เพลงค่าน้ำนม แต่งโดย ไพบูลย์ บุตรขัน โดยมีการขับร้องและบันทึกเสียงครั้งแรกโดย ชาญ เย็นแข เมื่อ พ.ศ. 2492 ได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก เป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับไพบูลย์ บุตรขัน และชาญ เย็นแข มากที่สุด ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพลงที่เป็นรากฐานของเพลงลูกทุ่ง ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2532
เพลงค่าน้ำนม เป็นเพียง หนึ่งในเพลง จำนวน 5-6 เพลง ที่ไพบูลย์ บุตรขัน แต่งให้กับมารดา คือ นางพร้อม ประณีต (ครูไพบูลย์ มีนามสกุลเดิมว่า ประณีต) ซึ่งเป็นผู้ที่ดูแลครูไพบูลย์อย่างใกล้ชิดมาตลอด ตั้งแต่วัยหนุ่มจนท่านเสียชีวิตในวัย 70 กว่าปี เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2508 ถึงแม้ครูไพบูลย์จะป่วยเป็นโรคเรื้อนซึ่งได้รับความรังเกียจจากบุคคลทั่วไป
เพลงค่าน้ำนม เป็นเพลงแรกที่ชาญ เย็นแข ได้รับการบันทึกเสียง โดยในครั้งแรกครูไพบูลย์ตั้งใจจะให้บุญช่วย หิรัญสุนทรเป็นผู้ขับร้องบันทึกเสียงกับวงดนตรีศิวารมย์ของครูสง่า อารัมภีร แต่บุญช่วย หิรัญสุนทรเกิดป่วยไม่สามารถมาร้องได้ ครูสง่าจึงเสนอให้ชาญ เย็นแขซึ่งเป็นลูกศิษย์ มาขับร้องแทน
ในการขับร้องบันทึกเสียงครั้งแรก ครูสง่า อารัมภีร เป็นผู้เล่นเปียโน บันทึกเสียงเพียงไม่กี่ครั้งก็ใช้งานได้ เรียบเรียงเสียงประสานโดย สง่า อารัมภีร และ ประกิจ วาทยกร (บุตรชายของพระเจนดุริยางค์) วางจำหน่ายเมื่อ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2492 โดยบริษัทนำไทย จำกัด แผ่นเสียงตราสุนัขสลากเขียว แผ่นครั่งขนาด 10" ความเร็ว 78 รอบต่อนาที ขายได้ 800 แผ่น
หลังจากแผ่นเสียงเพลงนี้ออกจำหน่าย ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ลาวัณย์ โชตามระ นักหนังสือพิมพ์บันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. 2508 ว่า
เป็นประวัติการณ์ที่ว่า พอถึงวันแม่ซึ่งทางการยุคหนึ่งกำหนดให้ถือเอาวันที่ 15 เมษายน ตลอดวัน วิทยุก็จะกระจายเสียงแต่เพลงที่เขาแต่งขึ้น นั่นคือ เพลงค่าน้ำนม "