ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ (ไอริช: An Gorta M?r, อังกฤษ: Irish Potato Famine) ภาษาเกลลิค “An Gorta M?r” แปลตรงตัวว่า “ความโหยหิวอันยิ่งใหญ่” หรือ “An Drochshaol” ที่แปลว่า “ชีวิตอันตกอับ” เป็นสมัยที่เกิดทุพภิกขภัย โรคระบาด และการย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ระหว่างปี ค.ศ. 1845 จนถึงปี ค.ศ. 1852 ที่ทำให้จำนวนประชากรลดลงไปถึงราวระหว่าง 20 ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ชาวไอร์แลนด์ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเสียชีวิตไปราวหนึ่งล้านคน และอีกกว่าล้านคนอพยพหนีความยากเข็ญออกนอกประเทศ สาเหตุของวิกฤติการณ์ทุพภิกขภัยมาจากภาวะการขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้นเมื่อเชื้อโรคมันฝรั่งที่รู้จักกันว่ารามันฝรั่ง (Potato blight หรือ Phytophthora infestans ) ทำลายผลผลิตมันฝรั่งส่วนใหญ่ของไอร์แลนด์ แม้ว่าเชื้อราเดียวกันนี้จะทำลายผลผลิตของมันฝรั่งไปทั่วยุโรปในระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1840 แต่ผลกระทบกระเทือนที่มีต่อชีวิตของประชากรในไอร์แลนด์—ซึ่งหนึ่งในสามของประชากรบริโภคมันฝรั่งเป็นอาหารหลัก—รุนแรงมากกว่าที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นๆ ในยุโรป แต่สาเหตุที่มาจากปัจจัยหลายอย่าง ที่รวมทั้งสภาวะทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ก็ยังคงเป็นหัวข้อทางประวัติศาสตร์ที่แม้ในปัจจุบันยังคงเป็นเรื่องที่โต้แย้งกันอยู่
ทุพภิกขภัยเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อประวัติศาสตร์ไอร์แลนด์ ผลกระทบกระเทือนครั้งนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรต่อลักษณะของประชากร การเมือง และวัฒนธรรมของไอร์แลนด์ สำหรับทั้งชาวไอร์แลนด์และชาวไอร์แลนด์พลัดถิ่นแล้ว ทุพภิกขภัยกลายเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำพื้นบ้าน และกลายมาเป็นเหตุผลของการรณรงค์ของขบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวกับความเป็นชาตินิยมของไอร์แลนด์ นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่มีความเห็นว่าเหตุการณ์นี้เป็นจุดสำคัญพอที่จะที่ใช้ในการแบ่งช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ของไอร์แลนด์ออกเป็น “สมัยก่อนอดอยาก” และ “สมัยหลังอดอยาก”
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1801 ภายใต้พระราชบัญญัติสหภาพ ไอร์แลนด์ปกครองโดยตรงในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร อำนาจการบริหารตกอยู่ในมือของข้าหลวงใหญ่แห่งไอร์แลนด์และเลขาธิการเอกแห่งไอร์แลนด์ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลบริติช ไอร์แลนด์มีสมาชิกรัฐสภา 105 คนในสภาสามัญชน และ ขุนนางสืบตระกูลไอร์แลนด์ก็เลือกสมาชิกในกลุ่มของตนเองอีก 28 คนสำหรับนั่งในสภาขุนนาง ระหว่างปี ค.ศ. 1832 จนถึงปี ค.ศ. 1859 เจ็ดสิบห้าเปอร์เซ็นต์ของผู้แทนของไอร์แลนด์มาจากเจ้าของที่ดินหรือลูกของเจ้าของที่ดิน
ในช่วงสี่สิบปีหลังการรวมตัวเป็นสหราชอาณาจักรรัฐบาลบริติชต่อมาหลายรัฐบาลก็พยายามหาวิธีแก้ปัญหาการปกครองในไอร์แลนด์ ตามที่เบนจามิน ดิสราเอลีกล่าวในปี ค.ศ. 1844 ว่า “ประชากรเต็มไปด้วยทุพภิกขภัย, ขุนนางที่ไม่มีตัวตน, สถาบันศาสนาที่เข้าไม่ถึงประชาชน และระบบบริหารที่ย่ำแย่ที่สุดในโลก” นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งคำนวณว่าระหว่างปี ค.ศ. 1801 จนถึงปี ค.ศ. 1845 รัฐบาลก่อตั้งคณะกรรมาธิการ 114 คณะ และคณะกรรมาธิการพิเศษอีก 61 คณะ เพื่อทำการศึกษาสถานการณ์ของไอร์แลนด์ ซึ่งต่างก็เห็นพ้องกัน “โดยไม่มีข้อยกเว้นจากการวินิจฉัยที่ต่างก็ทำนายถึงวิกฤติการณ์ที่จะเกิดขึ้นที่รวมทั้ง: ไอร์แลนด์อยู่ในภาวะที่ใกล้จะอดตาย, ประชากรทวีจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว, ประชากรสามในสี่ไม่มีงานทำ, สภาวะการอยู่อาศัยอยู่ในสภาพที่น่าขยะแขยง และ มาตรฐานความเป็นอยู่อยู่ในระดับต่ำอย่างเหลือเชื่อ” สภาวะของสังคมดังกล่าวนี้ตรงกันกับข้ามกับสภาวะสังคมในบริเตนในช่วงเวลาเดียวกัน ในขณะนั้นบริเตนเริ่มจะได้รับผลประโยชน์จากความมั่งมีของสมัยใหม่ของสมัยวิคตอเรียที่เป็นผลจากความเจริญรุ่งเรืองของยุคอุตสาหกรรม
นอกจากนั้นกฎหมายที่จำกัดการศึกษาสำหรับชาวไอริชคาทอลิก และการเป็นเจ้าของที่ดินก็เป็นผลให้ความเจริญเช่นที่เกิดขึ้นในอังกฤษเป็นไปได้ยากในไอร์แลนด์ จนกระทั่งเมื่อกฎหมายอาญาถูกยกเลิกเพียงห้าสิบปีก่อนที่จะเกิดวิกฤติการณ์ทุพภิกขภัย แต่การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจก็เป็นไปอย่างเชื่องช้าเพราะครอบครัวที่เป็นเจ้าของที่ดินก็ยังคงรักษาที่ดินไว้ในมือ
นโยบายปลดแอกคาทอลิกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1829 ประชากรของไอร์แลนด์ 80 เปอร์เซ็นต์นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนที่อยู่ในสภาพที่ยากจนและไม่มีความมั่นคงทางสังคม ในขณะที่ชนชั้นสูงในสังคมเป็นผู้นับถือคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ ที่เป็นครอบครัวชาวอังกฤษหรือชาวอังกฤษ-ไอร์แลนด์ ผู้มีฐานะเป็นเจ้าของที่ดินเกือบทั้งหมด และมีอำนาจอันไม่มีขอบเขตเหนือผู้ทำงานในที่ดิน เจ้าของที่ดินบางคนก็มีที่ดินเป็นจำนวนมากเช่นเอิร์ลแห่งลูคันที่เป็นเจ้าของที่ดินถึง 240 ตารางกิโลเมตร เจ้าของที่ดินหลายคนมีที่พักในอังกฤษซึ่งทำให้เป็นเพียงเจ้าของที่ดินที่ไม่มีตัวตน (absentee landlords) เจ้าของที่ดินเหล่านี้ใช้ตัวแทนในการบริหารที่ดินในไอร์แลนด์และส่งรายได้ที่ได้รับกลับไปอังกฤษ เจ้าของที่ดินที่ไม่มีตัวตนที่อาศัยอยู่ในอังกฤษบางคนก็ไม่เคยแม้แต่จะเหยียบแผ่นดินไอร์แลนด์ ได้แต่เพียงเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าผู้ยากเข็ญ หรือจ่ายค่าจ้างเพียงจำนวนเพียงเล็กน้อยทำการเกษตรกรรมหรือเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อส่งออก
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1843 เมื่อรัฐบาลบริติชภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเซอร์ โรเบิร์ต พีลพิจารณาเห็นว่าปัญหาที่ดินเป็นบ่อเกิดของความไม่พึงพอใจที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์ พีลก็ได้ก่อตั้งคณะกรรมาธิการเดวอน (Devon Commission) โดยมีเอิร์ลแห่งเดวอนเป็นประธานเพื่อสืบสวนเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเป็นเจ้าของที่ดินในในไอร์แลนด์ นักการเมืองไอริชแดเนียล โอคอนเนลวิจารณ์คณะราชกรรมาธิการชุดนี้ว่าเป็นคณะกรรมการข้างเดียวอย่างแท้จริงเพราะสมาชิกทั้งหมดเป็นเจ้าของที่ดินโดยไม่มีตัวแทนที่เป็นผู้เช่าที่ดิน ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1845 คณะราชกรรมาธิการก็รายงานว่า “เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะบรรยายถึงความลำบากยากเข็ญที่[ชนชั้นแรงงานชาวไอริชและครอบครัว]ต้องทนกันมาอย่างไม่มีปากมีเสียง . . . ในบางแขวงอาหารอย่างเดียวที่มีเลี้ยงปากเลี้ยงท้องก็มีแต่มันฝรั่ง . . .กระท่อมที่อยู่ก็แทบจะไม่มีการป้องกันจากสภาวะอากาศ . . .เตียงหรือผ้าห่มก็หายากที่จะมีกัน . . .และทรัพย์สมบัติอย่างเดียวที่มีกันเกือบทุกคนก็คือหมูและกองขี้หมู” สมาชิกของคณะราชกรรมาธิการสรุปว่าสมาชิกเอง “ไม่อาจจะยับยั้งที่จะกล่าวถึงความอดทนต่อสภาวะอันแสนเข็ญของชนชั้นแรงงานที่คณะกรรมาธิการเชื่อว่าเป็นความลำบากอันมากกว่าชาติใดใดในยุโรปที่ต้องทน”
คณะราชกรรมาธิการกล่าวว่าต้นตอของปัญหามาจากความสัมพันธ์อันเลวร้ายระหว่างเจ้าของที่ดินและผู้เช่าที่ดิน ซึ่งเป็นภาวะของการขาดความจงรักภักดีต่อเจ้าของที่ดิน และเจ้าของที่ดินเองก็ขาดความรับผิดชอบในการพิทักษ์ผู้ทำงานในที่ดิน ซึ่งแตกต่างกับที่ปฏิบัติกันในอังกฤษเพราะไอร์แลนด์เป็นดินแดนที่ถูกพิชิต เมื่อเอิร์ลแห่งแคลร์กล่าวถึงเจ้าของที่ดินว่า “การยึดที่ดินเป็นเรื่องที่ทำกันโดยปกติ” นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษเซซิล วูดแดม-สมิธกล่าวว่าเจ้าของที่ดินถือว่าที่ดินเป็นแหล่งหารายได้สำหรับการบีบคั้นให้ได้รายได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะที่ชาวไอริช “ก้มหน้าก้มตาวิตกถึงความไม่พึงพอใจต่างๆ ที่เกิดขึ้น” ตามความเห็นของเอิร์ลแห่งแคลร์เจ้าของที่ดินมีความเห็นว่าไอร์แลนด์คือดินแดนที่ไม่เป็นมิตรสำหรับการใช้เป็นที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นผลทำให้เจ้าของที่ดินเลี่ยงที่จะพำนักอยู่กับที่ดินและกลายมาเป็นเจ้าของที่ดินล่องหนกันไปตามตามกัน จะมีบางคนทีอาจจะเดินทางไปดูที่ครั้งหรือสองครั้งในชีวิต ค่าเช่าที่ได้รับมาก็นำไปใช้ในอังกฤษ ซึ่งในปี ค.ศ. 1842 ประมาณกันว่าได้มีการนำเงินออกจากไอร์แลนด์เป็นจำนวนถึง ?6,000,000 การเก็บค่าเช่าก็ตกอยู่ในความรับผิดชอบของผู้จัดการที่ทำงานให้แก่เจ้าของที่ดิน ซึ่งตามความเห็นของวูดแดม-สมิธแล้ว ความมีประสิทธิภาพของผู้จัดการก็วัดได้จากการเรียกเก็บหรือขูดค่าเช่าจากผู้เช่าที่ดิน
ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก็ได้มีการนำระบบใหม่ในการบริหารอสังหาริมทรัพย์ของเจ้าของที่ดินเข้ามาใช้ในรูปของ “ระบบคนกลาง” ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้เจ้าของที่ดินได้รับรายได้จากที่ดินอย่างสม่ำเสมอและลดภาระจากความรับผิดชอบต่างๆ ลง แต่ผลเสียคือผู้เช่าที่ดินถูกตักตวงเพิ่มขึ้นโดยคนกลาง คณะกรรมาธิการบรรยายระบบนี้ว่าเป็น “ระบบอันกดขี่ที่สุดของผู้เผด็จการที่ยื่นมือเข้ามาช่วยทำลายประเทศ” คนกลางเหล่านี้มักจะได้รับการขนานนามว่า “ฉลามบก” หรือ “คนดูดเลือด”
คนกลางจะเช่าที่ดินผืนใหญ่จากเจ้าของที่ดินโดยเป็นสัญญาประเภทเช่านานโดยจ่ายค่าเช่าที่คงตัว จากนั้นก็หันไปเอาที่ดินที่เช่ามาไปให้เช่าต่อตามแต่จะเหมาะสม การแบ่งที่ดินให้เช่ายิ่งย่อยออกไปเท่าใดก็ยิ่งจะทำรายได้เพิ่มขึ้นได้มากเท่านั้น ผู้เช่าที่ดินอาจจะถูกไล่ออกจากที่ดินด้วยเหตุผลเช่นไม่จ่ายค่าเช่าซึ่งเป็นจำนวนสูง หรือเมื่อเจ้าของที่ดินเปลี่ยนใจหันไปเลี้ยงแกะแทนที่จะใช้ที่ดินในการปลูกธัญพืช ถ้าผู้เช่าปรับปรุงสิ่งใดในที่ดินสิ่งนั้นก็กลายเป็นของเจ้าของที่ดินหลังจากหมดสัญญาเช่า หรือเมื่อถูกเลิกสัญญา ซึ่งทำให้ไม่มีผู้ใดที่ต้องการที่จะปรับปรุงที่ดิน นอกจากนั้นผู้เช่าที่ดินก็ขาดความมั่นคงในการเช่าเพราะอาจจะถูกไล่ที่เมื่อใดก็ได้ตามแต่เจ้าของที่ดินต้องการ ชนชั้นนี้เป็นชนส่วนใหญ่ของชาวนาที่เช่าที่ดินในไอร์แลนด์ ยกเว้นแต่ในบริเวณอัลสเตอร์ที่มีระบบ “สิทธิผู้เช่าที่ดิน” ซึ่งผู้เช่าที่ดินได้รับค่าตอบแทนเมื่อทำการปรับปรุงที่ดินที่เช่า คณะกรรมาธิการตามความเห็นของวูดแดม-สมิธกล่าวว่า “ความมั่งคั่งและความสงบในอัลสเตอร์เมื่อเปรียบเทียบกับส่วนอื่นของไอร์แลนด์เป็นผลมาจากลักษณะของสิทธิผู้เช่าที่ดิน”
เจ้าของที่ดินในไอร์แลนด์ใช้อำนาจอันไม่ชอบธรรมโดยไม่มีความละอายใจ และผู้ที่อยู่ภายใต้อำนาจก็ได้แต่ชิงชัง ในบรรยากาศดังกล่าวนี้วูดแดม-สมิธกล่าวว่า “ความอุตสาหะและความต้องการในการปรับปรุงก็ดับ และสร้างเกษตรกรที่ยากจนที่สุดในยุโรป”
ในปี ค.ศ. 1845 ยีสิบสี่เปอร์เซ็นต์ของฟาร์มที่ให้เช่าในไอร์แลนด์มีขนาดระหว่าง 0.4 ถึง 2 เฮคตาร์ (1 ถึง 5 เอเคอร์) อีกสี่สิบเปอร์เซ็นต์มีขนาดระหว่าง 2 ถึง 6 เฮคตาร์ (5 ถึง 15 เอเคอร์) ขนาดของที่ดินที่แบ่งออกไปมีขนาดเล็กจนกระทั่งปลูกได้ก็แต่มันฝรั่งเพียงอย่างเดียว—ไม่มีพืชอื่น—ที่ปลูกได้พอที่จะเลี้ยงครอบครัว รัฐบาลบริติชรายงานไม่นานก่อนที่จะเกิดวิกฤติการณ์ทุพภิกขภัยว่าความจนแผ่ขยายอย่างกว้างขวางจนหนึ่งในสามของผู้เช่าที่ดินไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้หลังจากที่จ่ายค่าเช่าแล้ว นอกจากว่าจะเดินทางไปหารายได้เพิ่มเติมเป็นคนงานชั่วฤดู (migrant labour) ในอังกฤษหรือสกอตแลนด์ หลังจากวิกฤติการณ์ทุพภิกขภัย ก็มีการปฏิรูปที่ดินที่ห้ามการแบ่งที่ดินให้มีขนาดเล็กลงไปอีก
จากการสำรวจจำนวนประชากรในปี ค.ศ. 1841 พบว่ามีประชากรกว่าแปดล้านคน สองในสามของจำนวนนวนนั้นดำรงชีพโดยทำการเกษตรกรรมและแทบจะไม่มีรายได้จากค่าแรงงานอื่น ประชากรเหล่านี้ต้องทำงานให้แก่เจ้าของที่ดินเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับที่ดินเพียงกระแบะมือที่ใช้ในการปลูกพืชสำหรับเลี้ยงตนเองและครอบครัว ซึ่งทำให้ระบบเกษตรกรรมของไอร์แลนด์กลายเป็นระบบเกษตรกรรมพืชเดี่ยวซึ่งเป็นระบบที่เกษตรกรปลูกแต่เพียงพืชชนิดเดียว ซึ่งก็คือมันฝรั่งเพื่อให้เป็นจำนวนพอเพียงที่จะเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ สิทธิในการได้ที่ดินในไอร์แลนด์ในช่วงนั้นจึงมีความหมายถึงการตายหรือการอยู่รอดในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19
มันฝรั่งนำเข้ามาปลูกในไอร์แลนด์ในช่วงแรกเป็นพืชสวนสำหรับชนชั้นผู้ดี เมื่อมาถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 มันฝรั่งก็แพร่หลายไปเป็นอาหารประกอบแทนที่จะเป็นอาหารหลัก อาหารหลักขณะนั้นยังเป็นเนย นม และธัญพืช ในยี่สิบปีแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 18 มันฝรั่งจึงกลายมาเป็นอาหารหลักสำหรับคนยากจนโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว การขยายตัวของเศรษฐกิจระหว่าง ค.ศ. 1760]] จนถึง ค.ศ. 1815 ทำให้มันฝรั่งกลายมาเป็นอาหารหลักตลอดปีสำหรับเกษตรกรและชนชั้นเกษตรกรที่มีที่ทำกินน้อย
การขยายการปลูกมันฝรั่งเป็นปัจจัยของการวิวัฒนาการของระบบเกษตรกรผู้เช่านา ที่ทำให้เจ้าของที่ดินสามารถได้แรงงานที่มีราคาต่ำที่สุดแต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ระดับความเป็นอยู่ของแรงงานที่จ้างมาต่ำตามลงไปด้วย สำหรับเกษตรกรเองค่าจ้างมันฝรั่งก็สิ่งจำเป็นในการขยายเศรษฐกิจการเกษตรกรรม การขยายตัวนี้ก็นำไปสู่การขยายเนื้อที่ในการปลูกมันฝรั่งที่เพิ่มมากขึ้นและการขยายตัวของชนชั้นแรงงานเกษตรกรที่ตามมา เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1841 ชนชั้นเกษตรกรแรงงานก็มีด้วยกันกว่าหนึ่งล้านคน ผู้มีครอบครัวอีกเจ็ดแสนห้าหมื่นคน ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์หลักจากระบบนี้คือผู้บริโภคในอังกฤษ
ก่อนหน้าที่ “ไฟทอฟธอรา อินเฟสทันส” หรือที่เรียกว่า “รามันฝรั่ง” จะระบาดขึ้นในไอร์แลนด์ มันฝรั่งมีโรคหลักอยู่สองโรค โรคหนึ่งเรียกว่า “dry rot” หรือ “taint” อีกโรคหนึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่เรียกกันว่า “curl” นักเขียนดับเบิลยู.ซี. แพดด็อคกล่าวว่า “ไฟทอฟธอรา อินเฟสทันส” เป็น ราน้ำ (oomycete) ที่อันที่จริงแล้วไม่ใช่ “รา” ตามที่เข้าใจกัน
ในปี ค.ศ. 1851 การสำรวจจำนวนประชากรในไอร์แลนด์ของคณะราชกรรมาธิการบันทึกความเสียหายที่ต่างระดับกันของผลผลิตมันฝรั่งที่เกิดขึ้นถึงยี่สิบสี่ครั้งตั้งแต่ปี ค.ศ. 1728 เป็นต้นมา
วูดแดม-สมิธสรุปว่า “ความไม่แน่นอนของผลผลิตมันฝรั่งกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับกันเป็นปกติในไอร์แลนด์”
จะเป็นวิธีใดหรือเมื่อใดที่ “ไฟทอฟธอรา อินเฟสทันส” เข้ามาเผยแพร่ในไอร์แลนด์นั้นไม่เป็นที่ทราบ แต่พี. เอ็ม. เอ. เบิร์คเชื่อว่ามิได้เกิดขึ้นก่อน ค.ศ. 1842 และอาจจะเข้ามาเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1844 อย่างน้อยแหล่งข้อมูลแหล่งหนึ่งเสนอว่าอาจจะมาจากทางตอนเหนือของเทือกเขาแอนดีสในอเมริกาใต้ โดยเฉพาะจากเปรู จากนั้นก็เข้ามาเผยแพร่ในยุโรปโดยมากับเรือที่บรรทุก ปุ๋ยขี้นก (guano) ที่เป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการกันมากในการใช้เป็นปุ๋ยในการเกษตรกรรมในยุโรปและบริเตนมาขาย
ในปี ค.ศ. 1844 หนังสือพิมพ์ไอร์แลนด์รายงานข่าวเกี่ยวกับเชื้อโรคที่ระบาดและทำความเสียหายแก่มันฝรั่งอยู่เป็นเวลาสองปีในอเมริกา นักเขียนเจมส์ ดอนเนลลีกล่าวว่าต้นตอของเชื้อโรคน่าจะมาจากทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกาที่ในปี ค.ศ. 1843 และ ค.ศ. 1844 เชื้อราทำลายพืชผลส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด ดอนเนลลีเสนอว่าเรือที่เดินทางมาจากบัลติมอร์ ฟิลาเดลเฟีย และ นิวยอร์กอาจจะเป็นการนำเชื้อโรครามันฝรั่งมายังเมืองท่าในยุโรป ดับเบิลยู.ซี. แพดด็อคเสนอว่าเชื้อโรคมากับมันฝรั่งที่บรรทุกมาในเรือที่ใช้เลี้ยงผู้โดยสารในเรือรับส่งผู้โดยสารที่แล่นระหว่างอเมริกาและไอร์แลนด์
เมื่อเชื้อโรคมาถึงไอร์แลนด์ก็ระบาดอย่างรวดเร็ว เมื่อมาถึงปลายฤดูร้อนและต้นฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1845 รามันฝรั่งก็ระบาดไปทั่วบริเวณตอนเหนือและตอนกลางของยุโรป เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ตอนเหนือของฝรั่งเศส และทางใต้ของอังกฤษ เมื่อกลางเดือนสิงหาคมมันฝรั่งทั้งหมดก็โดนเชื้อรา
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม นิตยสาร “Gardeners' Chronicle and Horticultural Gazette” ก็พิมพ์รายงานที่บรรยาย 'เชื้อราที่มีลักษณะที่ไม่เหมือนปกติ' ที่พบบนเกาะไวท์ อาทิตย์หนึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม นิตยสารก็รายงานว่า 'โรคร้ายระบาดในบรรดาแปลงมันฝรั่ง...ในเบลเยียมกล่าวกันว่าแปลงมันฝรั่งถูกทำลายทั้งแปลง ในตลาดคัฟแวนท์การ์เด็นแทบจะหามันฝรั่งที่ไม่มีเชื้อโรคได้...ถ้าพูดถึงวิธีการกำจัดโรคร้ายนี้ ก็เห็นจะไม่มี...' รายงานเหล่านี้ตีพิมพ์อย่างละเอียดในหนังสือพิมพ์ไอริช เมื่อวันที่ 13 กันยายน นิตยสาร “Gardeners' Chronicle” ประกาศว่า: 'เราขอประกาศข่าวใหญ่ด้วยความเศร้าใจว่าเชื้อมันฝรั่งเมอร์เรนได้ประกาศตนเองในไอร์แลนด์อย่างไม่มีข้อกังขา แต่รัฐบาลบริติชก็ยังมีความหวัง[ว่าเหตุการณ์จะดีขึ้น]อยู่ต่อไปอีกหลายสัปดาห์'
ความเสียหายของพืชผลในปี ค.ศ. 1845 ประมาณกันว่าสูงถึงราว 50% ของพืชผลทั้งหมด ถึงหนึ่งในสาม คณะกรรมาธิการแมนชันเฮาส์ (The Mansion House Committee) ในดับลิน ที่เป็นที่รับจดหมายจากทั่วไอร์แลนด์อ้างว่าเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1845 ทางคณะกรรมาธิการก็ได้ประเมินผลเสียหายอย่าง 'ไม่มีข้อสงสัยว่าเกิดขึ้นกับหนึ่งในสามของพืชผลมันฝรั่งทั้งหมด ... ถูกทำลายไปเสร็จสิ้นแล้ว'
