จังหวัดเพชรบูรณ์ เดิมสะกดว่า เพ็ชร์บูรณ์ เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางตอนบนของประเทศไทย ในทางภูมิศาสตร์และอุตุนิยมวิทยาจัดอยู่ในภาคเหนือตอนล่าง มีพื้นที่ประมาณ 12,668 ตารางกิโลเมตร ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 9 ของประเทศ มีประชากร 994,397 คน แบ่งการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ และมีเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์เป็นศูนย์กลางของจังหวัด เป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรธรรมชาติ มีความอุดมสมบูรณ์ และมีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก
ชื่อของจังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อสมัยก่อนน่าจะชื่อว่าเมือง "เพชบุระ" ตามที่ปรากฏในจารึกลานทองคำ ที่พบจากเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ วัดมหาธาตุ ซึ่งหมายถึงเมืองแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร แต่ในระยะหลังต่อมาได้เพื้ยนหรือเปลี่ยนเป็นชื่อ "เพชรบูรณ์" กลายความหมายเป็นเมืองที่อุดมด้วยเพชร และได้นำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการรวบรวมหัวเมืองตามชายแดนที่สำคัญตั้งเป็นเขตการปกครองใหม่ ขึ้นเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล ในปี พ.ศ. 2442 มณฑลเพชรบูรณ์ได้ตั้งขึ้นเป็นอิสระ เนื่องจากท้องที่มีภูเขาล้อมรอบ มีการเชื่อมต่อคมนาคมกับมณฑลอื่นไม่สะดวก ลำบากแก่การติดต่อราชการ และโอนเมืองหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า อำเภอวังสะพุง มาขึ้นกับมณฑลเพชรบูรณ์ ยุบเมืองวิเชียรบุรีเป็นอำเภอ โอนอำเภอบัวชุม (ปัจจุบันเป็นตำบล) อำเภอชัยบาดาลขึ้นกับเมืองเพชรบูรณ์ มณฑลเพชรบูรณ์จึงมีสองเมือง คือ หล่มสัก กับ เพชรบูรณ์
พ.ศ. 2447 ได้ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ และได้ตั้งเป็นมณฑลอีกในปี พ.ศ. 2450 และได้ยุบอีกครั้งในปี พ.ศ. 2459 จังหวัดเพชรบูรณ์ในขณะนั้นมี 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอวัดป่า (ปัจจุบันคือตำบลในอำเภอหล่มสัก) อำเภอวิเชียรบุรี และกิ่งอำเภอชนแดน จนกระทั่ง พ.ศ. 2476 ได้ยกเลิกมณฑลต่าง ๆ ทั่วประเทศ
จังหวัดเพชรบูรณ์มีตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ในเขตภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย โดยเกณฑ์การแบ่งภาคของราชบัณฑิตยสถาน ได้กำหนดให้เพชรบูรณ์เป็นจังหวัดในภาคกลาง จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นจังหวัดที่มีแนวเขตติดต่อระหว่างภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประมาณเส้นรุ้งที่ 16 องศาเหนือ กับเส้นแวง 101 องศาตะวันออก ส่วนที่กว้างที่สุดวัดจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกยาว 55 กิโลเมตร ส่วนที่ยาวที่สุดวัดจากทิศเหนือถึงทิศใต้ยาว 296 กิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 346 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21
จังหวัดเพชรบูรณ์มีพื้นที่ประมาณ 12,668.416 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7,917,760 ไร่ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 114 เมตร มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 9 ของประเทศ ลักษณะทางกายภาพของจังหวัดเพชรบูรณ์นั้นเป็นพื้นที่ราบลุ่มแบบท้องกระทะ ประกอบด้วยเนินเขา ป่า และที่ราบเป็นตอน ๆ สลับกันไป พื้นที่มีลักษณะลาดชันจากเหนือลงไปใต้ ตอนเหนือมีทิวเขาสูง ตอนกลางเป็นพื้นที่ราบและมีเทือกเขาขนาบกันไปทั้งสองข้างมีลักษณะเป็นรูปเกือกม้า มีแม่น้ำป่าสักเป็นแม่น้ำสายสำคัญโดยไหลจากจังหวัดเลย เพชรบูรณ์ ผ่านไปสู่จังหวัดในภาคกลาง แล้วลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตามลำดับ จึงส่งผลให้พื้นที่ดีมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ดินมีสภาพอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชทำการเกษตร
เนื่องจากสภาพภูมิประเทศล้อมรอบด้วยภูเขา ทำให้สภาพภูมิอากาศแตกต่างกันมากในแต่ละฤดูกาล คือ อากาศจะร้อนมากในฤดูร้อน และหนาวจัดในฤดูหนาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อำเภอน้ำหนาว อำเภอเขาค้อ และอำเภอหล่มเก่า ส่วนพื้นที่บนภูเขาจะมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี ในฤดูฝนมีฝนตกชุก และมีน้ำป่าไหลหลากมาท่วมในที่ราบ โดยเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักตอนใต้ของจังหวัด ในฤดูแล้งน้ำจะขาดแคลนไม่เพียงพอกับการเกษตรกรรม ในฤดูร้อนและฤดูฝน จะมีอุณหภูมิ 20-24 องศา
จังหวัดเพชรบูรณ์แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ 117 ตำบล 1,430 หมู่บ้าน ซึ่งอำเภอทั้ง 11 อำเภอมีดังนี้
จังหวัดเพชรบูรณ์มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวม 128 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง, เทศบาลเมือง 3 แห่ง, เทศบาลตำบล 22 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 102 แห่ง เทศบาลเมือง ได้แก่ เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ เทศบาลเมืองหล่มสัก และเทศบาลเมืองวิเชียรบุรี
สภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัดเพชรบูรณ์ในปี 2539 พบว่า ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 28,982 บาทต่อปี เป็นอันดับ 56 ของประเทศ โดยทั้งจังหวัดมีผลิตภัณฑ์มวลรวม 26,576.729 ล้านบาท รายได้ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับสาขาการเกษตรมากที่สุดถึงร้อยละ 33.30 คิดเป็นมูลค่า 8,849.064 ล้านบาท รองลงมา เป็นสาขาค้าส่ง และค้าปลีกร้อยละ 20.64 คิดเป็นมูลค่า 5,486.151 ล้านบาท และสาขาบริการร้อยละ 12.52 คิดเป็นมูลค่า 3,327.126 ล้านบาท อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 8.03
ภาวะเศรษฐกิจจังหวัด ภาวะการค้าของจังหวัดโดยทั่วไป เศรษฐกิจของจังหวัดเพชรบูรณ์ปี พ.ศ. 2543 ปรับตัวดีขึ้นจากภาคการเกษตร โดยผลผลิตที่สำคัญเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียวผิวมัน และข้าวฟ่าง เนื่องจากราคาปีก่อนจูงใจให้ขยายพื้นที่ปลูก ประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวย มีปริมาณฝนตกอย่างต่อเนื่อง ส่วนการอุตสาหากรรมขยายตัวตามการลงทุนด้านอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น โรงสีข้าว ไซโลอบเมล็ดพืช ซึ่งเป็นโรงงานขนาดกลางใช้เงินทุน ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป จังหวัดเพชรบูรณ์มีผลไม้ที่ขึ้นชื่อ คือ มะขามหวาน ซึ่งนิยมเป็นของฝาก
การท่องเที่ยว อยู่ในเกณฑ์ดี โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นมากในช่วงฤดูการท่องเที่ยวของจังหวัด เนื่องจากภาครัฐบาลและเอกชน ได้จัดรายการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้เดินทางท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว ทางธรรมชาติ ทำให้เกิดการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้นเป็นอย่างมาก
การก่อสร้างชะลอตัวลดจากปีก่อน โดยก่อสร้างการให้สินเชื่อ เพื่อการลงทุนยังคงหดตัว จากการจดทะเบียนนิติบุคคล ของบุคคลของผู้ ประกอบการรับเหมาก่อสร้างลดลง ร้อยละ 17.64 เงินทุนลดลงร้อยละ 41.56 ตามลำดับภาวะการค้าของจังหวัดในปี 2543 ยังคงทรงตัวต่อเนื่องจากปีก่อน จะมีการใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงฤดูท่องเที่ยว
ในปี 2543 จังหวัดเพชรบูรณ์ มีสถาบันการเงินที่ให้บริการแก่ประชาชนทั้งสิ้น 46 แห่ง ซึ่งสถาบันการเงินที่สำคัญ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และบริษัทประกันชีวิต
จังหวัดเพชรบูรณ์มีการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดา นิติบุคคล อากรแสตมป์ มูลค่าเพิ่ม ธุรกิจเฉพาะและอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 346,963 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนจัดเก็บได้ 394,292 ล้านบาท หรือการจัดเก็บภาษีอากรลดลง ร้อยละ 12.00 ส่วนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต จำนวนทั้งสิ้น 8,591.38 บาท
การขนส่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ ส่วนใหญ่จะใช้ระบบถนน เนื่องจากไม่มีทางรถไฟ และมีท่าอากาศยาน 1 แห่ง คือ ท่าอากาศยานเพชรบูรณ์ ซึ่งไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ให้บริการ การขนส่งทางถนนในจังหวัดเพชรบูรณ์ มีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 เป็นทางหลวงสายหลักพาดผ่านในแนวเหนือ-ใต้ ผ่านเขตจังหวัดเป็นระยะทาง 114.834 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพมหานครมายังจังหวัด สามารถใช้ถนนพหลโยธิน จากนั้นเลี้ยวเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 ที่แยกพุแค (ประมาณกิโลเมตรที่ 123 ของถนนพหลโยธิน) ผ่านจังหวัดลพบุรี แล้วเข้ามายังจังหวัดเพชรบูรณ์ ผ่านตัวจังหวัด แล้วออกไปยังจังหวัดเลย ระยะทางจากกรุงเทพมหานครมายังตัวจังหวัดอยู่ห่างประมาณ 346 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 เชื่อมต่อไปยังจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดขอนแก่น, ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 113 เชื่อมต่อจังหวัดไปยังจังหวัดพิจิตร, ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 225 เชื่อมต่อไปยังจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดชัยภูมิ
การศึกษาแบ่งเป็นระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 546 แห่ง และระดับอุดมศึกษา 10 แห่ง