จังหวัดอุตรดิตถ์ เดิมสะกดว่า อุตรดิฐเป็นจังหวัดหนึ่งตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนล่าง ของประเทศไทย ได้ชื่อว่าเมืองท่าแห่งทิศเหนือ ตำนานอันลึกลับของเมืองลับแล ดินแดนแห่งลางสาดหวานหอม อุตรดิตถ์มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มายาวนาน โดยมีการค้นพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
เดิมทีตัวเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันนี้เป็นเพียงตำบลชื่อ "บางโพธิ์ท่าอิฐ" แต่เพราะบางโพธิ์ท่าอิฐซึ่งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำน่านมีความเจริญรวดเร็ว เพราะเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าสำคัญในหัวเมืองฝ่ายเหนือ ดังนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ย้ายเมืองหลักมาจากเมืองพิชัยมายังตำบลบางโพธิ์ท่าอิฐ และยกฐานะขึ้นเป็นเมือง "อุตรดิตถ์" ซึ่งมีความหมายว่า ท่าน้ำแห่งทิศเหนือของสยามประเทศ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 เมืองอุตรดิตถ์มีความเจริญขึ้น เมืองอุตรดิตถ์จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัด
จังหวัดอุตรดิตถ์ตั้งอยู่ทางใต้สุดของภาคเหนือตอนล่าง โดยสภาพภูมิศาสตร์จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นจังหวัดที่มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่สูงสลับซับซ้อน ซึ่งจะอยู่ทางตอนเหนือและทางตะวันออกของจังหวัด เนื่องจากทำเลที่ตั้งดังกล่าวจึงทำให้จังหวัดอุตรดิตถ์มีอากาศค่อนข้างร้อนอบอ้าวในฤดูร้อน มีอากาศฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดูฝน และมีช่วงฤดูแล้งคั่นอยู่อย่างชัดเจนตั้งแต่ประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคม เดือนที่ร้อนที่สุดคือเดือนเมษายน จังหวัดอุตรดิตถ์ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนใหญ่ มรสุมตะวันออกเฉียงใต้ปกติจะมีแหล่งกำเนิดบริเวณทะเลอันดามัน ทำให้จังหวัดอุตรดิตถ์มีช่วงฤดูฝนกินระยะเวลาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกันยายน โดยเดือนกันยายนเป็นเดือนที่มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูงที่สุด
ประชากรส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 99.66 นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท โดยประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยใช้พื้นที่ทำการเกษตรประมาณร้อยละ 26.70 ของพื้นที่ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังประกอบอาชีพทางด้านปศุสัตว์ รวมทั้งมีการทำพืชไร่ปลูกผลไม้นานาชนิด โดยผลไม้ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดอุตรดิตถ์คือลางสาด
ส่วนการเดินทางมายังจังหวัดอุตรดิตถ์สามารถใช้เส้นทางได้หลายเส้นทาง ทั้งทางรถไฟ ทางรถโดยสารประจำทาง และทางรถยนต์ส่วนบุคคล สำหรับการเดินทางโดยเครื่องบิน จังหวัดอุตรดิตถ์เคยมีท่าอากาศยาน 1 แห่ง สำหรับการเดินทางพาณิชย์ แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว
สถานที่สำคัญภายในจังหวัดนั้น มีทั้งแหล่งโบราณสถาน เช่น วัดพระแท่นศิลาอาสน์ วัดพระฝางสว่างคบุรีมุนีนาถ วัดพระยืนพุทธบาทยุคล วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ซากเมืองโบราณสมัยอาณาจักรสุโขทัย แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน และแหล่งท่องเที่ยวอีกมากมาย ทั้งน้ำตก เขื่อนสิริกิติ์ วัด พระพุทธรูปสำคัญของจังหวัด เป็นต้น
พื้นที่ตั้งตัวเมืองอุตรดิตถ์ในอดีต เป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ราบลุ่มอันเกิดจากดินตะกอนแม่น้ำพัดของแม่น้ำน่านที่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานและประกอบกสิกรรมมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ปรากฏหลักฐานบริเวณรอบที่ตั้งตัวเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันที่แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวและการตั้งถิ่นฐานของแหล่งชุมชนมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุมากกว่า 2,000 ปี ดังการค้นพบเครื่องมือหินขัดและซากกระดูกมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านบุ่งวังงิ้วซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามตำบลบางโพ-ท่าอิฐ และการค้นพบกลองมโหระทึกสำริด, กาน้ำและภาชนะสำริดที่ม่อนศัลยพงษ์ซึ่งตั้งอยู่ในเขตตำบลบางโพในปี พ.ศ. 24701
พื้นที่ตั้งตัวเมืองอุตรดิตถ์ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ในทำเลที่ตั้งอันเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่มีความเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังนั้นในบริเวณแถบนี้จึงมีการเคลื่อนไหวและย้ายถิ่นฐานของผู้คนมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีท่าน้ำที่สำคัญ 3 ท่า คือ ท่าเซา ท่าอิด และท่าโพธิ์ ซึ่งมีความสำคัญและเจริญรุ่งเรืองมาแต่สมัยขอมปกครองท่าอิด ตั้งแต่ พ.ศ. 1400
ที่ตั้งของตัวเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันมีที่มาจาก 3 ท่าน้ำสำคัญที่มีความสำคัญเป็นชุมทางค้าขายมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรขอม คือ
วิบูลย์ บูรณารมย์ ผู้แต่งหนังสือตำนานเมืองอุตรดิษฐ์ ได้อธิบายว่าความหมายของชื่อ "ท่าอิด" และ "ท่าเสา" ไว้ว่า คำว่า "อิด" หรือ "อิฐ" ในชื่อท่าอิดเพี้ยนมาจากคำว่า "อิ๊ด" ในภาษาล้านนา แปลว่า "เหนื่อย" ส่วนคำว่า "เสา" ในชื่อท่าเสามาจากคำว่า "เซา" ในภาษาล้านนา แปลว่า "พักผ่อน" ทั้งสองคำนี้มีที่มาจากการเดินทางมาค้าขายที่ท่าอิดทางเรือ และทางบกของจังหวัดภาคเหนือ และภาคกลางสมัยโบราณ กว่าจะถึงก็เหนื่อยและต้องพักผ่อน
สำหรับความหมายของท่าอิฐและท่าเสาในอีกความเห็นหนึ่งนั้น พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำกรมศิลปากร กล่าวไว้ในหนังสือของท่านคัดค้านการสันนิษฐานความหมายตามภาษาคำเมืองดังกล่าว โดยกล่าวว่า คำว่าท่าอิฐและท่าเสานั้นเป็นคำในภาษาไทยกลาง เพราะคนท่าอิฐและท่าเสาเป็นกลุ่มชนสุโขทัยดั้งเดิมที่ใช้กลุ่มภาษาไทยกลุ่มเมืองในแคว้นสุโขทัย เช่นเดียวกับชาวสุโขทัย นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร และเช่นเดียวกับกลุ่มคนในตำบลทุ่งยั้ง บ้านพระฝาง เมืองพิชัย บ้านแก่ง และบ้านคุ้งตะเภา ซึ่งเป็นกลุ่มคนแคว้นสุโขทัยเดิมในจังหวัดอุตรดิตถ์เช่นเดียวกัน โดยคำว่าท่าเสานั้น มีความหมายโดยตรงเกี่ยวข้องกับการล่องซุงหมอนไม้ในสมัยโบราณเช่นเดียวกับชื่อนามหมู่บ้านหมอนไม้ (หมอนไม้ซุง) ซึ่งอยู่ทางใต้ของบ้านท่าอิฐ
