จดหมายเหตุ (อังกฤษ: archive) หมายถึงบันทึก หรือรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยผู้บันทึกอาจเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือบุคคลทั่วไปก็ได้
ตั้งแต่ครั้งอดีต พระมหากษัตริย์ไทย โปรดเกล้าฯให้มีธรรมเนียมการจดบันทึกเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ รวมถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้น โดยผู้มีหน้าที่จดบันทึกดังกล่าวเรียกว่าอาลักษณ์ จดหมายเหตุนี้จะถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในหอจดหมายเหตุหรือหอหลวง เพื่อให้เป็นประโยชน์ทางการศึกษาต่อคนรุ่นหลัง จดหมายเหตุในราชวงศ์นี้ บางทีก็เรียกพระราชพงศาวดาร เช่น พระราชพงศาวดารกรุงเก่า และพระราชพงศาวดารเหนือในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จดหมายเหตุที่บันทึกโดยบุคคลในอดีตก็มีความสำคัญไม่น้อย มีทั้งการบันทึกเหตุการณ์ทั่วไป การบันทึกเรื่องราวของตนเองอย่างลักษณะไดอารี่ ฯลฯ บางฉบับมีคุณค่าศึกษาประวัติศาสตร์อย่างมาก เช่น จดหมายเหตุบางกอก (อังกฤษ: Bangkok Recorder) ของหมอบรัดเลย์ จดหมายเหตุลาลูแบร์ (ฝรั่งเศส: Du Royaume de Siam) เขียนโดยมองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส จดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.116 ของพระยาศรีสหเทพ (เส็ง) จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยาม เป็นต้น
จดหมายเหตุในอดีตพบว่ามีการบันทึก โดยเขียน การพิมพ์ ลงบนวัสดุต่างๆตามยุคสมัย เช่น แผ่นหิน ใบลาน กระดาษ เป็นต้น
การดำเนินงานจดหมายเหตุนั้นมีความสำคัญ ด้วยเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่มีอายุเก่าแก่สืบทอดกันมานาน จึงจัดตั้งกองจดหมายเหตุแห่งชาติขึ้น ตามประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมศิลปากร พ.ศ. 2495 และเปลี่ยนเป็นหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ตามนโยบายการปฏิรูประบบราชการ มีฐานะเป็นสำนักหนึ่งในกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมในเวลาต่อมา มีการปรับปรุงโครงสร้างขององค์กรให้ทันสมัย เพื่อก้าวไปสู่การดำเนินงานที่ตรงตามมาตรฐานวิชาการจดหมายเหตุสากล พัฒนาและขยายขอบข่ายการปฏิบัติงานออกไปอย่างกว้างขวาง ด้วยการรับหอภาพยนตร์แห่งชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานจดหมายเหตุแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2530 ขยายเครือข่ายหอจดหมายเหตุแห่งชาติในส่วนภูมิภาค ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา