งเพียงพอแต่ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างแน่นอน และถ้าไม่เพียงพอ มหาวิทยาลัยจะจัดสรรเพิ่มขึ้นอีก
ต่อมาในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ศ. ดร.โสภณ เริงสำราญ ประธานเครือข่ายกลุ่มคัดค้านการนำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายศรีราชา เจริญพานิช เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เพื่อให้พิจารณาว่าร่าง พ.ร.บ. จุฬาฯ ที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีเนื้อหาและกระบวนการพิจารณาขัดและไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หรือไม่ เช่น มาตรา 16 ในร่าง พ.ร.บ. จุฬาฯ ว่าด้วยบุคคลสามารถยกความขึ้นเป็นข้อเรียกร้องต่อสู้ในเรื่องทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยไม่ได้ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 ว่าด้วยเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานในการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ บางมาตรายังมีผลกระทบต่อสถานภาพของมหาวิทยาลัยซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานที่ดินอันเป็นที่พระราชทรัพย์แก่จุฬาฯ ให้เป็นที่ตั้งทำการและหาประโยชน์เพียงเพื่อจรรโลงการศึกษา มิใช่มุ่งหวังให้แสวงผลประโยชน์ทางธุรกิจและการค้าเป็นสำคัญ แต่ร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ จะมีผลทำให้จุฬาฯ เปลี่ยนแปลงไปเป็นสถาบันการศึกษาที่มีวัตถุประสงค์ดำเนินการทางธุรกิจการค้าควบคู่กับการศึกษาโดยอาศัยที่ดินพระราชทานเป็นเครื่องแสวงผลประโยชน์ บางมาตรายังมีบทบัญญัติรองรับให้จุฬาฯ สามารถร่วมลงทุนร่วมกับบุคคลอื่นตั้งนิติบุคคล รวมทั้งการกู้ยืม ซึ่งเป็นภาวะเสี่ยงอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยได้ออกมาชี้แจงประเด็นเรื่องที่ดินพระราชทานว่า ภายใต้ร่างกฎหมายฉบับนี้จะไม่สามารถนำไปขายได้เด็ดขาด
มหาวิทยาลัยสีเขียวเป็นนโยบายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547- พ.ศ. 2551 โดยเริ่มตั้งแต่การจัดทำโครงการผังแม่บทจุฬาฯ 100 ปี ให้มีแนวแกนสีเขียว ทั้งแกนด้านทิศตะวันออก-ตะวันตก และแนวแกนเหนือ-ใต้ เพื่อให้มีพื้นที่สีเขียวที่จะรับน้ำ และเพิ่มความร่มรื่นให้มหาวิทยาลัย จำกัดพื้นที่ก่อสร้างให้อยู่ในขอบเขตที่กำหนด นอกจากนั้นยังมีการริเริ่มโครงการรถประจำทางไฟฟ้าภายในมหาวิทยาลัย เพื่อลดการสัญจรด้วยรถยนต์และลดมลภาวะ โครงการนำใบไม้ไปหมักเป็นปุ๋ยได้มีการดำเนินงานและใช้ผลผลิตนั้นกับต้นไม้ในมหาวิทยาลัยมาจนปัจจุบัน
ในช่วงปี พ.ศ. 2551 – พ.ศ. 2555 นโยบายมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการต่อเนื่อง มีการสร้างอาคารจอดรถริมถนนใหญ่สาธารณะเพื่อลดปริมาณรถยนต์ที่จะวิ่งเข้ามาภายใน ขยายโครงการรถประจำทางไฟฟ้าโดยเพิ่มจำนวนรถให้มากขึ้น และให้บริการฟรี ซึ่งเป็นที่นิยมของนิสิต บุคลากร และผู้มาติดต่อจำนวนสนับสนุนการเดินเท้าโดยสร้างหลังคาคลุมทางเดินไปตามถนนหลายสายในมหาวิทยาลัย มีโครงการจุฬารักษ์โลกสนับสนุนการใช้จักรยานแทนรถยนต์ และรณรงค์ชาวจุฬาฯร่วมกันปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น เพิ่มบรรยากาศร่มเย็นให้มากขึ้น รื้ออาคารเก่าที่ทรุดโทรมโดยปลูกต้นไม้ทดแทนเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวสำหรับซึมซับน้ำในมหาวิทยาลัย ขยายโครงการรีไซเคิลขยะหลายประเภท ใบไม้ กระดาษ พลาสติก เศษอาหาร และงดการใช้โฟมเป็นภาชนะใส่อาหาร เพิ่มโครงการประหยัดพลังงานด้วยการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าและระบบปรับอากาศ พร้อมด้วยการรณรงค์ให้นิสิตและบุคลากร ร่วมมือกันประหยัดพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม
ต่อมาในปี พ.ศ. 2555-พ.ศ. 2559 มหาวิทยาลัยมีนโยบายนำ "มหาวิทยาลัยสีเขียว" ไปสู่ "มหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน" สานต่อโครงการในสี่ปีก่อนให้เข้มแข็ง และดำเนินโครงการวิจัยเพื่อกำหนดมาตรฐานอาคารเขียวในมหาวิทยาลัยรวมถึงเพิ่มการปรับปรุงอาคารเดิม เพื่อการประหยัดการใช้พลังงาน เริ่มโครงการวิจัยหาแนวทางดำเนินการลดคาร์บอนไดออกไซด์ในมหาวิทยาลัย เพิ่มพื้นที่รับน้ำเพื่อเก็บน้ำสำหรับรีไซเคิลให้มีปริมาณมากขึ้น
ในปี พ.ศ. 2558 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับโดย UI Green Metric World University Ranking ให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยในไทย ติดต่อกันสองปี ในระดับโลก จุฬาฯ ถูกจัดอันดับให้เป็นที่ 30 ของโลก และเป็นอันดับที่ 4 ของโลกในประเภทมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง (City Center University) จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยไทยแห่งเดียวที่ติดอยู่ใน 30 อันดับแรกของโลก
ถึงแม้ว่าจะได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับหนึ่งของประเทศหลายปีติดต่อกัน แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมีการตัดต้นไม้ใหญ่หลายต้น โดยไม่มีการปลูกทดแทน สิ่งอำนวยความสะดวกที่มหาวิทยาลัยจัดทำขึ้นเพื่อลดการใช้พลังงาน เช่น จักรยาน CU Bike ยังไม่เพียงพอใช้งาน นิสิตและบุคลากรยังใช้ไม่ถูกวิธีในหลาย ๆ ขั้นตอน อาคารหลายแห่งยังไม่สามารถนำนโยบายมหาวิทยาลัยยั่งยืนไปใช้ได้จริง รวมถึงยังให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากร การใช้พลังงานอย่างยั่งยืนและการแยกประเภทขยะแก่นิสิตและบุคลากรไม่เพียงพอ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประสบปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้งเมื่อมีฝนตกหนักเป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่มหาวิทยาลัยฝั่งตะวันออกของถนนพญาไท ใกล้ประตูทางออกสู่ถนนอังรีดูนังต์ ตั้งแต่บริเวณหน้าคณะเศรษฐศาสตร์จนถึงคณะรัฐศาสตร์ น้ำท่วมขังนี้ไม่เพียงสร้างความลำบากในการเดินทาง แต่ยังทำลายสวนขนาดเล็กและต้นไม้บริเวณคณะเหล่านี้อีกด้วย
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมคือ ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานานประกอบกับระบบท่อระบายน้ำในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยค่อนข้างเก่าโดยเฉพาะด้านทิศใต้ คือบริเวณคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ อีกทั้งมีขยะถูกทิ้งไว้ที่พื้นทั่วบริเวณมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก เศษขยะเหล่านี้จึงไปอุดตันระบบระบายน้ำ ท่อระบายน้ำจึงไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาคารหลายแห่งมีน้ำรั่วซึมทุกครั้งที่ฝนตก อาทิ อาคารบรมราชกุมารี อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์อาคารนี้เป็นอาคารหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเสื่อมโทรมลงมากโดยเฉพาะฝาผนังที่สีเริ่มหลุดลอกหลายจุดรอบตัวอาคาร และทางเดินรอบชั้นทั้งสองชั้นมีน้ำฝนรั่วลงมา
ปัญหาน้ำรั่ว ท่อน้ำบริเวณด้านหลังพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้ารั่วทุกครั้งที่มีการเปิดใช้งาน ทำให้น้ำล้นออกมายังบริเวณโดยรอบอย่างไร้ประโยชน์
วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555 สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมติให้เพิกถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิตของนายศุภชัย หล่อโลหการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อดีตนิสิตระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต(ปริญญาเอก) สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตรวจพบว่าวิทยานิพนธ์ของนายศุภชัยมีการคัดลอก หรือลอกเลียนวรรณกรรมโดยมิชอบ (Plagiarize) กรณีการโจรกรรมทางวรรณกรรมนี้ เริ่มเป็นที่รับรู้จากการร้องเรียนของนายวิลเลียม วิน เอลลิส ต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 ว่านายศุภชัยได้ลอกเลียนผลงานทางวิชาการของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย, บริษัท สวิฟท์ จำกัด และของตน เพื่อนำไปเป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ของนายศุภชัย โดยไม่มีการอ้างแหล่งที่มา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถูกกล่าวหาจาก Times Higher Education(THE) ว่าไม่สามารถจัดการกับกรณีของนายศุภชัย หล่อโลหการ แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะตรวจพบว่าวิทยานิพนธ์ของนายศุภชัยมีการคัดลอก หรือลอกเลียนวรรณกรรมโดยมิชอบ (Plagiarised) โดย THE ได้อ้างผลการตรวจสอบของคณะกรรมการภายในของมหาวิทยาลัย เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 ว่าวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิตของนายศุภชัย มีการลอกเลียนเนื้อหาจากหลายแหล่งข้อมูล คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของเนื้อหาวิทยานิพนธ์ทั้งหมด แต่กลับไม่มีความคืบหน้าในการตรวจสอบเท่าที่ควร
เนื่องจากการตรวจสอบกรณีนี้เป็นไปอย่างล่าช้าทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศถึงมาตรฐานของสถาบันการศึกษาในประเทศไทย โดยเฉพาะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถูกพาดพิงในหลายสื่อว่าล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาโจรกรรมทางวรรณกรรม อันเป็นการกระทำผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงในวงการการศึกษา เป็นที่น่าสังเกตว่า The Times Higher Education ได้ลดอันดับจุฬาฯ ให้อยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยอันดับที่ 400 - 600 นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เหตุการณ์นี้ทำให้จุฬาฯ ต้องพัฒนามาตรการป้องกันการทุจริตในงานวิชาการอย่างเร่งด่วน เช่น การจัดอบรมเรื่องการโจรกรรมทางวรรณกรรมให้กับนิสิตอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง มอบหนังสือคู่มือเรื่อง “การลอกเลียนวรรณกรรม (Plagiarism)” ให้กับนิสิตทุกคน พัฒนาซอฟต์แวร์ตรวจสอบการคัดลอกผลงานทางวิชาการภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ เป็นต้น