อย่างไรก็ดี จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แสดงให้เห็นว่าทั้งท่าอิฐและท่าเสานับเป็นท่าที่มีความเจริญทางการค้ามากกว่าทุกท่าในภาคเหนือ เป็นทั้งท่าจอดเรือ ค้าขายจากมณฑลภาคเหนือและภาคกลางรวมถึงเชียงตุง เชียงแสน หัวพันทั้งห้าทั้งหก สิบสองปันนา สิบสองจุไทย จนต่อมาแควน่านได้เปลี่ยนทางเดิน ทำให้หาดท่าอิดงอกออกไปทางตะวันออกมากทุก ๆ ปี ท่าอิดจึงเลื่อนตามลงไปเรื่อย ๆ เรียกว่าหาดท่าอิดล่าง ท่าอิดเดิมเรียกว่าท่าอิดบน ท่าอิดล่างก็ยังคงเป็นศูนย์การค้าสำคัญของภาคเหนือมาตลอดจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6
ในช่วงสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมืองฝาง ซึ่งอยู่เหนือน้ำเมืองอุตรดิตถ์ได้กลายเป็นแหล่งชุมนุมสำคัญของประชาชน เพราะไม่ได้รับผลกระทบจากการสงครามระหว่างไทย-พม่า ทำให้เกิดชุมนุมเจ้าพระฝางเป็นใหญ่เหนือหัวเมืองแถบนี้ ก่อนจะถูกปราบปรามลงได้ในภายหลัง
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เคยใช้เมืองท่าอิดเป็นที่พักทักเมื่อกรีธาทัพผ่านมา และใช้เป็นที่รวบรวมทัพก่อนขึ้นตีหัวเมืองฝ่ายเหนือและล้านนา สมัยก่อนนั้น การเดินทางและการขนส่งสินค้าเพื่อนำมาขายทางตอนเหนือมีสะดวกอยู่ทางเดียวคือ ทางน้ำ แม่น้ำที่สามารถให้เรือสินค้ารวมทั้งเรือสำเภาขึ้นลงได้สะดวกถึงภาคเหนือตอนล่างก็มีแม่น้ำน่านเท่านั้น เรือสินค้าที่มาจากกรุงเทพฯ หรือกรุงศรีอยุธยาก็จะขึ้นมาได้ถึงบางโพท่าอิฐเท่านั้น เพราะเหนือขึ้นไปแม่น้ำจะตื้นเขินและมีเกาะแก่งมาก ฉะนั้นตำบลบางโพท่าอิฐจึงเป็นย่านการค้าที่สำคัญ
โดยในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อุตรดิตถ์เป็นหัวเมืองชุมนุมการค้าที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในภาคเหนือ ทำให้ในปี พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญของเมืองแห่งนี้ในฐานะศูนย์กลางการค้าขายของแถบภาคเหนือตอนล่าง หรือเมืองท่าที่ตั้งอยู่ปลายเหนือสุดของการควบคุมด้วยอำนาจโดยตรงของ อาณาจักร จึงพระราชทานนามเมืองท่าอิดไว้ว่า "อุตรดิฐ" (อุตร-ทิศเหนือ, ดิตถ์-ท่าน้ำ) แปลว่า "ท่าน้ำแห่งทิศเหนือ" (คำนี้ต่อมาเขียนเป็น "อุตตรดิตถ์ " และ "อุตรดิตถ์" ดังที่ใช้ในปัจจุบัน)
พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองพิชัย ท่าอิด เมืองทุ่งยั้ง และเมืองลับแล ทรงเล็งเห็นว่าท่าอิดมีความเจริญ เป็นศูนย์ทางการค้า ประกอบกับมีเมืองลับแลอยู่ใกล้ ๆ เป็นเมืองรองลงไป การชำระคดีและการเรียกเก็บภาษีอากรสะดวกกว่าที่เมืองพิชัย แต่ท่าอิดในขณะนั้นยังคงมีฐานะเป็นเมืองท่าขึ้นต่อเมืองพิชัย ดังนั้น คดีต่าง ๆ ที่เกิดขั้นรวมทั้งการเก็บภาษีอากรส่วนใหญ่จึงอยู่ที่ท่าอิด ราษฎรต้องลงไปเมืองพิชัยติดต่อกับส่วนราชการเป็นการไม่สะดวก จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองพิชัยมาตั้งที่บริเวณท่าอิด ส่วนเมืองพิชัยเดิมว่าเรียกว่าเมืองพิชัยเก่า
