ค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นค่าตอบแทนต่ำสุดซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายแก่ลูกจ้างเป็นรายชั่วโมง รายวันหรือรายเดือนตามที่กฎหมายกำหนด หรือมีความหมายเหมือนกับค่าแรงต่ำสุดซึ่งลูกจ้างจะขายแรงงานของตน แม้ว่ากฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำจะมีผลใช้บังคับในหลายรัฐ ก็ยังมีความเห็นต่างในผลดีและผลเสียของค่าจ้างขั้นต่ำ ผู้สนับสนุนค่าจ้างขั้นต่ำบอกว่า จะเป็นการเพิ่มมาตรฐานชีวิตของลูกจ้างและลดความยากจน ขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยว่า ถ้าค่าจ้างขั้นต่ำสูงพอจะเห็นผลได้ดังนั้น ก็จะเป็นการเพิ่มอัตราว่างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมู่ลูกจ้างที่มีผลิตภาพต่ำเพราะขาดประสบการณ์หรือพิการ ดังนั้นจึงเป็นการทำร้ายแรงงานที่มีฝีมือน้อยกว่าและเป็นประโยชน์แก่แรงงานที่มีฝีมือสูงกว่า
ค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายถูกเสนอครั้งแรกเพื่อเป็นหนทางในการควบคุมการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของโรงงานอุตสาหกรรมในภาคการผลิต โรงงานเหล่านี้ว่าจ้างลูกจ้างหญิงและเด็กเป็นจำนวนมาก และจ่ายค่าตอบแทนด้วยจำนวนที่ถูกมองว่าต่ำกว่าค่าแรงมาตรฐาน เจ้าของโรงงานเหล่านี้ถูกคิดว่ามีอำนาจต่อรองอย่างไม่ยุติธรรมเหนือลูกจ้าง และค่าจ้างขั้นต่ำได้ถูกเสนอเพื่อเป็นวิธีในการบังคับให้พวกเขาจ่าย "อย่างยุติธรรม" เมื่อเวลาผ่านไป ความสนใจได้เปลี่ยนไปจากการช่วยเหลือผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัว กลายมาเป็นพอเพียงแก่ตัวเองมากขึ้น ทุกวันนี้ กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำครอบคลุมลูกจ้างในสาขาการจ้างงานที่จ่ายค่าแรงต่ำส่วนใหญ่
ค่าจ้างขั้นต่ำได้รับความสนใจจากสังคมอย่างแข็งขัน โดยมีรากเหง้ามาจากความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของตลาดที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันของรายได้สำหรับสมาชิกแรงงานที่มีความสามารถน้อยที่สุด สำหรับบางคน ทางออกที่ชัดเจนของความกังวลนี้คือ การจำกัดความโครงสร้างค่าแรงใหม่ทางการเมือง เพื่อบรรลุการกระจายรายได้ทางสังคมที่ดีกว่า ดังนั้น กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำจึงถูกตัดสินขัดแย้งกับเกณฑ์การลดความยากจน
แม้ว่าเป้าหมายของค่าจ้างขั้นต่ำจะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเหมาะสม ก็มีความไม่เห็นด้วยอย่างมากว่าค่าจ้างขั้นต่ำมีประสิทธิภาพพอจะบรรลุเป้าหมายหรือไม่ นับตั้งแต่มีการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำเป็นที่โต้เถียงกันอย่างสูงในทางการเมือง และได้รับเสียงสนับสนุนจากนักเศรษฐศาสตร์น้อยกว่าจากสาธารณชนทั่วไปมาก แม้ว่าจะมีประสบการณ์และการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์หลายทศวรรษ การโต้เถียงกันเกี่ยวกับมูลค่าและประโยชน์ของค่าจ้างขั้นต่ำยังมีมาจนถึงปัจจุบัน
การอธิบายถึงข้อบกพร่องของค่าจ้างขั้นต่ำในการลดความยากจนแบบคลาสสิก อธิบายโดยจอร์จ สทิกเลอร์ ใน ค.ศ. 1946 มีดังนี้
การศึกษาเชิงประจักษ์โดยตรงบ่งชี้ว่า ผลกระทบการขจัดความยากจนในสหรัฐอเมริกาจะเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย แม้ว่าจะไม่มีผลกระทบด้านการว่างงานก็ตาม แรงงานค่าแรงต่ำจำนวนน้อยมากมาจากครอบครัวยากจน แต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นและหญิงผู้ใหญ่ที่มีฝีมือต่ำและทำงานนอกเวลา และอัตราค่าแรงที่มีผลต่อรายได้ของพวกเขาใด ๆ เป็นสัดส่วนลดลงเทียบกับเวลาที่พวกเขาถูกเสนอให้ทำงาน ดังนั้น หากผลลัพธ์ด้านตลาดสำหรับครอบครัวฝีมือต่ำถูกผนวกในวิธีที่สังคมพอใจปัจจัยอื่นนอกเหนือจากอัตราค่าแรงจะต้องถูกพิจารณาด้วย ได้แก่ โอกาสการจ้างงานและปัจจัยจำกัดการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน นักเศรษฐศาสตร์ โทมัส โซเวลล์ ได้แย้งว่า โดยไม่คำนึงถึงประเพณีหรือกฎหมาย ค่าจ้างขั้นต่ำแท้จริงจะต้องเป็นศูนย์เสมอ และศูนย์เป็นค่าแรงที่บางคนจะได้รับหากพวกเขาไม่สามารถหางานทำได้เมื่อพวกเขาพยายามเข้าสู่ตลาดแรงงาน หรือเมื่อพวกเขาสูญเสียงานที่พวกเขากำลังทำอยู่
นิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกที่มีกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำใน ค.ศ. 1894 และปัจจุบันได้มีการออกกฎหมายหรือการร่วมเจรจาต่อรองผูกมัดว่าด้วยค่าจ้างขั้นต่ำ ในมากกว่า 90% ของทุกประเทศในโลก
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันมาก ไม่เพียงเฉพาะด้านจำนวนเงินเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงช่วงที่ต้องจ่ายค่าตอบแทน หรือขอบเขตการครอบคลุม บางประเทศอนุญาตให้นายจ้างนับทิปที่ให้แก่ลูกจ้างเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างขั้นต่ำด้วย
บางครั้งก็มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำโดยไม่มีบัญญัติเป็นกฎหมาย ประเพณีและแรงกดดันนอกเหนือกฎหมายจากรัฐบาลหรือสหภาพแรงงานอาจผลักดันให้เกิดเป็นค่าจ้างขั้นต่ำโดยพฤตินัยได้ เช่นเดียวกับที่ความเห็นของสาธารณะระหว่างประเทศกดดันบริษัทข้ามชาติให้จ่ายค่าตอบแทนแก่ลูกจ้างในโลกที่สามมักพบในประเทศอุตสาหกรรมเสียมากกว่า สถานการณ์อย่างหลังนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และละตินอเมริกาได้รับการเผยแพร่ในช่วงไม่กี่ปีหลังนี้ แต่มันได้มีขึ้นกับบริษัทในแอฟริกาตะวันตกในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 แล้ว ระดับค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับทุกอุตสาหกรรมยังสามารถกำหนดได้เป็นเปอร์เซ็นต์ของจีดีพีต่อหัวที่มีค่าไม่เปลี่ยนแปลง หรือตามระดับภาษีรายได้ของประเทศ
ในบรรดาตัวบ่งชี้ซึ่งอาจถูกใช้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเริ่มต้นนั้น คือ อัตราค่าแรงที่ลดการสูญเสียอาชีพให้ต่ำที่สุดขณะที่ยังรักษาไว้ซึ่งศักยภาพในการแข่งขันระหว่างประเทศ ในบรรดาตัวบ่งชี้เหล่านี้มีสภาพเศรษฐกิจโดยรวมซึ่งสามารถวัดได้โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงและในรูปตัวเงิน ภาวะเงินเฟ้อ อุปสงค์และอุปทานแรงงาน ระดับค่าแรง การกระจายและสิ่งแสดงความต่าง ระยะเวลาจ้างงาน การเติบโตของผลิตภาพ ค่าแรง ค่าดำเนินธุรกิจ จำนวนและแนวโน้มการล้มละลาย อันดับเสรีภาพทางเศรษฐกิจ มาตรฐานความเป็นอยู่และอัตราค่าแรงเฉลี่ยทั่วไป
