จังหวัดลำปาง (คำเมือง: ) เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือตอนบน ตั้งอยู่ในแอ่งที่ราบล้อมรอบด้วยภูเขา มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ยาวนาน มีชื่อเรียกอย่างหลากหลายตั้งแต่ เขลางค์นคร, เวียงละกอน, นครลำปาง ฯลฯ ในภายหลังเป็นที่รู้จักกันดีอีกชื่อหนึ่งว่า เมืองรถม้า ที่สัมพันธ์กับเอกลักษณ์ของลำปาง
สัญลักษณ์ที่ถูกเลือกให้เป็นตัวแทนจังหวัดลำปางในยุคหลังมาแล้ว อาจเรียกได้ว่าเป็นการสร้างขึ้นภายใต้จังหวัดตามเขตการปกครองของกระทรวงมหาดไทย โดยเลือกสิ่งที่มีความโดดเด่นทั้งในด้านตำนาน ศิลปวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเข้ามาใช้เป็นตัวแทนของจังหวัดลำปาง
ลำปางตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มรอบล้อมด้วยหุบเขาจากทุกด้าน ทำให้มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มีแม่น้ำสำคัญคือ แม่น้ำวังที่มีต้นน้ำอยู่ที่ตอนเหนือ บริเวณอำเภอวังเหนือ ที่ไหลลงจากเหนือสู่ใต้ พื้นที่ราบที่กว้างใหญ่ที่สุดอยู่บริเวณตอนกลางนั่นคือ บริเวณอำเภอเมืองลำปาง อำเภอเกาะคา และอำเภอห้างฉัตร
พื้นที่ของภาคเหนือประกอบด้วยภูเขากระจายอยู่ 3 ใน 4 ของภาค นั่นได้ตัดแบ่งที่ราบลุ่มแม่น้ำให้กระจายออกจากกันไม่เป็นผืนใหญ่เหมือนที่ราบในภาคกลางหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดลำปางเป็นที่ราบ ที่อยู่ระหว่างทิวเขาผีปันน้ำ ซึ่งเป็นทิวเขาที่มีลักษณะซับซ้อน โดยแนวของทิวเขาเอง ต่างเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายอยู่ทางซีกตะวันออกของภาคเหนือ
ที่มาของชื่อ “ผีปันน้ำ” มาจากแหล่งต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสายที่แยกทิศทางกันไปได้แก่ แม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ที่ไหลลงใต้สู่แม่น้ำเจ้าพระยา และกลุ่มแม่น้ำแม่ลาว น้ำแม่กก และน้ำแม่อิง ที่ไหลขึ้นเหนือไปลงแม่น้ำโขง
ตัวเมืองลำปาง อยู่ ณ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 234.92 เมตร และภูเขาสูงที่สุดอยู่ที่ อำเภอเมืองปาน ชื่อว่า “ดอยลังกา” ความสูง 1,986 เมตร บนละติจูด เหนือ 18 องศา 59’ 53” และลองจิจูด ตะวันออก 99 องศา 24’ 26”
อาจนับว่าลำปางประกอบด้วย ลุ่มน้ำวังและลุ่มน้ำงาว มีการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำวังออกเป็น 7 ลุ่มน้ำสาขา สรุปรายละเอียดได้ดังนี้
ลุ่มน้ำแม่น้ำวังตอนบน มีพื้นที่ประมาณ 1,639.55 ตารางกิโลเมตร มีแหล่งต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาผีปันน้ำบริเวณดอยหลวง บ้านป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ที่อยู่ทางทิศเหนือของอำเภอวังเหนือ บริเวณตำบลวังแก้ว เขตติดต่ออำเภอวังเหนือกับอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ครอบคลุมพื้นที่อำเภอวังเหนือและอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง รวมตำบลที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาทั้งหมด 11 ตำบล มีลุ่มน้ำย่อยที่สำคัญ คือ ลุ่มน้ำแม่เย็นและลุ่มน้ำแม่ม่า
ลุ่มน้ำแม่สอย มีพื้นที่ประมาณ 732.97 ตารางกิโลเมตร มีแหล่งกำเนิดมาจากเทือกเขาทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แนวเขตแดนจังหวัดลำปางกับเชียงใหม่ ลุ่มน้ำแม่สอยอยู่ในเขตพื้นที่ในอำเภอแจ้ห่มและอำเภอเมืองปาน รวมตำบลที่อยู่ในพื้นที่ 5 ตำบล มีลุ่มน้ำย่อยที่สำคัญ คือ ลุ่มน้ำแม่ปานและลุ่มน้ำแม่มอน
ลุ่มน้ำแม่ตุ๋ย มีพื้นที่ประมาณ 809.38 ตารางกิโลเมตร มีแหล่งต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาในเขตอำเภอเมืองปาน ไหลจากทิศเหนือลงมาทางทิศใต้เข้าเขตอำเภอเมืองลำปางก่อนไปบรรจบกับแม่น้ำวังที่อำเภอเมืองลำปาง พื้นที่ลุ่มน้ำอยู่ในอำเภอเมืองปานและอำเภอเมืองลำปาง รวมตำบลที่อยู่ในพื้นที่ 4 ตำบล
ลุ่มน้ำแม่น้ำวังตอนกลาง มีพื้นที่ประมาณ 2,077.07 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอห้างฉัตร อำเภอเมืองลำปาง อำเภอเกาะคา และอำเภอแจ้ห่ม มีลุ่มน้ำย่อยที่สำคัญ คือ ลุ่มน้ำแม่ยาว น้ำแม่ไพร น้ำแม่ตาล และน้ำแม่เกี๋ยง รวมตำบลที่อยู่ในพื้นที่ 33 ตำบล
