จุดบอดต่อความเอนเอียง (อังกฤษ: bias blind spot) เป็นความเอนเอียงทางประชาน ที่เรารู้จัก/รู้จำว่า การประเมินตัดสินใจของผู้อื่นมีผลมาจากความเอนเอียง แต่ไม่รู้จัก/รู้จำว่า การประเมินตัดสินใจของเราเองก็มีผลมาจากความเอนเอียงด้วย ชื่อนี้บัญญัติโดย ศ.ญ.ดร. เอมิลี โพรนิน ของคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และเพื่อนร่วมงาน โดยตั้งตามจุดบอดทางตา
Self-enhancement bias (ความเอนเอียงในการยกตน) อาจจะมีบทบาท คือเรามีแรงจูงใจที่จะมองตนในแง่ดี แต่เพราะว่าความเอนเอียงเป็นสิ่งที่ไม่น่าชอบใจ ดังนั้น เรามักจะคิดว่าการรับรู้และการตัดสินใจของเรานั้นมีเหตุผล แม่นยำ และปราศจากความเอนเอียง และเรามักจะมีความเอนเอียงในการยกตนเมื่อต้องวิเคราะห์การตัดสินใจของตนด้วย คือเรามักจะคิดว่า เราตัดสินใจได้ดีกว่าคนอื่น ๆ
นอกจากนั้นแล้ว เรายังเชื่อด้วยว่า เรารู้ว่าทำไมและอย่างไรเราจึงตัดสินใจเช่นนี้ และดังนั้นก็จะสรุปว่า ความเอนเอียงต่าง ๆ ไม่มีอิทธิพล แต่ว่า การตัดสินใจหลายอย่างของเราเกิดจากความเอนเอียงและวิธีทางลัดทางประชาน (ฮิวริสติก) ซึ่งเป็นกระบวนการจิตใต้สำนึก ที่เราไม่สามารถรับรู้ได้ และดังนั้น เราจะไม่สามารถเห็นอิทธิพลของกระบวนการเหล่านั้นในการตัดสินใจของเรา
ถึงแม้ว่าเราอาจจะมีข้อมูลว่าเรามีความเอนเอียงต่าง ๆ ในการรับรู้ ในการตัดสินใจ และในการประเมิน ผลงานวิจัยกลับพบว่า เราก็ยังไม่สามารถที่จะควบคุมความเอนเอียงต่าง ๆ เหล่านั้น นี่ส่งผลให้เรามีจุดบอด คือว่าแม้จะมีข้อมูลว่าเรามีความเอนเอียง แต่เราก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนกระบวนการทางประชานที่ประกอบด้วยความเอนเอียงเหล่านั้น
ศ.ญ.ดร. โพรนินและเพื่อนร่วมงานอ้างว่า ปรากฏการณ์นี้มีเหตุมาจากการแปลการพินิจภายในผิด (introspection illusion) ในงานทดลองของพวกเขา มีการให้ผู้ร่วมการทดลองประเมินตนเองและผู้อื่น ผลปรากฏว่าผู้ร่วมการทดลองมีความเอนเอียงที่ปกติทั่วไป เช่นให้คะแนนตัวเองสูงกว่าผู้อื่นเกี่ยวกับคุณลักษณะต่าง ๆ ที่น่าชอบใจ (คือแสดง illusory superiority คือความเหนือกว่าลวง) ต่อจากนั้น ผู้ทำการทดลองก็อธิบายเรื่องความเอนเอียงทางประชาน และถามผู้ร่วมการทดลองว่า การประเมินของผู้ร่วมการทดลองได้รับอิทธิพลจากความเอนเอียงหรือไม่ ผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนตนเองว่า มีโอกาสเสี่ยงต่อความเอนเอียงน้อยกว่าผู้ร่วมการทดลองอื่น (ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีจุดบอดต่อความเอนเอียง) และเมื่อต้องอธิบายเหตุผลการประเมินของตน ผู้ร่วมการทดลองใช้วิธีการประเมินที่ต่างกันเมื่อประเมินความเอนเอียงของตนเอง และเมื่อประเมินผู้อื่น
