จังหวัดหนองคาย เป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เป็นจังหวัดชายแดนและเป็นจังหวัดที่เงียบสงบ น่าอยู่และน่าท่องเที่ยว มีพื้นที่ส่วนใหญ่ติดฝั่งแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับประเทศลาว มีพื้นที่แคบแต่ยาว มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการชมบั้งไฟพญานาคในวันออกพรรษา
เมืองหนองคายมีชื่อปรากฏอยู่ในพงศาวดารล้านช้างตลอดยุคสมัย ดังเช่นปรากฏเป็นชื่อเมืองเวียงคุก เมืองปะโค เมืองปากห้วยหลวง (อำเภอโพนพิสัยในปัจจุบัน) และนอกจากนี้ยังปรากฏในศิลาจารึกจำนวนมากที่กษัตริย์แห่งเวียงจันทน์ได้สร้างไว้ในบริเวณจังหวัดหนองคาย โดยเฉพาะเมืองปากห้วยหลวงเป็นเมืองลูกหลวง นอกจากนี้ในรัชสมัยพระเจ้าวรรัตนธรรมประโชติฯ พระราชโอรสในพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้ตั้งสมเด็จพระสังฆราชวัดมุจลินทรอารามอยู่ที่เมืองห้วยหลวง และยังพบจารึกที่วัดจอมมณี ลงศักราช พ.ศ. 2098 จารึกวัดศรีเมือง พ.ศ. 2109 จารึกวัดศรีบุญเรือง พ.ศ. 2151 เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบโบราณสถานอิทธิพลล้านช้างจำนวนมาก เช่น พระธาตุต่าง ๆ โดยเฉพาะพระธาตุบังพวน สร้างก่อน พ.ศ. 2106 จารึกวัดถ้ำสุวรรณคูหา (อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู) ลงศักราช พ.ศ. 2106 กล่าวถึงพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้อุทิศข้าทาสและที่ดินแก่วัดถ้ำสุวรรณคูหา และได้สร้างพระพุทธรูปไว้ที่พระธาตุบังพวนอีกด้วย
เมื่อ พ.ศ. 2322 กองทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ชัยชนะกรุงศรีสัตนาคนหุตเวียงจันทน์แล้ว หัวเมืองหนองคายยังอยู่ใต้ความควบคุมของเวียงจันทน์เช่นเดิมหลังกรณีเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ. 2369 – 2370 ฝ่ายกรุงเทพฯ มีนโยบายอพยพผู้คนมาฝั่งภาคอีสานจึงยุบเมืองเวียงจันทน์ปล่อยให้เป็นเมืองร้าง ชาวเมืองเวียงจันทน์บางส่วนก็อพยพมาภาคกลางและบางส่วนก็อยู่ที่บริเวณเมืองเวียงคุก เมืองปะโค (อำเภอเมืองหนองคายในปัจจุบัน) เมื่อจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ท้าวสุวอ (บุญมา) เป็นเจ้าเมือง ยกบ้านไผ่ (ละแวกเดียวกับเมืองปะโคเมืองเวียงคุก) เป็นเมืองหนองคาย ท้าวสุวอเป็น "พระปทุมเทวาภิบาล" เจ้าเมืองคนแรก มีเจ้าเมืองต่อมาอีก 2 คน คือ พระปทุมเทวาภิบาล (เคน ณ หนองคาย) ผู้เป็นบุตรและพระยาปทุมเทวาภิบาล (เสือ ณ หนองคาย) ผู้เป็นหลาน
เมื่อ พ.ศ. 2428 เกิดสงครามปราบฮ่อครั้งที่สองในบริเวณทุ่งไหหิน (ทุ่งเชียงคำ) พวกฮ่อกำเริบตีมาจนถึงเวียงจันทน์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบข่าวศึกฮ่อ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมขณะดำรงพระอิสริยศเป็น กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพปราบฮ่อครั้งนั้นจนพวกฮ่อแตกหนี และสร้างอนุสาวรีย์ปราบฮ่อไว้ที่เมืองหนองคาย เมื่อ พ.ศ. 2429 ต่อมา พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมดำรงตำแหน่งข้าหลวงมณฑลลาวพวน (ภายหลังเปลี่ยนเป็นมณฑลอุดร) ได้ตั้งที่ทำการที่เมืองหนองคาย ครั้นเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ไทยถูกกำหนดเขตปลอดทหารภายในรัศมี 50 กิโลเมตรจากชายแดน จึงย้ายกองบัญชาการมลฑลลาวพวนมาตั้งที่ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติปกครองพื้นที่ขึ้นโดยให้ยกเลิกระบอบเจ้าปกครองทั่วประเทศ ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ 2458 กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีคำสั่งสถาปนาเมืองข้าหลวงปกครอง ซึ่งต่อมาเรียกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด และในปี พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภอ หนองคายจึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัด
ในปี พ.ศ. 2554 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชบัญญัติตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. 2554 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2554) มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2554 โดยให้แยกอำเภอบึงกาฬ อำเภอปากคาด อำเภอโซ่พิสัย อำเภอพรเจริญ อำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง อำเภอศรีวิไล และอำเภอบุ่งคล้า ออกจากจังหวัดหนองคาย ไปตั้งเป็นจังหวัดบึงกาฬ
อันจังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองคาย อยู่ชายแดน ตามภูมิแผนที่ตั้งริมฝั่งโขง ภาคอีสานเรืองอร่ามเรืองอร่ามงามจรรโลง เกียรติดังโด่ง เป็นเมืองด่านบานประตู ชาวหนองคาย หนองคาย พี่น้องผองไทยกาจ ล้วนสามารถแสดงประจักษ์เป็นนักสู้ เคยชิงชัยห้าวหาญต้านศัตรู มิให้จู่โจมบุกรุกแดนไทย อันพี่น้องหนองคายชายก็ชาญ หญิงสะคราญหมดจดสวยสดใส ทุกคนเอื้ออารีมีนำใจ ถึงอยู่ไกลไมตรีสนิท เป็นมิตรเอย
เนื่องจากจังหวัดหนองคายมีชายแดนติดต่อกับประเทศลาวกว่า 195 กิโลเมตร และเป็นเมืองหน้าด่านทำสงครามในสมัยก่อน จึงทำให้มีการกวาดต้อนอพยพผู้คนจากทั้งฝั่งประเทศลาวและไทย (ในปัจจุบัน) ข้ามไปมา จึงทำให้มีกลุ่มคนหลายชาติพันธุ์ในจังหวัดหนองคาย แต่อย่างไรก็ตามในบันทึกทางประวัติศาสตร์ ได้บ่งบอกว่ามีกลุ่มคนที่อาศัยเป็นเมืองอยู่ในบริเวณนี้อยู่เดิม ได้แก่ เมืองพานพร้าว (อำเภอศรีเชียงใหม่) เมืองปากห้วยหลวง (อำเภอโพนพิสัย) ซึ่งเป็นหนึ่งในอาณาจักรล้านช้าง
ในปัจจุบันกลุ่มคนที่อพยพมาอยู่ในเขตจังหวัดหนองคาย ได้มีการปรับตัวและปรับเปลี่ยนเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้กลมกลืนกับชาวพื้นเมืองที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เดิมจนแทบไม่เห็นความแตกต่าง ทั้งการแต่งกาย ที่อยู่อาศัย ประเพณีต่าง ๆ จะสังเกตได้เฉพาะสำเนียงของภาษาพูด ที่ยังคงเหลือเค้าให้ทราบว่า เดิมเป็นชนเผ่าไหน ซึ่งพอจำแนก ได้ดังนี้
ตามประวัติศาสตร์เดิม มีกลุ่มคนที่เป็นชาติพันธุ์ต่างๆ อพยพมาที่ จังหวัดหนองคาย มากกว่านี้ แต่ปัจจุบัน ไม่สามารถหาหลักฐาน หรือ สิ่งบอกเหตุว่าเป็นชนกลุ่มนั้นๆ หรือไม่ เนื่องจากมีการกลมกลืนกันเป็นไทอีสาน เกือบหมดแล้ว และมีบางส่วนที่เป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากจังหวัดอื่นๆ มาตั้งถิ่นฐานในอำเภอรัตนวาปี และอำเภอโพนพิสัย ซึ่งเรียกว่า ไทครัว เพราะในหมู่บ้านหนึ่งๆ จะมาจากหลากหลายจังหวัดและไม่สามารถสืบสานชาติพันธุ์ได้และปัจจุบันก็กลมกลืนกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่เดิมเกือบหมดแล้ว
จังหวัดหนองคาย มีเนื้อที่ประมาณ 3,026.534 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,891,583 ไร่ (นับเป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดของภาคอีสาน โดยพื้นที่ทั้งหมดก่อนที่จังหวัดบึงกาฬจะแยกตัวไป มีประมาณ 7,332 ตารางกิโลเมตร) ลักษณะเป็นรูปยาวเรียงทอดไปตามลำน้ำโขง ซึ่งเป็นเส้นกั้นเขตแดนกับประเทศลาว มีความยาวทั้งสิ้น 195 กิโลเมตร ความกว้างของพื้นที่ที่ทอดขนานไปตาม ลำน้ำโขงโดยเฉลี่ย 20 - 25 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานครตามทางหลวงแผ่นดินสาย 2 (มิตรภาพ) ประมาณ 615 กิโลเมตร และมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงดังนี้
สภาพภูมิประเทศของจังหวัดหนองคายมีลักษณะทอดยาวตามลำน้ำโขง จังหวัดหนองคายเป็นจังหวัดชายแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีอาณาเขตติดกับนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นเขตแดน จังหวัดหนองคายเป็นจังหวัดชายแดนที่มีเอกลักษณ์พิเศษโดยมีพื้นที่ทอดขนานยาวไปตามลำน้ำโขงมีความยาวทั้งสิ้น 195 กิโลเมตร ความกว้างของพื้นที่ทอดขนานไปตามลำน้ำโขงโดยเฉลี่ยประมาณ 20 – 25 กิโลเมตร ช่วงที่กว้างที่สุดอยู่ที่อำเภอเฝ้าไร่ และช่วงที่แคบที่สุดอยู่ที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคายมีอำเภอที่อยู่ติดกับลำน้ำโขง 6 อำเภอ คือ อำเภอสังคม อำเภอท่าบ่อ อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอเมือง อำเภอโพนพิสัย และอำเภอรัตนวาปี และมีอาณาเขตติดต่อกับ ประเทศลาว คือ แขวงเวียงจันทน์ นครหลวงเวียงจันทน์ และแขวงบอลิคำไซ
จังหวัดหนองคายมีจุดผ่านแดนไป ประเทศลาว รวม 6 จุด เป็นจุดผ่านแดนถาวร 2 จุด และจุดผ่อนปรน 4 จุด จุดผ่านแดนที่สำคัญและเป็นสากล คือ ด่านสะพานมิตรภาพไทย - ลาว ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลีย-ไทย-ประเทศลาว ร่วมมือกันสร้างและเป็นประตูไปสู่อินโดจีน
เนื่องจากแม่น้ำโขงไหลผ่านอำเภอต่างๆ เกือบทุกอำเภอ จึงก่อให้เกิดประโยชน์ในการเกษตรกรรม ราษฎรได้อาศัยแม่น้ำโขงเป็นแหล่งน้ำที่ใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะราษฎรที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง จะได้รับประโยชน์มากกว่าราษฎรที่อยู่ลึกเข้าไปจากแม่น้ำโขง นอกจากนี้สำนักงานพลังงานแห่งชาติได้จัดตั้งสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ในพื้นที่ 9 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 82 สถานี เพื่อทำการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงและแหล่งน้ำอื่น ๆ ขึ้นมาใช้เพื่อการเกษตรกรรม
ลักษณะอากาศจัดอยู่ในจำพวกฝนแถบร้อนและแห้งแล้ง (ธ.ค. - ม.ค.) ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะเริ่มลดในเดือนพฤศจิกายนและต่ำสุดในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม ในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม เป็นช่วงเปลี่ยนฤดู อุณหภูมิจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนมีนาคม และร้อนจัดในเดือนเมษายน ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ (มิ.ย.- ก.ค.) อุณหภูมิโดยทั่วไปจะลดลง และในเดือนตุลาคมอุณหภูมิจะเริ่มลดลงจนอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิต่ำสุดรายปีอยู่ที่ 9.50 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดรายปีอยู่ที่ 40.60 องศาเซลเซียสเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 26.46 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนทั้งปีอยู่ที่ 1,843.6 มิลลิเมตรต่อปี
ประชากรโดยส่วนมากจะประกอบอาชีพทางการเกษตร เช่น ทำนา ทำสวน ทำไร่ ใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนใหญ่เพื่อการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 57.29 ของพื้นที่จังหวัด หรือ 2,625,441 ไร่ ซึ่งพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว (นาปี) และยางพารา
นอกจากนั้น ยังมีการเลี้ยงปศุสัตว์และการทำประมง โดยปศุสัตว์ที่มีมูลค่าผลผลิตมากที่สุด คือ ไก่ไข่ สุกร โคพื้นเมือง เป็ดไข่ ไก่เนื้อ กระบือ เป็ดเนื้อ และโคพันธุ์ ส่วนด้านการประมงนั้น มีทั้งการเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ กระชัง การจับสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ การจับสัตว์น้ำในแม่น้ำโขง และการจับสัตว์น้ำในแหล่งน้ำอื่นๆ
ทางด้านอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่สำคัญของจังหวัดหนองคาย คือ โรงสีข้าว อุตสาหกรรมยางพารา และอุตสาหกรรมแปรูปไม้ นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ คือ อัดเศษโลหะ อัดเศษกระดาษและบดย่อยพลาสติก ซ่อมรถยนต์ ทำน้ำแข็งก้อนเล็ก ห้องเย็นทำวงกบประตูหน้าต่าง และเครื่องเรือนเครื่องใช้จากไม้ ซึ่งในจังหวัดมีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรม 1,171 โรงงาน
ประชาชนชาวจังหวัดหนองคาย ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีเหมือนคนไทยทั่วไปในภาคอีสาน คือ ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ เป็นแนวทางการดำรงชีวิตซึ่งทำให้แดนอีสานอยู่กันด้วยความผาสุก ร่มเย็นตลอดมา โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับปีฮีดสิบสอง ดังนี้ เดือนอ้ายบุญเข้ากรรม เดือนยี่บุญคูณลาน เดือนสามบุญข้าวจี่ เดือนสี่บุญพระเวส เดือนห้าบุญสรงน้ำหรือบุญตรุษสงกรานต์ เดือนหกบุญบั้งไฟ เดือนเจ็ดบุญชำฮะ เดือนแปดบุญเข้าพรรษา เดือนเก้าบุญข้าวประดับดิน เดือนสิบบุญข้าวสาก เดือนสิบเอ็ดบุญออกพรรษา และเดือนสิบสองบุญกฐิน
เป็นงานประจำปีจัดขึ้นที่วัดโพธิ์ชัย (พระอารามหลวงชั้นตรี) มีการอัญเชิญหลวงพ่อพระใสลงมาจากพระอุโบสแล้วแห่รอบเมือง ในวันที่ 13 เมษายนเพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำ มีการทำบุญตักบาตรวันสงกรานต์ เฉลิมฉลองหลวงพ่อพระใสที่ศาลาหลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย มีงานรื่นเริงการละเล่นพื้นเมือง การกีฬาท้องถิ่น และมหรสพ 5 วัน 5 คืน จนกระทั่งถึงวันที่ 18 เมษายน จึงได้อัญเชิญหลวงพ่อพระใสกลับขึ้นไปประดิษฐานยังพระอุโบสถตามเดิม ซึ่งทางจังหวัดได้จัดขึ้นทุกปี
ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีชมภูองค์ตื้อ อำเภอท่าบ่อ เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่หล่อด้วยทอง ฝีมือของช่างฝ่ายเหนือและช่างล้านช้าง เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงาม นั่งขัดสมาธิปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงเคารพนับถือมาก สร้างเมื่อ พ .ศ. 2105 โดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช หล่อโดยใช้ทองคำ ทองเหลือง และเงินผสมกัน รวมน้ำหนักได้ 1 ตื้อ (ตื้อ เป็น มาตราโบราณของอีสาน) ใช้เวลาในการสร้าง 7 ปี 7 เดือน ทางจังหวัดได้จัดงานนมัสการหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ เป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4
จัดประมาณเดือนมีนาคมของทุกปี ที่บริเวณอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ ภายในงานจะมีการแสดงและการละเล่น มีการออกร้านจำหน่ายสินค้าราคาถูก
ประเพณีบุญบั้งไฟเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ได้ปฏิบัติกันมานาน เกี่ยวกับการบูชาเทวดาขอฟ้าขอฝน ตามความเชื่อและโบราณกาล เป็นงานใหญ่โตมาก มีการจัดประกวดบั้งไฟประเภทตกแต่งสวยงาม ความคิดสร้างสรรค์ ประกวดขบวนแห่ และการจุดขึ้นสูงสุด จัดทำในวันเพ็ญเดือน 6 (พฤษภาคม)และวันเพ็ญ เดือน 7 (มิถุนายน)(จังหวัดหนองคายจะจัดบุญบั้งไฟทั้งเดือน6และเดือน7) ของทุกปี จังหวัดหนองคายได้จัดเป็นการแสดงแสงสีเสียงตำนานบั้งไฟพญานาค เกี่ยวกับเรื่องพระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นพญาคันคาก (คางคก) แล้วมีเรื่องราวไม่ถูกใจกับพญาแถน (พระอินทร์) จึงสาบให้แผ่นดินแห้งแล้งจนพญาคันคากแนะนำให้ชาวบ้านจุดบั้งไฟถวายจนฝนตกลงมาในที่สุด
เป็นงานประเพณีท้องถิ่นที่จัดขึ้นก่อนวันเข้าพรรษา ประชาชนตามคุ้มต่างๆ ได้จัดทำต้นเทียนขี้ผึ้งล้วน ทำลวดลายสวยงามประดับดอกไม้ มีการประกวดลวดลายสวยงามของต้นเทียนขบวนแห่มีรางวัล จัดให้มีในคืนวันเพ็ญวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งเป็นวันอาสาฬบูชา ของทุกปี
เป็นงานประเพณีของท้องถิ่นที่จัดขึ้นก่อนวันออกพรรษา จัดให้มีการแข่งเรือยาวในลำน้ำโขง โดยประชาชนในคุ้มต่างๆ ได้จัดเรือแข่งจากอำเภอและบางปีก็มีเรือจากประเทศลาวมาร่วมการแข่งขันด้วย เป็นการแสดงถึงความสามัคคีไมตรีที่มีต่อกันมานานโดยจัดให้มีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี
เป็นประเพณีของท้องถิ่นเก่าแก่ ซึ่งทางจังหวัดได้จัดให้มีขึ้นควบคู่กันกับงานแข่งเรือ มีการจัดทำปราสาทผึ้งประกวด และนำลงเรือยนต์ล่องไปตามลำน้ำโขง กลางคืนมีการไหลเรือไฟประดับดวงไฟมากมาย และดูทิวทัศน์แสงไฟกระทบพื้นน้ำยามกลางคืนสวยงามมาก เพื่อนมัสการพระธาตุหล้าหนอง (วัดและองค์มหาเจดีย์ได้พังลงน้ำโขงเมื่อปี พ.ศ. 2390) อยู่หน้าวัดสิริมหากัจจายน์ อำเภอเมืองหนองคาย จัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 11 จัดพร้อมกันกับงานแข่งเรือประจำปี
จัดเป็นงานต่อจากวันแห่ปราสาทผึ้งและแข่งเรือ เป็นวันทำบุญประจำของท้องถิ่น มีการตักบาตรเทโวภายในเขตอำเภอเมือง ประชาชนท้องถิ่นถือเป็นวันสำคัญยิ่งไม่ว่าจะไปประกอบอาชีพอยู่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ เมื่อถึงกำหนดวันทำบุญออกพรรษาแล้ว คนส่วนมากจะเดินทางกลับบ้านเพื่อทำบุญอุทิศกุศลแก่บรรพบุรุษตามประเพณีนิยมที่ได้ปฏิบัติต่อเนื่องมาแต่โบราณกาล
บั้งไฟพญานาคแม้จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติตามลำน้ำโขงมานานหลายปีแล้วตามคำร่ำลือของชาวบ้าน แต่เพิ่งจะได้รับส่งเสริมให้เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวของจังหวัดหนองคายไม่กี่ปีมานี้เอง บั้งไฟพญานาคเป็นลูกไฟที่พุ่งขึ้นมาจากใต้แม่น้ำโขง พุ่งลอยขึ้นสู่อากาศ ประมาณ 20 - 30 เมตร แล้วก็หายไป ลูกไฟไม่จำกัดบริเวณที่เกิดและเกิดไม่ค่อยซ้ำที่บริเวณนั้น ขนาดของลูกไฟก็มีหลายขนาด เช่น ขนาดโตเท่าผลส้ม ขนาดกลางเท่าไข่ไก่ ขนาดเล็กเท่าหัวแม่มือ เวลาที่เกิดขึ้นไม่แน่นอนแต่ต้องมืดค่ำแล้ว บางทีเกิดตั้งแต่หัวค่ำ ประมาณ 6 โมงเย็น บางปีเริ่มเกิด 2 - 3 ทุ่ม และจะเกิดไปอีกประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง จึงจะค่อยๆ หมดลง จำนวนลูกไฟที่เกิดขึ้นบริเวณหนึ่งๆ มีจำนวนไม่แน่นอน สถานที่เกิดนั้นจะอยู่ในท้องที่อำเภอโพนพิสัย อำเภอรัตนวาปี บั้งไฟพญานาคจะเกิดขึ้นในคืนวันเพ็ญ เดือน 11 หรือแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี และทางจังหวัดได้จัดงานลอยเรือไฟบูชาพญานาค ณ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงใกล้วัดสิริมหากัจจายน์ (วัดธาตุ) อำเภอเมือง โดยจัดเป็นประเพณีทุกปี
จากกรุงเทพมหานคร ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ถึงจังหวัดสระบุรีบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 107 แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ผ่านจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี จนไปถึง หนองคาย
สถานีขนส่งหนองคาย มีบริการรถโดยสารประจำทางทั้งรถโดยสารธรรมดาและปรับอากาศ ทั้งรถที่มาจากกรุงเทพฯ และจากหนองคายไปยังจังหวัดต่างๆ เช่น
การรถไฟแห่งประเทศไทยมีขบวนรถไฟจากกรุงเทพฯ - หนองคาย ทุกวัน โดยออกจากสถานีหนองคายไปยังอุดรธานี ขอนแก่น และกรุงเทพฯ วันละ 3 เที่ยว สถานีรถไฟหนองคาย
ประชากรมีระดับการศึกษาโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น มีจำนวนโรงเรียนทั้งสิ้น 324 โรงเรียน สังกัด สพป. เขต 1 – 2 รวม 267 โรงเรียน และเอกชน 26 โรงเรียน สังกัด สพม. เขต 21 รวม 31 โรงเรียน