ลัทธิคอมมิวนิสต์ (อังกฤษ: Communism) เป็นขบวนการปฏิบัติสังคมนิยมเพื่อสถาปนาระเบียบสังคมที่ปราศจากชนชั้น เงินและรัฐ โดยตั้งอยู่บนการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตร่วมกัน เช่นเดียวกับอุดมการณ์ทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจซึ่งมุ่งสถาปนาระเบียบสังคมนี้ ขบวนการดังกล่าว ในการตีความแบบลัทธิมากซ์-เลนิน มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อประวัติศาสตร์คริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีการแข่งขันกันดุเดือดระหว่าง "โลกสังคมนิยม" (อันเป็นรัฐสังคมนิยมที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์) และ "โลกตะวันตก" (ประเทศซึ่งมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม)
ทฤษฎีลัทธิมากซ์ถือว่า คอมมิวนิสต์บริสุทธิ์หรือคอมมิวนิสต์สมบูรณ์เป็นขั้นของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์โดยเจาะจงที่ถือกำเนิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการพัฒนากำลังการผลิตซึ่งนำไปสู่ความมั่งคั่งทางวัตถุที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อให้การแจกจ่ายยึดความต้องการและความสัมพันธ์ทางสังคมยึดตามปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้องกันอย่างเสรี นิยามที่แน่ชัดของคอมมิวนิสต์แตกต่างกัน และมักถูกเข้าใจผิด ในวจนิพนธ์การเมืองทั่วไป ว่าใช้แทนคำว่า สังคมนิยม ได้ อย่างไรก็ดี ทฤษฎีลัทธิมากซ์ยืนยันว่า สังคมนิยมเป็นเพียงขั้นเปลี่ยนผ่านบนวิถีสู่คอมมิวนิสต์ ลัทธิเลนินเพิ่มแนวคิดพรรคการเมืองแนวหน้าเพื่อนำการปฏิวัติโดยชนชั้นกรรมาชีพ และเพื่อยึดอำนาจทางการเมืองทั้งหมดหลังการปฏิวัติเพื่อชนชั้นกรรมกร เพื่อการพัฒนาความตระหนักของชนชั้นทั่วโลกและการมีส่วนร่วมของกรรมกร ในขั้นเปลี่ยนผ่านระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยม
ปัจจุบัน คอมมิวนิสต์มักใช้เรียกนโยบายของรัฐคอมมิวนิสต์ นั่นคือ รัฐที่ถูกควบคุมเบ็ดเสร็จโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าสาระของระบบเศรษฐกิจในทางปฏิบัติแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร ตัวอย่างเช่น นโยบายของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งระบบเศรษฐกิจรวมไปถึง "โด่ย เหมย" (Doi Moi) สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งระบบเศรษฐกิจเป็น "เศรษฐกิจตลาดสังคมนิยม" และระบบเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียต ซึ่งอธิบายได้ว่าเป็น "ทุนนิยมโดยรัฐ" โดยนักสังคมนิยมที่มิใช่ลัทธิเลนิน และภายหลังโดยนักคอมมิวนิสต์ผู้คัดค้านแบบจำลองโซเวียตยุคหลังสตาลินมากขึ้น ตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 (เช่น ลัทธิเหมา ลัทธิทร็อตสกี และคอมมิวนิสต์อิสรนิยม และแม้กระทั่งตัววลาดีมีร์ เลนินเอง ในจุดหนึ่ง
ความคิดที่มีรากฐานไปสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์มีมานานมากแล้วในโลกตะวันตก นานกว่าที่มาร์กซ์และเองเกลส์จะเกิดเสียอีก ความคิดที่ว่านี่ย้อนไปได้ถึงยุคกรีกโบราณที่ลัทธิคอมมิวนิสต์ถูกโยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับตำนานเกี่ยวกับยุคทองของมนุษยชาติ ที่ ๆ สังคมอยู่ด้วยกันด้วยความสามัคคีปรองดองกันเสียก่อน จึงร่วมกันสร้างความงอกงามทางวัตถุในภายหลัง แต่บางคนก็แย้งว่า ตำราสาธารณรัฐ (The Republic) ของเพลโตและผลงานอื่นๆ ของนักทฤษฎีรัฐศาสตร์ในยุคโบราณ เพียงแค่สนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ในด้านการอยู่รวมกันในสังคมอย่างปรองดองเท่านั้น รวมถึงหลาย ๆ นิกายในศาสนาคริสต์สมัยเก่า และเน้นเป็นพิเศษในโบสถ์สมัยเก่า ดังที่บันทึกไว้ในบัญญัติแห่งบรรดาอัครสาวก (Acts of the Apostles) อีกทั้งชนเผ่าพื้นเมืองแห่งทวีปอเมริกาก่อนยุคโคลัมบัสบุกเบิก ก็ยังปฏิบัติตามแนวคิดของลัทธิคอมมิวนิสต์ว่าด้วยการอยู่ด้วยกันเป็นสังคมและครอบครองวัตถุร่วมกัน รวมถึงอีกหลายๆ ชนชาติที่พยายามที่จะก่อตั้งสังคมคอมมิวนิสต์ได้แก่ นิกายเอซเซนแห่งยิว (Essenes) และนิกายยูดาทะเลทราย
ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 นักบุญโทมัส มอร์ นักเขียนชาวอังกฤษกล่าวในหนังสือยูโทเปีย (Utopia) ของเขาว่า สังคมทุกสังคมมีรากฐานอยู่ที่การครอบครองวัตถุชิ้นใดๆ ร่วมกัน โดยมีหัวหน้าอยู่หนึ่งคนหรือหนึ่งคณะที่มีหน้าที่นำมันไปใช้ตามหลักแห่งเหตุและผลที่เหมาะสม ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 17 แนวคิดคอมมิวนิสต์ผุดขึ้นมาอีกครั้งในประเทศอังกฤษ เมื่อเอ็ดเวิร์ด เบิร์นสไตน์กล่าวในผลงานแห่งปี พ.ศ. 2438 (ค.ศ. 1895) ของเขา ครอมเวลล์และคอมมิวนิสต์ (Cromwell and Communism) อย่างเผ็ดร้อนว่ามีหลาย ๆ กลุ่มในสงครามกลางเมืองอังกฤษ โดยเฉพาะพวกนักขุดหรือผู้เผยเปลือกใน (Digger หรือ True Leveller) ที่แสดงการสนับสนุนแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน เน้นความสำคัญไปที่บรรดาชาวไร่ชาวนา ซึ่งทัศนคติของ โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ต่อคนกลุ่มนี้มักเป็นความรำคาญ หรือแม้กระทั่งแสดงความเป็นศัตรูต่อคนกลุ่มนี้อย่างชัดเจน ความไม่เห็นด้วยครอบครองวัตถุแต่เพียงผู้เดียวยังคงถูกแย้งมาโดยตลอดในยุคแสงสว่าง (The Age of Enlightenment) แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 18 ผ่านนักวิชาการชื่อดังเช่น ชอง-ชาก รุสโซ รวมถึงนักเขียนสังคมนิยมยูโทเปีย เช่น โรเบิร์ต โอเวน ซึ่งบรรดาบุคคลเหล่านี้ก็ถูกขนานนามว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในบางครั้ง
คาร์ล มาร์กซ์เห็นว่าแนวคิดคอมมิวนิสต์ในช่วงเริ่มแรกนั้นคือสถานะดั้งเดิมของมนุษยชาติที่พัฒนาตนเองขึ้นมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ควบคู่ไปกับระบบฟิวดัล ที่เป็นสถานะของระบบทุนนิยมในขณะนั้น เขาจึงเสนอก้าวต่อไปในวิวัฒนาการทางสังคมกลับไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ ที่มีระดับสูงกว่าแนวคิดคอมมิวนิสต์เก่าๆ ที่มนุษยชาติเคยปฏิบัติกันมา
ในขณะเดียวกัน ลัทธิคอมมิวนิสต์ก็เติบโตมาจากการเคลื่อนไหวของชนผู้ใช้แรงงานในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมพัฒนายิ่งขึ้น แต่นักวิชาการหัวคิดสังคมนิยมเห็นว่าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมทำให้กำลังแรงงานด้อยคุณภาพลง ในขณะที่คนงานที่ทำงานในโรงงานกลางเมืองก็ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายยิ่งขึ้น และช่องว่างที่แคบลงระหว่างคนรวยและคนยากไร้
มาร์กซ์และเองเกลส์พยายามหาแนวทางที่จะนำจุดจบมาสู่ระบบทุนนิยมและการกดขี่ผู้ใช้แรงงานเหมือนกับนักสังคมนิยมคนอื่นๆ แต่ในขณะที่นักสังคมนิยมคนอื่นหวังถึงการค่อยๆ ปฏิรูปสังคมในระยะยาว ทั้งมาร์กซ์และเองเกิลส์คิดว่ามีอยู่หนทางเดียวเท่านั้นที่จะนำไปสู่ระบอบสังคมนิยมได้ นั่นคือการปฏิวัติ
ตามที่ข้อสนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ของมาร์กซ์กล่าวไว้ว่า ลักษณะเฉพาะของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในสังคมชนชั้นคือความไม่สนใจซึ่งกันและกัน และยังกล่าวอีกว่าความคิดแบบคอมมิวนิสต์คือสิ่งที่มนุษย์ปรารถนา เพราะมันนำมาซึ่งความหยั่งรู้และการพบกับอิสรภาพแห่งมนุษย์อย่างแท้จริง มาร์กซ์ในที่นี้กล่าวตามนักปรัชญาชาวเยอรมัน ยอร์ช วิลเฮล์ม ฟรีดดิช ฮีเกล (G.W.F. Hegel) ที่กล่าวว่าอิสรภาพมิใช่เพียงแค่การมิให้อำนาจเข้ามาควบคุมเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการกระทำที่มีสำนึกศีลธรรมอีกด้วย ไม่เพียงแค่ระบอบคอมมิวนิสต์จะทำให้คนทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการเท่านั้น แต่การทำให้มนุษย์ที่มีสถานภาพเดียวกันและความเหมือนกันนั้น จะทำให้พวกเขาไม่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์สู่ตนเองอีกต่อไป ในขณะที่เฮเกลคิดถึงการใช้ชีวิตตามหลักจรรยา ผ่านมโนภาพที่ยิ่งใหญ่ แต่สำหรับมาร์กซ์แล้ว คอมมิวนิสต์นั้นเกิดขึ้นได้จากวัตถุและผลิตผล โดยเฉพาะการพัฒนารายได้ที่ประชาชนจะได้รับจากการผลิต
ลัทธิมาร์กซ์นั้นยึดถือว่า กระบวนการแตกแยกระหว่างชนชั้นที่ต่างกัน ผสมกับการดิ้นรนต่อสู่ที่จะปฏิวัติ จะนำชัยชนะมาสู่ชนชั้นแรงงาน และนำมาซึ่งการก่อตั้งสังคมคอมมิวนิสต์ที่ที่สิทธิ์ในการการครอบครองทรัพย์สมบัติส่วนบุคคลจะค่อย ๆ ถูกลบล้างไป และรายได้ของประชาชนจากการผลิต และความเป็นอยู่ที่ยึดติดอยู่กับชุมชนจะค่อย ๆ เข้ามาแทนที่ ตัวมาร์กซ์เองนั้นชี้แจงไว้เพียงเล็กน้อย เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่เมื่ออยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ แต่กล่าวถึงข้อมูลเฉพาะส่วนหลัก ๆ ที่เป็นแนวทางไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์เท่านั้น ซึ่งส่วนมากจะเกี่ยวกับการลดขอบเขตของสิ่งที่บุคคลพึงกระทำ เห็นได้จากสโลแกนของกลุ่มเคลื่อนไหวลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มีความว่า สังคมคอมมิวนิสต์คือโลกที่ทุก ๆ คนทำในสิ่งที่พวกเขาถนัด และได้รับตามที่พวกเขาต้องการ ตัวอย่างที่อธิบายแนวคิดของมาร์กซ์มาจากผลงานเขียนเพียงไม่กี่ชิ้นของเขาที่มีข้อมูลเกี่ยวกับอนาคตของลัทธิคอมมิวนิสต์โดยละเอียด คือ แนวคิดลัทธิของเยอรมัน (The German Ideology) ในปี พ.ศ. 2388 (ค.ศ. 1845) งานชิ้นนั้นมีใจความว่า:
วิสัยทัศน์ที่มั่นคงของมาร์กซ์ ทำให้วิสัยทัศน์นี้กลายเป็นทฤษฎีวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับความเป็นไปของสังคมที่เป็นระบบ ภายใต้ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์อย่างแท้จริง และเป็นทฤษฎีทางการเมืองที่อธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องกระทำการปฏิวัติเพื่อได้สิ่งใดๆ มาที่มีข้อกังขาเล็กน้อย
ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 นิยามของคำว่า ระบอบสังคมนิยม และ ระบอบคอมมิวนิสต์ มักถูกใช้แทนกัน อย่างไรก็ตาม มาร์กซ์และเองเกิลส์เห็นว่า สังคมนิยมคือระดับปานกลางของสังคมที่ทรัพย์สมบัติส่วนใหญ่จากการผลิตมีมวลชนเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยที่ยังคงความแตกต่างระหว่างชนชั้นไว้เล็กน้อย โดยที่พวกเขาสงวนนิยามของระบอบคอมมิวนิสต์ไว้ว่า เป็นขั้นสุดท้ายของสังคมที่ไม่มีความแตกต่างระหว่างชนชั้น ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี และรัฐบาลเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป
หลักเกณฑ์เหล่านี้ต่อมาจึงถูกพัฒนา โดยเฉพาะจาก วลาดิมีร์ เลนิน ซึ่งมีอิทธิพลในการกำหนดลักษณะของพรรคคอมมิวนิสต์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ให้โดดเด่น นักเขียนรุ่นต่อมาเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ของมาร์กซ์โดยมอบอำนาจให้กับรัฐให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาสังคมดังกล่าว โดยแย้งว่าการที่จะให้เป็นคอมมิวนิสต์โดยสมบูรณ์ได้นั้น ต้องเริ่มมาจากการเป็นสังคมนิยมเสียก่อน จึงค่อย ๆ แปลงสังคมภายใต้ระบอบสังคมนิยม ให้กลายเป็นสังคมคอมมิวนิสต์โดยสมบูรณ์
