จังหวัดพะเยา (คำเมือง: ) เป็นจังหวัดในภาคเหนือตอนบน บริเวณที่ตั้งของตัวเมืองพะเยาในปัจจุบันอยู่ติดกับกว๊านพะเยา เดิมเป็นที่ตั้งของเมือง ภูกามยาว หรือ พยาว ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ 16 โดยมีผู้ปกครองคือ พญางำเมือง ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจ และตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรล้านนา
เมื่อถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองพะเยาอยู่ภายใต้การปกครองของจังหวัดเชียงรายในฐานะ อำเภอพะเยา และเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2520 อำเภอพะเยาได้ยกฐานะขึ้นเป็น จังหวัดพะเยา นับเป็นจังหวัดที่ 72 ของประเทศไทย
พะเยาเป็นจังหวัดในกลุ่มล้านนาตะวันออกร่วมกับเชียงราย ซึ่งมีสำเนียงภาษาถิ่นเหนือเป็นเอกลักษณ์ต่างจากภาษาถิ่นเหนือในจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากความสัมพันธ์กับเชียงรายในแง่ของสำเนียงภาษาและวัฒนธรรมแล้ว พะเยาและเชียงรายยังมีความสัมพันธ์กันในลักษณะบ้านพี่เมืองน้องฉันท์เครือญาติ เนื่องจากในอดีต ราชวงศ์ที่ปกครองทั้งสองเมืองต่างสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ลาวจก หิรัญนครเงินยางเชียงแสน ซึ่งได้ได้แตกสายออกมาเป็นราชวงศ์สำคัญในดินแดนพยาว เชียงแสนและล้านนาในยุคต่อมา เช่น ราชวงศ์เชียงแสนที่ปกครองเมืองเชียงราย ราชวงศ์เชียงแสนสายพญางำเมือง และราชวงศ์มังรายซึ่งปกครองเชียงใหม่ก็ถือกำเนิดมาจากบรรพบุรุษร่วมกัน
จังหวัดพะเยามีเนื้อที่ประมาณ 6,335 ตารางกิโลเมตร ตอนเหนือมีพื้นที่ติดกับจังหวัดเชียงราย ทิศตะวันออกติดกับประเทศลาวและจังหวัดน่าน ส่วนทางตะวันตกติดกับจังหวัดลำปาง และทางด้านใต้ติดกับจังหวัดแพร่
การปกครองแบ่งออกเป็น 9 อำเภอ 68 ตำบล 779 หมู่บ้าน 2 เทศบาลเมือง 33 เทศบาลตำบล 36 องค์การบริหารส่วนตำบล
ข้าวหอมมะลิของจังหวัดพะเยาจัดอยู่ในสินค้าระดับ Premium Grade เพราะจะมีเพียงฤดูนาปีเท่านั้น จังหวัดพะเยามีดินดีที่เหมาะสมเพาะปลูก กล่าวคือ ดินเหนียวใกล้เชิงภูเขาไฟและเป็นดินจากภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ทำให้ข้าวมีรวงแข็งแรง เมล็ดสมบูรณ์ใหญ่ยาว เมื่อสีข้าวแล้วจะได้ข้าวเมล็ดเรียวยาว ขาวเป็นมัน เมื่อหุงสุกแล้วจะเหนียวนุ่มกลิ่นหอมตามธรรมชาติคล้าย ๆ กับกลิ่นใบเตย แม้ทิ้งไว้นานก็ยังคงสภาพกลิ่นหอม หุงแล้วนุ่ม
ลำไยส่วนใหญ่ที่ปลูกในจังหวัดพะเยา คือ พันธุ์อีดอ ลักษณะผลใหญ่ รูปทรงแป้นเบี้ยว เนื้อหวานสีขาวขุ่นค่อนข้างเหนียว รสหวาน มีปริมาณน้ำตาลประมาณร้อยละ 18.7 ผลจะแก่เร็วกว่าผลพันธุ์อื่น ต้นเดือนกรกฎาคมก็เก็บผลผลิตได้ นิยมปลูกในทุกอำเภอ แหล่งที่ปลูกมากคืออำเภอเชียงคำและอำเภอจุน ผลผลิตส่วนใหญ่จะผลิตเป็นลำไยอบแห้งทั้งเปลือก
เนื่องจากสวนลิ้นจี่ส่วนใหญ่ของจังหวัดพะเยาปลูกอยู่ระหว่างหุบเขาที่มีอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปีและปลูกในดินที่มีปริมาณธาตุโพแทสเซียมสูง ส่งผลให้ลิ้นจี่ของจังหวัดพะเยามีลักษณะเด่น คือ ลูกใหญ่ สีผิวสวยตามชนิดพันธุ์ รสชาติหวาน เนื้อแห้งกรอบ ไม่มีน้ำมาก เมื่อแกะรับประทานสด สามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