ลุ่มน้ำแม่จาง มีพื้นที่ประมาณ 1,626.86 ตารางกิโลเมตร เป็นลุ่มน้ำสาขาขนาดกลางที่สำคัญลุ่มน้ำหนึ่งของลุ่มน้ำวัง มีต้นกำเนิดมาจากดอยหลวงกับดอยผาแดง ซึ่งเป็นแนวสันปันน้ำกับลุ่มน้ำงาว ครอบคลุมพื้นที่อำเภอแม่ทะกับอำเภอแม่เมาะทั้งหมด มีทิศทางการไหลจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไปบรรจบกับแม่น้ำวังที่บ้านสบจาง ในเขตอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง มีลุ่มน้ำย่อยที่สำคัญ คือ ลำน้ำแม่เมาะ ลำน้ำแม่ทะ และลำน้ำแม่วะ รวมตำบลที่อยู่ในพื้นที่ 15 ตำบล
ลุ่มน้ำแม่ต๋ำ มีพื้นที่ประมาณ 755.75 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเสริมงาม มีแหล่งต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาเขตอำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง กับอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ไหลไปบรรจบแม่น้ำวังในเขตอำเภอสบปราบ มีลุ่มน้ำย่อยที่สำคัญ คือลุ่มน้ำแม่เลียงและน้ำแม่เสริม รวมตำบลที่อยู่ในพื้นที่ 4 ตำบล
ลุ่มน้ำแม่น้ำวังตอนล่าง มีพื้นที่ 3,151.581 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเกาะคา อำเภอแม่ทะ อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก และพื้นที่ในเขตอำเภอบ้านตาก อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีลุ่มน้ำสาขาที่สำคัญ คือ ห้วยแม่พริกและห้วยแม่สลิด รวมตำบลที่อยู่ในพื้นที่ 22 ตำบล
อาจมองผ่านภาพรวมของภาคเหนือ ที่พบว่ามีลักษณะทางธรณีวิทยาค่อนข้างสลับซับซ้อน มีการเคลื่อนไหวของเปลือกโลกอย่างรุนแรงมาหลายครั้ง ดังที่พบว่าพื้นที่บางส่วนถูกอัดดันยกตัวขึ้นเป็นทิวเขาและภูเขา เกิดการสึกกร่อนพังทลายของหิน และบางส่วนทรุดตัวต่ำลงไปเป็นแอ่งแผ่นดิน ทั้งยังเกิดการตกจมทับถมของโคลนตะกอน ซึ่งต่อมากลายเป็น “หินชั้น” หรือ “หินตะกอน”. บริเวณเหล่านี้ประกอบด้วยหินอายุที่แตกต่างกันมาก ตั้งแต่มหายุคเก่าที่สุด (พรีแคมเบรียน เก่ากว่า 570 ล้านปีมาแล้ว) จนถึงมหายุคใหม่ที่สุด (ซีโนโซอิก 66.4 ล้านปีลงมา)
แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวหรือบริเวณตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหวส่วนใหญ่จะอยู่ตรงบริเวณพื้นที่เสี่ยง จังหวัดลำปางวางตัวอยู่ท่ามกลาง รอยเลื่อนมีพลังที่นับได้ 2 รอยเลื่อน นั่นคือ รอยเลื่อนเถิน และรอยเลื่อนพะเยา
พบแหล่งภูเขาไฟบริเวณตอนกลางของลำปาง ในเขต อำเภอเมืองลำปาง-อำเภอแม่ทะ และเกาะคา-อำเภอสบปราบ โดยกลุ่มหินบะซอลต์ ที่เกิดจากลาวาของภูเขาไฟลำปางไหลอาบออกมาปกคลุมพื้นที่ มีอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่คลุมพื้นที่อำเภอเกาะคา และอำเภอสบปราบ เรียกรวมกันว่า บะซอลต์สบปราบ มีพื้นที่ประมาณ 70 ตารางกิโลเมตร อีกกลุ่มหนึ่งอยู่ในบริเวณอำเภอเมืองลำปาง และอำเภอแม่ทะ รวมเรียกว่า บะซอลต์แม่ทะ ซึ่งได้แก่ภูเขาไฟดอยผาคอกจำป่าแดด และภูเขาไฟดอยผาคอกหินฟู กลุ่มนี้ให้ลาวาคลุมพื้นที่ประมาณ 120 ตารางกิโลเมตร ภูเขาไฟลำปางเกิดจากการเคลื่อนไหวของเปลือกโลก ทำให้เกิดรอยเลื่อนลึก (Deepseated fault) ขึ้นในแนวเหนือ-ใต้ เป็นช่องทางให้หินหนืดภายใต้ผิวโลก ทะลักล้นออกมาในแนวรอยเลื่อนนี้เกิดเป็นปล่องภูเขาไฟเรียงตัวในแนวนี้ด้วย
ไม่เพียงการพบถ่านหินลิกไนต์จำนวนมหาศาล ที่อำเภอแม่เมาะ ยังมีการค้นพบสุสานหอยขม อายุกว่า 13 ล้านปี ในเขตเหมืองแม่เมาะในพื้นที่กว่า 43 ไร่ อีกด้วย
ลำปางเป็นจังหวัดที่มีอากาศร้อนอบอ้าว เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ และในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาลำปางเป็นดินแดนที่ฝนตกน้อย ฝนแล้ง จนมีปัญหากับการเพาะปลูกอยู่เสมอ แบ่งภูมิอากาศออกได้เป็น 3 ฤดู
การตั้งถิ่นฐานของผู้คนลุ่มน้ำวังและลุ่มน้ำใกล้เคียงอย่างลุ่มน้ำงาว มีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังที่เห็นได้จากการพบหลักฐานเป็นกระดูกของมนุษย์โฮโมอีเรกตัสที่มีอายุราว 500,000 ปี ซึ่งถูกเรียกกันว่า "มนุษย์เกาะคา" ที่อยู่ร่วมสมัยกับมนุษย์ปักกิ่งและมนุษย์ชวา ณ บริเวณลุ่มแม่น้ำวังตอนกลาง (ปัจจุบันคือ หาดปู่ด้าย ตำบลนาแส่ง อำเภอเกาะคา ลำปาง) มีการค้นพบกระดูกเมื่อปี พ.ศ. 2541.