คนรุ่นเดียวกับมาร์กซ์บางคน เช่น อนาธิปัตย์อย่าง มิคาเอล บาคูนิน ก็สนับสนุนแนวคิดคล้าย ๆ กัน แต่ต่างกันในทัศนคติของพวกเขาในเรื่องของวิธีที่จะนำไปสู่สังคมสามัคคีที่ไร้ชนชั้นได้ จนมาถึงทุกวันนี้ยังคงมีการแบ่งกลุ่มเคลื่อนไหวของคนงานอยู่ระหว่างกลุ่มลัทธิคอมมิวนิสต์ของมาร์กซ์และกลุ่มอนาธิปัตย์ โดยที่พวกอนาธิปัตย์มีความคิดเป็นปฏิปักษ์และต้องการที่จะล้มล้างทุกอย่างที่เป็นของรัฐบาล แต่ในหมู่พวกเขาก็มีนักอนาธิปัตย์-คอมมิวนิสต์อย่าง ปีเตอร์ โครพอตคิน ที่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ไร้ชนชั้นในทันที ในขณะที่นักอนาธิปัตย์-สหการนิยมเชื่อในสหภาพแรงงานที่เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำในสังคม ตรงกันข้ามกับพรรคคอมมิวนิสต์ (ที่เชื่อในสังคมไร้ชนชั้น นั่นคือไม่มีผู้นำ)
ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แนวทฤษฎีของมาร์กซเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดพรรคสังคมนิยมทั่วยุโรป แม้ว่านโยบายของพวกเขาในเวลาต่อมาจะค่อนข้างคล้อยตามกับระบอบทุนนิยมที่กำลังปรับเปลี่ยนตัวเอง มากกว่าที่จะก่อการรัฐประหาร ยกเว้นพรรคแรงงานสังคมประชาธิปัตย์แห่งรัสเซีย (Russian Social Democratic Workers' Party) โดยหนึ่งในกลุ่มในพรรค ที่เป็นที่รู้จักในนามของกลุ่มบอลเชวิก ซึ่งนำโดยวลาดิมีร์ เลนินที่ประสบความสำเร็จในการปกครองประเทศหลังจากการล้มล้างรัฐบาลรักษาการณ์ในการปฏิวัติรัสเซีย (Russian Revolution of 1917) ใน พ.ศ. 2460 (ค.ศ. 1917) ในปีต่อมา พรรคดังกล่าวเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งจากนั้นมาทำให้เกิดข้อแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างระบอบคอมมิวนิสต์และระบอบสังคมนิยม
หลังจากประสบความสำเร็จในการปฏิวัติตุลาคม (October Revolution) ในรัสเซีย ทำให้พรรคสังคมนิยมในหลายๆ ประเทศเปลี่ยนตัวเองเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีความภักดีต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตที่แตกต่างกันไป เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง คณะบริหารที่เรียกตนเองว่าคอมมิวนิสต์ก็เข้ายึดอำนาจในยุโรปตะวันออก ในปี พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) พวกคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน นำโดยเหมาเจ๋อตุงก็ขึ้นสู่อำนาจและก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างนั้นบรรดาประเทศโลกที่สามต่างก็รับระบอบคอมมิวนิสต์เข้ามาเป็นระบอบการปกครองได้แก่คิวบา เกาหลีเหนือ เวียดนาม ลาว แองโกลา และโมซัมบิก ในต้นทศวรรษที่ 1980 ประชากรหนึ่งในสามของโลกถูกปกครองภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์
ความเชื่อแบบคอมมิวนิสต์ถือว่าเป็นเรื่องต้องห้ามในสหรัฐอเมริกา จากประวัติศาสตร์การต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์มาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามเย็นของอเมริกา ต่อมาในต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1970 นิยามใหม่ที่เรียกว่า "ยูโรคอมมิวนิสต์" (Eurocommunism) ก็ถูกใช้ระบุถึงนโยบายใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันตก ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ที่ตั้งใจจะปฏิเสธการช่วยเหลือที่ไม่มากนักและไม่คงเส้นคงวาของสหภาพโซเวียต บางพรรคดังกล่าวถือว่าเป็นพรรคใหญ่และเป็นหัวคะแนนในการเลือกตั้งได้แก่ในฝรั่งเศสและอิตาลี แต่จากการล่มสลายของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกจากช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 จนไปถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียตใน พ.ศ. 2534 (ค.ศ. 1991) ทำให้อิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ลดลงไปอย่างมากในยุโรป อย่างไรก็ตามประชากรหนึ่งในสามของโลกก็ยังคงตกอยู่ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์อยู่ดี