พ.ศ. 2446 พวกเงี้ยวก่อการจลาจลที่เมืองแพร่ โดยมีประกาหม่องหัวหน้าเงี้ยวตั้งตนเป็นใหญ่ จับพระยาสุรราชฤทธานนท์ข้าหลวงประจำมณฑลกับข้าราชการไทย 38 คนฆ่าแล้วยกทัพลงมาจะยึดท่าอิด กองทัพเมืองอุตรดิตถ์โดยนำของพระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ เป็นผู้บัญชาทัพ พระยาพิศาลคีรี (ทัพ) ข้าราชการเกษียณอายุแล้วเป็นผู้คุมกองเสบียงส่ง โดยยกทัพไปตั้งรับพวกเงี้ยวที่ปางอ้อ ปางต้นผึ้ง พระยาศรีสุริยราชฯ จึงมอบหมายพระยาพิศาลคีรี เป็นผู้บัญชาการทัพแทน ทั้งนี้เนื่องจากเป็นผู้มีอาวุโสและกรำศึกปราบฮ่อที่หลวงพระบางมามาก พระยาพิศาลคีรีได้สร้างเกียรติคุณให้กองทัพไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยปราบทัพพวกเงี้ยวราบคาบ ฝ่ายไทยเสียชาวบ้านที่อาสารบเพียงคนเดียว กอปรกับเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีซึ่งเป็นแม่ทัพจากกรุงเทพฯ ยกมาช่วยเหลือ
พ.ศ. 2448-2451 ทางรถไฟได้เริ่มสร้างทางผ่านท่าโพธิ์และท่าเซา ซึ่งขณะนั้นบริเวณนี้ยังเป็นป่าไผ่อยู่ ไม่เจริญเหมือนท่าอิด กรมรถไฟจึงได้สร้างทางรถไฟแยกไปที่หาดท่าอิดล่าง ในปี พ.ศ. 2450 สมัยพระยาสุจริตรักษา (เชื้อ) เป็นเจ้าเมือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2454 กรมรถไฟได้สร้างสถานีรถไฟถึงบางโพธิ์และท่าเซา ทำให้ท่าโพธิ์และท่าเซาเจริญทางการค้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับที่ท่าอิดน้ำท่วมบ่อย การคมนาคมทางน้ำเริ่มลดความสำคัญลง การค้าที่ท่าอิดเริ่มซบเซา พ่อค้าเริ่มอพยพมาตั่งที่ท่าโพธิ์และท่าเซาเพิ่มมากขึ้น ท่าอิดเมืองท่าที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ พ.ศ. 1400 ก็เสื่อมความนิยมลง และได้ย้ายศูนย์กลางการค้ามาที่ตลาดท่าโพธิ์และตลาดท่าเสาในเวลาต่อมา
ต่อมาหลังจากการตัดเส้นทางรถไฟผ่านเมืองอุตรดิตถ์สำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทำให้แหล่งชุมนุมการค้าย่านท่าเสาและท่าอิฐเริ่มหมดความสำคัญลง เพราะรถไฟสามารถวิ่งขึ้นเมืองเหนือได้โดยไม่ต้องหยุดขนถ่ายเสบียงที่เมืองอุตรดิตถ์ และประกอบกับการที่ทางราชการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ปิดกั้นแม่น้ำน่านในเขตอำเภอท่าปลาในปี พ.ศ. 2510 ทำให้การคมนาคมทางน้ำยุติลงสิ้นเชิง โดยในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500 นั้น เส้นทางคมนาคมทางถนนในจังหวัดอุตรดิตถ์มีเพียงไม่กี่เส้นทาง และด้วยทำเลที่ตั้งและความไม่สะดวกในการคมนาคมทางถนนในช่วงนั้นดังกล่าว ทำให้ตัวเมืองอุตรดิตถ์ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของภาคเหนือกลายเป็นเมืองในมุมปิด ไม่เหมือนเมื่อครั้งการคมนาคมทางน้ำรุ่งเรือง และด้วยภูมิประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยดังกล่าว จึงทำให้ในช่วงต่อมารัฐบาลได้หันมาพัฒนาเมืองพิษณุโลกให้เป็นศูนย์กลางแห่งภาคเหนือตอนล่างแทน
จนในปี พ.ศ. 2522 ทางการได้ตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ทำให้เมืองอุตรดิตถ์เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงและมีการพัฒนามากขึ้นตามลำดับ เพราะทางเส้นนี้เป็นเส้นทางส่วนหนึ่งของถนนสายเอเชียที่ตัดผ่านมาจากจังหวัดพิษณุโลกผ่านนอกเมืองอุตรดิตถ์เข้าสู่จังหวัดแพร่ ทำให้เส้นทางนี้กลายเป็นเส้นทางคมนาคมทางบกสายหลักของจังหวัดอุตรดิตถ์ และกลายเป็นทางผ่านสำคัญเพื่อเข้าสู่ภาคเหนือ
