จังหวัดคะนะงะวะ (ญี่ปุ่น: ???? Kanagawa-ken ?) ตั้งอยู่บริเวณภาคคันโต บนเกาะฮนชูของญี่ปุ่น มีโยะโกะฮะมะเป็นเมืองหลวงและเป็นเมืองท่าที่สำคัญ ซึ่งเมืองโยะโกะฮะมะนั้นเป็นสถานที่จัดศึกฟุตบอลโลกในปี 2002 รอบชิงชนะเลิศ และมีย่านที่คนจีนอาศัยอยู่มากที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น มีวัดวาอารามตั้งอยู่หลายวัดในเมืองคะมะกุระ
ปัจจุบันเมืองโยะโกะฮะมะเป็นส่วนหนึ่งของกรุงโตเกียว และเป็นเมืองศูนย์กลางที่สำคัญเนื่องจากมีท่าเรือพาณิชย์นานาชาติใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกไกล เมืองโยะโกะฮะมะเป็นเมืองใหญ่อันดับสองรองจากโตเกียว โดยมีประชากรกว่า 3 ล้านคน
จังหวัดคะนะงะวะปรากฏเป็นที่รู้จักในประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ 800 ปีก่อน โดยนักรบซามูไรที่ชื่อ มินะโมะโตะ โยะริโตะโมะ ได้เลือกเมืองคะมะกุระเป็นที่ตั้งกองกำลังของเขา และหลังจากนั้นต่อมาอีกประมาณ 150 ปี เมืองคะมะกุระได้เป็นฐานที่มั่นของรัฐบาลทหารมาตลอด ซึ่งก่อนหน้านี้ ศูนย์กลางทางการเมืองจะอยู่ที่ เกียวโต และ นารา มาตลอด ในปี 1192 โยริโตโมะได้เป็นโชกุนคนแรก (ผู้ปกครองซึ่งมีอำนาจทางทหาร) และอำนาจในการปกครองต่าง ๆ ก็ถูกเปลี่ยนมือจากขุนนางมาเป็นซามูไร เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของสังคมศักดินาในประเทศญี่ปุ่น ช่วงเวลาถัดมานั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่น คือ เริ่มต้นมีการเผยแพร่ศาสนาเซ็น และศาสนาพุทธนิกายอื่นๆ ขึ้น และมีวิวัฒนาการด้านศิลปะและวรรณคดี
ในศตวรรษที่ 17 เมืองหลวงได้ถูกย้ายไปยังเมืองเอโดะแทน (เมืองโตเกียวในปัจจุบัน) ที่ซึ่งโชกุนตระกูลโทะกุกะวะได้ตั้งรัฐบาลทหารของตนขึ้น และมีนโยบายเรื่องการปิดประเทศอย่างเข้มงวด ระหว่างสมัยเอโดะ ได้สร้างทางด่วนสายโทไกโด (เชื่อมเส้นทางระหว่างเมืองเอโดะกับเกียวโต) ขึ้น ทำให้คะนะกะวะเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างตะวันออก - ตะวันตกของญี่ปุ่น โชกุนตระกูลโทกุกะวะปกครองประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 300 ปี
โยะโกะฮะมะมีบทบาทสำคัญในการเปิดประเทศอีกครั้ง เมื่อปี 1853 กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาปรากฏตัวขึ้นที่หมู่บ้านอุรางะ พลเรือจัตวา แมทธิว เพอร์รี่ ได้กดดันให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศ และตามมาด้วยการลงนามสนธิสัญญาสัมพันธไมตรีและการค้าระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ท่าเรือโยะโกะฮะมะเปิดขึ้นเมื่อปี 1859 ได้เปลี่ยนจากหมู่บ้านชาวเลเล็ก ๆ มาเป็นจุดกำเนิดของญี่ปุ่นสมัยใหม่ ในทันทีที่เปิดท่าเรือได้เปิดทำการ บริษัทต่างชาติมากกว่า 100 แห่งได้เข้ามาเปิดทำการในโยะโกะฮะมะ ทำให้จำนวนชาวต่างชาติในโยะโกะฮะมะเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี จนสามารถนับได้ว่ามีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ที่โยะโกะฮะมะเกินกว่าครึ่งหนึ่งของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น วิวัฒนาการและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ของตะวันตกจะถูกส่งผ่านเข้ามายังญี่ปุ่นโดยผ่านโยะโกะฮะมะเป็นด่านแรก ทั้งโทรเลขและรถไฟก็มีจุดกำเนิดมาจากโยะโกะฮะมะ และแม้แต่ไอศกรีม เบียร์ และหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกก็ได้รับการกล่าวขานว่าเกิดขึ้นที่โยะโกะฮะมะด้วย
ในปี พ.ศ. 2466 (ค.ศ. 1923) ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้นที่ภูมิภาคคันโต รวมทั้งคะนะงะวะและโตเกียว แมกนิจูด 7.9 เฉพาะในจังหวัดคะนะกะวะมีผู้เสียชีวิต 30,000 คน และมีบ้านเรือนถูกทำลายถึง 230,700 ครัวเรือน หรือเทียบได้ถึง 86 % ของทั้งหมด
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่คันโตก็ได้ทำลายพื้นที่อุตสาหกรรมรอบ ๆ อ่าวโตเกียวในคะวะซะกิ และ โยะโกะฮะมะ ที่ได้ก่อตั้งขึ้นในช่วงปี 1900 ด้วย อย่างไรก็ตาม ภายหลังแผ่นดินไหว อุตสาหกรรมในโยะโกะฮะมะก็ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้ง แม้ว่าเมืองโยะโกะฮะมะจะรุ่งเรือง แต่ว่าก็ถูกกระทบกระเทือนอีกครั้งจากการโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผู้เสียชีวิต มากกว่า 6,000 คน และผู้บาดเจ็บเกือบ 580,000 คน จากการโจมตีทางอากาศที่ โตเกียว คาวาซากิ โยะโกะฮะมะ และบริเวณรอบนอกเมืองเหล่านั้น ภายหลังสงครามเสร็จสิ้นลง การปฏิรูปประชาธิปไตยต่าง ๆ ก็ได้เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์หลังสงครามที่ยังไม่มั่นคง เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างเสรี การปฏิรูปการครอบครองที่ดิน การสลายตัวของกลุ่มบริษัททางการเงิน การเริ่มต้นระบบการศึกษาภาคบังคับ แบบ 6-3 ปี เป็นต้น ในช่วงนี้ มีการเติบโตอย่างฉับพลันในด้านเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ รวมทั้งทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการถางทางมาสู่พัฒนาการปัจจุบันของญี่ปุ่น แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแรง ซึ่งตามมาพร้อมกับปัญหามลภาวะทางอากาศและน้ำ จะเกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่ก็ได้มีการพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ ขึ้นมามากมายเพื่อรองรับปัญหาเหล่านี้แล้ว
จำนวนประชากรของจังหวัดคะนะงะวะได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีเป็นจำนวนมาก เนื่องมาจากการไหลเข้าของผู้คนที่อาศัยอยู่ในโตเกียวและผู้ที่ต้องการหาที่พักอาศัย เป็นผลทำให้จังหวัดคะนะงะวะเติบโตขึ้นเป็นเมืองใหญ่อย่างฉับพลัน และขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ มีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขนาดใหญ่ขึ้นมากมาย เช่น ถนน และสาธารณูปโภคต่าง ๆ ดังนั้น สภาพการดำรงชีวิตของชาวคะนะกะวะจึงสะดวกสบายขึ้น อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกัน ปัญหาสังคมที่เพิ่มขึ้นก็เป็นปัญหาสำคัญสำหรับชาวคะนะงะวะด้วย เช่น ปัญหาจราจรที่รุนแรง และการเสื่อมของสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงดูเด็ก นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีมานี้ยังมีการตรวจวัดแผ่นดินไหวอ่อน ๆ ได้ และมีการคาดการณ์กันว่าอาจจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้นได้ในแถบภาคโตไก
เนื่องจากการลดลงของจำนวนประชากรเด็กและประชากรที่ย้ายที่อยู่อาศัยมายังเขตปริมณฑลลดน้อยลง ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าภายหลังจากจำนวนประชากรขึ้นถึงจุดสูงสุดแล้วจะถึงยุคของผู้สูงอายุ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่คาดการณ์กันว่าการขยายตัวและการเจริญเติบโตของเขตเมืองจะค่อย ๆ ลดลง เป็นผลให้ทางจังหวัดได้หันมาให้ความสำคัญกับการสร้างเมืองให้มีคุณภาพแทน ดังนั้น แผนพัฒนาเมืองคะนะกะวะจึงให้ความสนใจกับโครงการหลายโครงการ เช่น การพัฒนาตัวเมืองโยะโกะฮะมะใหม่ เป็นต้น
จังหวัดคะนะงะวะ ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางหมู่เกาะญี่ปุ่น มีความยาวจากเหนือจรดใต้ 60 กิโลเมตร และมีความยาวจากตะวันออกจรดตะวันตก 80 กิโลเมตร มีพื้นที่โดยรวมทั้งหมด 2,413 ตารางกิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นพื้นที่เพียงแค่ 0.6% ของพื้นที่ประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด ดังนั้นคะนะงะวะจึงเป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กเป็นอันดับที่ 5 ของญี่ปุ่น พื้นที่จังหวัดทางด้านเหนือและตะวันออกติดกับกรุงโตเกียว ทำให้ชาวคะนะงะวะมีการติดต่อกับโตเกียวทั้งทางด้านการทำงานและการดำรงชีวิตมาก ส่วนทางทิศใต้ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก
จังหวัดคะนะงะวะตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเขตคันโต และมีอากาศกำลังสบายเนื่องจากมีกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกไหลผ่าน ในเมืองโยะโกะฮะมะ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจังหวัดมีอุณหภูมิเฉลี่ย 16 ?C และมีปริมาณน้ำฝนรวม 1,440 mm.
จากการตรวจสอบเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2010 จังหวัดคะนะกะวะมีประชากร 9,029,996 คน คิดเป็น 6.6% จังหวัดคะนะงะวะเป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กแต่มีประชากรอาศัยอยู่มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่น ทำให้มีความหนาแน่นของจำนวนประชากรต่อพื้นที่ถึง 3,437 คน ต่อ 1 ตารางกิโลเมตร จัดว่ามากเป็นอันดับ 2 รองจากโตเกียว
จำนวนประชากรของจังหวัดคะนะงะวะเติบโตขึ้นมากในช่วงก่อนและหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้ลดลงในช่วงทศวรรษที่ 70 ในขณะที่จำนวนประชากรในช่วงอายุ 0 - 14 ปี ลดลง กลับปรากฏว่าจำนวนประชากรในช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไปได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
เนื่องจากจังหวัดคะนะงะวะตั้งอยู่ติดกับมหานครโตเกียวที่มีโครงสร้างทางธุรกิจขนาดมหึมา ทำให้อัตราส่วนจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองในช่วงกลางวันมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในช่วงกลางคืน
จังหวัดคะนะงะวะ มีเครือข่ายการขนส่งจากการเดินทางทางอากาศส่วนมากไปสู่ จังหวัดคะนะกะวะ ไปผ่านที่ โตเกียว สนามบินระหว่างประเทศคือสนามบินนานาชาตินาริตะและสนามบินโตไกโด และยังมีรถไฟชิงกันเซ็ง รถไฟความเร็วสูงไปยัง โตเกียว นาโกย่า โอซาก้า และเมืองหลักอื่นๆ
เนื่องจากการก้าวหน้าของวิวัฒนาการและสังคมข้อมูลข่าวสาร ทำให้ความสนใจของชาวคะนะกะวะเกิดความแตกต่างกัน ทางจังหวัดคะนะงะวะเองก็เห็นว่าการเคารพต่อความสนใจ สังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เช่นเดียวกับการเคารพสิทธิมนุษยชน ในขณะเดียวกัน เพื่ออนุรักษ์ขนบประเพณีดั้งเดิมของคะนะงะวะเอาไว้ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องสอนเด็ก ๆ ให้โตขึ้นมาอย่างมีความสามารถเฉพาะตัว และมีความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้สังคมปัจจุบันยังมีแนวโน้มว่า ผู้คนจะมีโอกาสที่จะศึกษาหาความรู้และทำความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมพื้นบ้านของตนไปตลอดชีวิตได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
เมืองคะมะกุระ มีชื่อเสียงซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดพุทธศาสนิกชนมากมายและศาลเจ้าชินโต โยะโกะฮะมะยังเป็นเขตที่มีคนจีนอาศัยอยู่กันมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น (ใหญ่กว่าบริเวณที่คนจีนอยู่กันมาก ๆ ทั้งในโคเบะ และ นะงะซะกิ)