จุฬาราชมนตรี เป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย และเป็นตำแหน่งฝ่ายมุสลิมให้ข้อปรึกษาด้านศาสนาอิสลามแก่รัฐบาลไทย โดยเฉพาะแก่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงวัฒนธรรม มีประวัติมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในทำเนียบศักดินาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทำเนียบตำแหน่งขุนนาง ซึ่งในชั้นหลังเรียกว่า "กรมท่าขวา" มี "พระจุลาราชมนตรี" เป็นหัวหน้าฝ่ายแขก คู่กับ "หลวงโชฎึกราชเศรษฐี" หัวหน้าฝ่ายจีน
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์และเป็นคนในสายสกุลเฉกอะหมัดที่นับถือนิกายชีอะหฺมาตลอด เปลี่ยนมาเป็นการเลือกตั้งโดยตัวแทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและผู้ที่ได้รับเลือกเป็นผู้นับถือนิกายสุหนี่ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของมุสลิมในประเทศไทย
เริ่มแรกในรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ ได้รื้อฟื้นตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2488 โดยให้เป็นที่ปรึกษาราชการขององค์พระมหากษัตริย์ ในด้านกิจการศาสนาอิสลาม จนกระทั่ง พ.ศ. 2491 รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนให้จุฬาราชมนตรีเป็นที่ปรึกษากรมการศาสนาในกระทรวงศึกษาธิการ อย่างไรก็ดีหลังจากที่การประกาศใช้พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ได้มีการระบุไว้ในกฎหมายนี้ว่า จุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
กฎหมายฉบับนี้ ยังให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยให้เป็นกิจลักษณะ โดยมีจุฬาราชมนตรีเป็นประธานและกรรมการอื่นจากผู้แทนของคณะกรรมการอิสลามประจำจำหวัดและกรรมการที่จุฬาราชมนตรีเสนอชื่อ ซึ่งจะมีบทบาทในด้านการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ขณะที่สำนักจุฬาราชมนตรีนั้นเป็นหน่วยธุรการของจุฬาราชมนตรี
หลังจากประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวไม่นานนายประเสริฐ มะหะหมัดจุฬาราชมนตรีในขณะนั้นได้ถึงแก่อนิจกรรม และผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนต่อมาคือนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ขณะมีอายุได้ 82 ปีเศษ ซึ่งเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งตามกฎหมายฉบับนี้ โดยดำรงตำแหน่งจนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2553 และวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ที่ประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศได้มีมติให้นายอาศิส พิทักษ์คุมพลเป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีต่อจากนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553