จักรวรรดิตูอิตองกา เป็นจักรวรรดิหนึ่งที่มีอำนาจยิ่งใหญ่มากในทวีปโอเชียเนีย โดยจักรวรรดินี้ก่อตั้งขึ้นราวปี ค.ศ. 950 โดยพระเจ้าอะโฮเออิตู แต่เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 - 15 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยของจักรพรรดิโมโมและจักรพรรดิตูอิตาตูอิ ซึ่งสามารถขบายอำนาจได้ตั้งแต่ นีอูเอ ถึงติโกเปีย จักรวรรดินี้เคยขยายอาณาเขตได้ไกลที่สุดถึงรัฐแยปของไมโครนีเซีย มีเมืองหลวงสำคัญของจักรวรรดิที่มูอา ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะตองกาตาปู โดยมีพระมหากษัตริย์ปกครองมาจาก 3 ราชวงศ์ และตั้งแต่คริสศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา จักรวรรดิตูอิตองกามีราชวงศ์ปกครองจักรวรรดิพร้อมกันถึง 3 ราชวงศ์ในเวลาเดียวกัน ในปัจจุบันนักวิจัยได้พยายามค้นคว้าถึงบทบาทของจักรวรรดิในการค้าทางทะเล รวมไปถึงอิทธิพลของจักรวรรดิในบริเวณต่างๆ แต่ยังคงขาดหลักฐานเชิงประจักษ์
ประมาณ ค.ศ. 950 ตูอิตองกาอะโฮเออิตูเริ่มขยายอำนาจการปกครองนอกเขตตองกา โดยจากตำนานของตองกาและซามัวที่เล่าสืบต่อกันมากล่าวว่าตูอิตองกาพระองค์แรกนั้นเป็นพระราชโอรสของตากาโลอาซึ่งเป็นเทพเจ้าดั้งเดิมของชาวตองกา (รวมไปถึงชาวโพลินิเซียนอีกด้วย) เนื่องจากหมู่เกาะมานูอาในประเทศซามัวปัจจุบันเป็นที่สถิตของเทพเจ้าอันได้แก่ตากาโลอา เออิตูมาตูปูอา, โตงา ฟูซิโฟนูอาและตาวาตาวาอิมานูกา รวมไปถึงเป็นบ้านเกิดของบรรพบรุษ ส่งผลให้พระมหากษัตริย์พระองค์แรกๆของตองกากำหนดให้หมู่เกาะแห่งนี้เป็นหมู่เกาะศักดิ์สิทธิ์ จนกระทั่งกาลเวลาล่วงเลยมาถึงตูอิตองกาพระองค์ที่ 10 คือพระเจ้าโมโม พระองค์และผู้สืบต่อราชบัลลังก์ของพระองค์ พระเจ้าตูอิตาตูอิ ได้ขยายจักรวรรดิโดยมีอาณาเขตตั้งแต่ติโกเปียทางด้านทิศตะวันตก จนถึงนีอูเอทางด้านทิศตะวันออก อาณาเขตของจักรวรรดิยังครอบคลุมถึง หมู่เกาะวาลลิสและหมู่เกาะฟุตูนา, โตเกเลา, ตูวาลู, โรตูมา, นาอูรู, บางส่วนของฟิจิ, หมู่เกาะมาร์เคซัส, บางส่วนของหมู่เกาะโซโลมอน, คิริบาส, หมู่เกาะคุก, และบางส่วนของซามัว เพื่อให้การปกครองดินแดนส่วนใหญ่เป็นไปด้วยดี จึงย้ายเมืองหลวงไปอยู่บริเวณลากูนที่ลาปาฮา, ตองกาตาปู ด้วยอิทธิพลที่กว้างขวางของตูอิตองกาทำให้จักรวรรดิมีชื่อเสียงครอบคลุมมหาสมุทรแปซิฟิก และทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทรัพยากรและแนวความคิดอย่างกว้างขวาง