ตัวเมืองอุตรดิตถ์มีความเจริญขึ้นมาโดยลำดับเนื่องจากเป็นที่ตั้งของย่านสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ทำให้ในปี พ.ศ. 2458 สมัยรัชกาลที่ 6 ได้ย้ายศูนย์ราชการจากเมืองพิชัยมาตั้งไว้ที่เมืองอุตรดิตถ์ และในปีพ.ศ. 2495 เมืองอุตรดิตถ์จึงได้รับการยกฐานะจากเมืองอุตรดิตถ์ขึ้นเป็นจังหวัดอุตรดิตถ์ สืบจนปัจจุบัน
ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ออกแบบโดย พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) ในปี พ.ศ. 2483 ตามนโยบายของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น พระพรหมพิจิตรได้สนองนโยบายที่ให้นำปูชนียวัตถุสถานสำคัญของจังหวัดมาผูกเป็นตรา ท่านจึงได้นำรูปมณฑปประดิษฐานพระแท่นศิลาอาสน์ โบราณสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ มาประกอบผูกเข้าไว้เป็นตราประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ตราที่ผูกขึ้นใหม่นี้เขียนลายเส้นโดย นายอุณห์ เศวตมาลย์ ไม่มีรูปครุฑ, นามจังหวัดและลายกนกประกอบ ต่อมาทางราชการจึงได้เพิ่มรายละเอียดทั้งสามเข้าไว้ในตราจังหวัด ซึ่งตรานี้ยังคงใช้มาจนปัจจุบัน
คำขวัญประจำจังหวัดอุตรดิตถ์แต่งขึ้นในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยนั้นได้นำนโยบายนี้เข้าสู่ที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการและมีการคิดประกอบคำขวัญจังหวัดอุตรดิตถ์ขึ้นเป็นตัวอย่าง เพื่อมอบให้วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์กำหนดกรอบแนวคิดการประกวดคำขวัญประจำจังหวัดต่อไป อย่างไรก็ดี คำขวัญที่คิดในที่ประชุมส่วนราชการได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางและเป็นที่รู้จักทั่วไป จึงไม่ได้มีการคิดประกวดคำขวัญใหม่ ทำให้คำขวัญดังกล่าวยังคงใช้เป็นคำขวัญประจำจังหวัดมาจนปัจจุบัน
ดอกประดู่บ้าน ดอกไม้ประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ในราวปี พ.ศ. 2504 รัฐบาลเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก ได้มีโครงการพัฒนาท้องถิ่นหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่เน้นเรื่องเศรษฐกิจในชุมชนเป็นหลักเพื่อเป็นแบบอย่างในการพัฒนาส่วนหนึ่ง จังหวัดจึงมีนโยบายให้หน่วยงานราชการทุกแห่งปลูกไม้ประดับและไม้ยืนต้นในพื้นที่ของส่วนราชการทุกแห่ง และเสนอแนะให้ปลูกพันธุ์ไม้กัลปพฤกษ์และพันธุ์ไม้ประดู่บ้าน แต่พันธุ์ไม้ที่ปลูกทั้งสองชนิดมีเพียงดอกประดู่บ้านที่บานสะพรั่ง ทางจังหวัดจึงกำหนดให้ดอกประดู่บ้านเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดอุตรดิตถ์
จังหวัดอุตรดิตถ์ตั้งอยู่ใต้สุดของภาคเหนือ โดยมีพื้นที่ประมาณ 7,854 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ 25 ของประเทศ มีจังหวัดที่มีอาณาเขตติดกัน ดังนี้
ภูมิประเทศทางตอนเหนือและทางตะวันออกของจังหวัดส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่สูง ทิวเขาเหล่านี้ต่อเนื่องมาจากจังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน
ภาพถ่ายทางอากาศ ตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ในอดีต เห็นทิวเขาสลับซับซ้อนเขตติดต่อจังหวัดแพร่ได้ชัดเจน
อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัด สูงประมาณ 2,102 เมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์