ในปี ค.ศ. 1846 สามในสี่ของพืชผลก็สูญเสียไปกับเชื้อโรค เมื่อมาถึงเดือนธันวาคม ผู้คนราวสามแสนห้าหมื่นคนของผู้ที่หมดหนทางก็ได้รับการจ้างโดยรัฐบาลให้ทำงานสาธารณะ (public works) คอร์แม็ค โอเกรดากล่าวว่าการระบาดครั้งแรกทำให้เกิดความยากเข็ญในชนบทของไอร์แลนด์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1846 ก็เริ่มมีบันทึกเป็นครั้งแรกถึงการสูญเสียชีวิตที่เกิดจากทุพภิกขภัย ในปี ค.ศ. 1848 หัวมันฝรั่งที่ใช้ในการเพาะก็เริ่มหายากขึ้น และแทบจะไม่มีการปลูกมันฝรั่งกัน ฉะนั้นแม้ว่าอัตราพืชผลจะเป็นระดับปกติแต่ผลผลิตทั้งหมดก็เป็นเพียงสองในสามของจำนวนการปลูกตามปกติ ซึ่งทำให้วิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยก็ยังคงดำเนินต่อไป เมื่อชาวไอริช 3 ล้านคนต้องพึ่งมันฝรั่งเป็นอาหารหลัก ความหิวโหยและทุพภิกขภัยก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
รัฐบาลดับลิน (Corporation of Dublin) ส่งคำร้องไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียร้องขอให้พระองค์ทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการฉุกเฉิน และขอให้ทรงส่งเงินจากภาษีรายได้มาเพื่อใช้ในการบรรเทาภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยนำไปใช้ในการว่าจ้างแรงงานสำหรับสร้างสิ่งก่อสร้างสารธารณะโดยเฉพาะการสร้างทางรถไฟในไอร์แลนด์ เทศาภิบาลแห่งเมืองเบลฟาสต์ประชุมและตกลงกันส่งคำร้องที่คล้ายคลึงกัน ตามความเห็นของจอห์น มิทเชลในหนังสือ “การพิชิตไอร์แลนด์ครั้งสุดท้าย (อาจเป็นได้)” (The Last Conquest of Ireland (Perhaps)) กล่าวว่าทั้งสองรัฐบาลต่างก็มิได้ขอเงินทาน “[ดับลินและเบสฟาสต์]เรียกร้องว่าถ้าไอร์แลนด์เป็นส่วนสำคัญของสหราชอาณาจักรจริงแล้ว เงินในท้องพระคลังของทั้งสองอาณาจักรก็เป็นสิ่งที่ควรจะนำมาใช้[ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น]—ฉะนั้นจึงมิใช่เป็นการให้เงินทาน แต่เพื่อใช้ในการว่าจ้างแรงงานสำหรับการสร้างสิ่งก่อสร้างที่เป็นของสารธารณะเพื่อการใช้สอยโดยทั่วไป” มิทเชลให้ความเห็นต่อไปว่า “ถ้ายอร์คเชอร์และแลงคาสเชอร์ในอังกฤษต้องประสบปัญหาอันเลวร้ายเช่นในไอร์แลนด์ ก็เห็นจะไม่เป็นที่ต้องสงสัยเลยว่าการแก้ปัญหาดังที่กล่าวจะเป็นไปอย่างเร่งด่วนและเป็นอันมาก”
ตัวแทนจากประชาชนดับลินที่รวมทั้งดยุคแห่งไลนสเตอร์, นายกเทศมนตรี, ลอร์ดคลอนเคอร์รี และ แดเนียล โอคอนเนลล์เดินทางไปพบปะกับลอร์ดเฮทสบรีข้าหลวงใหญ่แห่งไอร์แลนด์เพื่อตั้งข้อเสนอต่างๆ ในการพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่นเปิดเมืองท่าสำหรับข้าวโพดจากต่างประเทศในชั่วระยะเวลานั้น หยุดยั้งการทำการกลั่นจากธัญพืช หรือสร้างโครงการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างสาธารณะ ซึ่งต่างก็เป็นโครงการที่จำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วนอยู่แล้ว ขณะที่ประชาชนเป็นจำนวนหลายล้านคนแทบจะไม่มีอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง คำตอบของลอร์ดเฮทสบรีต่อผู้มาพบปะคือ “ตีตนไปก่อนไข้” และกล่าวแนะนะว่าไม่ควรจะตื่นตัว และ ทางด้านการบริหารก็ได้ส่งผู้มีความรู้ไปยังอังกฤษเพื่อไปสอบถามกิจการที่เกี่ยวกับปัญหานี้ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลสำคัญๆ ก็มีหน้าที่รับผิดชอบในการเสนอรายงานจากแขวงต่างๆ และไม่ปรากฏว่ามี “ความกดดันอันเร่งด่วนจากตลาด” ในจดหมายของเซอร์โรเบิร์ต พีลถึงรัฐมนตรีว่าการภายในของประเทศเซอร์เจมส์ แกรมกล่าวสรุปจากบรรดารายงานที่ส่งไปจากลอร์ดเฮทสบรีว่า มีเนื้อหาแสดงสถานการณ์ที่ “น่าวิตกเป็นอันมาก” แต่ตามความเห็นของวูดแดม-สมิธติงว่า “การรายงานข่าวของไอร์แลนด์มักจะออกไปในทางเกินเลย” เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1845 แดเนียล โอคอนเนลล์แห่งสมาคมเพื่อการเพิกถอนการเป็นสหภาพ เสนอการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยวิธีต่างๆ ที่ข้อแรกคือการนำ “สิทธิผู้เช่าที่ดิน” ที่ปฏิบัติกันในอัลสเตอร์อยู่แล้วมาใช้ในบริเวณอื่นของไอร์แลนด์ ซึ่งทำให้เจ้าของที่ดินได้ค่าเช่าที่ยุติธรรม และในขณะเดียวกันผู้เช่าก็ได้รับค่าตอบแทนจากเจ้าของที่ดินถ้าทำการลงทุนไปในการปรับปรุงการใช้ที่ดินอย่างถาวรระหว่างการที่เช่าที่ดินอยู่
แดเนียล โอคอนเนลชี้ให้เห็นถึงวิธีที่รัฐบาลเบลเยียมใช้ในการแก้ปัญหาในฤดูเดียวกันโดยปิดเมืองท่าจากการส่งอาหารออกนอกประเทศ แต่เปิดให้ส่งอาหารเข้าได้ และเสนอว่าถ้าไอร์แลนด์มีรัฐสภาเป็นของตนเองแล้วเมืองท่าเหล่านี้ก็คงจะเปิดกว้างเพื่อรับอาหาร และพืชผลจำนวนมากมายที่ปลูกในไอร์แลนด์ก็คงจะได้รับการรักษาไว้เพื่อประชากรของไอร์แลนด์เอง โอคอนเนลมีความเชื่ออย่างเหนียวแน่นว่าการมีรัฐสภาแห่งไอร์แลนด์เท่านั้นที่จะเป็นหนทางที่จะแก้ปัญหาเรื่องอาหารและแรงงานแก่ประชากรของไอร์แลนด์เองได้ และกล่าวว่าการยกเลิกพระราชบัญญัติสหภาพเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องกระทำเพราะเป็นความหวังเดียวที่ไอร์แลนด์ยังคงมีอยู่
จอห์น มิทเชลหนึ่งในผู้นำของนักเขียนบทความทางการเมืองของขบวนการยังไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นขบวนการทางการเมือง วัฒนธรรม และสังคมเพื่อการปลุกเร้าความเป็นชาตินิยมของไอร์แลนด์เขียนในหนังสือพิมพ์ “ดิ เนชั่น” ให้ความเห็นถึงปัญหา “เชื้อโรคมันฝรั่ง” ในไอร์แลนด์ ว่าทุพภิกขภัยเป็นพลังสำคัญที่เป็นสาเหตุของการปฏิวัติมาก่อนหน้านั้นหลายครั้งแล้วในประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1846 มิทเชลเสนอความเห็นถึง “วิธีอันน่าเวทนาของการแก้ปัญหาทุพภิกขภัยว่าเป็นการแก้กันอย่างเป็นเรื่องปลีกย่อย” และตั้งกระทู้ว่ารัฐบาลถึงความเข้าใจว่าเพียงอีกไม่นาน “ประชาชนในไอร์แลนด์เป็นจำนวนหลายล้านคนจะไม่มีอะไรใส่ปากใส่ท้อง”
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1846 มิทเชลตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติเพื่อการรักษาความสงบในไอร์แลนด์ ที่ได้รับการเสนอต่อสภาขุนนาง ว่าเป็นเพียงร่างพระราชบัญญัติที่จงใจที่จะเขียนขึ้นโดยไม่ให้มีผู้ใดเป็นคัดค้านในสภาสามัญชน แต่มิทเชลให้ความเห็นว่าทัศนคติของรัฐบาลอาจจะแตกต่างกันเมื่อมาถึงปัญหาการเลี้ยงประชาชนไอริช ซึ่งก็คือ “การตกลงกันที่เป็นไปอย่างราบรื่นในนโยบายการเก็บภาษี, การพิจารณาโทษ และการทำลาย[ชาวไอริช]” ในบทความ “การปกครองของอังกฤษ” (English Rule) ของวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1846 จอห์น มิทเชลเขียนว่าชาวไอร์แลนด์ “คาดการณ์ทุพภิกขภัยที่จะมาถึงเป็นกิจการประจำวัน” และมีความเห็นพ้องต้องกันว่ามิได้เป็นเหตุการณ์ที่ “เกิดจากการกระทำของพระเจ้า แต่เกิดจากความโลภและนโยบายอันทารุณของอังกฤษ” และกล่าวต่อไปในบทความเดียวกันว่าประชาชนชาวไอร์แลนด์“เชื่อว่าแรงงานที่ลงไปเป็นแรงงานที่ทำเพื่อเป็นการสนองความความโลภของอังกฤษ และลูกที่หิวโหยไม่อาจจะเห็นอาหารบนจาน เห็นก็แต่อุ้งมือของชาวอังกฤษที่มาแย่งฉวยอาหารจากจานตรงหน้า” มิทเชลกล่าวชาวไอร์แลนด์ได้แต่นั่งมอง “อาหารที่ละลายไปกับการเน่าสลายลงไปในปฐพี” ขณะเดียวกันกับที่นั่งมอง “เรือที่เพียบไปด้วยข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวจากการหว่านการปลูกด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเองกางใบแล่นไปยังอังกฤษ”
ต่อมามิทเชลก็เขียนบทความอีกบทความหนึ่งเกี่ยวกับทุพภิกขภัยที่เป็นที่แพร่หลายชื่อ “การพิชิตไอร์แลนด์ครั้งสุดท้าย (อาจเป็นได้)” ในปี ค.ศ. 1861 ซึ่งเป็นบทความที่สร้างทัศนคติที่แพร่หลายว่าการแก้ปัญหาทุพภิกขภัยโดยบริติชเป็นการจงใจฆาตกรรมชาวไอร์แลนด์ และมีวลีที่มีชื่อเสียงที่ว่า:
ข้อเขียนของมิทเชลทำให้ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นการปลุกปั่น (sedition) ข้อหานี้ถูกยกเลิก แต่มาถูกพิจารณาโดยคณะลูกขุนว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการก่ออาชญากรรมที่เป็นกบฏ ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติฉบับใหม่ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติในปี ค.ศ. 1848 และมิทเชลได้รับโทษให้ถูกเนรเทศไปยังเบอร์มิวดาเป็นเวลา 14 ปี
ชาร์ลส์ เกวัน ดัฟฟีแห่ง หนังสือพิมพ์ “ดิ เนชั่น” กล่าวยืนยันว่าวิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาซึ่งเป็นวิธีที่ชาติอื่นในยุโรปใช้ ที่แม้แต่ภูมิภาคเพล (the Pale) ในไอร์แลนด์เองก็ใช้ระหว่างวิกฤติการณ์ก็คือการกักอาหารที่ปลูกโดยประชาชนในประเทศจนกว่าทุพภิกขภัยจะยุติลง
เมื่อว่าตามพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1800 แล้วไอร์แลนด์ก็เป็นส่วนสำคัญของจักรวรรดิอังกฤษซึ่งเป็น “จักรวรรดิที่มั่งคั่งที่สุดในโลก” และไอร์แลนด์เป็น “ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของจักรวรรดิ” นอกจากนั้นก็ยังได้รับการพิทักษ์จากทั้ง “...ระบบศาลและระบบการพิจารณาคดีโดยลูกขุน...” (Habeas Corpus and trial by jury) แต่ผู้แทนราษฎรของไอร์แลนด์ในฐานะสมาชิกของรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรก็ดูเหมือนจะไม่มีอำนาจแต่อย่างใดในการพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จอห์น มิทเชลให้ความเห็นในข้อนี้ว่า “เกาะที่กล่าวกันว่าเป็นส่วนสำคัญของจักรวรรดิที่มั่งคั่งที่สุดในโลก ... ที่ในห้าปีมาเสียประชากรไปถึงสองล้านห้าแสนคน (กว่าหนึ่งในสี่) จากทุพภิกขภัย, โรคภัยที่เกิดจากทุพภิกขภัย และ การอพยพหนีจากทุพภิกขภัย...”
ในสมัยที่เกิดรามันฝรั่งในไอร์แลนด์ระหว่างปี ค.ศ. 1845 จนถึงปี ค.ศ. 1851 เป็นสมัยที่เต็มไปด้วยการเผชิญหน้าทางการเมือง ขบวนการของกลุ่มผู้ประสงค์จะเพิกถอนพระราชบัญญัติสหภาพประสบความล้มเหลวเมื่อผู้นำของขบวนการแดเนียล โอคอนเนลมาเสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1847[ต้องการอ้างอิง] กลุ่มขบวนการยังไอร์แลนด์ซึ่งเป็นขบวนการที่มีหัวรุนแรงกว่าดำเนินการเรียกร้องต่อมาและพยายามก่อการปฏิวัติในการปฏิวัติของขบวนการยังไอร์แลนด์ ค.ศ. 1848 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
เอฟ.เอส.เอล. ลิยอนส์บรรยายถึงการตอบโต้ต่อวิกฤติการณ์ของรัฐบาลบริติชในระยะแรกที่ทุพภิกขภัยยังไม่รุนแรงว่าเป็นการตอบโต้ที่ “ทันต่อเหตุการณ์และมีความสำเร็จพอสมควร” เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรกรรมอย่างกว้างขวางในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1845 นายกรัฐมนตรีเซอร์โรเบิร์ต พีลก็ซื้อข้าวโพดอินเดียและข้าวโพดป่น (Cornmeal) อย่างลับๆ จากสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนเงิน ?100,000 บริษัทแบริงบราเธอร์สต้องเป็นตัวแทนทำการซื้อขายในนามของรัฐบาล รัฐบาลมีความหวังว่าการซื้อขายครั้งนี้จะไม่เป็นการ “บีบคั้นกิจการของเอกชน” หรือ การกระทำดังกล่าวจะเป็นการหยุดยั้งโครงการช่วยเหลือระดับท้องถิ่น แต่สภาวะอากาศอันแปรปรวนทำให้เรือบรรทุกสินค้าข้าวโพดมิได้มาถึงไอร์แลนด์จนกระทั่งต้นเดือนกุมภาพันธ์ของปี ค.ศ. 1846
เมื่อมาถึงเมล็ดข้าวโพดก็นำมาขายต่อในราคาปอนด์ละหนึ่งเพ็นนี เมล็ดข้าวโพดแห้งที่ได้รับเป็นเมล็ดข้าวโพดที่ยังไม่ได้รับการป่นซึ่งทำให้ยังใช้บริโภคไม่ได้ นอกจากนั้นการป่นข้าวโพดเป็นกรรมวิธีที่ซับซ้อนและใช้เวลานานถ้าจะทำให้ถูกต้องซึ่งโอกาสที่จะทำกันได้ในท้องถิ่นนั้นไม่มี เมื่อป่นแล้วก็จะต้องหุงกันอีกเป็นเวลาพอสมควรจึงจะบริโภคได้ ผู้ที่กินเข้าไปแล้วบ่นว่าทำให้มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง การที่ข้าวโพดมีสีเหลืองและต้องบดสองครั้งก่อนที่จะกินได้จึงมาเป็นที่รู้จักกันในไอร์แลนด์ “กำมะถันพีล” ในปี ค.ศ. 1846 พีลก็ดำเนินการยกเลิกกฎหมายข้าวโพดซึ่งเป็นกฎหมายที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อรักษาระดับราคาขนมปังให้อยู่ในราคาสูง วิกฤติการณ์ทุพภิกขภัยเลวร้ายลงระหว่างปี ค.ศ. 1846 และการยกเลิกกฎหมายอากรข้าวโพดในปีนั้นก็มีผลเพียงเล็กน้อยในการแก้ทุพภิกขภัยของชาวไอริช มาตรการนี้นำความแตกแยกมาสู่พรรคคอนเซอร์เวทีฟที่นำมาสู่การล่มของการเป็นนายกรัฐมนตรีของพีล ในเดือนมีนาคมพีลก็ก่อตั้งโครงการการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างสาธารณะขึ้นในไอร์แลนด์ แต่พีลมาถูกบังคับให้ลาออกจากรัฐบาลในฐานะนายกรัฐมนตรีเสียก่อนเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน การล่มของรัฐบาลเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน เมื่อพีลได้รับความพ่ายแพ้ในสภาสามัญชนเมื่อมีญัตติในการอ่านร่างพระราชบัญญัติเพื่อการรักษาความสงบในไอร์แลนด์เป็นครั้งที่สอง นักเขียนและสมาชิกของขบวนการยังไอร์แลนด์ไมเคิล โดเฮนีกล่าวว่าฝ่ายเสียงข้างมากที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพีลมีจำนวนเจ็ดสิบสามคนที่ประกอบด้วย “วิก, คอนเซอร์เวทีฟหัวรุนแรง, กลุ่มที่มีความคิดรุนแรง และผู้ต้องการเพิกถอนการรวมตัว” สิบวันหลังจากนั้นลอร์ดจอห์น รัสเซลล์ก็รับหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
มาตรการที่ลอร์ดรัสเซลล์นายกรัฐมนตรีคนต่อมากระทำก็ยังคงเป็นมาตรการที่ไม่เพียงพอในการพยายามกู้สถานการณ์ และโดยทั่วไปแล้วสถานการณ์ก็เลวร้ายลงยิ่งขึ้นไปอีก รัฐบาลของรัสเซลล์เสนอโครงการการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างสาธารณะซึ่งในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1846 เป็นผลให้มีการจ้างชาวไอริชครึ่งล้านคน แต่กลายเป็นสิ่งที่ล้นมือทำการบริหารเซอร์ชาร์ลส์ เทรเวเลียนผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารโครงการช่วยผู้ประสบทุพภิกขภัยของรัฐบาลจำกัดการช่วยเหลือเพราะมีความเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น “การตัดสินของพระเจ้าในการส่งความภัยพิบัติลงมาเพื่อสั่งสอนชาวไอริชให้ได้รับบทเรียน” โครงการก่อสร้างเป็นโครงการสั่งทำที่ไม่มีผลประโยชน์จากสิ่งที่สร้างขึ้น—คือเป็นโครงการที่มิได้สร้างรายได้ที่นำมาใช้กู้รายจ่ายได้ จอห์น มิทเชลบรรยายว่าแรงงานเป็นพันเป็นหมื่นที่ผอมแห้งอดอยากต่างก็ทำงานดำเนินการงานก่อสร้างขุดถนนที่ไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด
พรรควิกภายใต้ผู้บริหารใหม่ลอร์ดรัสเซลล์ที่ถือปรัชญา “ไม่แทรกเซง” --ปล่อยให้เหตุการณ์ดำเนินต่อไปจนแก้ไขตนเองในที่สุด--เชื่อว่าในที่สุดตลาดก็จะสามารถสร้างอาหารที่สนองความต้องการได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ละเลยการดำเนินการส่งอาหารออกไปยังอังกฤษต่อไป แต่ยุติการส่งอาหารไปช่วยเหลือ และ ยุติโครงการก่อสร้าง ซึ่งเป็นการทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากมายไม่มีงานทำ ไม่มีเงิน และไม่มีอาหาร ในเดือนมกราคมรัฐบาลก็ยุติโครงการต่างๆ และหันไปใช้วิธีการช่วยเหลือโดยตรงแบบผสมผเสระหว่าง “ในบ้าน” และ “นอกบ้าน” การช่วยเหลือ “ในบ้าน” ก็ได้แก่การก่อตั้งเคหสงเคราะห์และโรงทำงานขึ้นตามบทบัญญัติในกฎหมายประชาสงเคราะห์ และ “นอกบ้าน” ก็คือการจัดโรงแจกอาหาร (soup kitchen) ค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการประชาสงเคราะห์ส่วนใหญ่มาจากเจ้าของที่ดินท้องถิ่น ผู้หันมาทดแทนเงินที่เสียไปโดยขับไล่ผู้เช่าที่ดิน ที่ทำได้ง่ายขึ้นโดย “พระราชบัญญัติว่าด้วยการขับไล่ผู้เช่าที่ดิน” (Cheap Ejectment Acts) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1847 ข้อแก้ไขกฎหมายประชาสงเคราะห์ก็ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา เจมส์ ดอนเนลลีบรรยายการโต้ตอบของรัฐบาลใน “"Fearful Realities: New Perspectives on the Famine"” ("ความเป็นจริงอันน่าประหวั่น: ทัศนคติใหม่เกี่ยวกับทุพภิกขภัย") ว่าเป็นการโต้ตอบที่สะท้อนปรัชญาพื้นฐานที่แพร่หลายในบริเตนที่ว่าทรัพย์สินของไอร์แลนด์ต้องใช้สนับสนุนความยากจนของไอร์แลนด์เอง ผู้มีที่ดินในไอร์แลนด์ถูกกล่าวหาในบริเตนว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดสถานการณ์ที่นำไปสู่ทุพภิกขภัย แต่ก็ได้เพิ่มเติมว่ารัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรตั้งแต่การใช้พระราชบัญญัติสหภาพก็มีส่วนในการรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ความคิดที่ว่านี้ปรากฏในหนังสือพิมพ์ “"Illustrated London News"” เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1847 ที่กล่าวว่า “ไม่มีกฎหมายใดที่จะไม่ผ่านตามคำขอของไอร์แลนด์ และไม่มีการข่มเหงใดที่ไม่มีการป้องกันให้เกิดขึ้น” เมื่อวันที่ 24 มีนาคมหนังสือพิมพ์ “ไทม์” รายงานว่าบริเตนเป็นเปิดโอกาสให้เกิดสถานการณ์ในไอร์แลนด์ที่เป็น “ความยากจนอันใหญ่หลวง ความละเลย และความเสื่อมโทรมอันไม่มีสิ่งใดที่จะเปรียบได้ในโลกเกิดขึ้น [บริเตน]เปิดโอกาสให้เจ้าของที่ดินดูดเลือดดูดเนื้อจากชาวไอริชผู้แสนเข็ญ”
“อนุประโยคเกรกอรี” ของกฎหมายประชาสงเคราะห์ระบุห้ามผู้ที่มีที่ดินอย่างน้อยหนึ่งในสี่เอเคอร์จากการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ข้อจำกัดนี้หมายความว่าเกษตรกรผู้ขายสินค้าทั้งหมดเพื่อนำมาเสียค่าเช่า ค่าธรรมเนียม และภาษี (ซึ่งเป็นการปฏิบัติกันโดยทั่วไป) จนหมดตัวและต้องการที่จะมาสมัครรับเงินช่วยเหลือ แต่ก็จะไม่มีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือเพราะมีที่ดินมากกว่าหนึ่งในสี่เอเคอร์ นอกไปจากว่าจะยกที่ดินให้เจ้าของที่ดินไป มิทเชลวิจารณ์กฎหมายนี้ว่าเป็นกฎหมายที่ “ทำให้ผู้ที่มีความสามารถแต่ไม่ยอมใช้ได้รับการเลี้ยงดู—ถ้าผู้ใดพยายามไถหว่านแม้แต่เพียงเล็กน้อยผู้นั้นก็จะอดตาย” วิธีการขับไล่ผู้เช่าที่ดินอย่างง่ายๆ นี้เรียกว่าเป็นการ “ส่งคนจนไปให้โรงแรงงาน” — ซึ่งเป็นระบบที่คนเข้าไปทางหนึ่งออกมาเป็นคนจนอีกทางหนึ่ง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เป็นผลให้ชาวไอริชจำนวนมากถูกขับออกจากที่ดินที่ใช้ทำมาหากิน ในปี ค.ศ. 1849 มีผู้ถูกขับเป็นจำนวน 90,000 คน และในปี ค.ศ. 1850 เป็นจำนวนอีก 104,000 คน
จากบันทึกพบว่าไอร์แลนด์ยังคงส่งอาหารออกแม้แต่ในปีที่วิกฤติการณ์ทุพภิกขภัยถึงขีดสูงสุด เมื่อไอร์แลนด์ประสบกับทุพภิกขภัยระหว่างปี ค.ศ. 1782 ถึงปี ค.ศ. 1783 ทางการก็ปิดเมืองท่าเพื่อรักษาอาหารที่ปลูกในไอร์แลนด์เอาไว้เลี้ยงชาวไอริชเอง ซึ่งทำให้ราคาอาหารลดต่ำลงทันที พ่อค้าพยายามเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการแต่รัฐบาลของคริสต์ทศวรรษ 1780 ก็มิได้ยินยอมต่อพ่อค้า แต่ในคริสต์ทศวรรษ 1840 ทางการมิได้บังคับใช้มาตรการใดใดในการหยุดยั้งการส่งอาหารออกนอกไอร์แลนด์ทั้งสิ้น
เซซิล วูดแดม-สมิธผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวิกฤติการณ์ทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์กล่าวใน “The Great Hunger: Ireland 1845–1849” (ไทย: “ทุพภิกขภัยอันยิ่งใหญ่: ไอร์แลนด์ ค.ศ. 1845 ถึง ค.ศ. 1849”) ว่าไม่มีวิกฤติการณ์ใดที่สร้างความความโกรธและความขมขื่นให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและไอร์แลนด์เท่ากับวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้เมื่อ “ไม่เป็นที่โต้แย้งได้ว่าอาหารเป็นจำนวนมากยังคงถูกส่งจากไอร์แลนด์ไปยังอังกฤษตลอดเวลาที่ประชากรของไอร์แลนด์ถูกคร่าชีวิตจากทุพภิกขภัย” และการการส่งอาหารเป็นสินค้าส่งออกหลักของไอร์แลนด์ก็ยังคงดำเนินอยู่ตลอดห้าปีของวิกฤติการณ์ดังกล่าว
คริสติน คินีลนีอาจารย์ของมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลและนักเขียนตำราสองเล่มเกี่ยวกับวิกฤติการณ์ทุพภิกขภัย “Irish Famine: This Great Calamity” (ไทย: “ทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์: ความทุกข์ยากครั้งใหญ่”) และ “A Death-Dealing Famine” (ไทย: “ความตายจากทุพภิกขภัย”) กล่าวว่าอันที่จริงแล้วในช่วงทุพภิกขภัยสินค้าออกของไอร์แลนด์ที่รวมทั้งลูกวัว ปศุสัตว์ (ยกเว้นหมู) เบคอน และ แฮมมีจำนวนสูงขึ้น การส่งออกต้องทำกันด้วยการป้องกันอย่างแข็งแรงจากบริเวณต่างๆ ของไอร์แลนด์ทีประสบกับวิกฤติการณ์ แต่จะอย่างไรก็ตามคนยากจนก็ยังไม่มีเงินพอที่จะหาซื้ออาหารดังกล่าวได้ และรัฐบาลก็มิได้ทำการหยุดยั้งการส่งออก
นักเขียนผู้เป็นที่นิยมและเป็นที่รู้จักกันดีเจน ฟรานเซสคา เอลกีเขียนโคลงที่บรรยายสถานการณ์ที่พิมพ์ใน carried in the เดอะ เนชั่น
What sow ye? Human corpses that wait for the avenger.
Fainting forms, Hunger—stricken, what see you in the offing
Stately ships to bear our food away, amid the stranger's scoffing.
There's a proud array of soldiers—what do they round your door?
They guard our master's granaries from the thin hands of the poor.
Pale mothers, wherefore weeping? 'Would to God that we were dead—
Our children swoon before us, and we cannot give them bread.Speranza
ท่านจะหว่านอะไร? ร่างที่ไร้ชีวิตที่รอให้เป็นซากความหมดสติ, ความหิวโหยอันรัดท้อง, ท่านเห็นอะไรเล่าที่ขอบฟ้าเรือลำงามที่บรรทุกอาหารของเราออกไปท่ามกลางการเยาะเย้ยของคนแปลกหน้าทหารยืนเป็นสง่าอยู่ทั่วไป—มาที่ประตูของท่านทำไม?เพื่อพิทักษ์ธัญญาหารของเจ้านายจากมืออันผอมบางของคนยากจนแม่ที่ซีดขาว, ร้องไห้ทำไม? 'ร้องให้พระเจ้าที่เราตายหรือ—ลูกอ่อนตัวต่อหน้าเรา แต่เราก็ไม่มีขนมปังจะให้กิน
วิลเลียม สมิธ โอไบรอันกล่าวปาฐกถาในหัวข้อเรื่องการให้ “ทาน” (charity) ที่สมาคมเพื่อการเพิกถอนการเป็นสหภาพในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1845 สรรเสริญความเห็นทั่วไปในหัวข้อนี้ว่าไอร์แลนด์จะไม่ยอมรับ “ทาน” จากอังกฤษ โอไบรอันให้ความเห็นว่าทรัพยากรของไอร์แลนด์ยังคงมีมากมายพอที่จะดำรงความเป็นอยู่ของประชากร และจนกว่าทรัพยากรเหล่านั้นจะหมดสิ้นโอไบรอันก็ยังคงหวังว่าจะไม่มีผู้ใดใน “ไอร์แลนด์ที่จะยอมลดตัวลงไปขอให้อังกฤษช่วย”
มิทเชลใน “การพิชิตไอร์แลนด์ครั้งสุดท้าย (อาจเป็นได้)” (The Last Conquest of Ireland (Perhaps)) กล่าวในหัวข้อเดียวกันว่าไม่มีผู้ใดเลยจากไอร์แลนด์ที่หาทานในช่วงนี้ และผู้ที่เสาะหาทานคืออังกฤษเองที่ทำในนามของไอร์แลนด์และเมื่อได้รับมาแล้วก็เป็นผู้บริหารเอง มิทเชลเสนอว่าหนังสือพิมพ์อังกฤษเท่านั้นที่เป็นผู้บรรยายว่า “ในชั่วขณะนั้นไอร์แลนด์ตกอยู่ในสภาวะอันวิกฤติ ที่ทำให้เป็นกลายเป็นขอทานผู้น่าสังเวชอยู่หน้าประตูอังกฤษ และไอร์แลนด์ก็ยังต้องการเงินทานสำหรับมนุษยชาติทั้งหมด” มิทเชลกล่าวเน้นว่าไอร์แลนด์ไม่เคยขอทานหรือความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นชนิดใดจากอังกฤษหรือชาติอื่น แต่อังกฤษเองที่เป็นฝ่ายขอในนามของไอร์แลนด์ และเสนอว่าอังกฤษเองเป็น “ผู้แบมือขอไปทั่วโลก ขอให้บริจาคให้ช่วยคนยากจนที่น่าสงสารในไอร์แลนด์” และตั้งตนเป็นผู้แทนขององค์การกุศลและเอากำไรจากผลประโยชน์นั้นด้วยตนเอง
เงินบริจาคหลั่งไหลมาจากที่ต่างๆ เช่นโกลกาตาผู้ได้ชื่อว่าเป็นคนแรกที่ส่งเงินมาบริจาคเป็นจำนวน ?14,000 ที่ได้มาจากการจัดโดยทหารไอริชที่รับราชการอยู่ที่โกลกาตาและชาวไอริชที่ทำงานให้กับบริษัทอินเดียตะวันออกของบริติช, สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 ประทานเงิน และ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระราชทานเงิน ?2,000
นอกจากองค์การทางศาสนาแล้วก็มีองค์การเอกชนที่เข้ามาทำการช่วยเหลือผู้ที่เป็นเหยื่อของทุพภิกขภัย องค์การช่วยเหลือผู้ประสบภัยบริติช (British Relief Association) ก็เป็นองค์การหนึ่ง ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1847 องค์การจัดหาเงินทั่วอังกฤษ อเมริกา และออสเตรเลีย โดยใช้ “พระราชสาส์นจากพระราชินี” ซึ่งเป็นพระราชสาส์นจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียร้องขอให้ช่วยบริจาคเงินผู้ประสบความทุกข์ยากในไอร์แลนด์ จดหมายฉบับแรกทำให้องค์การได้รับเงินบริจาคจำนวน ?171,533 “พระราชสาส์นจากพระราชินี” ฉบับที่สองออกในปลายปี ค.ศ. 1847 ไม่ได้รับความสำเร็จเท่าฉบับแรก แต่เงินทั้งหมดที่ได้รับจากการบริจาคก็ตกประมาณ ?200,000
ในปี ค.ศ. 1845 สุลต่านอับดุลเมซิดที่ 1 แห่งจักรวรรดิออตโตมันทรงแสดงพระราชประสงค์จะส่งเงินจำนวน ?10,000 มาช่วยเกษตรกรชาวไอริชแต่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงขอให้ส่งไปเพียง ?1,000 เพราะพระองค์เองทรงส่งเงินไปช่วยเพียงจำนวน ?2,000 สุลต่านอับดุลเมซิดก็ทรงทำตามพระราชประสงค์แต่ทรงแอบส่งเรือพร้อมอาหารมาช่วยสามลำ ศาลอังกฤษพยายามยับยั้งเรือแต่เรืออาหารก็เดินทางไปถึงอ่าวโดรเกดาจนได้
ในปี ค.ศ. 1847 ระหว่างกลางวิกฤติการณ์กลุ่มชาวอเมริกันอินเดียนชอคทอว์ รวบรวมเงินจำนวน $710 (แต่บทความหลายบทความกล่าวว่าเป็นจำนวน $170 หลังจากที่แอนจี เดโบพิมพ์จำนวนผิดใน The Rise and Fall of the Choctaw Republic และส่งมาให้ชาวไอริชผู้อดอยาก จูดี แอลแลนบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ “"Choctaw Nation of Oklahoma"” กล่าวว่า “เป็นช่วงเวลาเพียงสิบหกปีที่ชอคทอว์ต้องประสบกับเส้นทางธารน้ำตา และต้องประสบกับทุพภิกขภัย...ซึ่งเป็นการกระทำอันน่าประทับใจ ถ้าเป็นในปัจจุบันเงินจำนวนนี้อาจจะเป็นจำนวนหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐ” เพื่อเป็นการำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในโอกาสครบรอบ 150 ปีชาวไอริชแปดคนก็เดินตามรอยเส้นทางธารน้ำตา
เจ้าของที่ดินมีความรับผิดชอบในการจ่ายค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้เช่าที่ดินทุกคนที่ต้องเสียค่าเช่าต่ำกว่า ?4 ต่อปี ฉะนั้นผู้ที่มีผู้เช่าเป็นจำนวนมากจึงต้องมีภาระที่จะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนมากในการเลี้ยงดูผู้เช่า ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดการกำจัดผู้เช่าที่ดินที่ยากจนออกจากที่ดินแปลงเล็ก และจัดให้เช่าที่ดินผืนที่ใหญ่ขึ้นในราคาที่เกินกว่า ?4 ต่อปีซึ่งทำให้เป็นการลดหนี้สินลงไป ในปี ค.ศ. 1846 ก็เริ่มมีการไล่ที่แต่การไล่ที่ขนานใหญ่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1847 เจมส์ ดอนเนลลีกล่าวว่าเป็นการยากที่จะกล่าวได้อย่างแน่นอนว่าผู้เช่าที่ดินที่ถูกขับไล่มีจำนวนเท่าใดระหว่างช่วงเวลาที่เกิดทุพภิกขภัยและหลังจากนั้น การบันทึกสถิติโดยตำรวจเพิ่งมาเริ่มทำกันในปี ค.ศ. 1849 ที่บันทึกว่ามีผู้ถูกขับไล่อย่างเป็นทางการทั้งหมดเกือบ 250,000 คนระหว่างปี ค.ศ. 1849 จนถึงปี ค.ศ. 1854
เจมส์ ดอนเนลลีมีความเห็นว่าจำนวนดังกล่าวเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และถ้ารวมจำนวนผู้ที่ถูกบังคับให้ “อาสา” ละทิ้งที่ดิน จำนวนทั้งหมดในช่วงวิกฤติการณ์ทั้งหมดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1846 จนถึงปี ค.ศ. 1854 ก็คงจะเกินกว่าครึ่งล้านคนอย่างเป็นที่แน่นอน ขณะเดียวกันเฮเลน ลิตตันก็กล่าวใน “The Irish Famine: An Illustrated History” (ไทย: “ทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์: ประวัติศาสตร์ประกอบภาพ”) ถึงผู้ “อาสา” ละทิ้งที่ดินว่าในบางกรณีผู้เช่าที่ดินก็ได้รับการหว่านล้อมให้ละทิ้งด้วยจำนวนเงินเล็กน้อยและถูก “หลอกให้เชื่อว่าถ้าออกไปแล้วทางโรงแรงงานก็จะรับเลี้ยง”
บริเวณเวสต์แคลร์เป็นบริเวณที่เกิดการไล่ที่กันมากที่สุดเมื่อเจ้าของที่ดินขับไล่ผู้เช่าเป็นจำนวนพันและทำลายกระท่อมที่อยู่อาศัยลงจนหมด ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1848 กัปตันเคนเนดีประมาณว่ากระท่อมราว 1,000 หลังที่มีผู้อาศัยถัวเฉลี่ยบ้านละหกคนถูกทำลายราบมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ในปี ค.ศ. 1847 ตระกูลแมนแห่งคฤหาสน์สโตรคสทาวน์ตระกูลเดียวไล่ผู้เช่าทั้งหมด 3,000 คน และตามคำกล่าวของจอห์น กิบนีย์ไล่ผู้เช่าขณะที่ตนเองนั่งกินซุปกุ้งมังกร
บริเวณที่ได้รับความกระทบกระเทือนจากถัดจากแคลร์ก็ได้แก่เคานตี้มาโย ที่จำนวนผู้ถูกไล่ทั้งหมดสูงถึง 10% ของการถูกไล่ทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1849 จนถึงปี ค.ศ. 1854 เอิร์ลแห่งลูคันผู้เป็นเจ้าของที่ดิน 240 ตารางกิโลเมตรเป็นหนึ่งในบรรดาเจ้าของที่ดินที่ทำการขับไล่ที่มากที่สุด กล่าวกันว่าเอิร์ลกล่าวว่าจะไม่เป็นผู้ที่ “ขยายพันธุ์ผู้ยากจนเพื่อให้ไปเลี้ยงนักบวช” หลังจากขับไล่ผู้เช่าที่ดินไปกว่า 2,000 คนในแขวงวัดบอลลินโรบแล้วเอิร์ลแห่งลูคันก็หันมาใช้ที่ดินที่ว่างลงในการเลี้ยงปศุสัตว์ ในปี ค.ศ. 1848 มาควิสแห่งสไลโกเป็นหนี้จำนวน ?1,650 แต่ก็เป็นผู้หนึ่งที่ทำการขับไล่ผู้เช่าแต่อ้างว่าทำอย่างเลือกสรร โดยกำจัดเฉพาะผู้ที่ถือว่าขี้เกียจและขี้โกง จำนวนได้รับการ “เลือกสรร” เป็นหนึ่งในสี่ของจำนวนผู้เช่าที่ดินทั้งหมดของสไลโก