ในภาคธุรกิจ ความกังวลรวมไปถึงค่าดำเนินธุรกิจที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามที่ได้คาดการณ์ไว้ ความเสี่ยงต่อความสามารถทำกำไร ระดับการว่างงานที่สูงขึ้น (และค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นของรัฐบาลในด้านประโยชน์สวัสดิการซึ่งทำให้ต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ) และผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อค่าแรงของแรงงานที่มีประสบการณ์มากกว่าผู้ซึ่งอาจมีรายได้เกินกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายอยู่แล้ว และอีกมาก
ในหมู่แรงงานและผู้แทน การพิจารณาทางการเมืองถูกนำมาพิจารณาด้วย เพราะผู้นำสหภาพแรงงานต่างต้องการชนะเสียงสนับสนุนโดยเรียกร้องอัตราค่าแรงที่สูงที่สุดที่เป็นไปได้ ความกังวลอื่นรวมไปถึงการซื้ออำนาจ ดัชนีเงินเฟ้อและชั่วโมงทำงานมาตรฐาน
ในสหรัฐอเมริกา ค่าจ้างขั้นต่ำประกาศใช้โดยรัฐบัญญัติมาตรฐานแรงงานยุติธรรม ค.ศ. 1938 และมีเจตนากำหนดค่าแรงให้สูงและเป็นระดับเดียวกันทั้งประเทศเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่โรงงานที่มีเทคโนโลยีเก่าและค่าแรงต่ำทางใต้ของประเทศ
การวิเคราะห์อุปสงค์และอุปทานของประเภทที่แสดงในหนังสือเรียนเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นกระแสหลัก บอกเป็นนัยว่า การกำหนดพื้นราคาเหนือค่าจ้างสมดุล กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้เกิดการว่างงาน ซึ่งเป็นเพราะมีคนจำนวนมากต้องการจะทำงานโดยได้รับการจ่ายค่าแรงสูงกว่า แต่งานที่จ่ายค่าตอบแทนสูงก็จะมีน้อยเช่นกัน บริษัทจะเลือกผู้ที่เข้ามาสมัครงานเข้มข้นขึ้น ดังนั้น ผู้ที่มีทักษะหรือประสบการณ์น้อยกว่าจะไม่ถูกเลือกเข้าทำงาน
ตามแบบจำลองซึ่งแสดงอยู่ในหนังสือเรียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นเกือบทุกเล่ม การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะลดการจ้างงานแรงงานค่าแรงต่ำ หนังสือเล่มหนึ่งว่า
ถ้าค่าจ้างขั้นต่ำสูงขึ้นเพิ่มอัตราค่าแรงของแรงงานไร้ฝีมือเหนือระดับที่กำหนดโดยตลาดแรงงาน ปริมาณของแรงงานไร้ฝีมือที่ถูกรับเข้าทำงานจะตกลง ค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้บริการของแรงงานที่มีผลิตภาพต่ำสุด (และมีค่าแรงต่ำสุดเป็นลำดับ) ต้องออกจากตลาด ... ผลกระทบโดยตรงของกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำมีสองด้านอย่างชัดเจน แรงงานบางคน ซึ่งคาดว่าค่าแรงเก่าใกล้เคียงกับค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดไว้นี้ จะยินดีกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ส่วนคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานกลุ่มที่มีอัตราค่าแรงก่อนมีกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำต่ำที่สุด จะไม่สามารถหางานทำได้ พวกเขาจะถูกผลักให้เป็นคนตกงานหรือต้องออกจากตลาดแรงงานไป
มีการสันนิษฐานว่าแรงงานเต็มใจจะทำงานนานขึ้นหากได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น นักเศรษฐศาสตร์เขียนกราฟของความสัมพันธ์ระหว่างค่าแรงในแกนตั้งกับระยะเวลาทำงานเป็นชั่วโมงในแกนนอน เนื่องจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มจำนวนชั่วโมงทำงานด้วย เส้นอุปทานแรงงานจึงเป็นเฉียงขึ้นไป และถูกแสดงเป็นรูปเส้นลากขึ้นไปทางขวาบน
สำหรับราคาของสถานประกอบการในการจ่ายค่าตอบแทน มีการสันนิษฐานว่าเมื่อจ่ายค่าตอบแทนสูงขึ้น นายจ้างจะต้องการให้ลูกจ้างทำงานเป็นเวลาสั้นลง ซึ่งเป็นเพราะว่า จะทำให้บริษัทห้างร้านเสียค่าใช้จ่ายไปกับการจ้างแรงงาน และดังนั้น จึงปรับลดจำนวนแรงงานที่จ้างลง หรือจ้างให้ทำงานสั้นลง เส้นอุปสงค์แรงงานจึงเขียนได้เป็นรูปเส้นตรงลากลงมาทางขวาล่าง
เมื่อเขียนรวมเส้นอุปสงค์และอุปทานรวมกันจะทำให้สามารถพิจารณาผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำได้ เริ่มจาก สมมุติว่าเส้นอุปทานและอุปสงค์แรงงานจะไม่เปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ หากไม่มีค่าจ้างขั้นต่ำ แรงงานและนายจ้างจะปรับปริมาณแรงงานที่มีตามราคาจนกระทั่งปริมาณแรงงานที่เป็นอุปสงค์เท่ากับปริมาณแรงงานที่เป็นอุปทาน เข้าสู่ราคาดุลยภาพ ที่ซึ่งเส้นอุปสงค์และอุปทานตัดกัน แต่ค่าจ้างขั้นต่ำเปรียบได้เหมือนกับพื้นราคาคลาสสิกของแรงงาน ทฤษฎีมาตรฐานว่า ถ้ากำหนดไว้เหนือราคาดุลยภาพ แรงงานที่ยินดีจะเข้าทำงานจะมีมากกว่าความต้องการของนายจ้าง ทำให้เกิดแรงงานส่วนเกิน นั่นคือ ภาวะว่างงาน
หรืออาจกล่าวได้ว่า เศรษฐศาสตร์ที่เรียบง่ายและพื้นฐานที่สุด มีแนวคิดเปรียบเทียบว่าโภคภัณฑ์ก็เหมือนกับแรงงาน ตัวอย่างเช่น ข้าวสาลี การเข้าแทรกแซงกลไกราคาโดยเพิ่มราคาของโภคภัณฑ์นั้นจะทำให้อุปทานเพิ่มขึ้นแต่อุปสงค์ลดลง ผลคือ โภคภัณฑ์มีอุปทานส่วนเกิน เมื่อมีข้าวสาลีมากเกินไป รัฐบาลจะรับซื้อข้าวสาลีนั้นเอง แต่เนื่องจากรัฐบาลไม่ว่าจ้างแรงงานที่เป็นอุปทานส่วนเกิน แรงงานเหล่านี้จึงอยู่ในภาวะว่างงาน ซึ่งภาวะว่างงานจะต่ำกว่าหากไม่มีกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำเสียอีก
ดังนั้น ทฤษฎีพื้นฐานบอกว่า การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยแรงงานที่ได้รับการเพิ่มค่าแรง แต่จะเป็นผลเสียแก่ผู้ที่ไม่ได้ถูกจ้าง หรือผู้ที่สูญเสียงาน เพราะบริษัทประหยัดเงินที่ใช้จ้าง แต่ผู้เสนอแนวคิดค่าจ้างขั้นต่ำยืนยันว่าสถานการณ์ซับซ้อนเกินว่าที่ทฤษฎีพื้นฐานจะอธิบายได้
ปัจจัยที่ซับซ้อนประการหนึ่งคือ ความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการผูกขาดการซื้อในตลาดแรงงาน ซึ่งนายจ้างเพียงคนเดียวมีอำนาจทางตลาดในการกำหนดค่าแรงที่จะจ่าย ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ในทางทฤษฎีที่ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำอาจเพิ่มการจ้างงานได้ แม้ว่าอำนาจทางตลาดในนายจ้างเพียงคนเดียวไม่น่าจะมีอยู่ในตลาดแรงงานส่วนใหญ่ก็ตาม
หลายกลุ่มมีพื้นฐานทางอุดมการณ์ การเมือง การเงินและอารมณ์ที่แตกต่างกันมากในประเด็นว่าด้วยเรื่องกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ ตัวอย่างเช่น หน่วยงานออกกฎหมายมีส่วนได้เสียในการแสดงว่ากฎหมาย "ของพวกเขา" ไม่ก่อให้เกิดการว่างงาน เช่นเดียวกับสหภาพแรงงาน ผู้ซึ่งอาชีพของสมาชิกได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ ส่วนอีกด้านหนึ่งของประเด็น สถาบันนโยบายการจ้างงาน ซึ่งเปิดเผยการศึกษาหลายชิ้นซึ่งคัดค้านค่าจ้างขั้นต่ำ การมีอยู่ของกลุ่มและปัจจัยทรงอิทธิพลเหล่านี้หมายความว่าการพิจารณาในประเด็นดังกล่าวไม่ได้ปราศจากอคติเสมอไป ยิ่งไปกว่านั้น เป็นการยากกว่าปกติที่จะแยกแยะผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำจากปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบถึงการจ้างงาน
ตารางด้านล่างนี้เป็นการสรุปการยกเหตุผลสนับสนุนของผู้ที่เห็นด้วยและคัดค้านกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ
ใน ค.ศ. 2006 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โต้แย้งว่า ค่าจ้างขั้นต่ำไม่อาจเชื่อมโยงกับการว่างงานในประเทศที่ประสบการสูญเสียอาชีพได้โดยตรง ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2010 องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ออกรายงานซึ่งให้เหตุผลว่า ประเทศสามารถบรรเทาภาวะว่างงานวัยรุ่นได้โดย "การลดค่าจัดจ้างเยาวชนทักษะต่ำ" โดยให้ค่าจ้างฝึกงานต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ การศึกษาของรัฐสหรัฐอเมริกาแสดงให้เห็นว่า บัญชีค่าจ้างประจำปีและเฉลี่ยของธุรกิจเติบโตเร็วกว่าและการจ้างงานอยู่ในอัตราเร็วกว่าในรัฐที่มีค่าจ้างขั้นต่ำ การศึกษาแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ แต่ไม่ได้อ้างเพื่อพิสูจน์สาเหตุ
แม้ว่าจะถูกคัดค้านอย่างแข็งขันจากทั้งประชาคมธุรกิจและพรรคอนุรักษนิยมเมื่อมีการเสนอค่าจ้างขั้นต่ำใน ค.ศ. 1999 แต่หลังริเริ่มค่าจ้างขั้นต่ำในสหราชอาณาจักร ประเด็นดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไป และพรรคอนุรักษนิยมพลิกจากพรรคฝ่ายค้านเป็นพรรครัฐบาลใน ค.ศ. 2000 การทบทวนถึงผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำไม่พบผลกระทบที่สังเกตได้ใด ๆ ต่อระดับการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม ราคาในภาคค่าจ้างขั้นต่ำอาจถูกพบว่าเพิ่มขึ้นอย่างสำคัญเร็วกว่าราคาในภาคที่ไม่อยู่ภายใต้ค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสี่ปีแรกหลังนำแนวคิดค่าจ้างขั้นต่ำไปปฏิบัติ
ตั้งแต่การริเริ่มค่าจ้างขั้นต่ำระดับชาติในสหราชอาณาจักรใน ค.ศ. 1999 ผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำจ้างงานเป็นหัวข้อการวิจัยและการสังเกตอย่างกว้างขวางโดยคณะกรรมการจ้างเงินต่ำ คณะกรรมการจ้างเงินต่ำพบว่า แทนที่จะทำให้ลูกจ้างตกงาน นายจ้างกลับลดอัตราการว่าจ้าง ลดชั่วโมงทำงานของพนักงาน เพิ่มราคาสินค้า และพบหนทางทำให้แรงงานปัจจุบันเพิ่มผลิตภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมบริการ ทั้งสหภาพการค้าและองค์การนายจ้างไม่คัดค้านแนวคิดค่าจ้างขั้นต่ำ ถึงแม้ว่าองค์การนายจ้างจะคัดค้านอย่างหนักจนถึง ค.ศ. 1999