ภายใต้การนำของตูอิตองกาพระองค์ที่ 10 พระเจ้าโมโม และพระราชโอรสคือพระเจ้าตูอิตาตูอิ (ตูอิตองกาพระองค์ที่ 11) อาณาเขตของจักรวรรดิขยายอำนาจได้กว้างไกลที่สุด บรรณาการของจักรวรรดิจะถูกส่งมาจากหัวหน้าชนเผ่าหรือผู้นำในเขตอำนาจ โดยบรรณาการที่ส่งมานั้นเรียนว่า "อินาซี" และจะถูกส่งมาเป็นประจำทุกปี ณ เมืองมูอา ในฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นการนำของขวัญมาถวายต่อเทพเจ้า ผู้ซึ่งได้รับการยอมรับเป็นตูอิตองกา โดยในปี ค.ศ. 1777 กัปตันเจมส์ คุกได้บันทึกเกี่ยวกับพิธีอินาซีไว้ว่า ประเพณีนี้เป็นประเพณีที่มีชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากเข้ามาในประเทศตองกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนผิวดำซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นชาวแอฟริกันจากฟิจิ,หมู่เกาะโซโลมอน และ วานูอาตู สำหรับเสื่อที่ดีของซามัว (เช่น โตกา) กลายมาเป็นสิ่งสำคัญในพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระราชวงศ์ตองกาฝ่ายบุรุษและพระราชวงศ์ซามัวฝ่ายสตรี ยกตัวอย่างเช่น โตฮูอิอา ซึ่งเป็นพระราชมารดาของตูอิกาโนกูโปลูงาตา ซึ่งมาจากซาฟาตา เกาะอูโปลู ซามัว เสื่อเหล่านี้รวมไปถึงมาเนอาฟาอิงาและตาซิอาเออาเฟกลายมาเป็นเพชรยอดมงกุฎของราชวงศ์ตูปูในปัจจุบัน (ซึ่งได้รับมาทางสายแม่จากซามัว)
การที่จักรวรรดิประสบความสำเร็จในการขยายดินแดนนั้นเกิดขึ้นจากความเข้มแข็งของกองทัพเรือ โดยเรือที่ใช้โโดยทั่วไปเป็นเรือที่มีขนาดยาว มีใบเรือเป็นรูปสามเหลี่ยม เรือแคนูของตองกาที่มีนาดใหญ่ที่สุดสามารถจุคนได้มากถึง 100 คน โดยเรือแคนูที่สำคัญได้แก่ตองกาฟูเอซีอา, อากิเฮอูโฮ, โลมิเปเอา และตากาอิโปมานา โดยมีการกล่าวว่าตากาอิโปมาเป็นเรือของซามัวตามบันทึกใน Queen Salote and the Palace Records ซึ่งกล่าวไว้ว่าเรือลำนี้เป็นเรือที่นำโตฮู อิอา ลิมาโปจากซามัวเข้าพิธีอภิเษกสามรสกับตูอิฮาอะตากาเลาอา ด้วยการมีกองทัพเรือขนาดใหญ่นี้ทำให้กองทัพเรือตองกาช่วยให้ตองกามีความร่ำรวยจากการค้าและบรรณาการที่ได้รับ
แม้ในยุคการขยายอำนาจจักรวรรดิโดยเฉพาะในรัชสมัยของพระเจ้าโมโมและพระเจ้าตูอิตาตูอิ จักรวรรดิตูอิตองกามีความเจริญรุ่งเรืองสูงมาก อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 1535 ชาวต่างชาติ 2 คนลอบปลงพระชนม์พระเจ้าตากาลาอัวขณะที่กำลังว่ายน้ำอยู่ในลากูนของเมืองมูอา พระมหากษัตริย์องค์ต่อมาคือพระเจ้าเกาอูลูโฟนูอาเฟไกที่ 1ได้พยายามไล่ล่าสังหารชาวต่างชาติ 2 คนที่ลอบปลงพระชนม์พระเจ้าตากาลาอัว จนสามารถตามไปสังหารได้สำเร็จในเส้นทางไปหมู่เกาะฟุตูนา เนื่องจากเกิดเหตุการลอบปลงพระชนม์ตูอิตองกาลายครั้ง ส่งผลให้พระเจ้าเกาอูลูโฟนูอาเฟไกที่ 1ได้สถาปนาราชวงศ์ใหม่คือตูอิฮาอะตากาเลาอาเพื่อเป็นเกียรติแด่พระราชบิดาของพระองค์ และพระองค์ได้สถาปนาพระอนุชาของพระองค์คือเจ้าชายโมอูงาโมตูขึ้นดำรงพระอิสริยยศเป็นตูอิฮาอะตากาเลาอาพระองค์แรก พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์ใหม่นี้มีพระราชอำนาจในการบริหารกิจการประจำวันของจักรวรรดิ ในขณะที่ตูอิตองกาเปลี่ยนสถานะใหม่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาติ อย่างไรก็ตามตูอิตองกายังคงมีพระราชอำนาจในการสั่งลงโทษประหารชีวิตหรือไว้ชีวิตบุคคลใดก็ได้ จักรวรรดิตูอิตองกาในช่วงเวลานี้มีอิทธิพลของซามัวปรากฏอยู่ จากการที่ตูอิตองกามีเชื้อสายซามัว ซึ่งเกิดจากการอภิเษกสมรสกับผู้หญิงชาวซามัว รวมถึงยังเลือกที่จะอาศัยอยู่ในซามัวอีกด้วย พระราชมารดาของพระเจ้าเกาอูลูโฟนูอาเป็นชาวซามัวจากเกาะมานูอา ในขณะที่พระเจ้าเกาอูลูโฟอูนาที่ 2และพระเจ้าปุยปุยฟาตูเป็นลูกครึ่งซามัว-ตองกา พระมหากษัตริย์ที่สืบทอดตำแหน่งตูอิตองกาจากพระองค์อย่างพระเจ้าวากาฟูฮู พระเจ้าตาปูโอซีและพระเจ้าอูลูอากิมาตามีเชื้อสายซามัวมากยิ่งขึ้น โดยมีเชื้อสายของชาวซามัวมากกว่าชาวตองกา
ในปี ค.ศ. 1610 ตูอิฮาอะตากาเลาอาพระองค์ที่ 6 พระเจ้าโมอูงาโตงาได้สถาปนาตำแหน่งใหม่คือตูอิกาโนกูโปลูสำหรับพระราชโอรสลูกครึ่งซามัวของพระองค์คือเจ้าชายงาตา โดยแบ่งอำนาจการปกครองบริเวณต่างๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปตูออิกาโนกูโปลูกลับมีอำนาจเหนือดินแดนตองกามากยิ่งขึ้น เมื่อราชวงศ์ตูอิกาโนกูโปลูมีอำนาจมากได้นำนโยบายการปกครอง ตำแหน่งและสถาบันแบบซามัวเข้ามาในจักรวรรดิตูอิตองกา และกลายมาเป็นรูปแบบการปกครองซึ่งสืบต่อมาจนถึงสมัยราชอาณาจักรตองกา ทุกสิ่งทุกอย่างได้ดำเนินมาเช่นนี้เรื่อยๆ ในปี ค.ศ. 1616 นักสำรวจชาวดัตช์ วิลเลม ชูเตนและยาคอบ เลแมร์สังเกตเห็นเรือแคนูของชาวตองกานอกชายฝั่งเกาะนีอูอาโตปูตาปู และนักสำรวจที่มีชื่อเสียงอย่าง แอเบล แทสมันก็ได้เข้ามาสำรวจในระยะเวลาต่อมา ซึ่งการเข้ามาสำรวจของนักชาวยุโรปในระยะนี้ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆของจักรวรรดิมากนัก อย่างไรก็ตามการสำรวจครั้งสำคัญครั้งหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อจักรวรรดิตูอิตองกาโดยตรงคือการเข้ามาสำรวจของเจมส์ คุก ในปี ค.ศ. 1773 ค.ศ. 1774 และ ค.ศ. 1777 ก่อให้เกิดการเข้ามาในจักรวรรดิของมิชชันนารีลอนดอนในปี ค.ศ. 1797 ซึ่งเข้ามาเผยแพ่ศาสนาคริสต์ให้แก่ชาวพื้นเมือง
