ความเห็นพ้องทางวิทยาศาสตร์ (อังกฤษ: Scientific consensus) หรือ มติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ เป็นข้อตัดสิน จุดยืน และความเห็น โดยรวม ๆ ของชุมชนนักวิทยาศาสตร์ในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง คำว่า มติส่วนใหญ่ หมายถึงการเห็นพ้องกันโดยทั่ว ๆ ไป ไม่ใช่ความเป็นเอกฉันท์
นักวิทยาศาสตร์จะถึงมติส่วนใหญ่ได้ก็ต้องอาศัยงานประชุม กระบวนการตีพิมพ์ (เช่นหนังสือหรือวารสารวิทยาศาสตร์) การทำงานทดลองซ้ำ (ที่ได้ผลอย่างเดียวกันโดยผู้อื่น) และกระบวนการทบทวนระดับเดียวกัน ซึ่งรวมกันมีผลเป็นสถานการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์ในสาขานั้น บ่อยครั้งสามารถรู้ได้ว่าอะไรเป็นมติส่วนใหญ่ แต่การบอกบุคคลอื่น ๆ นอกสาขาว่า มีมติส่วนใหญ่ อาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะว่า การอภิปรายที่เป็นเรื่องธรรมดาของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ อาจจะปรากฏต่อบุคคลภายนอกว่าเป็นการต่อสู้กัน บางครั้ง จะมีสถาบันวิทยาศาสตร์ที่พิมพ์คำแถลงการณ์เกี่ยวกับจุดยืน เพื่อสื่อสารใจความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นใดประเด็นหนึ่ง จากบุคคลภายในไปยังกลุ่มบุคคลภายนอก ในกรณีที่ไม่มีข้อโต้เถียงกันมากในประเด็นใต้การศึกษา การถึงมติส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา
อาจจะมีการอ้างถึงมติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ในการอภิปรายทั่วไปหรือทางการเมือง เกี่ยวกับประเด็นที่ยังเป็นเรื่องโต้เถียงยังไม่ยุติในมวลชน แต่ความจริงไม่ใช่เรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ เช่นประเด็นเรื่องวิวัฒนาการ หรือเรื่องการฉีดวัคซีนรวมแบบ MMR ที่ไม่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ รวมทั้งออทิซึม หรือเรื่องโลกร้อน
มีทฤษฎีทางปรัชญาและประวัติศาสตร์ที่แสดงแบบจำลองว่า มติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์สามารถเปลี่ยนไปได้อย่างไรตามกาลเวลา แต่เพราะว่า ประวัติการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์ซับซ้อนมาก และเพราะความโน้มเอียงที่จะยกว่ามี "ผู้ชนะ" และ "ผู้แพ้" ในอดีตเมื่อเปรียบเทียบกับมติส่วนใหญ่ใน "ปัจจุบัน" จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะสร้างแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์ที่แม่นยำและใช้ได้ในทุกกรณี นอกจากนี้ สาขาต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์ยังดำเนินไปไม่เหมือนกัน เกี่ยวกับรูปแบบของหลักฐานและวิธีการทดลอง ซึ่งทำให้การสร้างแบบจำลองนั้นยากยิ่งขึ้น
แบบจำลองการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์โดยมาก อาศัยการได้ข้อมูลใหม่ ๆ เพิ่มจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ นักปรัชญาวิทยาศาสตร์คาร์ล ป็อปเปอร์ เสนอว่า เพราะว่า ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ไม่สามารถจะ "พิสูจน์" ได้ไม่ว่าจะมีการทดลองเป็นจำนวนเท่าไร แต่เพียงแค่การทดลองเดียวเท่านั้นก็สามารถจะล้มทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ได้ ดังนั้น วิทยาศาสตร์ควรจะตั้งอยู่ในมูลฐานของการพิสูจน์ว่าเป็นเท็จได้ (falsifiability) แม้ว่านี้จะเป็นทฤษฎีเชิงตรรกวิทยาของวิทยาศาสตร์ แต่มันก็ไม่ได้สะท้อนให้เห็นว่ามติทางวิทยาศาสตร์ควรจะดำเนินไปอย่างไรตามกาลเวลา