จากคำกล่าวของเฮเลน ลิตตันการไล่ที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้วแต่ไม่เป็นที่เปิดเผยเพราะความกลัวสมาคมลับต่างๆ แต่เมื่อสถานการณ์ทุพภิกขภัยเกิดขึ้นสมาคมเหล่านี้ก็อ่อนตัวลง แต่การแก้แค้นจากการถูกไล่ก็ยังคงมีอยู่บ้างที่เจ้าของที่ดินเจ็ดคนถูกยิง หกคนปางตายระหว่างฤดูใบไม้ร่วงถึงฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1847 ลิตตันกล่าวต่อไปอีกว่าผู้อาศัยอยู่ในที่ดินที่ไม่มีผู้เช่าที่ดินอีกสิบคนถูกฆาตกรรม
ลอร์ดแคลเรนดอนข้าหลวงแห่งไอร์แลนด์มีความวิตกถึงสถานการณ์ที่อาจจะทำให้เกิดการปฏิวัติร้องขอรัฐบาลให้มอบอำนาจพิเศษให้ แต่ลอร์ดรัสเซลล์ไม่มีความรู้สึกเห็นใจต่อคำขอ ลอร์ดแคลเรนดอนเชื่อว่าเจ้าของที่ดินมีความรับผิดชอบทำให้เกิดสถานการณ์อันเลวร้ายแทบทั้งหมดโดยกล่าวว่า “ก็จริงที่ว่าเจ้าของที่ดินในอังกฤษไม่อยากจะถูกยิงเหมือนกระต่ายหรือไก่ฟ้า...แต่เจ้าของที่ดินในอังกฤษก็มิได้ขับไล่ผู้เช่าทีละห้าสิบคนแล้วเผาทีอยู่อาศัยโดยไม่ทิ้งอะไรให้เหลือสำหรับอนาคต” ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1847 รัฐสภาก็อนุมัติพระราชบัญญัติว่าด้วยอาชญากรรมและการกระทำอันเกินเลยเพื่อเป็นการประนีประนอมและส่งกองทหารไปสมทบยังไอร์แลนด์
ภายใต้ “อนุประโยคเกรกอรี” อันเลื่องชื่อของกฎหมายประชาสงเคราะห์ ดอนเนลลีกล่าวว่าเป็น “บทแก้สำหรับคนยากจนชาวไอริชอันทารุณ” ที่ตั้งตามชื่อสมาชิกรัฐสภาวิลเลียม เอช. เกรกอรี และมักจะเรียกกันว่า 'อนุประโยคหนึ่งในสี่เอเคอร์' ซึ่งระบุว่าไม่มีผู้เช่าที่ดินที่มีที่ดินเกินกว่าหนึ่งในสี่เอเคอร์จะมีสิทธิที่จะได้รับการสงเคราะห์จากรัฐบาลไม่ว่าจะนอกหรือในบ้าน อนุประโยคนี้ได้รับการเสนอโดยพรรคทอรีเป็นบทแก้ไขของกฎหมายประชาสงเคราะห์ที่ได้รับอนุมัติให้เป็นกฎหมายบังคับใช้ในเดือนมิถุนายนของปี ค.ศ. 1847 ที่สมาชิกรัฐสภาโดยทั่วไปมองเป็นว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยเร่งทำที่ดินให้ว่างลงเร็วขึ้น แม้ว่าจะมิได้มีวัตถุประสงค์ดังกล่าวระหว่างการเสนอ ในระยะแรกคณะกรรมาธิการกฎหมายประชาสงเคราะห์และผู้ตรวจสอบเห็นว่าอนุประโยคเป็นเครื่องมืออันสำคัญในการบริหารโครงการช่วยเหลือผู้ยากจนอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่นานนักผลเสียก็เป็นที่ปรากฏ แม้แต่จากมุมมองของผู้บริหารเองและในที่สุดก็มองเห็นตนเองว่าอย่างดีก็เป็นฆาตกรในนามของมนุษยธรรมเท่านั้น ตามความเห็นของดอนเนลลี 'อนุประโยคหนึ่งในสี่เอเคอร์' เป็น “เครื่องมือทางอ้อมที่ใช้ในการฆ่า[ประชาชนผู้อดอยาก]”
ขณะที่ทุพภิกขภัยเป็นสาเหตุสำคัญในการเพิ่มจำนวนผู้อพยพออกจากไอร์แลนด์จำนวนระหว่าง 45% จนถึงเกือบ 85% ขึ้นอยู่กับปีและสถานที่แต่มิใช่เป็นเพียงสาเหตุเดียว และมิใช่เป็นช่วงเดียวที่มีการอพยพกันอย่างขนานใหญ่ การอพยพเริ่มกันมาตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในช่วงห้าสิบปีเมื่อประชากรราวสองแสนห้าหมื่นคนอพยพจากไอร์แลนด์ไปตั้งถิ่นฐานในโลกใหม่ ตั้งแต่การพ่ายแพ้ของนโปเลียนมาจนถึงการเริ่มต้นทุพภิกขภัยเป็นเวลาราวสามสิบปี “อย่างน้อยก็ 1,000,000 คนหรืออาจจะเป็น 1,500,000 คนทำการอพยพ” แต่ในช่วงที่เหตุการณ์เลวร้ายที่สุดในระหว่างวิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยผู้อพยพมีจำนวนสูงถึงราว 250,000 คนภายในหนึ่งปีเท่านั้น และมาจากทางตะวันตกเป็นจำนวนมากกว่าส่วนอื่นของประเทศ
โดยทั่วไปแล้วการอพยพของชาวไอร์แลนด์มิได้เป็นการยกกันไปทั้งครอบครัว ผู้ที่ทำการอพยพมักเป็นผู้ที่มีอายุน้อยราวกับว่าการอพยพจะเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นผู้ใหญ่ (rite of passage) ที่จะต้องเกิดขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากสถิติซึ่งไม่เหมือนกับการอพยพอื่นๆ ในประวัติศาสตร์โลกที่จำนวนสตรีที่อพยพมีจำนวนพอๆ กับบุรุษ ผู้ที่ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในโลกใหม่ส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวในไอร์แลนด์เป็นจำนวน “ถึง ?1,404,000 ภายในปี ค.ศ. 1851” ซึ่งเป็นเงินที่นำไปใช้ในการช่วยให้สมาชิกคนอื่นในครอบครัวได้มีโอกาสอพยพ
การอพยพในช่วงวิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยระหว่างปี ค.ศ. 1845 ถึงปี ค.ศ. 1850 เป็นการอพยพไปยังอังกฤษ สกอตแลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และ ออสเตรเลีย ผู้ที่อพยพไปอเมริกาหลายคนใช้เส้นทางเรือที่เป็นที่รู้จักกันดีที่เรียกว่า “เรือสายแม็คคอร์เคลล์” (McCorkell Line)
ในจำนวนผู้เดินทางจากไอร์แลนด์ 100,000 คนไปยังแคนาดาในปี ค.ศ. 1847 หนึ่งในห้าคนตายด้วยการติดโรค การขาดอาหาร รวมทั้งอีก 5,000 คนที่เสียชีวิตที่เกาะโกรสส์ (Grosse Isle) ซึ่งเป็นเกาะกลางแม่น้ำเซนต์ลอเรนซ ที่ใช้เป็นศูนย์กักกันและตรวจสอบผู้อพยพก่อนจะอนุญาตให้เข้าแคนาดาได้ อัตราการเสียชีวิตถึง 30% ของผู้อพยพที่เดินทางโดยเรือศพถือเป็นเรื่องปกติ
เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1854 ชาวไอร์แลนด์ระหว่าง 1? ถึง 2 ล้านคนก็อพยพออกจากไอร์แลนด์เพราะถูกไล่จากที่ดิน, จากทุพภิกขภัย และ จากสภาวะความเป็นอยู่อันทารุณ ในอเมริกาผู้ที่อพยพส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองเพราะมีเงินไม่มากนัก ส่วนใหญ่ก็ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองท่าที่ขึ้นฝั่ง ในปี ค.ศ. 1850 บอสตัน นครนิวยอร์ก ฟิลาเดลเฟีย และบัลติมอร์ ก็มีประชากรที่เป็นชาวไอร์แลนด์ถึงหนึ่งในสี่ นอกจากนั้นก็ยังมีเป็นจำนวนมากตามเมืองที่มีเหมือง
การสำรวจจำนวนประชากรของปี ค.ศ. 1851 รายงานว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่อาศัยอยู่ในโทรอนโต และ ออนทาริโอเป็นชาวไอร์แลนด์ และในปี ค.ศ. 1847 เพียงปีเดียว มีชาวไอริชอพยพเข้ามาถึง 38,000 คนในเมืองที่มีประชากรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่แล้ว 20,000 คน เมืองในแคนาดาอื่นๆ เช่นเซนต์จอห์นในนิวบรันสวิค เมืองควิเบค และมอนทริออลรับผู้อพยพเข้ามาเป็นจำนวนมากเพราะเมืองเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษ ฉะนั้นจึงไม่สามารถที่จะปิดอ่าวต่อเรือจากไอร์แลนด์ได้ นอกจากนั้นผู้อพยพก็สามารถที่จะซื้อตั๋วราคาถูกได้ (หรืออาจจะฟรีในกรณีที่โดนไล่จากที่ดิน) แต่ความกลัวในการก่อตัวของกลุ่มชาตินิยมทำให้รัฐบาลบริติชตั้งข้อจำกัดอันรุนแรงต่อผู้อพยพไปยังแคนาดาหลังจากปี ค.ศ. 1847 ที่เป็นผลทำให้มีผู้อพยพไปยังสหรัฐอเมริกามากขึ้น สุสานที่ใหญ่ที่สุดของชาวไอร์แลนด์นอกไอร์แลนด์อยู่ที่เกาะโกรสสในควิเบค ในอังกฤษเองในปี ค.ศ. 1851 ราวหนึ่งในสี่ของประชากรของเมืองลิเวอร์พูลเกิดในไอร์แลนด์
วิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยเป็นจุดเริ่มต้นของการลดจำนวนประชากรของไอร์แลนด์อย่างรวดเร็วในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อัตราการขยายตัวของจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น 13–14% ในสามสิบปีแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ระหว่างปี ค.ศ. 1831 และ ค.ศ. 1841 ประชากรเพิ่มขึ้นราว 5%
ความคิดของทอมัส โรเบิร์ต มาลธัสที่ว่าประชากรจะขยายตัวอย่างรวดเร็วตามอัตราทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นเป็นทฤษฎีที่แพร่หลายระหว่างที่เกิดสถาวะทุพภิกขภัยระหว่างปี ค.ศ. 1817 ถึงปี ค.ศ. 1822 แต่เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษ 1830 สิบปีก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤติการณ์ทุพภิกขภัย ทฤษฎีนี้ก็เห็นกันว่าเป็นทฤษฎีที่ง่ายเกินไป และปัญหาที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์ก็เห็นกันว่าเป็นปัญหาที่ไม่เกี่ยวกับการขยายตัวของประชากรแต่ “มาจากการขาดการลงทุน” และในช่วงเดียวกันประชากรของไอร์แลนด์มิได้ขยายตัวขึ้นมากไปกว่าในอังกฤษซึ่งมิได้ประสบวิกฤติการณ์เช่นเดียวกับไอร์แลนด์
ในปี ค.ศ. 1847 วิลเลียม สมิธ โอไบรอันผู้นำของขบวนการยังไอร์แลนด์กลายเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสันนิบาตไอร์แลนด์ (Irish Confederation) เพื่อรณรงค์ในการยกเลิกพระราชบัญญัติสหภาพ และเรียกร้องให้ยุติการส่งธัญญาหารออกนอกประเทศและทำการปิด ปีต่อมาโอไบรอันก็ปลุกปั่นเกษตรผู้ไร้ที่ดินทำกินในเคานตี้ทิพเพอรารีให้ต่อต้านเจ้าของที่ดินและตัวแทน
จำนวนผู้เสียชีวิตระหว่างวิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยไม่เป็นที่ทราบ แต่เชื่อกันว่าผู้ที่เสียชีวิตเสียชีวิตจากโรคภัยมากกว่าจากการอดตาย ขณะนั้นบันทึกการเกิด การแต่งงาน และการเสียชีวิตยังมิได้เริ่มทำกัน และบันทึกของวัดโรมันคาทอลิกก็ไม่สมบูรณ์ บันทึกผู้เห็นเหตุการณ์ช่วยให้นักประวัติศาสตร์การแพทย์สามารถบ่งได้ถึงทั้งความเจ็บป่วยและผลที่เกิดจากทุพภิกขภัย และใช้ในการอธิบายถึงรายละเอียดของลักษณะของทุพภิกขภัย ในมาโยเควคเกอร์อังกฤษวิลเลียม เบ็นเน็ตตบันทึกถึง
เด็กที่ต้องประสบกับโรคมาราสมัส (marasmus) สร้างความประทับตาแก่เควคเกอร์โจเซฟ ครอสฟิล์ดผู้ในปี ค.ศ. 1846 เป็นพยานต่อเหตุการณ์ที่
การประมาณจำนวนผู้เสียชีวิตวิธีหนึ่งได้มาจากการเปรียบเทียบจำนวนประชากรที่คาดว่าจะมีขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1850 การพยากรณ์แรกเริ่มคาดว่าภายในปี ค.ศ. 1851 ไอร์แลนด์ควรจะมีประชากรราว 8 หรือ 9 ล้านคน การสำรวจจำนวนประชากรของปี ค.ศ. 1841 พบว่ามีประชากรเกินกว่า 8 ล้านคนไปเล็กน้อย แต่การสำรวจจำนวนประชากรของปี ค.ศ. 1851 ทันทีหลังจากวิกฤติการณ์ทุพภิกขภัยพบว่ามีประชากรทั้งสิ้น 6,552,385 คนซึ่งเท่ากับลดจำนวนลงถึงเกือบ 1,500,000 คนในรอบสิบปี นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่อาร์.เจย์. ฟอสเตอร์ประมาณว่าประชากร “อย่างน้อย 775,000 คนเสียชีวิต ส่วนใหญ่จากโรคร้ายที่รวมทั้งอหิวาตกโรคระหว่างบั้นปลายของความทุกข์ยาก” ฟอสเตอร์ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า “การคำนวณอันซับซ้อนประมาณผู้เสียชีวิตระหว่างปี ค.ศ. 1846 ถึงปี ค.ศ. 1851 ว่าตกราวระหว่าง 1,000,000 ถึง 1,500,000 คน...; หลังจากการพิจารณาอย่างระมัดระวังแล้ว สถิติอื่นก็ประมาณว่าเป็นจำนวน 1,000,000 คน” นอกจากนั้นก็ยังมีชาวไอร์แลนด์อีกกว่า 1 ล้านคนที่อพยพไปยังเกรตบริเตน, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ออสเตรเลีย และอื่นๆ และอีกหลายล้านคนที่อพยพในระหว่างหลายสิบปีที่ตามมา
การประมาณตัวเลขของผู้เสียชีวิตที่อาจจะเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในระดับเคานตี้อาจจะเป็นของนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชาวอเมริกันโจล โมคีร์ (Joel Mokyr) ตัวเลขผู้เสียชีวิตโมคีร์ตกระหว่าง 1.1 ถึง 1.5 ล้านครระหว่างปี ค.ศ. 1846 ถึงปี ค.ศ. 1851 1846 and 1851 โมคีร์ให้ตัวเลขสองชุด ประเมินค่าสูงสุด (upper-bound) และประเมินค่าต่ำสุด (lower-bound) ซึ่งไม่แสดงความแตกต่างกันเท่าใดนักในตัวเลขระหว่างระดับท้องถิ่น เนื่องจากความผิดปกติของตัวเลข คอร์แม็ค โอเกรดาก็กลับไปตรวจสอบงานของเอส. เอช. คูเซน ตัวเลขของการประมาณของคูเซน เป็นตัวเลขที่ส่วนใหญ่คำนวณจากข้อมูลที่มาจากการสำรวจจำนวนประชากรของปี ค.ศ. 1851 ตารางตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากการสำรวจจำนวนประชากรของปี ค.ศ. 1851 ได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นตัวเลขที่ประมาณต่ำกว่าความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ตัวเลขผู้เสียชีวิต 800,000 คนของคูเซนในปัจจุบันจึงถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำเกินไป ที่มาจากสาเหตุหลายประการเช่นเป็นตัวเลขที่เก็บจากครอบครัวรอดมาจากวิกฤติการณ์ และอื่นๆ ที่รวมทั้งการเสียชีวิตและการอพยพก็ทำให้ไม่มีผู้มาให้ทำการสำรวจ
อีกปัญหาหนึ่งคือความไม่แน่นอนของข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่ทำให้เสียชีวิตที่ได้จากญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต แม้ว่างานของไวล์ดจะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำ แต่ก็เป็นตัวเลขที่นำมาใช้เป็นโครงสร้างของการศึกษาประวัติศาสตร์การแพทย์ของวิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์ โรคที่มีผลอย่างรุนแรงต่อประชากรแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม โรคที่เกิดจากทุพภิกขภัยและโรคที่เกิดจากการขาดอาหาร โรคที่เกิดจากการขาดอาหารจะเป็นความหิวโหยและโรคมาราสมัสและอาการท้องมาน (Dropsy) ที่เป็นชื่อที่นิยมใช้เรียกอาการของโรคหลายโรคๆ หนึ่งคือโรคควาซิโอกอร์ (Kwashiorkor) ที่เกิดจากการขาดอาหาร แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตมากที่สุดมิได้มาจากโรคที่มาจากการขาดอาหารแต่เป็นทุพภิกขภัยที่ทำให้เจ็บป่วยด้วยโรคอื่น ผู้ขาดอาหารจะมีร่างกายที่อ่อนแอที่ทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายและ และเมื่อเจ็บแล้วก็จะมีอาการรุนแรงกว่าปกติและรักษาให้หายได้ยาก โรคต่างๆ ก็ได้แก่ โรคหัด โรคที่เกี่ยวกับท้องเสีย โรคเกี่ยวกับระบบการหายใจเกือบทุกโรค โรคไอกรน และ โรคพยาธิต่างๆ ในลำไส้ โรคที่เป็นอันตรายถึงตายเช่นฝีดาษ หรือ ไข้หวัดใหญ่ก็เป็นโรคที่ระบาดเป็นอิสระจากสภาวะการขาดอาหาร
สาเหตุสำคัญของการระบาดของเชื้อโรคระหว่างวิกฤติการณ์มาจากสภาวะที่เรียกว่า “การเคลื่อนย้ายของสังคม” (social dislocation) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือไข้ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากมาย ตามคตินิยมและทัศนคติทางการแพทย์ ไข้และทุพภิกขภัยมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด. ความคิดเห็นนี้ไม่เกินไปกว่าความเข้าใจผิดเท่าใดนัก แต่ความสัมพันธ์ที่สำคัญเกิดขึ้นเมื่อมีการชุมนุมกันหนาแน่นในโรงแจกอาหาร โรงจ่ายอาหาร และโรงแรงงานซึ่งเป็นสภาวะที่เหมาะแก่การระบาดของโรคติดเชื้อเช่นไข้รากสาดใหญ่ ไข้รากสาดน้อย และไข้ที่เป็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่วนโรคที่เกี่ยวกับท้องเสียมีสาเหตุมาจากสภาวะการอนามัยที่อยู่ในระดับต่ำและการเปลี่ยนแปลงอาหาร แต่สิ่งที่คร่าชีวิตในบั้นปลายของผู้หมดแรงจากทุพภิกขภัยคืออหิวาตกโรคเอเชีย อหิวาตกโรคเข้ามาระบาดในไอร์แลนด์แล้วในระยะหนึ่งก่อนหน้านั้นในคริสต์ศตวรรษ 1830 แต่ในทศวรรษต่อมาอหิวาตกโรคที่ไม่อาจจะหยุดยั้งได้ก็ระบาดจากเอเชียมายังทั่วยุโรป มายังบริเตนและในที่สุดก็มาถึงไอร์แลนด์ในปีค.ศ. 1849
ทั้งคอร์แม็ค โอเกรดา และ โจล โมคีร์กล่าวถึงการสำรวจจำนวนประชากรของปี ค.ศ. 1851 ว่าเป็นสถิติที่มีชื่อเสียงแต่เป็นข้อมูลที่บกพร่อง และอ้างว่าตัวเลขของทั้งที่เกี่ยวกับสถาบันและบุคคลเป็นตัวเลขที่เกี่ยวกับจำนวนผู้เสียชีวิตระหว่างวิกฤติการณ์เป็นตัวเลขที่ “ไม่สมบูรณ์และมีความลำเอียง” โอเกรดาอ้างงานของดับเบิลยู.เอ. แม็คอาร์เธอร์ ว่าผู้เชี่ยวชาญต่างก็ทราบกันมานานแล้วว่าตัวเลขของจำนวนผู้เสียชีวิตในไอร์แลนด์เป็นตัวเลขที่ไม่มีความน่าเชื่อถือในด้านความเที่ยงตรง ฉะนั้นโอเกรดาจึงกล่าวว่าการใช้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการสำรวจจำนวนประชากรของ ค.ศ. 1851 ตามตัวเป็นการใช้ตัวเลขที่ผิดที่แสดงตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นอันมากทั้งก่อนและระหว่างวิกฤติการณ์
คณะกรรมาธิการการสำรวจจำนวนประชากรของปี ค.ศ. 1851 รวบรวมข้อมูลของจำนวนผู้เสียชีวิตของแต่ละครอบครัวมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1841 ที่รวมทั้งสาเหตุ ฤดู และปีที่เสียชีวิต ตัวเลขที่เป็นที่ครหาก็ได้แก่: มีผู้เสียชีวิตจากทุพภิกขภัยทั้งสิ้น 21,770 คนในรอบสิบปีที่ผ่านมา และมีผู้เสียชีวิตจากโรคภัย 400,720 คน โรคที่บันทึกก็รวมทั้งไข้ ท้องเสีย อหิวาตกโรค ฝีดาษ และ ไข้หวัดใหญ่ สองโรคแรกเป็นสิ่งที่คร่าชีวิตมากที่สุด (222,021 และ 93,232 คนตามลำดับ) คณะกรรมาธิการยอมรับว่าตัวเลขที่เก็บเป็นตัวเลขที่ไม่สมบูรณ์ และตัวเลขจริงอาจจะสูงกว่า: “จำนวนผู้ตายที่ยิ่งสูงขึ้นเท่าใด...จำนวนการบันทึกจากผู้ยังมีชีวิตอยู่ก็ยิ่งลดลงเท่านั้น เพราะไม่แต่ครอบครัวทั้งครอบครัวเท่านั้นถูกคร่าชีวิตไป แต่หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านก็ถูกลบไปจากแผ่นดิน” นักประวัติศาสตร์ต่อมากล่าวว่า “คณะกรรมาธิการการสำรวจจำนวนประชากรของปี ค.ศ. 1851 พยายามสร้างตารางการเสียชีวิตของแต่ละปีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1841 ...สถิติที่รวบรวมเป็นสถิติการเสียชีวิตที่บกพร่องและอาจจะประเมินระดับการเสียชีวิตที่ต่ำกว่าความเป็นจริง...”
