งานศึกษาตามรุ่นตามแผน (อังกฤษ: prospective cohort study) เป็นการศึกษาตามรุ่น (cohort study) ที่ติดตามกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะคล้าย ๆ กัน (cohort) แต่ต่างกันโดยองค์ที่เป็นประเด็นการศึกษา เพื่อกำหนดว่าองค์เหล่านี้มีอิทธิพลต่ออัตราการเกิดของผล (outcome) เช่นโรค มากเท่าไร ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถติดตามรุ่นของคนขับรถบรรทุกวัยกลางคนที่มีลักษณะนิสัยการสูบบุหรี่ต่าง ๆ กัน เพื่อทดสอบสมมุติฐานว่า อัตราการเกิดโรคมะเร็งปอดภายใน 20 ปีจะอยู่ในระดับสูงสุดสำหรับผู้สูบบุหรี่มาก ตามมาด้วยผู้สูบบุหรี่น้อยลงมา และผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
งานศึกษาตามแผนเป็นวิธีการศึกษาที่สำคัญเพื่อตรวจสอบสมุฏฐานของโรคและความเจ็บไข้อย่างอื่น ๆ ลักษณะะเฉพาะของงานก็คือ เมื่อรับสมัครลงทะเบียนผู้ร่วมเข้าการทดลองเพื่อตรวจข้อมูลเบื้องต้นคือปัจจัย (เช่นการสูบบุหรี่) ที่เป็นประเด็นการศึกษา ผู้ร่วมการทดลองจะยังไม่เกิดผลที่เป็นประเด็นที่สนใจ (เช่นโรคมะเร็งปอด) แล้วจึงติดตามบุคคลเหล่านั้น "ตามยาว" คือเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งปกติจะเป็นหลายปี เพื่อกำหนดว่า จะเกิดมีโรคหรือไม่ ว่าเมื่อไรจึงเกิดมีโรค และว่า ปัจจัยนั้นมีอิทธิพลต่อผลที่เกิดขึ้นบ้างไหม ดังนั้น ผู้วิจัยจึงสามารถใช้ข้อมูลเพื่อตอบคำถามหลายอย่าง เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเสี่ยง กับผลที่เกี่ยวเนื่องกับโรค ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถกำหนดข้อมูลเบื้องต้นของผู้สูบบุหรี่และผู้ไม่สูบบุหรี่ แล้วเปรียบเทียบอุบัติการณ์โรคหัวใจของบุคคลเหล่านั้นต่อ ๆ มา หรือว่า เราอาจจะจัดกลุ่มผู้รวมการทดลองโดยดัชนีมวลกาย (BMI) แล้วเปรียบเทียบความเสี่ยงการเกิดขึ้นของโรคหัวใจหรือโรคมะเร็ง
งานศึกษาตามแผนมีความน่าเชื่อถือตามลำดับชั้นหลักฐาน (hierarchy of evidence) สูงกว่าการศึกษาตามรุ่นย้อนหลัง (Retrospective cohort study) และอาจมีค่าใช้จ่ายสูงกว่างานศึกษามีกลุ่มควบคุม
ข้อดีของการศึกษาตามแผนก็คือสามารถกำหนดองค์ความเสี่ยงที่จะเกิดโรค เพราะเป็นการเก็บข้อมูลตามแผนคือเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง ที่เก็บเป็นระยะ ๆ ดังนั้น ความคลาดเคลื่อนเนื่องจากจำข้อมูลในอดีตผิด ๆ (recall error) จึงมีน้อยลง