นักวิจัยกลุ่มนี้ตีความว่า เมื่อเราจะประเมินว่าคนอื่นมีความเอนเอียงหรือไม่ เราจะสังเกตดูพฤติกรรมที่แสดงออก ในนัยตรงกันข้ามกัน เมื่อประเมินว่าเราเองมีความเอนเอียงหรือไม่ เราจะมองภายในตัวเรา สังเกตหาความคิดและความรู้สึกที่เป็นเหตุจูงใจให้เกิดความเอนเอียง แต่เนื่องจากว่า ความเอนเอียงต่าง ๆ ทำงานใต้จิตสำนึก ดังนั้น การพินิจภายในเช่นนี้จึงไม่สำเร็จประโยชน์ แต่อย่างไรก็ดี เรามักจะเห็นความคิดความรู้สึกเหล่านั้นว่า เป็นตัวบ่งชี้ที่เชื่อถือได้ว่า ตนเองไม่เสี่ยงต่อความเอนเอียงซึ่งไม่เหมือนกับคนอื่น
จากนั้นนักวิจัยก็พยายามให้ข้อมูลผู้ร่วมการทดลองเกี่ยวกับการพินิจภายในของผู้อื่น คือ นักวิจัยอัดเสียงของผู้ร่วมการทดลองที่กล่าวเรื่องที่ตนคิดเมื่อกำลังประเมินตนเองว่า คำตอบที่ให้ในคำถามที่ผ่านมามีอิทธิพลจากความเอนเอียงหรือไม่ ผลก็คือ แม้ว่า ผู้ร่วมการทดลองจะเชื่อว่าตนเองมีโอกาสน้อยที่จะมีความเอนเอียง แต่ว่าการรายงานการพินิจภายในของตน กลับไม่มีอิทธิพลต่อผู้อื่นเมื่อผู้อื่นประเมินความเอนเอียงของบุคคลนั้น
เรามักจะประเมินความเอนเอียงอย่างไม่สมมาตร เมื่อเรารู้ต่างจากคนอื่น เรามักจะกล่าวว่าคนอื่นมีความเอนเอียง และตนเองมีการรับรู้ที่แม่นยำและไม่มีความเอนเอียง ดร. โพรนินมีสมมุติฐานว่าการยกคนอื่นว่ามีความเอนเอียงอย่างผิด ๆ เช่นนี้ อาจจะเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งและความไม่เข้าใจกันในระหว่างบุคคล ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคิดว่าคนอื่นมีความเอนเอียง เราอาจจะตั้งความสงสัยในเจตนาของคนนั้น แต่เมื่อเราสำรวจการรับรู้ของเราเอง เราจะประเมินตนเองโดยใช้เจตนาที่ดีของเรา ดังนั้นในกรณีนี้ มีโอกาสเป็นไปได้ที่เราจะโทษความเอนเอียงของคนอื่นว่าเป็นเจตนาที่ไม่ดี ไม่ใช่ว่าเป็นกระบวนการใต้จิตสำนึก
ดร. โพรนินยังมีสมมุติฐานเกี่ยวกับการใช้ความสำนึกในเรื่องจุดบอด เพื่อลดความขัดแย้ง และเพื่อการคิดโดยมีข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ที่ดีกว่า แม้ว่าเราจะไม่สามารถควบคุมความเอนเอียงที่เกิดในระบบประชานของเรา เราอาจจะทำไว้ในใจได้ว่า ความเอนเอียงนั้นเกิดขึ้นกับทุกคน ดร. โพรนินเสนอว่า เราอาจจะใช้ความรู้นี้ ในการแยกเจตนา (ที่ดี) และการกระทำของผู้อื่น (ที่อาจประกอบด้วยความเอนเอียงที่ไม่ได้ตั้งใจ)