เนื่องจากเกิดความขัดแย้งจากการปกครองและการละเลยธรรมเนียมการสืบราชสมบัติของพระเจ้าตูกูอาโฮ ส่งผลให้หลายๆฝ่ายในจักรวรรดิไม่พอใจ ก่อให้เกิดการลอบสังหารพระเจ้าตูกูอาโฮ ตูอิกาโนดูโปลูพระองค์ที่ 14 ส่งผลให้เกิดความไม่สงบทั่วดินแดนทั้งจักรวรรดิตามมาจนลุกลามเป็นสงครามกลางเมือง โดยสงครามในครั้งนี้เป็นศึกระหว่างมูอา (ตูอิตองกา) วาวาอูและฮาอะไป (อูลูกาลาลา) กับ นูกูอะโลฟา (ตูอิกาโนกูโปลู) ฮิหิโฟ (ฮาอะงาตา,ฮาอะฮาเวอา) โดยจักรวรรดิตูอิตองกาได้ล่มสลายลงในปี ค.ศ. 1826 ซึ่งพระเจ้าเลาฟิลิตองกาพ่ายแพ้ต่อตูอิกาโนกูโปลู ตูอิฮาอะไป ตูอิวาวาอูเตาฟาอาเฮาที่เวเลตา ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิตูอิตองกา แต่เตาฟาอาเฮายังคงตำแหน่งตูอิตองกาไว้อยู่ จนกระทั่งพระเจ้าเลาฟิลิตองกาสวรรคตในปี ค.ศ. 1865 อย่างไรก็ตามสงครามกลางเมืองยังคงดำรงอยู่ต่อไปจนกระทังพระเจ้าจอร์จ ตูปูที่ 1 สามารถรวมอาณาจักรกลับมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวได้อีกครั้งในปี ค.ศ. 1845
การเสื่อมถอยของตูอิตองกาเริ่มต้นขึ้นจากภาวะสงครามและแรงกดดันภายใน ในประมาณคริตศตวรรษที่ 13 หรือ 14 ซามัวได้รับชัยชนะเหนือตูอิตองกาตาลากาอิไฟกิภายใต้การนำของตระกูลมาลีเอตัว ด้วยเหตุนี้จึงมีการตั้งฟาเลฟาขึ้นเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านการเมืองแก่จักรวรรดิ ข้าราชการฟาเลฟาประสบความสำเร็จในการรักษาอำนาจเหนือเกาะต่างๆของจักรวรรดิ แต่ก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างกว้างขวาง อันนำไปสู่การลอบสังหารผู้ปกครองอยู่หลายครั้ง ยกตัวอย่างเช่นกรณีการลอบสังหารพระเจ้าตากาลาอัว เป็นต้น ส่งผลให้ต้องก่อตั้งราชวงศ์ตูอิฮาอะตากาเลาอาในเวลาต่อมา ซึ่งราชวงศ์ตูอิฮาอะตากาเลาอาได้ก่อตั้งราชวงศ์ตูอิกาโนกูโปลูขึ้นมาเพื่อช่วยในการบริหารราชการแผ่นดิน
ในช่วงที่ราชวงศ์ตูอิตองกาและตูอิกาโนกูโปลูมีอำนาจในจักรวรรดินั้น ได้แบ่งเขตที่อยู่ร่วมกันเป็น 2 เขตโดนใช้ถนนเลียบชายฝั่งเก่าที่ชื่อว่าฮาลา โฟนูอา โมอา (ถนนดินแห้ง) โดยผู้ปกครองที่มาจากตูอิตองกาถูกเรียกว่าเกา ฮาลา อูตา (inland road people) ในขณะที่ผู้ที่มาจากตูอิกาโนกูโปลูจะถูกเรียกว่าเกา ฮาลา ลาโล (low road people) ในขณะตูอิฮาอะตากาเลาอาระยะแรกจะอยู่กับฝ่ายตูอิกาโนกูโปลู แต่เมื่อตูอิกาโนกูโปลูมีอำนาจขึ้นมามากส่งผลให้ตูอิฮาอะตากาเลาอาหันไปจงรักภักดีกับตูอิตองกาแทน
การศึกษาทางโบราณคดี มานุษยวิทยาและภาษาศาสตร์สมัยใหม่ยืนยันว่าอิทธิพลทางวัฒนธรรมของตองกาแพร่กระจายได้อย่างกว้างไกล ผ่านทางตะวันออกของอูเวอา โรตูมา ฟุตูนา ซามัวและนีอูเอ บางส่วนของไมโครนีเซีย (คิริบาสและโปนเป) วานูอาตู และนิวแคลิโดเนีย นักวิชาการบางคนนิยมใช้คำว่าอาณาจักรชนเผ่าทางทะเล (maritime cheifdom) เพื่อแสดงสถานะของดินแดนตูอิตองกา ในขณะที่โดยส่วนใหญ่แล้วนิยมใช้คำว่าจักรวรรดิมากกว่าเนื่องจากเป็นนิยามที่สะดวกในการเรียก