ชุมชนบริเวณประตูผา อยู่ขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองปัจจุบัน(บริเวณรอยต่อของอำเภองาวและอำเภอแม่เมาะในปัจจุบัน) เป็น แหล่งโบราณคดีที่ขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ เครื่องประกอบพิธีศพมีอายุกว่า 3,000 ปี ทั้งยังมีภาพเขียนสีจำนวนมากถึง 1,872 ภาพ แบ่งภาพเขียนเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผาเลียงผา, กลุ่มที่ 2 ผานกยูง, กลุ่มที่ 3 ผาวัว, กลุ่มที่ 4 ผาเต้นระบำ, กลุ่มที่ 5 ผาหินตั้ง, กลุ่มที่ 6 ผานางกางแขน และกลุ่มที่ 7 ผาล่าสัตว์และผากระจง.
ที่กล่าวมานั้นคือ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ยังไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ในภูมิภาคนี้เข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์จากอารยธรรมทางทะเล ที่เข้ามาจากละโว้ นั่นคือ การก่อตั้งอาณาจักรหริภุญชัย ในพุทธศตวรรษที่ 13 ซึ่งเป็นยุคที่ทำให้ชุมชนในลุ่มน้ำปิงและวังกลายเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ขึ้น
หากแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์ต่อจากนี้แล้ว อาจแบ่งได้เป็นช่วงใหญ่ 6 ช่วงตามอิทธิพลทางการเมืองการปกครอง (ในที่นี้จะยุติถึงช่วงปี พ.ศ. 2500) ได้แก่
การกำเนิดรัฐบริเวณลุ่มน้ำปิงในนามหริภุญไชยนั้น จำเป็นต้องสร้างเครือข่าย อันได้แก่ เวียงเถาะ, เวียงมะโน ฯลฯ เมืองที่ถือกำเนิดในลุ่มน้ำวัง ก็ถือเป็นหนึ่งในเครือข่ายนั้นเช่นกัน แต่มิใช่เกิดขึ้น โดยกลุ่มคนจากหริภุญไชยเท่านั้น ในตำนาน ที่มีการเล่าถึง "พรานเขลางค์" และ "สุพรหมฤๅษี"ที่อาศัยอยู่บริเวณ "ดอยเขางาม" นับเป็นตัวแทนกลุ่มชนดั้งเดิมในระยะเวลานั้น ซึ่งมีทั้งชาวลัวะและกะเหรี่ยง ในโบราณสถานหลายแห่งมีการกล่าวอ้างถึง "พระนางจามเทวี" เช่น วิหารจามเทวี วัดปงยางคง, ตำหนักเย็น วัดพระธาตุจอมปิง ฯลฯ ซึ่งเป็นสำนึกการเชื่อมโยง ความยาวนาน แต่ก็ไม่ได้การยืนยันทางวิชาการอย่างหนักแน่นพอ
ศาสตราจารย์ แสง มณวิทูร ให้คำอธิบาย "เขลางค์นคร" ว่ามาจากภาษามอญ ว่า ฮฺลาง หรือ ขฺลาง แปลว่า ขัน หรือโอ และตีความว่า พรานเขลางค์ ก็คือ พรานที่อาศัยอยู่ที่ ดอยเขลางค์ ก็คือ ดอยโอคว่ำนั่นเอง ศาสตราจารย์ สุรพล ดำริห์กุล ให้คำอธิบายว่า เมืองลำปางก็คือ บริเวณวัดพระธาตุลำปางหลวงนั่นเอง ชื่อของ พระธาตุลำปางหลวง ปรากฏในตำนานเรียก "พระมหาธาตุเจ้าลำปาง" หรือ "พระธาตุหลวงลำปาง" เมืองลำปางจึงน่าจะเป็น "เมืองลำพาง" หรือ "อาลัมพางนคร" ที่พระเจ้าอนันตยศ โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของ พระนางจามเทวี พระราชมารดา ยังมีอีกข้อสันนิษฐานจาก อ.สักเสริญ (ศักดิ์) รัตนชัย ว่า เวียงอาลัมพาง น่าจะอยู่บริเวณ กลุ่มวัดกู่คำ วัดกู่ขาว
หลังจากพญามังราย ยึดเมืองเขลางค์นครได้แล้ว จึงได้ให้ขุนไชยเสนา รั้งเมืองและออกมาสร้างเมืองใหม่ในปี พ.ศ. 1845 สันนิษฐานว่าเป็นบริเวณวัดเชียงภูมิ (ปัจจุบัน คือ วัดปงสนุก) มีการก่อกำแพงเมืองเพิ่มเติม รวมถึงคูเมือง และประตูเมืองต่าง ๆ ได้แก่ "ประตูปลายนา" "ประตูนาสร้อย" "ประตูเชียงใหม่" "ประตูป่อง" อย่างไรก็ตาม เมืองใหม่ที่สร้างมากับเองเก่าเขลางค์นครนั้น น่าจะยังมีความสัมพันธ์กันต่อเนื่อง แต่ลดระดับความสำคัญลงไปจากเดิมเท่านั้น
การเกิดขึ้นของอาณาจักรล้านนานั้น ถือว่าเป็นรัฐที่เติบโตอยู่ท่ามกลางมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และการทางหาร ทางเหนือได้แก่ พม่า และทางใต้ คือ สุโขทัย กรุงศรีอยุธยา เมื่อสุโขทัยถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา ทำให้ล้านนาถูกคุกคามจากทางใต้มากขึ้น นั่นหมายถึงว่า ในขณะนั้นตำแหน่งของหัวเมืองทางใต้มีความหมายและความสำคัญอย่างยิ่ง "เวียงลคอร" จึงมีฐานะเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่จะต้านทานกองทัพที่มารุกรานเสมอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งทำให้ "เวียงลคอร" มีอำนาจต่อรองพอที่จะได้รับอานิสงส์ความมั่งคั่งด้วย
ปรากฏเหตุการณ์อัญเชิญ "พระแก้วมรกต" จาก เชียงราย มา เชียงใหม่ ที่กล่าวกันว่า ช้างที่อัญเชิญไม่ยอมไปเชียงใหม่ กลับดึงดันที่จะเข้าเวียงลคอร จึงทำให้ "พระแก้วมรกต" พระพุทธรูปสำคัญ ประดิษฐาน ณ วัดพระแก้วตอนเต้า เป็นเวลาถึง 32 ปี ก่อนจะถูกอัญเชิญไปที่ วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ ในเวลาต่อมา
ชื่อเมือง"เขลางค์นคร" เริ่มถูกตัดให้สั้นเหลือเพียง "เมืองนคร" ในพ.ศ. 2019 จากหลักฐานศิลาจารึก หลักที่ 65 ที่แสดงให้เห็นว่าการใช้ เมืองนคร ตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราช และคำว่า "นคร" ได้เขียนกลายเป็น "ลคอร" สำเนียงชาวพื้นถิ่นออกเป็น "ละกอน"
ด้วยปัญหาภายในล้านนนาที่ไม่มีความเป็นเอกภาพแท้จริง ในที่สุด ก็สลายลงใน พ.ศ. 2101 ซึ่งทัพของ พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าใช้เวลาเพียง 3 วัน ก็สามารถยึดเชียงใหม่อย่างง่ายดาย ผู้ปกครองเมืองต่าง ๆ รวมทั้งเวียงลคอร จึงอยู่ภายใต้การควบคุมของพม่า เรื่อยมาเป็นเวลากว่า 200 ปี ที่อยู่ใต้อิทธิพลความคิด และการอุปถัมภ์จากราชสำนักพม่า หนานทิพย์ช้าง ต้นตระกูลเจ้าเจ็ดตน ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ปรากฏวีรกรรมของหนานทิพย์ช้างที่สามารกำจัด ท้าวมหายศ เจ้าเมืองลำพูนที่เข้ามาสร้างความเดือดร้อนได้สำเร็จ ดังปรากฏเรื่องเล่า ณ บริเวณวัดพระธาตุลำปางหลวง หนานทิพย์ช้างได้รับการยอมรับจากชาวเมืองให้เป็นเจ้าเมือง ร.ศ.สรัสวดี อ๋องสกุล กล่าวว่า หนานทิพย์ช้าง ได้รับการแต่งตั้ง จากกษัตริย์พม่า ให้เป็น "พระยาไชยสงคราม" ถือเป็นความชอบธรรมประการหนึ่งในสมัยนั้น ที่ยังอยู่ใต้อิทธิพลของพม่า อย่างไรก็ตามหนานทิพย์ช้าง ยังถูกเรียกในนามอื่น ๆ ได้แก่ พระยาสุลวฤๅไชย พ่อเจ้าทิพย์ช้าง
กำลังคนไพร่พล เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงอยู่ของเมือง ๆ หนึ่ง ครั้นล้านนาตกอยู่ในอำนาจของพม่า โครงสร้างของไพร่พลดังกล่าวอ่อนแอลง จนไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในสังกัดได้ดังเดิม เมื่อ "เจ้ากาวิละ" อาศัยความร่วมมือจากทางกรุงธนบุรี-กรุงเทพฯ จนกลับมาตั้งศูนย์อำนาจการเมืองทางเหนือได้สำเร็จ จึงได้ใช้ "นโยบายเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" จากหัวเมืองต่าง ๆ ทางเหนือ เช่น เมืองเชียงตุง เมืองสาด เมืองยอง ฯลฯ
อ.สักเสริญ (ศักดิ์) รัตนชัย อ้างถึงตำนานเจ้าเจ็ดตน ฉบับสุวรรณหอคำมงคล ใน ประวัตินครลำปาง ว่า "...สมัยเจ้าคำโสม ผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 2 ...ได้สร้างวิหารหลวงกลางเวียง ก่อองค์เจดีย์ และพระพุทธรูปองค์ใหญ่ สร้างพระอุโบสถ สร้างพระวิหารวัดหมื่นกาด วิหารวัดน้ำล้อม วิหารวัดป่าดั๊วะในฝั่งเมืองใหม่... ต่อมาในสมัยเจ้าหอคำดวงทิพย์เป็นพระยานคร เมื่อ พ.ศ. 2337 ได้สร้างกำแพงและขุดคูเมือง พร้อมทั้งสร้างหอคำขึ้นราว พ.ศ. 2351 ...มีประตูเมืองชื่อต่าง ๆ คือ ประตูหัวเวียง ประตูศรีเกิด ประตูชัย ประตูศรีชุม ประตูสวนดอก และประตูเชียงราย..." ทางฝั่งเหนือ ของแม่น้ำวังนั้นประกอบด้วยชุมชนจากเชียงแสนดังที่กล่าวมาแล้ว ได้แก่ บ้านหัวข่วง บ้านสุชาดาราม บ้านช่างแต้ม บ้านปงสนุก นอกนั้นยังมีบ้านพะเยา ที่อยู่บริเวณเดียวกับบ้านปงสนุก ภายหลังได้ย้ายกลับไปตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่เมืองพะเยาอีกครั้ง
การค้าขายระยะไกล จะมีพ่อค้าเร่ พ่อค้าวัวต่างที่เชื่อมโยงระหว่าง ยูนนาน พม่า รัฐฉาน หลวงพระบาง เชียงตุง ซึ่งเป็นพ่อค้าไทใหญ่ พ่อค้าฮ่อ ผ่านมา โดยจะเดินทางมาพักบริเวณศาลาวังทาน (บริเวณวัดป่ารวก และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดลำปางในปัจจุบัน) บริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง
มีการกล่าวถึงขื่อ นครลำปาง ในหลายแห่ง ได้แก่ ตำนานสิบห้าราชวงศ์ ที่กล่าวถึง พระยาละครลำปาง(ในพ.ศ. 2332) พงศาวดารนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย ไว้ว่า พ.ศ. 2357 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 2 ได้มีการยกเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย เป็นเมืองประเทศราช ทั้งนี้ปรากฏชื่อ "ศรีนครไชย" จากตำนานที่เขียนขึ้นในยุคนี้ เพื่อเป็นการถวายเกียรติสดุดีแด่สกุลเจ้าเจ็ดตน
ในยุคสมัยนี้ เริ่มต้นด้วยการนับตั้งแต่การลงนาม สนธิสัญญาเชียงใหม่ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งจากกิจการป่าไม้ และความวุ่นวายในหัวเมืองชายแดน ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสยาม และรัฐบาลอังกฤษที่อินเดีย ขณะที่อังกฤษก็สามารถตั้ง สถานกงสุลประจำนครเชียงใหม่ และนครลำปาง เพื่อดูแลผลประโยชน์ของตนและกลุ่มชนในบังคับอังกฤษ ปัญหาการคุกคามจากอาณานิคมตะวันตกดังกล่าว ทำให้รัฐบาลสยาม มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะควบคุมหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร เพื่อจะรวบอำนาจเข้าสูศูนย์กลางให้มากที่สุด ดังปรากฏการส่งข้าหลวงจากกรุงเทพฯ มาควบคุมการบริหารราชการภายใน จึงอาจกล่าวได้ว่าในยุคนี้หัวเมืองทางเหนือ ได้รับการกดดันอย่างหนักหน่วง แน่นอนว่า กระแสอันเชี่ยวกรากของระบบทุนนิยมที่กำลังเริ่มต้นขึ้น ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบเจ้านายทางเหนือพังทลายลง
รัฐบาลสยามได้ปรับตัวครั้งใหญ่ โดยมีการปฏิรูปการปกครองเป็นระบอบมณฑลเทศาภิบาล เมืองนครลำปางขึ้นอยู่กับมณฑลพายัพ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เชียงใหม่ และต่อมาแยกออกไปเป็นมณฑลมหาราษฎร์ ในปี 2459 โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองแพร่
เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 10 ที่พบการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง เป็นผู้บริจาค ผู้สร้างสิ่งสาธารณประโยชน์จำนวนมาก ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่สนับสนุนรัฐบาลสยามอย่างยิ่ง อันได้แก่ สร้างโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย โรงทหาร โรงพยาบาลทหาร ที่ทำการไปรษณีย์ หรือการอุทิศที่ดินเพื่อสร้างที่ทำการศาล เรือนจำกลางลำปาง เป็นต้น
ดังที่กล่าวมาแล้ว ในยุคนี้เป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ของระบบทุนนิยมเข้าสู่นครลำปาง กลุ่มแรก ๆ ที่มีโอกาสสะสมทุนก็ได้แก่ กลุ่มทำไม้ ชาวไทใหญ่-พม่า ที่ร่วมกับชาวยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษ ดังปรากฏการสร้างบ้านใหญ่โต บริเวณท่ามะโอ หรือการสร้างวัดแบบไทใหญ่-พม่า บริเวณย่านป่าขามเป็นจำนวนมาก อีกกลุ่มหนึ่ง คือ ชาวจีน ที่เดินทางมาจากส่วนกลางของสยามประเทศและศูนย์กลางการค้าทางน้ำ เช่น สวรรคโลก นครสวรรค์ มาประกอบอาชีพค้าขายทางน้ำ โดยเรือหางแมงป่อง ขึ้น-ล่อง ส่งสินค้าระหว่างนครลำปาง กับปากน้ำโพ และอาจไปจนถึงกรุงเทพฯ หรือบางคนสามารถสะสมทุนและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายอากรเก็บภาษีในท้องถิ่น
เมืองในยุคนี้จะมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ละกลุ่มก็มีความเชื่อ และโลกทัศน์ที่ต่างกันในการอยู่อาศัย ใช้ชีวิต ได้แก่ ฝรั่งอังกฤษที่เข้ามาทำไม้ และชาวไทใหญ่-พม่า ตั้งถิ่นฐานบริเวณท่ามะโอ ที่ใกล้แม่น้ำวัง จนใช้บางแห่งเป็นที่ชักลากซุงขึ้นมา เช่นบริเวณด้านหน้าของวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม(ด้านสระน้ำ) ขณะที่ชาวจีน ชาวไทใหญ่-พม่า ก็เลือกทำเลบริเวณตลาดจีน(กาดกองต้า) ที่ใช้พื้นที่ต่ำใกล้น้ำให้เป็นประโยชน์ในการเป็นท่าเทียบเรือสินค้า โกดัง ที่อยู่อาศัย และห้างไปในตัว ย่านวัดไทใหญ่-พม่า บริเวณป่าขามและใกล้เคียง เป็นบริเวณที่แยกออกมาจากตัวเมือง ขณะเดียวกันก็มีบริเวณม่อนที่มีความสูงสอดคล้องกับคติการสร้างวัด คริสเตียนอเมริกันเพรสไบทีเรียน เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่มิได้มีเป้าหมายอยู่ที่การค้าขาย แต่เน้นที่การเผยแพร่ศาสนา ให้การศึกษา และสังคมสงเคราะห์ มีถิ่นฐานอยู่บริเวณบ้านเกาะ ริมแม่น้ำวัง ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นที่ดินพระราชทาน ใกล้กับสถานกงสุลอังกฤษประจำนครลำปาง
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเงื่อนไขของการคมนาคม เช่นเดียวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศตะวันตก เมื่อเส้นทางรถไฟตัดผ่านเมืองใด เมืองนั้นก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างรวดเร็ว ในกรณีลำปาง จากเส้นทางน้ำสู่การค้าทางบกอย่างรถไฟที่มีความรวดเร็ว ปลอดภัย คุ้มค่า ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการดึงคนเข้าเมือง โดยเฉพาะชาวจีน ที่เข้ามาเป็นจำนวนมาก พร้อม ๆ กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งในแง่ของความรู้ การจัดการตลอดไปจนเครื่องจักรต่าง ๆ ล้วนเติบโตในช่วงนี้เอง
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ราวพ.ศ. 2485-2488) ญี่ปุ่นเข้ามาเพื่อเคลื่อนพลผ่านประเทศไทย และได้ตั้งกองบัญชาการที่ลำปาง เข้าทำการยึดอาคารสถานที่ในกิจการของชาวตะวันตก ทั้งชาวอังกฤษ อเมริกัน และชนชาติอื่น ๆ ต่างก็ทำการลี้ภัยออกไป ขณะที่ประเทศไทยสมัยนั้น เป็นคู่สงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร จึงถูกฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีเมือง ด้วยการทิ้งระเบิดในพื้นที่ต่าง ๆ หลายครอบครัวในตัวเมือง ได้ทำการย้ายไปอยู่นอกเมืองชั่วคราวเพื่อหลบภัยสงคราม บางร้านในเมืองก็พรางอาคารด้วยยอดมะพร้าว หรือเอาสีดำมาทาตัวตึก ทหารญี่ปุ่นได้ยึดอาคารสำคัญในเมืองโดยเฉพาะอาคารร้านค้าบริเวณกาดกองต้า ตลอดไปจนถึงการยึดเอาข่วงโปโลบริเวณสวนสาธารณะเขลางค์นครลำปาง ในปัจจุบัน และบริเวณโรงแรมทิพย์ช้าง ตั้งเป็นตึกบัญชาการกองพล 1 ญี่ปุ่น ขณะที่อาคารสถานที่ของกลุ่มชนคู่สงครามอย่าง อังกฤษ และอเมริกัน เช่น โรงพยาบาลแวนแซนวูร์ด โรงเรียนเคนเน็ตแมคเคนซี ต่างก็โดนยึดเป็นที่ตั้งกำลังพลทหารญี่ปุ่น แม้แต่วัดน้ำล้อม ก็มีการเล่าว่า มีทหารรถถังของญี่ปุ่นมาขอพักที่วัด
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชาวจีน ซึ่งตั้งตัวอยู่บริเวณถนนประสานไมตรี ใกล้ย่านสถานีรถไฟ ย่านการค้าซึ่งเป็นส่วนขยายของเมืองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งกลับขยับขยายไปบริเวณย่านตลาดในเมือง ได้แก่ ตลาดบริบูรณ์ปราการ ตลาดราชวงศ์ ซึ่งปรากฏการตั้งถิ่นฐานบน ถนนทิพย์ช้าง ถนนบุญวาทย์ ถนนรอบเวียง
ย่านสถานีรถไฟ กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่ง และแหล่งการค้าสำคัญซึ่งมีกิจการที่เกี่ยวข้องอันได้แก่ โรงสี โรงเลื่อย โกดังเก็บผลผลิตทางการเกษตร ทั้งยังเป็นเส้นทางผ่านไปยัง พะเยา เชียงราย ควบคู่ไปด้วยกันนั้น แหล่งบันเทิง ย่านกินเที่ยว ก็ตามมา ทั้งโรงฝิ่นบนถนนประสานไมตรี และข้างสถานีตำรวจสบตุ๋ยในปัจจุบัน หรือย่านเที่ยวบนถนนบุญวาทย์ ที่มีทั้งซ่อง โรงฝิ่น โรงภาพยนตร์ โรงแรม ร้านอาหาร
จังหวัดลำปางเดิมชื่อ "เมืองนครลำปาง" จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ ศิลาจารึก เลขทะเบียน ลป.1 จารึกเจ้าหมื่นคำเพชรเมื่อ พ.ศ. 2019 และศิลาจารึกเลขทะเบียน ลป.2 จารึกเจ้าหาญสีทัต ได้จารึกชื่อเมืองนี้ว่า "ลคอร" ส่วนตำนานชินกาลมารีปกรณ์ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเมืองเชียงแสน ตลอดจนพงศาวดารของทางฝ่ายเหนือ ก็ล้วนแล้วแต่เรียกชื่อว่า เมืองนครลำปาง แม้แต่เอกสารทางราชการสมัยรัตนโกสินตอนต้น ก็เรียกเจ้าเมืองว่า พระยานครลำปาง นอกจากนี้จารึกประตูพระอุโบสถวัดบุญวาทย์วิหาร ก็ยังมีข้อความตอนหนึ่งจารึกว่า เมืองนครลำปาง แต่เมื่อมีการปฏิรูปบ้านเมืองจากมณฑลเทศาภิบาลเป็นจังหวัด ตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 ปรากฏว่า ชื่อของเมืองนครลำปาง ได้กลายมาเป็นจังหวัดลำปาง มาจนกระทั่งทุกวันนี้
ศิลปสถาปัตยกรรม มักจะสะท้อนอุดมการณ์และปฏิบัติการทางเมือง ในที่นี้จึงแบ่งยุคต่าง ๆ เป็นดังนี้
สัญลักษณ์ครุฑตัวแทนราชสำนักสยาม ตัวอย่างได้แก่ ศิลปะแบบพม่า-ไทใหญ่ วัดพม่า-ไทใหญ่ในลำปาง 9 แห่ง สัมพันธ์กับพ่อค้าคหบดีพม่า-ไทใหญ่ที่เข้ามาทำไม้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 ตัวอย่างได้แก่
สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญ ที่เป็นพานแว่นฟ้าซ้อนกันสองชั้นแล้วด้านบนเป็นสมุดไทยซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญนั่นเอง สัญลักษณ์นี้ถูกเลือกให้เป็นตัวแทนของระบอบใหม่ ในจังหวัดลำปางได้ปรากฏสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญในที่ต่าง ๆ เช่น หน้าแหนบวัดปงหอศาล อำเภอแม่ทะ ระบุว่าสร้างเสร็จวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2475 (ในปฏิทินแบบเก่าปีใหม่เริ่ม เมษายน ดังนั้น มีนาคมจึงเป็นปลายปีแล้ว เมื่อปรับตามปฏิทินร่วมสมัยก็จะกลายเป็น 15 มีนาคม พ.ศ. 2476) หรือวัดอื่น ๆ ในแม่ทะ เช่น ชิ้นส่วนที่คาดว่าจะเป็นหน้าแหนบของวัดสบทะ ดาวเพดานวิหารวัดนากว้าว แต่ลักษณะของพานนี้เป็นพานชั้นเดียว(พานแว่นฟ้าจะเป็นพานสองชั้นซ้อนกัน) ก็อาจตีความได้ทั้งสองอย่างคือสื่อถึงรัฐธรรมนูญ หรือเป็นพานที่รองรับพับสาธรรมะทั่ว ๆ ไป แผงคอสองวิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุก อำเภอเมืองลำปาง ที่ระบุว่าอยู่ในปี พ.ศ. 2482 เช่นเดียวกันกับเครื่องบนหลังคาของวิหารหลวงวัดปงสนุก(เหนือ) หลังเก่าที่ถูกรื้อไปแล้ว แต่ยังเก็บชิ้นส่วนนี้ไว้ที่พิพิธภัณฑ์ สันนิษฐานว่าน่าจะถูกสร้างขึ้นมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ส่วนทางใต้ของลำปางก็พบมีการใช้สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญ บริเวณหน้าแหนบวิหารหลวง วัดล้อมแรด อำเภอเถิน
ราชการส่วนภูมิภาค มีสายบังคับบัญชาขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย เกิดจากการจัดระเบียบราชการในระบอบประชาธิปไตยที่ทำการยกเลิกระบอบมณฑลเทศาภิบาล ที่มีการจัดระเบียบให้มีการบริหารราชการ 3 ส่วนได้แก่ ราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2476 และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2476
ศูนย์กลางการบริหารอยู่ที่ศูนย์ราชการจังหวัดลำปาง ถนนวชิราวุธดำเนิน ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางที่มีอำนาจปกครองท้องที่ 13 อำเภอที่ดูแลโดยนายอำเภอ
ภายในจังหวัดลำปาง ประกอบด้วยราชการส่วนท้องถิ่นที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนของตนขึ้นมาบริหารท้องที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 1 แห่ง มีเทศบาลนคร 1 แห่ง เทศบาลเมือง 3 แห่ง รวมไปถึงเทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ขอบเขตจะสัมพันธ์กับการเป็นศูนย์กลางของตำบล หรือย่านชุมชน จะเห็นได้ว่า ในเทศบาลเมือง หรือเทศบาลตำบล ส่วนหนึ่งจะมีรากฐานเดิมมาจากสุขาภิบาลตำบล โดยหลักประกอบด้วย
ทศวรรษ 2500 ที่เริ่มมีการขยายตัวการของทางหลวง อันได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาโดยมีเหตุผลเรื่องความมั่นคงแฝงอยู่เบื้องหลังการเดินทางดังกล่าว ทำให้แต่ละจังหวัดถูกเชื่อมกันด้วยเส้นทางหลวง จากจังหวัดสู่จังหวัด และยังอาจรวมไปถึงจากจังหวัดไปสู่ตัวอำเภอต่าง ๆ อีกด้วย เส้นทางขึ้นเหนือ คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน จากกรุงเทพฯ สู่ จังหวัดเชียงราย
นอกจากนั้นยังมี “โครงการทางหลวงเอเชีย” ที่เป็นความร่วมมือของภูมิภาค เพื่อพัฒนาการเชื่อมโยง เมืองหลวง เมืองอุตสาหกรรม ท่าเรือ สถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งการค้าสำคัญด้วยกัน ประเทศที่เกี่ยวข้องได้แก่ กัมพูชา ไทย เนปาล บังกลาเทศ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม ศรีลังกา ลาว อัฟกานิสถาน อินเดีย อินโดนีเซีย และอิหร่าน ความร่วมมือเกิดจาก คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจสำหรับเอเชีย และตะวันออกไกล (ECAFE ปัจจุบันคือ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก ESCAP) ในปี 2502 ต่อมาจีน พม่าและมองโกเลียได้ร่วมโครงการในปี 2531-2533 ทางหลวงเอเชียที่ผ่านประเทศไทยสายประธานที่เกี่ยวกับภาคเหนือมี 3 สายนั่นคือ
จังหวัดลำปางอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 600 กิโลเมตร จากเส้นทางสายเอเชีย (ถนนพหลโยธิน) ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก เข้าสู่ลำปาง ถนนเป็นถนนสี่เส้นทางการจราจรตลอดทาง หรือใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 แยกจากถนนพหลโยธิน ที่จังหวัดนครสวรรค์ ผ่านพิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ เข้าสู่ลำปาง สิ้นสุดปลายทางที่เชียงใหม่ ใช้เวลาเดินทางรถส่วนตัวประมาณ 7-8 ชั่วโมง
การขนส่งมวลชนเพื่อเดินทางภายในจังหวัดมีรถให้บริการที่คนลำางเรียกกันว่า "รถสี่ล้อ" แบ่งเป็น 2 ประเภท
รถประจำทางจากกรุงเทพฯ-ลำปาง สามารถเดินทางได้จาก สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) มีรถให้เลือกหลายบริษัทหลายระดับ ขณะที่การเดินทางออกจากลำปาง ใช้สถานีขนส่งจังหวัดลำปาง สังกัดเทศบานครลำปาง ณ ถนนจันทรสุรินทร์ ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง โดยรถประจำทางมีเส้นทางเดินรถดังนี้
ศูนย์กลางอยู่ที่สถานีรถไฟนครลำปาง ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง สถานีรถไฟนครลำปาง เปิดใช้งาน 1 เมษายน 2459 รองรับ ขบวน รถรวม พิษณุโลก - ลำปาง และ อุตรดิตถ์ - ลำปาง ก่อนมีรถด่วน สายเหนือตรงจากกรุงเทพ ขึ้นมาทำขบวนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2465
พ.ศ. 2506 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้จัดส่งหัวรถจักรไอน้ำมาแสดงไว้ที่สถานีรถไฟลำปาง และกำหนดให้สถานีรถไฟแห่งนี้เป็นสถานีประวัติศาสตร์ และทำการอนุรักษ์ไว้ รูปแบบสถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟลำปางเป็นอาคาร 2 ชั้น ก่ออิฐฉาบปูน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีปีก 2 ข้างเชื่อมกับโถงกลาง รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม มีการใช้โค้ง (arch) และการประดับตกแต่งด้วยไม้ฉลุ และปูนปั้น พื้นที่ของสถานีรถไฟนครลำปาง มีประมาณ 161 ไร่ มีตัวอาคารสถานี คลังสินค้า พื้นที่เก็บหัวรถจักรและตัวรถไฟ รวมถึงพื้นที่บ้านพักพนักงาน อาคารสถานีดังที่เห็นในปัจจุบันได้ผ่านการต่อเติมมาเป็นบางส่วน โดยเฉพาะช่วงก่อนปีพ.ศ. 2520 มีการต่อเติมส่วนควบคุมบริเวณปีกทางทิศใต้ ส่วนพักคอยด้านติดรางรถไฟ และ ซุ้มด้านหน้าที่จอดรถ จากนั้นมีการเปลี่ยนกระเบื้องหลังคา กระเบื้องพื้น และปรับปรุงพื้นชั้นล่างทั้งหมดในปี พ.ศ. 2538
ลำปางมีท่าอากาศยานที่ใช้เดินทางเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น และท่าอากาศยานแห่งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของ กรมการบินพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม นั่งเครื่องบินใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาทีจากกรุงเทพฯ ลงที่ท่าอากาศยานลำปาง