จังหวัดอุตรดิตถ์แบ่งพื้นที่เพื่อการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น 9 อำเภอ 67 ตำบล 613 หมู่บ้าน โดยมีอำเภอดังนี้ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ อำเภอตรอน อำเภอทองแสนขัน อำเภอท่าปลา อำเภอน้ำปาด อำเภอบ้านโคก อำเภอพิชัย อำเภอฟากท่า และอำเภอลับแล และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 ประเภท ประกอบด้วย
ค่ายทหารในจังหวัดอุตรดิตถ์เป็นค่ายทหารที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรักษาความสงบในจังหวัดอุตรดิตถ์
จังหวัดอุตรดิตถ์มีผลผลิตสาขาที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของจังหวัดคือ สาขาการเกษตร รองลงไปคือการอุตสาหกรรม การประมง และการพาณิชย์
จังหวัดอุตรดิตถ์มีทรัพยากรป่าไม้ที่สมบูรณ์ มี ทรัพยากรแร่ธาตุหลายชนิด เช่น แร่พลวง เหล็ก ทองแดง ยิปซัม แร่ใยหิน ดินขาว ทัลก์ แต่ยังไม่ได้นำไปใช้ในทางเศรษฐกิจ และมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำน่าน ไหลผ่านเขตจังหวัดเป็นระยะความยาวถึง 160 กิโลเมตร แม่น้ำปาด ห้วยพูล คลองแม่พร่อง ห้วยน้ำพี้ คลองตรอน ห้วยน้ำลอก นอกจากนั้นมีเขื่อนและฝายกักเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน คือ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนดินช่องเขาขาดหรือแซดเดิล ฝายสมเด็จฯ และฝายหลวงลับแลซึ่งเป็นฝายแรกของประเทศไทย
ทางด้านอุตสาหกรรมของจังหวัดอุตรดิตถ์นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน คือ อุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมทอผ้า และอุตสาหกรรมน้ำปลา ส่วนในเรื่องของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เช่น เหมืองแร่ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ ยังไม่เกิดขึ้นในจังหวัดอุตรดิตถ์ ถึงแม้อุตรดิตถ์จะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ต่าง ๆ ก็ตาม
ประชากรท้องถิ่นดั้งเดิมของจังหวัด คือชนพื้นถิ่นไทยสยามและไทยวน ผู้เป็นเจ้าของซากโครงกระดูกและเครื่องมือหินและสำริดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ค้นพบในจังหวัด ต่อมาพื้นที่ตั้งเมืองอุตรดิตถ์เป็นทางผ่านสำคัญมาตั้งแต่สมัยอารยธรรมดองซอน ทำให้มีการเคลื่อยย้ายผู้คนมาจากที่ต่าง ๆ มากขึ้น เรื่อยมาในสมัยทวารวดีและอาณาจักรขอมดังปรากฏหลักฐานเมืองโบราณที่เวียงเจ้าเงาะ จนมาในสมัยสมัยสุโขทัยได้มีเมืองเกิดขึ้นมากมาย เช่น เมืองฝาง เมืองทุ่งยั้ง เมืองตาชูชก และเมืองพิชัย และด้วยการเป็นเส้นทางการค้าทางน้ำ ทำให้ชาวเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยโบราณมีที่มาจากหลายเผ่าพันธุ์ แต่กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมสืบเนื่องมาจนปัจจุบันคือไทยสยามจากอาณาจักรสุโขทัยที่อาศัยอยู่ในแถบอำเภอพิชัย และไทยวนจากอาณาจักรล้านนาที่อพยพจากเชียงแสนมาอาศัยอยู่ในแถบอำเภอลับแล ชนสองกลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานขึ้นเป็นเมืองอย่างมั่นคงมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
จนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการกวาดต้อนผู้คนและการอพยพย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ล้านช้าง (ลาว) จากทั้งเมืองเวียงจันทร์และเมืองหลวงพระบาง ลงมาตั้งถิ่นฐานในเขตอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดมากขึ้น ได้แก่บริเวณอำเภอน้ำปาก อำเภอฟากท่า และอำเภอบ้านโคกในปัจจุบัน และได้มีชาวจีนโพ้นทะเลอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งหลักแหล่งทำมาค้าขายในแถบเมืองท่ามากเป็นลำดับ จึงทำให้เมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันกลายมีกลุ่มชนมากถึง 3 วัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
ประชากรท้องถิ่นดั้งเดิมของจังหวัด นับถือผีที่เป็นความเชื่อแบบโบราณเป็นหลัก สังเกตได้จากร่องรอยการใส่ภาชนะและข้าวของเครื่องใช้ลงในหลุมฝังศพตามความเชื่อในเรื่องโลกหน้าของคนโบราณในหลุมขุดค้นทางโบราณคดีบ้านบุ่งวังงิ้ว
อย่างไรก็ตามศาสนาแรกที่ชาวอุตรดิตถ์รับมานับถือสันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธศาสนา เพราะปรากฏหลักฐานโบราณสถานทางพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดที่ พระมหาสถูปแห่งเมืองฝาง จากตำนานที่กล่าวว่าเป็นพระสถูปเจดีย์ที่บรรจุพระทันตธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้รับมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชส่งพระสมณทูตคือพระโสณะและพระอุตตระมาประกาศพระศาสนาที่สุวรรณภูมิ และแม้ว่าตำนานนี้อาจจะเป็นเรื่องที่แต่งเสริมความศรัทธาในภายหลัง แต่พระมหาสถูปแห่งเมืองฝางก็คงสร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย พร้อม ๆ กับการสถาปนาเมืองฝางสวางคบุรีให้เป็นเมืองหน้าด่านทิศตะวันออกสุดแห่งอาณาจักรสุโขทัย (สวางคบุรี-เมืองที่รับแสงอรุณแห่งแรกของอาณาจักรสุโขทัย)
ปัจจุบัน ประชากรของจังหวัดอุตรดิตถ์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทลังกาวงศ์ประมาณร้อยละ 99.66 มีจำนวนวัดในพระพุทธศาสนาถึง 312 วัด พระสงฆ์สามเณรกว่าพันรูป นอกจากนั้นยังมีศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ซึ่งเข้ามาเผยแพร่ในภายหลัง ส่วนใหญ่จะเป็นคนนอกพื้นที่ ที่อพยพย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดอุตรดิตถ์ในช่วงไม่ถึงร้อยปีที่ผ่านมา
จังหวัดอุตรดิตถ์นับได้ว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนกระทั่งถึงระดับอุดมศึกษา ในระดับปฐมวัยและระดับมัธยมศึกษานั้น ดูแลโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุตรดิตถ์ แบ่งออกเป็น 2 เขต โดยแต่ละเขตจะรับผิดชอบการศึกษาของแต่ละอำเภอในจังหวัดอุตรดิตถ์
นอกจากนี้ ยังมีการจัดการเรียนในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์ (และที่เปิดสาขาเป็นศูนย์การศึกษาอุตรดิตถ์) ดังต่อไปนี้
สภาพพื้นที่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ในเขตรอยต่อ 3 วัฒนธรรม คือล้านนา ล้านช้าง และไทยกลาง เป็นผลให้ลักษณะวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ภาษาถิ่นและงานประเพณีพื้นบ้านต่าง ๆ มีลักษณะผสมผสาน บางส่วนพูดภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง)[ต้องการอ้างอิง] บางส่วนพูดภาษาไทยภาคกลาง บางส่วนพูดภาษาลาว และบางส่วนพูดภาษาท้องถิ่นของตน เช่น บ้านทุ่งยั้ง เป็นต้น
จังหวัดอุตรดิตถ์ ยังมีการละเล่นดนตรีพื้นบ้านที่ยังคงมีผู้สืบต่อมาจนปัจจุบัน ถึงสามวัฒนธรรม ทั้งภูมิปัญญาทำเครื่องดนตรีและการละเล่น เช่น ดนตรีมังคละ (มีการละเล่นกันอยู่ในอำเภอพิชัย (กองโค) อำเภอเมือง (พระฝาง, หมอนไม้, คุ้งตะเภา) และอำเภอลับแล (ทุ่งยั้ง)) และวงปี่พาทย์ไทยเดิม รวมถึงการละเล่นซะล้อ ซอ ซึง จ๊อย ค่าว ตามแบบวัฒนธรรมล้านนา
จังหวัดอุตรดิตถ์มีทางรถไฟผ่านจำนวน 3 อำเภอ คือ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ อำเภอพิชัย และอำเภอตรอน อีกทั้งจังหวัดอุตรดิตถ์ยังเป็นที่ตั้งของย่านสถานีรถไฟที่สำคัญในภาคเหนือ ได้แก่ สถานีรถไฟอุตรดิตถ์ และสถานีรถไฟศิลาอาสน์ ที่มีขบวนรถไฟจากสถานีรถไฟกรุงเทพ สถานีรถไฟพิษณุโลก และสถานีรถไฟเชียงใหม่มายังจังหวัดอุตรดิตถ์ทุกวัน วันละ 22 ขบวน(เที่ยวขึ้นและเที่ยวล่อง) ทั้งรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว และรถท้องถิ่น
จากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต2) มีรถยนต์โดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศจากกรุงเทพฯ สู่อุตรดิตถ์ทุกวัน วันละหลายเที่ยว เช่น บ.เชิดชัยทัวร์ จ. บ. สุโขทัย วินทัวร์ (วินทัวร์) บ.นครชัยแอร์ บ.นครชัยทัวร์ และของบขส. เป็นต้น บริษัทที่ให้บริการเดินทางรถประจำทางทั้งรถปรับอากาศชั้นที่ 1 ชั้น 2 ทั้งรถมาตราฐานชั้นที่4 ก,ข (รถสองชั้น) และรถโดยสารธรรมดา นอกจากนี้จากสถานีขนส่งอุตรดิตถ์ สามารถเดินทางไปยังจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย ดังนี้
เดินทางโดยใช้สายการบินนกแอร์ แบบ Fly'n'Ride กรุงเทพ(ดอนเมือง)-อุตรดิตถ์ วันละ 1 เที่ยวบิน จากสนามบินดอนเมืองถึงสนามบินพิษณุโลก และเดินทางโดยรถตู้ถึงจุดรับส่งผู้โดยสารที่จังหวัดอุตรดิตถ์(โชว์รูมโตโยต้าชัวร์อุตรดิตถ์)
จังหวัดอุตรดิตถ์ ติดกับเมืองปากลาย แขวงไชยบุรี ประเทศลาว ทางอำเภอบ้านโคกและน้ำปาด เมือปี 2552 ทางคณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกระดับช่องภูดู่ ตำบลม่วงเจ็ดต้น อำเภอบ้านโคก เป็นด่านชายแดนสากล ดังนั้นในปัจจุบัน การเดินทางผ่านแดนเข้าออกสู่ประเทศลาวสามารถทำได้อย่างสะดวก ณ ที่ทำการด่าน ตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่าเข้าประเทศลาว
การเดินทางสู่ประเทศลาวเริ่มจาก จุดผ่านแดนถาวรภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ ถึงเมืองหลวงพระบาง เป็นระยะทางประมาณ 320 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5-6 ชั่วโมง
ในปัจจุบันทางส่วนใหญ่ได้ปรับปรุงเป็นถนนคอนกรีตที่สามารถเดินทางได้ทุกฤดูกาลจนถึงเชียงเงิน จากนั้นเป็นทางลาดยางจนถึงหลวงพระบาง ในปีพ.ศ. 2555 เส้นทางดังกล่าวได้ถูกพัฒนาเป็นถนนระหว่างประเทศระดับมาตรฐาน (R4 Highway) เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดในการเดินทางจากพรมแดนประเทศไทยสู่หลวงพระบาง
หมายเหตุ 1: นายแจ้ง เลิศวิลัย เป็นผู้พบกลองมโหระทึกสมัยก่อนประวัติศาสตร์ดังกล่าว โดยได้ขุดพบที่ตำบลท่าเสา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ในปี พ.ศ. 2470 และได้ส่งมอบให้แก่ทางราชการ ปัจจุบันกลองมโหระทึกดังกล่าวตั้งแสดงอยู่ในพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร