จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดในประเทศไทย มีประชากรมากที่สุดในภาคใต้และมีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ (รองจากสุราษฎร์ธานี) ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 780 กิโลเมตร มีจังหวัดที่อยู่ติดกันได้แก่ สงขลา พัทลุง ตรัง กระบี่ และสุราษฎร์ธานี
ในอดีต มีชื่อเรียกดินแดนแถบนี้หลายชื่อ เช่น ในคัมภีร์มหานิเทศของอินเดีย ที่เขียนขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 7-8 เรียกว่า "ตามพรลิงก์", บันทึกโบราณของเมืองจีนเรียก "เซี้ยะ-โท้ว (ถู-กวั่ว) ", "รักตะมฤติกา" (จารึกภาษาสันสกฤต) ซึ่งล้วนหมายถึง "ดินแดนที่มีดินสีแดง", ตะวันตกนิยมเรียกกันมา จนกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 คือ "ลิกอร์" สันนิษฐานว่าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาติดต่อค้าขายในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เป็นผู้เรียกก่อน โดยเพี้ยนมาจากคำว่า "นคร" ส่วนชื่อ "นครศรีธรรมราช" มาจากพระนามของกษัตริย์ผู้ครองนครในอดีต มีพระนามว่า "พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช" (ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช) มีความหมายว่า "นครอันเป็นสง่าแห่งพระราชาผู้ทรงธรรม" หรือ "เมืองแห่งพุทธธรรมของพระราชาผู้ยิ่งใหญ่"
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองนครศรีธรรมราชมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นเอกคู่กับเมืองพิษณุโลก มีขุนนางชั้นผู้ใหญ่ระดับเจ้าพระยาเป็นเจ้าเมือง มีบรรดาศักดิ์ตามพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหารหัวเมือง ว่า เจ้าพระยาศรีธรรมราชชาติเดโชไชยมไหยสุริยาธิบดีอภัยพิรียบรากรมภาหุ
เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 ตำแหน่งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ว่างอยู่ หลวงสิทธิ นายเวรมหาดเล็ก (หนู) ซึ่งออกไปรับราชการ ตำแหน่งปลัดเมือง เป็นผู้รักษาราชการเมืองนครศรีธรรมราช ครั้นทราบว่ากรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่า ไม่มีเจ้านายปกครองประเทศ หลวงสิทธิ จึงตั้งตัวเป็นเจ้าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช เป็นอิสระอยู่ก๊กหนึ่ง
ในปี พ.ศ. 2312 พระเจ้ากรุงธนบุรี ยาตรากองทัพไปปราบ และ จับตัวเจ้านคร (หนู) ได้ และมีพระราชดำริว่า เจ้านครมิได้มีใจกบฏคิดร้ายต่อประเทศ แต่ตั้งตัวขึ้นเนื่องจากบ้านเมืองเป็นจลาจล จึงโปรดเกล้าฯ ให้มารับราชการอยู่ที่กรุงธนบุรี และให้ เจ้านราสุริยวงศ์หลานเธอ ออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราช
ต่อมาเจ้านราสุริยวงศ์ ถึงแก่พิราลัย พระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระราชดำริว่า เจ้านคร (หนู) ได้เข้ามารับราชการ มีความจงรักภักดี และได้ถวายธิดาทำราชการ มีราชบุตร (คือพระพงษ์นรินทรและพระอินทร์อภัย) เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านครออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราช และสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าขันธสีมา (หนู) เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 11 ขึ้น 3 ค่ำ จุลศักราช 1138 (พ.ศ. 2319) ปีวอกอัฐศก
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) มีพระราชดำริว่า พระเจ้านครศรีธรรมราช มีความชราทุพพลภาพ ไม่สามารถปกครองบ้านเมืองได้ จึงโปรดให้ออกจากตำแหน่ง กลับเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และโปรดให้เจ้าอุปราช (พัฒน์) บุตรเขยเจ้านคร ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันอังคาร เดือน 8 แรม 11 ค่ำ จุลศักราช 1146 (พ.ศ. 2327) ปีมะโรงศก แต่โปรดให้มียศเพียงเจ้าพระยาตามประเพณีแต่เดิม เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองนครศรีธรรมราชจึงเป็นเมืองที่เคยมีกษัตริย์ปกครอง และมีฐานะเป็นประเทศราช 8 ปี
มีเกร็ดย่อย คือ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) รับราชการ จนถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) มีความชราภาพ จึงทรงยกขึ้นเป็น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ตำแหน่งกิตติมศักดิ์ และทรงตั้ง พระบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) บุตรเจ้าพระยานคร (พัฒน์) เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย)คนใหม่
แต่มีเรื่องปรากฏหลักฐานในสมัยนั้นว่า เจ้าพระยานคร (น้อย) นี้ที่จริงเป็นราชบุตรลับของพระเจ้ากรุงธนบุรี เนื่องจากเมื่อครั้งเจ้านคร (หนู) ทำราชการอยู่ที่กรุงธนบุรี และถวายธิดาทำราชการฝ่ายในแก่พระเจ้ากรุงธนบุรี และมีน้องสาว (ปราง) มาอยู่ด้วยในวังคนหนึ่ง ความปรากฏตามพงศาวดารว่า เจ้าพระยาพิชัยราชา เจ้าเมืองสวรรคโลกให้ไปขอ เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบ ก็ทรงพระพิโรธ ว่าเจ้าพระยาพิชัยราชาบังอาจ จะเป็นคู่เขยของพระองค์ ให้เอาไปประหารเสีย ต่อมาวงศ์ญาติเจ้านคร จึงนำธิดา (ปราง) คนนี้ ถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี เสีย ต่อมาเจ้าพระยานคร (พัฒน์) เมื่อครั้งยังเป็นอุปราชเมืองนครอยู่ ภริยาซึ่งเป็นบุตรเจ้านคร (หนู) เสียชีวิต เจ้าพระยานคร (พัฒน์) ทำความชอบได้เข้าเฝ้าครั้งหนึ่ง พระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นว่าภริยาเสียชีวิต ก็สงสารจึงจะพระราชทานธิดาเจ้านคร (หนู) ให้ใหม่ และให้นำตัวธิดาคนเล็กเจ้านคร (หนู) ไปพระราชทาน แต่นางในกระซิบว่า ดูเหมือนว่านางจะขาดระดูอยู่ แต่พระเจ้ากรุงธน ตรัสว่า "ได้ออกปากให้เขาแล้ว ก็พาไปเถอะ" เมื่อท้าวนาง พาธิดาเจ้านครไปส่งนั้น เจ้าอุปราช (พัฒน์) ก็ทราบความลับนั้น มีความยำเกรงพระบารมี ก็ต้องรับไว้เป็นท่านผู้หญิงกิตติมศักดิ์ อยู่ตลอดอายุ และนางนั้นก็มีบุตรกับเจ้าพระยานคร (พัฒน์) เพียงคนเดียว คือ เจ้าพระยานคร (ปริก)
แบ่งออกเป็น 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 เทศบาลนคร 3 เทศบาลเมือง 50 เทศบาลตำบล และ 130 องค์การบริหารส่วนตำบล โดยมีรายชื่อเทศบาลดังนี้
เศรษฐกิจโดยทั่วไป ของจังหวัดขึ้นอยู่กับภาคเกษตร อาชีพหลัก คือ ทำสวนยางพารา ทำสวนปาล์มน้ำมัน ทำนา ทำไร่ การปลูกผลไม้ ทำสวนมะพร้าว การประมงและการเลี้ยงสัตว์ พัฒนาจากการสำรวจ พบว่า ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี เท่ากับ 105,598 บาท ซึ่งเป็นอันดับที่ 10 ของภาคใต้ และอันดับที่ 34 ของประเทศ
ชาวนครศรีธรรมราช ส่วนใหญ่นับถือ ศาสนาพุทธ ประมาณ 92.08% รองลงมา คือ ศาสนาอิสลาม ประมาณ 7.03% ศาสนาคริสต์ ประมาณ 0.89% นอกจากนั้นเป็นศาสนาอื่น ๆ (ข้อมูลประชากร 1,516,499 คน ปี พ.ศ. 2552)
ในตัวเมืองนครศรีธรรมราช มีรถสองแถว วิ่งบริการรอบเมือง และจากนครศรีธรรมราชไปสู่อำเภอใกล้เคียง หรือจังหวัดข้างเคียง สามารถเลือกใช้บริการได้ทั้งมีรถตู้ รถเมล์ รถโดยสาร และรถไฟ
และยังมีรถท้องถิ่นที่451/452 นครศรีธรรมราช-สุไหงโกลก-นครศรีธรรมราช และขบวนที่455/456 นครศรีธรรมราช-ยะลา-นครศรีธรรมราช,
บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการรถโดยสารทั้งแบบธรรมดา และปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี, อำเภอขนอม มีรถ วีไอพี ปรับอากาศ ชั้น 1 ขนอม-กรุงเทพฯ และกรุงเทพฯ-ขนอม
การเดินทางจากกรุงเทพ มายัง นครศรีธรรมราช ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 กรุงเทพฯ-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านสุราษฎร์ธานี-ทุ่งสง จนถึงนครศรีธรรมราช หรือ ถึงอำเภอพุนพิน สุราษฎร์ธานี แล้วใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 401 เลียบชายฝั่งทะเลไปจนถึงนครศรีธรรมราช รวมระยะทาง 780 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางยังอำเภออื่น ๆ หรือจังหวัดใกล้เคียงได้ โดยมีระยะทางดังนี้
ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช มีเที่ยวบินให้บริการ 12 เที่ยวบินต่อวัน โดยมี 3 สายการบินคือ นกแอร์ ไทยแอร์เอเชียและ ไทยไลอ้อนแอร์ รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ที่ ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช
ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช มีเชื้อชาติไทยพำนักทางปักษ์ใต้
ตั้งนครสุนทรสง่ามาแต่ไร ปัญญาไวฉลาดเฉลียวเชี่ยวปฏิภาณ
เคยมีชื่อเด่นชัดในประวัติศาสตร์ สืบทายาทสกุลใหญ่เกียรติไพศาล
มีพระธาตุขวัญเมืองเครื่องสักการ ตามตำนานชาติไทยได้มีมา
จนบัดนี้ก็ยังมีความดีเด่น สมที่เป็นเมืองสำคัญอันสุดหา
สมเป็นด่านด้านใต้ใกล้คงคา พึงรักษาเกียรติไว้คู่ไทยเทอญ