มีนักวิชาการท่านอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้เช่น ดร.โทมัส คูน ผู้เสนอว่า การทดลองย่อมให้ข้อมูลบางอย่างที่ไม่สามารถเข้ากับทฤษฎีวิทยาศาสตร์ได้ และดังนั้น การพิสูจน์ว่าเท็จอย่างเดียวจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมติทางวิทยาศาสตร์ หรือสามารถทำลายมติของนักวิทยาศาสตร์ได้ และเสนอว่า มติส่วนใหญ่จะเป็นไปอย่างเป็นรูปแบบ (paradigm) ซึ่งเป็นระบบการเชื่อมต่อกันของทฤษฎีต่าง ๆ และของข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับธรรมชาติของทฤษฎี เป็นระบบที่รวมนักวิทยาศาสตร์เข้าเป็นพวกเดียวกัน
ดร.คูนเสนอว่า หลังจากที่สะสมข้อมูลผิดปกติที่สำคัญจนถึงระดับหนึ่งเท่านั้น ที่มติส่วนใหญ่ทางวิทยาศาสตร์จะเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ณ จุดนี้ จะมีการสืบหาทฤษฎีใหม่ ๆ และในที่สุด รูปแบบ (paradigm) อีกอย่างหนึ่ง ก็จะได้รับชัยชนะเหนือรูปแบบเก่า เป็นพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์โดยเป็นวัฏจักรของรูปแบบ ไม่ใช่เป็นพัฒนาการเชิงเส้น แบบจำลองของ ดร.คูนยังเน้นอิทธิพลด้านสังคมและด้านบุคคลของความเปลี่ยนแปลงทางทฤษฎี โดยแสดงตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ว่า มติส่วนใหญ่ทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้อาศัยความสมเหตุผลโดยสุทธิ หรืออาศัยความจริงโดยอย่างเดียว แต่ให้สังเกตว่า ช่วงเวลา "ปกติ" และช่วง "วิกฤติ" ไม่ได้อยู่แยกจากกันโดยสิ้นเชิง คืองานวิจัยได้แสดงว่า ตามประวัติ นี้เป็นรูปแบบการดำเนินงานต่าง ๆ แทนที่จะเป็นช่วงระยะเวลาต่าง ๆ
ในการอภิปรายทางการเมือง ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการออกนโยบายของรัฐมักจะใช้คำพูดว่ามีมติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ในสาขาใดสาขาหนึ่ง เพื่อแสดงความสมเหตุสมผลของทฤษฎีหนึ่งที่ใช้สนับสนุนนโยบาย และโดยนัยตรงกันข้ามกัน ผู้ที่พูดว่าไม่มีมติส่วนใหญ่จากนักวิทยาศาสตร์ อาจจะได้ผลประโยชน์จากนโยบายอย่างอื่นที่คลุมเครือกว่า
ยกตัวอย่างเช่น มีมติส่วนใหญ่ทางวิทยาศาสร์ว่า ผิวโลกร้อนขึ้นในช่วงทศวรรษที่เพิ่งผ่าน ๆ มา และเป็นความโน้มเอียงที่เกิดขึ้นโดยหลักเพราะการปล่อยแก๊สเรือนกระจกโดยกิจกรรมของมนุษย์ มีนักประวัติวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่ง (ดร. Naomi Oreskes) ที่เขียนบทความในวารสารวิทยาศาสตร์ Science รายงานว่า จากการสำรวจบทคัดย่อของบทความทางวิทยาศาสตร์ตีพิมพ์ระหว่าง ค.ศ. 1993-2003 ไม่พบบทความใดที่ไม่เห็นด้วยอย่างชัดแจ้งเกี่ยวกับแนวคิดว่า โลกร้อนขึ้นเพราะเหตุจากมนุษย์ ในบทความบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ Washington Post เธอได้กล่าวว่า ผู้ที่ต่อต้านการค้นพบทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้ กำลังเพียงแค่ขยายความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความจริงทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นความไม่แน่นอนในระดับปกติ ให้กลายเป็นเหมือนว่ามีความไม่ลงรอยกันทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ คือการไม่มีมติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ สิ่งที่เธอค้นพบ สามารถทำซ้ำได้โดยวิธีอื่นโดยที่ไม่ต้องอาศัยการตีความ
ทฤษฎีวิวัฒนาการผ่านการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ก็เป็นเรื่องที่สนับสนุนอย่างท่วมท้นโดยมติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาตร์ เป็นทฤษฎีที่เชื่อถือได้ดีที่สุด ที่มีการทดสอบเชิงประสบการณ์มากที่สุดทฤษฎีหนึ่งในวิทยาศาสตร์ แต่ผู้ต่อต้านทฤษฎีนี้กลับอ้างว่า มีความไม่เห็นด้วยอย่างสำคัญในชุมชนนักวิทยาศาตร์ และมีการดำเนินงานเริ่มและพัฒนาความรู้สึกของมวลชนว่า ไม่มีมติส่วนใหญ่ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการ
ความไม่แน่นอนที่เป็นธรรมชาติของวิทยาศาตร์ คือการที่ทฤษฎีไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่สามารถพิสูจน์ว่าเป็นเท็จได้ เป็นปัญหาสำหรับนักการเมือง ผู้วางนโยบาย นักกฎหมาย และนักธุรกิจ คือ แม้ว่าคำถามทางวิทยาศาสตร์และปรัชญาสามารถดำเนินไปกับความไม่แน่นอนได้เป็นทศวรรษ ๆ ในสาขาวิชาการหนึ่ง ๆ แต่ผู้ออกนโยบายจำต้องตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่ แม้ว่าจะเป็นข้อมูลที่อาจไม่ใช่เวอร์ชั่นสุดท้ายของ "ความจริง" และสิ่งที่ยากก็คือ จะต้องกำหนดว่า อะไรใกล้ต่อความจริงเพียงพอแล้ว ยกตัวอย่างเช่น การดำเนินการทางสังคมต่อต้านการสูบบุหรี่จริง ๆ แล้วค่อนข้างเนิ่นช้า แม้หลังเกิดมติส่วนใหญ่ทางวิทยาศาสตร์ว่ามีโทษทางสุขภาพ แล้ว
ในเรื่องบางเรื่อง เช่นการอนุมัติให้ใช้เทคโนโลยีบางอย่างสำหรับมวลชน เป็นสิ่งที่อาจมีผลยาวนานทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และต่อประชากร ถ้าสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พยากรณ์ไว้ไม่ได้เป็นไปตามความคาดหมาย แต่ว่า ถ้าหวังว่า นโยบายในเรื่อง ๆ หนึ่งควรจะสะท้อนข้อมูลที่มีอยู่ และสะท้อนแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ที่มีการรับรองเป็นอย่างดีที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ที่สังเกตเห็นได้ มันก็ไม่มีข้อมูลหลักฐานอื่นที่ดีกว่านอกจาก "มติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาตร์" ที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการออกแบบนโยบายและการบังคับใช้ อย่างน้อยก็ในกรณีที่การออกนโยบายดูจะเป็นเรื่องจำเป็น แม้ว่า วิทยาศาสตร์จะไม่สามารถแสดงความจริงสัมบูรณ์ หรือแม้แต่ความผิดพลาดสัมบูรณ์ให้ได้ มันก็ยังมีประโยชน์ในการช่วยแนะแนวทางนโยบาย โดยมีแนวโน้มเพื่อเพิ่มประโยชน์ให้แก่สังคม และเพื่อลดความเสียหาย ถ้ามีทัศนคติเช่นนี้ การบังคับว่า นโยบายจำต้องอาศัยสิ่งที่พิสูจน์แล้ว เป็น "ความจริงทางวิทยาศาสตร์" เท่านั้น นี่จะเป็นเหตุนำไปสู่ความเป็นอัมพาตทางสังคม และโดยปริยาย จะเป็นการใช้นโยบายยอมรับความเสียหายและความเสี่ยง ที่เห็นได้และเห็นไม่ได้ ที่เกิดจากการไม่มีนโยบายที่อาศัยมติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาตร์
ไม่มีส่วนไหนของนโยบายที่สร้างขึ้นบนรากฐานมติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ ที่ห้ามไม่ให้ทบทวนบ่อย ๆ ในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมติของนักวิทยาศาสตร์เอง หรือว่าผลที่เห็นได้จากการออกนโยบาย จริง ๆ แล้ว เหตุผลที่ผลักดันให้อาศัยมติทางวิทยาศาสตร์ในการสร้างนโยบาย ก็จะเป็นตัวผลักดันให้มีการประเมินผลบ่อย ๆ ในกาลต่อไป และให้เกิดการปรับนโยบายถ้าจำเป็น
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/ความเห็นพ้องทางวิทยาศาสตร์