ท่าอากาศยานลำปางได้รับงบประมาณผูกพันปี 2555-2557 จำนวน 250 ล้านบาท ในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 4,000 ตารางเมตร โดยเป็นอาคารที่มีลักษณะของสถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์
กว่าลำปางจะมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาก็ต้องรอจนถึงปี 2514 ที่มีการก่อตั้งวิทยาลัยครูขึ้น ณ บ้านหนองหัวหงอก ตำบลชมพู อำเภอเมืองลำปาง
การศึกษาระดับอาชีวศึกษาขยายตัวหลังการปฏิวัติสยาม 2475 เพื่อส่งเสริมให้พลเมืองได้ประกอบอาชีพได้ เป็นทางเลือกนอกจากการเรียนทางวิชาการ
กลุ่มโรงเรียนที่เปิดสอนระยะแรก คือ กลุ่มโรงเรียนคริสต์ที่ก่อตั้งโดยมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน โดยได้รับพระราชทานที่ดิน ได้แก่ โรงเรียนวิชชานารี (เมื่อแรกตั้งชื่อว่า ละกอนเกิร์ลสคูล ต่อมาเป็นสตรีอเมริกัน) โรงเรียนเคนเน็ตแมคเคนซี (เมื่อแรกตั้งชื่อว่า ละกอนบอยสคูล) ระลอกต่อมา คือ โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (หรือรัชกาลที่ 6 ในเวลาต่อมา) ได้เสด็จมาเปิดในปี 2448 ขณะที่ลำปางกัลยาณีเริ่มตั้งแต่ปี 2458 ในช่วงทศวรรษ 2450-2460 มีการขยายตัวของโรงเรียนขึ้นมากทั้งในส่วนโรงเรียนราษฎร์และโรงเรียนประชาบาล สัมพันธ์กับพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2461 และพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 โรงเรียนที่เกิดขึ้นช่วงนี้ได้แก่ โรงเรียนมัธยมวิทยา (ยกส่าย) และโรงเรียนฮั่วเคี้ยว (ประชาวิทย์) ซึ่งก่อตั้งโดยคหบดีชาวจีน หลังปฏิวัติสยาม 2475 โรงเรียนประชาบาลจำนวนหนึ่งกลายเป็นโรงเรียนเทศบาล ขณะที่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เป็นช่วงที่โรงเรียนคริสต์ในเครือเซนต์คาเบรียลได้เข้ามาตั้งโรงเรียนอรุโณทัยและโรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง
นอกจากในคอลัมน์กีฬาที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นแล้ว ยังมีหนังสือพิมพ์ที่เสนอเรื่องราวกีฬาในลำปางล้วน ๆ นั่นคือ ลำปางสปอร์ตไทม์
1.สุสานเทศบาลนครลำปาง (บ้านศรีปงชัย) ตำบลชมพู อำเภอเมืองลำปาง 2.สุสานบ้านพระบาท ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง
ทางหลวงพิเศษหมายเลข 5 หรือ ถนนมอเตอร์เวย์บางปะอิน-เชียงใหม่ (ช่วงเด่นชัยลำปาง และ มอเตอร์เวย์ลำปาง-เชียงใหม่) เป็นโครงข่ายการขยายเส้นทางการคมนาคมจากกรุงเทพมหานครสู่จังหวัดในกลุ่มภาคเหนือ โดยผ่าน จังหวัพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาถ นครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตร อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน ไปสิ้นสุดที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยช่วงที่ผ่านจังหวัดลำปาง ได้ใช้เส้นทางร่วมกับ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 มาจากอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เข้าสู่จังหวัดลำปาง ผ่านอำเภอแม่ทะ จนมาถึงแยกโยนก หน้ามหาวิทยาลัยเนชั่นลำปาง อำเภอเมืองลำปาง แล้วเลี้ยวซ้าย ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 เดิม แล้วเปลี่ยน มาเป็นทางยกระดับ โดยใช้พื้นที่เกาะกลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ไปเรื่อย ๆ (ไม่มีทางขึ้น-ลงใด ๆ) จนมาถึงสี่แยกภาคเหนือ จุดตัด ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน เหนือ-ใต้ และ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 แนวออก-ตก
ทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนพหลโยธิน จังหวัดลำปาง เป็นโครงการก่อสร้างทางยกระดับเหนือถนนพหลโยธิน อำเภอเมืองลำปาง ระยะทาง 10.8 กิโลเมตร โดยใช้พื้นที่เกาะกลางถนนพหลโยธิน พร้อมก่อสร้างทางขึ้นลง 5 จุด เป็นทางขึ้น 3 จุด ทางลง 2 จุด และก่อสร้างทางคู่ขนานถนนพหลโยธินเพิ่มจากเดิม รวมถึงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับบริเวณสี่แยกภาคเหนือ ซึ่งตัดกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 5 และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 (โครงการในอนาคต ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2570)
นิคมอุตสาหกรรมนครลำปาง เป็นโครงการ พัฒนาแรงงานในพื้นที่จังหวัดลำปางและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ การวิจัย สำรวจความคิดเห็น ผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งข้อเสนอแนะของหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ศูนย์กระจายสินค้าและบริการทางบก เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าของภาคเหนือตอนบน บริเวณอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง