จังหวัดสมุทรสาคร เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นครั้งล่าสุดโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครนายก พุทธศักราช 2489 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489
สมุทรสาครเป็นจังหวัดชายทะเล ตั้งอยู่ปากแม่น้ำท่าจีน หลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่าในอดีตมีชุมชนใหญ่เรียกว่า "บ้านท่าจีน" ตั้งอยู่บริเวณปากอ่าวไทย ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2099) พระองค์โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกบ้านท่าจีนขึ้นเป็น เมืองสาครบุรี เพื่อเป็นหัวเมืองสำหรับเรียกระดมพลเวลาเกิดสงครามและเป็นเมืองด่านหน้าป้องกันผู้รุกรานทางทะเล ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปลี่ยนชื่อเมืองสาครบุรีเป็น เมืองสมุทรสาคร และในปี พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทางราชการเปลี่ยนคำว่า "เมือง" เป็น "จังหวัด" ทั่วทุกแห่งในพระราชอาณาจักร เมืองสมุทรสาครจึงได้เปลี่ยนเป็น จังหวัดสมุทรสาคร ตั้งแต่บัดนั้นเป็นมาจนถึงทุกวันนี้
อนึ่ง ในปี พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้มีพระราชดำริที่จะสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ท้องถิ่นโดยใช้รูปแบบการปกครองแบบสุขาภิบาล และเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2448 มีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะตำบลท่าฉลอมเป็นสุขาภิบาล เรียกว่า "สุขาภิบาลท่าฉลอม" จึงถือได้ว่าสุขาภิบาลท่าฉลอมเป็นสุขาภิบาลแห่งแรกในหัวเมืองของประเทศไทย
จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดชายทะเลอ่าวไทย มีแม่น้ำท่าจีนผ่ากลางจังหวัด เป็นจังหวัดในเขตพื้นที่ภาคกลางตอนล่างของประเทศไทยประมาณเส้นรุ้งที่ 130 องศาเหนือ และเส้นแวงที่ 100 องศาตะวันออก เป็นจังหวัดปริมณฑล มีพื้นที่ติดกับเขตหนองแขม เขตบางบอนและบางขุนเทียน ของกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ 872.347 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 545,216
จังหวัดสมุทรสาครมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1.00 - 2.00 เมตร มีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่านตอนกลางจังหวัด ไหลคดเคี้ยวตามแนวเหนือใต้ลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร ระยะทางยาวประมาณ 70 กิโลเมตร พื้นที่ตอนบนในเขตอำเภอบ้านแพ้วและอำเภอกระทุ่มแบนมีความอุดมสมบูรณ์ของดินและมีโครงข่ายแม่น้ำลำคลองเชื่อมโยงถึงกันกระจายอยู่ทั่วพื้นที่กว่า 170 สาย จึงเหมาะที่จะทำการเพาะปลูกพืชนานาชนิด และบางส่วนเป็นย่านธุรกิจ อุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย พื้นที่ตอนล่างของจังหวัดในเขตอำเภอเมืองสมุทรสาครอยู่ติดชายฝั่งทะเลยาว 41.8 กิโลเมตร จึงเหมาะที่จะประกอบอาชีพประมงทะเล เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งและทำนาเกลือ ในช่วงฤดูฝน บางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมหนัก ทำให้เศรษฐกิจภาพรวมเสียหายอย่างมาก โดยเฉพาะการเกษตร
จังหวัดสมุทรสาคร มีลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบฝนเมืองร้อน เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมบก ลมทะเล และมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่าน ในช่วงฤดูร้อน จึงทำให้มีความชื้นในอากาศสูง มีฝนตกปานกลาง ปริมาณเฉลี่ย 1,120 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 28?C - 30?C มีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุด 50 สูงสุด 95
พื้นที่จังหวัดสมุทรสาครประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่ง แบ่งตามประเภทและอำนาจบริหารจัดการภายในท้องที่ได้เป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาลนคร 2 แห่ง เทศบาลเมือง 1 แห่ง เทศบาลตำบล 9 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 25 แห่ง
ตราประจำจังหวัดสมุทรสาคร เป็นรูปเรือสำเภาจีนแล่นในทะเล ด้านหลังเป็นโรงงานและปล่องไฟ ซึ่งหมายถึง ความรุ่งเรืองที่มีมาอดีตถึงปัจจุบัน ตราประจำจังหวัดสมุทรสาคร เริ่มใช้เมื่อ พุทธศักราช 2483 ในสมัยที่หลวงวิเศษภักดี (ชื้น วิเศษภักดี) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด
เนื่องจากเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พุทธศักราช 2537 ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้รับพระราชทานพันธุ์ไม้ดังกล่าวจากสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดวันรณรงค์โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ ปีที่ 50 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และเพื่อความเป็น ศิริมงคลของประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครจึงได้นำพันธุ์ไม้สัตบรรณพระราชทานมาปลูกเป็นปฐมฤกษ์ ในกิจกรรมวันปลูกต้นไม้ตาม โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2537 ที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร จึงถือได้ว่าต้นสัตบรรณเป็นต้นไม้มงคลของจังหวัดสมุทรสาคร
จังหวัดสมุทรสาครเป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจที่มีศักยภาพทั้งทางด้านการอุตสาหกรรม การประมง และการเกษตรกรรม จากข้อมูลสถิติผลิตภัณฑ์ภาคและจังหวัด (GPP) ประจำปี ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดสมุทรสาครชะลอตัวจากปีก่อน เนื่องจากวิกฤตการณ์การเงินโลกที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าและบริการภายในประเทศและต่างประเทศที่ลดลง แต่อย่างไรก็ดี จังหวัดสมุทรสาครยังเป็นจังหวัด 1 ใน 10 ของประเทศที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงตลอดมา
ในปี 2555 จังหวัดสมุทรสาครมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด เท่ากับ 319,406 ล้านบาท เป็นอันดับที่ 7 ของประเทศ และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัว เท่ากับ 351,516 บาท เป็นอันดับที่ 8 ของประเทศ
การเกษตร สภาพทั่วไปของจังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่ราบลุ่มสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1-2 เมตร มีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่านตอนกลางของพื้นที่จากทางด้านเหนือไหลลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร มีคลองชลประทานจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ เพื่อการคมนาคมและเพื่อการชลประทาน ทำให้การใช้ที่ดินครึ่งหนึ่งของจังหวัดเป็นไปเพื่อการเกษตรกรรม
ทางด้านทิศเหนือของจังหวัดจะเป็นพื้นที่การเกษตร ซึ่งประกอบด้วย นาข้าว และสวนผลไม้ โดยสวนผลไม้ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่อำเภอบ้านแพ้ว และอำเภอกระทุ่มแบน โดยเฉพาะพื้นที่ดินที่อยู่ใกล้คลองดำเนินสะดวก และคลองภาษีเจริญ จะมีการปลูกไม้ยืนต้น ผักผลไม้เป็นจำนวนมาก เช่น มะพร้าว ปาล์ม
ทางทิศใต้ เป็นบริเวณที่ราบและน้ำทะเลท่วมถึง มีสภาพเป็นป่าชายเลนและมีการทำนาเกลือ ซึ่งในเวลาต่อมาป่าชายเลนได้ถูกทำลายลงจนเหลือพื้นที่เป็นป่าชายเลนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และการทำนาเกลือได้เปลี่ยนมาทำการเลี้ยงกุ้งเพิ่มมากขึ้น พื้นที่บริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึงมีการทำสวนมะพร้าวเป็นจำนวนมาก
จังหวัดสมุทรสาครมีพื้นที่ทำการเกษตร 90,061 ไร่ จำนวนเกษตรกร 11,333 ราย แยกเป็นพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร 942 ราย 5,595 ไร่ อำเภอกระทุ่มแบน 2,798 ราย 19,183 ไร่ อำเภอบ้านแพ้ว 7,593 ราย 65,282 ไร่ พื้นเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ กล้วยไม้ มีพื้นเพาะปลูก 4,198 ไร่ มะนาวมีพื้นที่เพาะปลูก 18,211 ไร่ ไม้ผลมีพื้นที่เพาะปลูก 63,279 ไร่ พืชผักมีพื้นที่เพาะปลูก 5,697 ไร่ ไม้ดอกไม้ประดับมีพื้นที่เพาะปลูก 6,391 ไร่
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 – 2553 จังหวัดสมุทรสาครมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 4,965 แห่ง เงินลงทุน 446,870 ล้านบาท จำนวนการจ้างแรงงาน 381,476 คน เป็นโรงงานจำพวกที่ 2 (โรงงานที่มีแรงม้าไม่เกิน 50 แรงม้า คนงานไม่เกิน 7 คน และจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบก่อนประกอบกิจการ) จำนวน 324 โรงงาน เงินลงทุน 1,933 ล้านบาท จำนวนการจ้างแรงงาน 4,901 คน และโรงงานจำพวกที่ 3 (โรงงานที่มีแรงม้าตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไปคนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป และจะต้องได้รับอนุญาตก่อนถึงจะประกอบกิจการโรงงานได้) จำนวน 4,641 โรงงาน เงินลงทุน 444,938 ล้านบาท จำนวนการจ้างงาน 376,575 คน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็กจำนวน 3,919 โรงงาน และโรงงานขนาดกลางจำนวน 758 โรงงาน ในจังหวัดสมุทรสาครมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 277 โรงงาน ประเภทของโรงงานอุตสาหกรรมที่ขออนุญาตประกอบการมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ (18.32%) อุตสาหกรรมพลาสติก (14.52%) อุตสาหกรรมอาหารและแปรรูปอาหาร (10.09%) อุตสาหกรรมสิ่งทอ (9.55%)
จังหวัดสมุทรสาคร มีชายฝั่งทะเลยาว 41.8 กิโลเมตร จึงมีการประกอบอาชีพ ทำการประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นอาชีพหลัก ผลผลิตจากการประมงทะเลส่วนใหญ่ได้รับจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ บริเวณอ่าวไทย ทะเลอันดามัน และมหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งทะเลด้านประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ ชาวประมงจังหวัดสมุทรสาคร ยังได้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย โดยมีเรือประมงทะเล ที่เป็นเรือบรรทุกห้องเย็นขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำ ที่ไปร่วมทำการประมง ในน่านน้ำต่างประเทศ เช่น พม่า อินโดนีเซีย เวียดนามไปจนถึงประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น โซมาเลีย เยเมน ซึ่งวัตถุดิบที่จับได้จะเป็นปลาชนิดต่างๆ เช่น ปลาเก๋า ปลากะพง ปลาหมึก โดยเรือบรรทุกขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำ (เรือแม่) จะนำสินค้าสัตว์น้ำกลับขึ้นฝั่ง โดยมีท่าเทียบเรือและรถตู้คอนเทนเนอร์ ตลอดจนแพปลาจำนวนมากรองรับ
ในปี 2552 จังหวัดสมุทรสาครมีประชากรที่อยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน 366,896 คน จำแนกเป็นผู้มีงานทำ จำนวน 363,407 คน และผู้ว่างงานหรือไม่มีงานทำ จำนวน3,489 คน ผู้มีงานทำเป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม ร้อยละ5.10 (18,557 คน) และผู้ที่ทำงานอยู่นอกภาคเกษตรกรรมร้อยละ 94.89 (344,850 คน) โดยกลุ่มผู้ทำงานนอกภาคเกษตรกรรมจะทำงานในสาขาการผลิตมากที่สุดร้อยละ 57.57(198,522คน)