คำเมือง (คำเมือง: ) [กำเมือง]) หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ภาษาถิ่นภาคพายัพ เป็นภาษาถิ่นของชาวไทยวนทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ซึ่งเป็นอาณาจักรล้านนาเดิม ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา และยังมีการพูดและการผสมภาษากันในบางพื้นที่ของจังหวัดตาก สุโขทัย และเพชรบูรณ์ ปัจจุบันกลุ่มคนไทยวนได้กระจัดกระจายและมีถิ่นที่อยู่ในจังหวัดสระบุรี จังหวัดราชบุรี และอำเภอของจังหวัดอื่นที่ใกล้เคียงกับราชบุรีอีกด้วย
คำเมืองยังสามารถแบ่งออกเป็นสำเนียงล้านนาตะวันตก (ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน) และสำเนียงล้านนาตะวันออก (ในจังหวัดเชียงราย พะเยา ลำปาง อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน) ซึ่งจะมีความแตกต่างกันบ้าง คือ สำเนียงล้านนาตะวันออกส่วนใหญ่จะไม่พบสระเอือะ เอือ แต่จะใช้สระเอียะ เอียแทน (มีเสียงเอือะและเอือเพียงแต่คนต่างถิ่นฟังไม่ออกเอง เนื่องจากเสียงที่ออกมาจะเป็นเสียงนาสิกใกล้เคียงกับเอียะ เอีย)
ส่วนคนในจังหวัดลำพูนมักจะพูดสำเนียงเมืองยอง เพราะชาวลำพูนจำนวนมากสืบเชื้อสายมาจากชาวยองในรัฐฉาน จึงมีสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์
คำเมืองมีไวยากรณ์เหมือนกับภาษาไทยกลางแต่ใช้คำศัพท์ไม่เหมือนกัน แต่เดิมใช้คู่กับ อักษรธรรมล้านนา ซึ่งเป็นตัวอักษรของอาณาจักรล้านนาที่ใช้อักษรมอญเป็นต้นแบบ
ภาษาถิ่นภาคพายัพมีชื่อเรียกหลายชื่อ โดยภาษาจากตระกูลภาษาไทต่าง ๆ มีชื่อเรียกซึ่งคล้ายคลึงหรือไม่เหมือนกัน
สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นเหนือไว้ว่า ภาคเหนือตอนบนประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, เชียงราย, แม่ฮ่องสอน, ลำพูน, ลำปาง, พะเยา, แพร่ และน่าน ประชากรส่วนใหญ่ใช้ภาษาเหนือเป็นภาษากลาง และภาคเหนือตอนล่างประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาไทยกลาง แต่มีเขตที่พูดภาษาไทยถิ่นเหนือด้วยหลายตำบล เช่น ตาก, สุโขทัย, กำแพงเพชร, อุตรดิตถ์, พิจิตร และพิษณุโลก
สมทรง บุรุษพัฒน์ ได้ระบุว่าภาษาไทยถิ่นเหนือเป็นภาษาที่พูดกันทางตอนเหนือของไทย ได้แก่ เชียงใหม่, เชียงราย, แม่ฮ่องสอน, ลำพูน, ลำปาง, พะเยา, แพร่, น่าน, ตาก, สุโขทัย, อุตรดิตถ์ และบางอำเภอของจังหวัดสระบุรี
กาญจนา เงารังษีและคณะ ได้สรุปผลการศึกษาภาษาถิ่นเหนือที่ใช้บริเวณภาคเหนือตอนล่าง โดยระบุว่า ภาษาเหนือเป็นภาษาถิ่นที่ใช้ในพื้นที่ 9 จังหวัด คือ กำแพงเพชร, ตาก, นครสวรรค์, พิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, สุโขทัย, อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี
ไม่ปรากฏคำควบกล้ำเสียง ร ล มีคำควบกล้ำเฉพาะเสียง ว เท่านั้น อนึ่งเสียงรัวลิ้น "ร" และเสียงไม่รัวลิ้น "ล" ถือว่าไม่ต่างกัน ซึ่งบางครั้งเสียง "ล" จะกลายเป็นเสียง "ร" ก็ไม่ถือว่าต่างกันแต่อย่างใด
เสียงสระเอือะ,เอือ จะไม่พบในบางท้องถิ่น คือในถิ่นล้านนาตะวันออก ได้แก่ จังหวัดแพร่ อุตรดิตถ์ น่าน พะเยา ลำปาง โดยจะออกเสียงเป็นสระเอียะ,เอีย เช่น คำเมือง เป็น กำเมียง (มีเสียงเอือะ และเอือเพียงแต่คนต่างถิ่นฟังไม่ออกเอง เนื่องจากเสียงที่ออกมาจะเป๊นเสียงนาสิกใกล้เคียงกับเอียะ เอีย)
นอกจากนี้ยังมีสำเนียงแบบเมืองยองซึ่งพูดกันมากในจังหวัดลำพูน โดยจะไม่มีสระประสม สระอัว กลายเป็น โอ สระเอีย กลายเป็น เอ และสระเอือ กลายเป็น เออ เช่น เมือง เป็น เมิง, เกลือ เป็น เก๋อ, สวย เป็น โสย, หมี่เกี๊ยว เป็น หมี่เก๊ว เป็นต้น
เสียงวรรณยุกต์สำเนียงเชียงใหม่มี 6 เสียง คือ เสียงจัตวา, เสียงเอก, เสียงตรีปลายโท, เสียงสามัญ, เสียงโท, และเสียงตรี
การพูดคำเมืองที่เป็นประโยคแบบดังเดิมนั้นหายากแล้วเนื่องจากมีการผสมผสานกับภาษาไทยภาคกลาง ทั้งในสำเนียงและคำศัพท์ ส่วนนี้จะเป็นส่วนรวบรวม ประโยค กำเมือง ดั้งเดิม
การพูดคำเมืองผสมกับภาษาไทยนั้น คำเมืองจะเรียกว่า แปล๊ด (ปะ-แล๊ด, ไทยแปล๊ดเมือง) ซึ่งโดยมากแล้วมักจะพบใน คนที่พูดคำเมืองมาก ๆ แล้วพยายามจะพูดไทย หรือ คนพูดภาษาไทยพยายามจะพูดคำเมือง เผลอพูดคำทั้ง ๒ ภาษามาประสมกัน
ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ปี พ.ศ. 2347 ได้มีการเทครัวชาวยวนลงมาในเขตภาคกลาง อาทิ จังหวัดสระบุรี (โดยเฉพาะอำเภอเสาไห้), จังหวัดราชบุรี (มีมากที่อำเภอเมือง อำเภอบ้านโป่ง และอำเภอจอมบึง), จังหวัดนครปฐม (โดยเฉพาะอำเภอกำแพงแสน), จังหวัดกาญจนบุรี (โดยเฉพาะอำเภอไทรโยค), จังหวัดลพบุรี (ที่อำเภอชัยบาดาล) และจังหวัดนครราชสีมา (เฉพาะอำเภอสีคิ้ว) โดยเฉพาะในจังหวัดราชบุรีมีชาวยวนราว 70,000-80,000 คน และมีชาวยวนแทบทุกอำเภอ ยกเว้นเพียงแต่อำเภอดำเนินสะดวกกับวัดเพลงเท่านั้น
ซึ่งภาษาไทยวนทุกจังหวัดมีหน่วยเสียง พยัญชนะและหน่วยเสียงสระเหมือนกัน รายละเอียดในวรรณยุกต์แทบไม่แตกต่างกัน ยกเว้นภาษายวนลพบุรีที่มีหน่วยเสียงแตกต่างจากอีก 4 จังหวัดเพียงหน่วยเสียงเดียว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะชาวยวนลพบุรีได้อาศัยปะปนอยู่กับหมู่บ้านชาวลาว อาจทำให้หน่วยเสียงเปลี่ยนแปลงก็เป็นได้
คำเมืองในจังหวัดอื่น เช่น จังหวัดลำปาง, แพร่, น่าน, เชียงราย, พะเยา และอุตรดิตถ์ (ในบางอำเภอ) ก็มีการใช้คำบางคำที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยรวมแล้วจะสื่อสารกันเข้าใจในกลุ่มคนเหนือ เช่น
นอกจากนี้ สำเนียงในของคำเมืองในกลุ่มนี้จะออกสั้นและห้วนกว่า โดยที่เห็นได้ชัดคือเสียงตรีในเชียงใหม่ ลำพูน จะเป็นเสียงโทในจังหวัดอื่น เช่น บ่ะฮู้ แปลว่า ไม่รู้ เป็นสำเนียงเชียงใหม่ แต่จะออกเสียงว่า บ่ะฮู่ ในสำเสียงอื่น, กิ๋นน้ำ ที่แปลว่า ดื่มน้ำ จะออกเสียงเป็น กิ๋นน่ำ, สามร้อย ออกเสียงเป็น สามร่อย เป็นต้น
โดยมากแล้วภาษาไทยกลางและคำเมืองมักมีเสียงที่เหมือนกันยกเว้นบางครั้ง ที่ไม่เหมือนแต่คล้ายกันได้แก่ เสียงธนิต (aspirate) ของอักษรต่ำมักตรงกับเสียงสิถิล (unaspirate) เช่น จาก "ท" เป็น "ต" (เช่น "ทาง" เป็น "ตาง"), "ช" เป็น "จ" (เช่น "ช้อน" เป็น "จ๊อน"), "พ" เป็น "ป" (เช่น "แพง" เป็น "แปง"), "ค" เป็น "ก" (เช่น "คำ" เป็น "กำ") เป็นต้น โดยมักจะคงเสียงวรรณยุกต์เดิม (เช่น "ใช้" เป็น "ใจ๊") อย่างไรก็ตาม เสียงธนิต (aspirate) ของอักษรต่ำที่ตรงกับเสียงโฆษะบาลีมักมีเสียงที่ตรงกันในทั้งสองภาษา เช่น ภาพ เป็น ภาพ และ ธรรม เป็น ธัมม์ เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว เสียงธนิต (aspirate) ของอักษรต่ำที่ตามด้วย ร ในไทยกลางมักตรงกับเสียงธนิตแต่ไม่มี ร ตามในคำเมือง เช่น คราว เป็น คาว, ครั้ง เป็น คั้ง, และ พระ เป็น พะ นอกจากนี้แล้ว ยังมีความแตกต่างที่อื่นด้วย ได้แก่ เสียง ร ในไทยกลางมักตรงกับเสียง ฮ คำเมือง (เช่น "เรา" เป็น "เฮา") เสียง ย ที่สะกดด้วย ทั้ง ย และ ญ ในภาษาไทยมักตรงกับเสียง ย นาสิก ซึ่งไม่มีในภาษาไทยกลาง (เช่น "หญ้า" เป็น "หญ้า (นาสิก)"
นอกจากความแตกต่างทางด้านพยัญชนะแล้ว ทั้งสองมีความแตกต่างทางด้านเสียงวรรณยุกต์อีกด้วย คำที่ขึ้นต้นด้วยอักษรกลาง(ยกเว้น ด, บ, อย, และ อ)ในคำเป็นภาษาไทยที่มีเสียงสามัญมักตรงกับเสียงจัตวาในคำเมือง (เช่น "ตัว" เป็น "ตั๋ว", "ใจ" เป็น "ใจ๋") แต่ในคำพ้องเสียงของภาคกลาง ในภาษาเหนือนั้นอาจจะออกเสียงไม่เหมือนกัน ส่วนในคำตายนั้นเสียงเอกมักตรงกับเสียงจัตวาในคำเมือง (เช่น "หัก" เป็น "หั๋ก")