จารึกวัดศรีชุม หรือ ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ เป็นศิลาจารึกภาษาไทยสมัยสุโขทัยที่สำคัญ ที่เล่าเรื่องราวการสถาปนากรุงสุโขทัย และ วีรกรรมของกษัตริย์ราชวงศ์นำถุม โดยสันนิษฐานว่าผู้สร้างศิลาจารึกหลักนี้คือ พระมหาเถรศรีศรัทธา ผู้เป็นเชื้อสายของ พ่อขุนศรีนาวนำถุม ผู้สถาปนาแคว้นสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย
จารึกสลักตัวอักษรไทย ภาษาไทย บนแผ่นหินดินดาน รูปใบเสมา เรียวบาง (ชำรุดบางแห่ง) มี ๒ ด้าน ๒๑๒ บรรทัด กว้าง ๒ ศอก สูง ๙ ศอก หนา ๓ ถึง ๔ นิ้วโดยประมาณ
ตามประวัติ ในสมัย รัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๐ หลวงสโมสรพลการได้ค้นพบจารึกนี้อยู่ในอุโมงค์ มณฑปวัดศรีชุม และได้ถูกขนย้ายนำมารวบรวมไว้ในกรุงเทพฯ ผู้ศึกษาอ่านจารึกนี้เป็นคนแรกคือ ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ผู้เป็นบรรณารักษ์ใหญ่ หอสมุดวชิรญาณในขณะนั้น ใจความที่ปรากฏในจารึกถูกพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๖๗ ปัจจุบันจารึกนี้เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
สันนิษฐานว่าศิลาจารึกวัดศรีชุมนี้อาจจัดสร้างขึ้นในระหว่างปีที่ พระยาลิไทย ได้อำนาจปกครองกรุงสุโขทัย ประมาณ พ.ศ. ๑๘๙๐ เรื่องราวที่ปรากฏในจารึกกล่าวถึง
ชื่อสถานที่เช่น อีจาน และ รัตภูมิ อาจบอกถึงสถานที่ตั้งเมืองของ มหาเถรศรีศรัทธาได้หากมีการศึกษาต่อไปในอนาคต
เนื่องจากมีการเล่าเรื่องราวข้อมูลเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญ และ ข้อมูลหลายอย่างไม่พบในศิลาจารึกหลักอื่นๆ จึงทำให้ศิลาจารึกหลักนี้เป็นที่สนใจของนักประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ใจความโดยรวมของศิลาจารึกนี้ยังสอดคล้องกับศิลาจารึกหลักที่ ๑ที่สร้างโดย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช