คะกุเระคิริชิตัง (ญี่ปุ่น: ??????? Kakure Kirishitan, "คริสตังลับ", "คริสตังหลบซ่อน" ?) เป็นศัพท์ภาษาญี่ปุ่นสมัยใหม่ที่ใช้อ้างอิงถึงชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกอย่างลับๆ หลังเกิดเหตุการณ์กบฏชิมะบะระในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1630
ชาวคริสต์ในญี่ปุ่นถูกเรียกว่า "คริสตังลับ" เพราะชนกลุ่มนี้ยังคงนับถือศาสนาคริสต์อย่างลับๆ โดยจะปฏิบัติศาสนกิจอยู่ในห้องลับภายในบ้านของตนเอง เมื่อเวลาผ่านไป รูปเคารพของบรรดานักบุญในคริสต์ศาสนาได้ถูกแปลงรูปให้คล้ายคลึงกับพระพุทธรูปและรูปของพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนา ผู้สวดมนต์ยังได้ดัดแปลงคำสวดมนต์ให้ฟังคล้ายกับบทสวดมนต์ในศาสนาพุทธ แต่ยังคงรักษารูปคำเดิมที่ยังไม่แปลจากภาษาละติน ภาษาโปรตุเกส และภาษาสเปนไว้ ข้อความในคัมภีร์ไบเบิลได้ถูกถ่ายทอดในลักษณะของมุขปาฐะเนื่องจากหวาดเกรงว่าทางการจะริบพระคัมภีร์ฉบับตีพิมพ์ไปเสีย การดำรงอยู่ของชุมชนชาวคริสต์ต้องขึ้นอยู่กับผู้นำที่เป็นที่พึงพาได้ เนื่องจากในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 นั้นมีการกวาดล้างนักบวชคาทอลิกอย่างกว้างขวาง
ในบางกรณี ชุมชนดังกล่าวได้หลีกเลี่ยงการสั่งสอนตามแนวทางเดิมในคริสต์ศาสนา พวกเขาได้หลงลืมความหมายของการภาวนาไปเสีย และศาสนาของพวกเขาได้กลายรูปเป็นลัทธิบูชาบรรพบุรุษไปแทน เนื่องจากบรรพบุรุษของพวกเขาเหล่านั้นได้เสียชีวิตในการกวาดล้างทางศาสนาและกลายเป็นมรณสักขีในศาสนาคริสต์
ชาวคริสต์จำนวนมาก ซึ่งบางส่วนได้ยอมรับแนวทางการปฏิบัติคริสต์ศาสนาแบบใหม่เหล่านี้ ได้เลิกหลบซ่อนตัวหลังจากที่เสรีภาพทางศาสนาได้กลับคืนมาอีกครั้งในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ช่วงต้นของยุคเมจิ) และได้เข้าร่วมกับศาสนาจักรคาทอลิกหลังประกาศว่าแนวทางเดิมที่ตนนับถือมานั้นไม่ใช่แนวทางดั้งเดิมที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีชาวคริสต์บางส่วนที่ตัดสินใจไม่เข้าร่วมกับศาสนจักรคาทอลิก คนกลุ่มหลังนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ "ฮะนะเระคิริชิตัง" (ญี่ปุ่น: ??????? Hanare Kirishitan ?) หรือ "คริสตังแปลกแยก"