สถิติอื่นที่อาจจะมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าและประเมินต่ำกว่าความเป็นจริงกล่าวว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณหนึ่งล้านคนจากทุพภิกขภัยและเชื้อโรค และอีกหนึ่งล้านคนอพยพหนีจากทุพภิกขภัย นักวิชาการบางคนประมาณว่าประชากรของไอร์แลนด์ลดจำนวนลงไปราวระหว่าง 20 ถึง 25% ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่ยังคงเก็บภาษี ค่าเช่า และส่งอาหารออกไปยังอังกฤษเป็นจำนวนกว่า ?6,000,000
วิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยครั้งนี้เป็นผลให้สถานการณ์ทุพภิกขภัยครั้งย่อยที่เกิดขึ้นต่อมาไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของสาธารณชนเท่าและมักจะลืมกันไปยกเว้นก็แต่นักประวัติศาสตร์ เมื่อมาถึงการสำรวจจำนวนประชากรของปี ค.ศ. 1911 ประชากรของไอร์แลนด์ก็ลดจำนวนลงเหลือเพียง 4.4 ล้านคนเท่ากับจำนวนในปี ค.ศ. 1800 และปี ค.ศ. 2000 ซึ่งเป็นจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรเมื่อถึงจุดสูงสุด
ความเห็นร่วมสมัยวิจารณ์วิธีการโต้ตอบและการบริหารวิกฤติการณ์ของรัฐบาลของลอร์ดรัสเซลล์อย่างรุนแรง ตั้งแต่เริ่มต้นก็มีการกล่าวหารัฐบาลว่าขาดความเข้าใจถึงความใหญ่หลวงของสถานการณ์อันเลวร้าย เซอร์เจมส์ แกรมผู้เป็นรัฐมนตรีว่าการภายในของประเทศในรัฐบาลก่อนหน้านั้นของเซอร์โรเบิร์ต พีลเขียนจดหมายถึงพีลว่า “สถานภาพอันใหญ่หลวงของวิกฤติการณ์ในไอร์แลนด์ตามความเป็นจริงนั้นสูงกว่าที่รัฐบาลคาดไว้เป็นอันมาก และไม่อาจจะสามารถวัดได้โดยกฎอันจำกัดของเศรษฐศาสตร์”
ข้อวิจารณ์มิใช่แต่จะมาจากบุคคลภายนอกเท่านั้น ลอร์ดแคลเรนดอนข้าหลวงแห่งไอร์แลนด์เขียนจดหมายถึงลอร์ดรัสเซลล์เมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1849 ขอร้องให้รัฐบาลเพิ่มเติมความช่วยเหลือแก่ไอร์แลนด์: “กระผมไม่เห็นว่าจะมีรัฐบาลใดใดในยุโรปที่จะละเลยความทุกข์ยากที่กำลังประสบกันทางตะวันตกของไอร์แลนด์ หรือยังคงยืนยันรักษานโยบายอันเลือดเย็นของการกำจัด[ประชากร]ต่อไป” และในปี ค.ศ. 1849 เอ็ดเวิร์ด ทวิสเซิลทัน (Edward Turner Boyd Twistleton) ประธานคณะกรรมาธิการกฎหมายประชาสงเคราะห์ก็ลาออกในการประท้วงพระราชบัญญัติ (Rate-in-Aid Act) ที่ระบุการหาเงินเพิ่มสำหรับการประชาสงเคราะโดยเรียกเก็บภาษีที่ดินเพิ่มร้อยละหกของราคาประเมินของที่ดินในไอร์แลนด์. ทวิสเซิลทันให้การว่า “เพียงจำนวนเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่จำเป็นสำหรับบริเตนในการแก้ความน่าละอายอันน่าอดสูอันเกิดจากการปล่อยให้ประชาชนร่วมชาติให้อดตายเพราะทุพภิกขภัย” ปีเตอร์ เกรย์ในหนังสือ The Irish Famine (ทุพภิกขภัยของชาวไอร์แลนด์) กล่าวว่ารัฐบาลใช้เงินจำนวนกว่าเจ็ดล้านปอนด์สำหรับการช่วยเหลือไอร์แลนด์ระหว่างปี ค.ศ. 1845 ถึงปี ค.ศ. 1850 ซึ่งเป็นจำนวนที่ “น้อยกว่าครึ่งเปอร์เซ็นต์ของมาตรวัดรายรับและผลผลิตของประเทศในช่วงเวลาห้าปี ผู้ร่วมสมัยกล่าวว่าเป็นจำนวนที่ต่างกันอย่างมหาศาลกับจำนวนเงิน 20 ล้านปอนด์ที่จ่ายให้เป็นค่าทดแทนเจ้าของทาสในเวสต์อินดีสในคริสต์ทศวรรษ 1830”
นักวิจารณ์ผู้อื่นกล่าวว่าแม้ว่าหลังจากที่เริ่มมีความเข้าใจถึงสภาวะอันเลวร้ายของวิกฤติการณ์ รัฐบาลก็ยังคงมิได้แสดงการตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างพอเพียง จอห์น มิทเชลหนึ่งในผู้นำของขบวนการยังไอร์แลนด์เขียนในบทความในปี ค.ศ. 1860 ว่า “ข้าพเจ้าเรียกสถานการณ์นี้ว่าเป็นทุพภิกขภัยเทียม ซึ่งหมายถึงทุพภิกขภัยที่สร้างความลำบากยากเข็ญให้แก่แผ่นดินทีอุดมสมบูรณ์ที่ผลิตข้าวปลาอาหารอันมากมายทุกปีที่เพียงพอที่จะเลี้ยงประชากรของตนเองและผู้อื่นอีกมาก แต่ฝ่ายอังกฤษเรียกสถานการณ์นี้ว่า 'แรงบันดาลของพระเจ้า' (dispensation of Providence) และลงความเห็นว่าสาเหตุทั้งหมดเกิดจากรามันฝรั่ง แต่การเสียผลผลิตมันฝรั่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไปในยุโรปในขณะนั้น แต่ก็ไม่มีที่ใดที่ประสบกับทุพภิกขภัยนอกไปจากไอร์แลนด์ ฉะนั้นพฤติกรรมของบริติชในการตอบสนองวิกฤติการณ์จึงแสดงถึง หนึ่งความหลอกลวง สองความอัปยศ พระเจ้าอาจจะทรงเป็นผู้ส่งรามันฝรั่งลงมา แต่อังกฤษเป็นผู้สร้างทุพภิกขภัย”
แต่นักวิจารณ์อื่นมองเห็นการตอบโต้วิกฤติการณ์เป็นการตอบโต้ของรัฐบาลตามทัศนคติต่อปัญหาที่เรียกว่า “ปัญหาไอร์แลนด์” นาซอ ซีเนียร์ศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดกล่าวถึงทุพภิกขภัยว่า “ไม่ได้คร่าชีวิตคนมากไปกว่าล้านคน ซึ่งก็ไม่ได้ถือว่าเป็นจำนวนมากที่จะทำเป็นเรื่องใหญ่” ในปี ค.ศ. 1848, เดนนิส ไชน์ ลอว์เลอร์เสนอว่าลอร์ดรัสเซลล์เป็นนักศึกษาตามทฤษฎีของกวีสมัยเอลิซาเบธเอ็ดมันด์ สเปนเซอร์ (Edmund Spenser) ผู้ได้คำนวณว่า “การครอบครองและนโยบายของอังกฤษจะยืดไปอย่างมีประสิทธิภาพได้นานเท่าใดโดยปล่อยให้ชาวไอร์แลนด์อดอยาก”เซอร์ชาร์ลส์ เทรเวเลียนข้าราชการผู้มีความรับผิดชอบโดยตรงตอบโต้ต่อปัญหาวิกฤติการณ์ของรัฐบาลบรรยายในปี ค.ศ. 1848 ว่า “การกระตุ้นผู้มีอำนาจและความกรุณาเบื้องบน” ที่เปิดให้เห็น “ถึงรากของความชั่วร้ายในสังคม” เทรเวเลียนยืนยันต่อไปว่าทุพภิกขภัยคือ “บทแก้ของปัญหาอันรุนแรงแต่มีประสิทธิภาพและอาจจะเป็นวิธีที่จะแก้ปัญหาทั้งหมดได้ พระเจ้าประทานว่าชนรุ่นที่ประสบกับวิธีแก้ปัญหาที่ว่านี้จะเป็นประชาชนที่ได้รับโอกาสที่ประพฤติตัวดีขึ้น...”
คริสติน คินีลนีให้ความเห็นที่พ้องกับนักประวัติศาสตร์อื่นๆ เมื่อกล่าวว่า “เรื่องน่าเศร้าของวิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยของปี ค.ศ. 1845 ถึงปี ค.ศ. 1852 เป็นเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ไอร์แลนด์สมัยใหม่ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมิใช่ทั้งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดกันมาก่อนหรือเป็นเหตุการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” วิกฤติการณ์เพิ่มความเลวร้ายลงด้วยการตอบสนองอันไม่พอเพียงของรัฐบาล ที่คินีลนีกล่าวว่า
...รัฐบาลต้องตอบรับปัญหาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งที่จะช่วยผ่อนปรนการทุกข์ทรมาน ลักษณะของการโต้ตอบโดยเฉพาะหลังจากปี ค.ศ. 1846 ทำให้เห็นว่ามีนโยบายหรือแรงบันดาลใจอันซ่อนเร้น เมื่อสถานการณ์เลวร้ายลงก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลใช้ข้อมูลมิใช่แต่เพียงเพื่อการวางแผนในการวางนโยบายความช่วยเหลือแต่เป็นโอกาสในการช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ต้องการจะทำมานานแล้วในไอร์แลนด์ ที่รวมทั้งการควบคุมจำนวนประชากรและการรวบรวมที่ดินด้วยวิธีต่างๆ รวมทั้งการอพยพ... แม้ว่าจะมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าทุพภิกขภัยที่ยืดเยื้อมาจากรามันฝรั่งที่เกิดขึ้นปีแล้วปีเล่า แต่พื้นฐานของปรัชญาของการช่วยเหลือก็ยังเป็นการดำเนินการให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด และตามความเป็นจริงแล้วก็ลดความช่วยเหลือลงเมื่อภาวะทุพภิกขภัยเลวร้ายขึ้น
นักเขียนหลายคนโทษข้อที่สำคัญที่สุดของนโยบายของรัฐบาลที่ยังคงอนุญาตให้ดำเนินการส่งอาหารออกจากไอร์แลนด์ต่อไปว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงทัศนคติของนโยบายของรัฐบาล ลีออน ยูริสเสนอว่า “ไอร์แลนด์มีอาหารเพียงพอภายในประเทศ” ขณะที่วัวที่เลี้ยงในไอร์แลนด์ถูกส่งออกไปยังอังกฤษ การโต้ตอบข้างล่างปรากฏในองค์ที่ 4 ของบทละคร “Man and Superman” โดย จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์:
MALONE: เดี๋ยวเขาก็หายของเขาเองแหละ คนเราจะรู้สึกดีขึ้นก็เมื่อได้ผิดหวังกับความรักเข้าเสียหน่อยแทนที่จะผิดหวังเรื่องเงิน คุณอาจจะคิดว่าความคิดของผมไม่เข้าเรื่อง แต่ผมรู้นะว่าผมพูดเรื่องอะไร พ่อผมตายเพราะความหิวโหยในไอร์แลนด์เมื่อปี 47 คุณคงได้ข่าวเรื่องนั้นบ้างหรอก VIOLET: อ้อทุพภิกขภัยน่ะหรือ? MALONE: [ชักเริ่มกรุ่น] ไม่ใช่ทุพภิกขภัย เมื่อบ้านเมืองเต็มไปด้วยข้าวด้วยน้ำแล้วยังแถมส่งออกอีก อย่างนี้เขาไม่เรียกว่าทุพภิกขภัยหรอก พ่อของผมหิวตายและตัวผมเองก็ถูกแม่ลากตัวทั้งหิวไปอเมริกา การปกครองของอังกฤษขับผมและพวกผมออกจากไอร์แลนด์ คุณก็เก็บไอร์แลนด์ของคุณไว้เถอะ ผมและพวกผมจะกลับมาซื้ออังกฤษ และจะซื้อไอ้ที่ดีๆ ด้วย ผมไม่ซื้อหรอกไอ้ทรัพย์สินชั้นกลางน่ะ และเฮ็คเตอร์ก็เหมือนกันไม่เอาผู้หญิงชั้นกลางให้ ที่พูดนี่ก็ตรงจุดใช่ใหมเล่า เหมือนคุณนั่นแหละ
ผู้วิจารณ์ความเป็นจักรวรรดินิยมของอังกฤษชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างของจักรวรรดิเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เจย์.เอ. เฟราด์ เขียนว่า “อังกฤษปกครองไอร์แลนด์เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง โดยคำนวณผลประโยชน์ที่จะได้ แต่ทิ้งความรับผิดชอบทางจรรยาธรรมไว้อีกทางหนึ่งราวกับว่าความถูกหรือความผิดถูกลบออกไปจากจักรวาล” เด็นนิส คลาคนักประวัติศาสตร์ไอร์แลนด์-อเมริกันอ้างว่าทุพภิกขภัย “เป็นสิ่งที่ปัญหาสะสม ที่เกิดมาหลายชั่วคนจากความละเลย การปกครองที่ไม่ถูกต้อง และความเก็บกด และเป็นมหาเหตุการณ์ที่แสดงถึงความทารุณและความไม่พอเพียงของการแก้ปัญหาของการถูกครอบครองโดยอังกฤษ สำหรับผู้ไม่มีที่ดินก็หมายถึงการอพยพหนีหรือไม่ก็ความสิ้นสุด...”
วิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์ก็ยังคงเป็นเหตุการณ์อันเป็นที่ขัดแย้งในประวัติศาสตร์ไอร์แลนด์ การโต้แย้งและการถกเถียงตั้งแต่การตอบโต้สถานการณ์โดยรัฐบาลอังกฤษไปจนถึงการสูญเสียผลผลิตมันฝรั่งในไอร์แลนด์ และทุพภิกขภัยอันแพร่หลายต่อมา หรือที่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เข้าข่ายการล้างชาติพันธุ์หรือไม่ ต่างก็ยังเป็นหัวข้อที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาทั้งทางประวัติศาสตร์และการเมือง
ในปี ค.ศ. 1996 ฟรานซิส เอ. บอยล์ศาสตราจารย์ทางกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์เขียนรายงานให้แก่คณะกรรมมาธิการทุพภิกขภัย/การล้างชาติพันธุ์ของชาวไอร์แลนด์ที่มีฐานอยู่ที่นิวยอร์กสรุปว่า “เป็นที่เห็นได้ชัดว่าระหว่างปี ค.ศ. 1845 จนถึงปี ค.ศ. 1850 รัฐบาลบริติชดำเนินนโยบายสร้างทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์โดยความตั้งใจที่จะทำลายปัจจัยสำคัญของชาติ ชาติพันธุ์ และกลุ่มชนที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าชาวไอร์แลนด์.... ฉะนั้นระหว่างปี ค.ศ. 1845 จนถึงปี ค.ศ. 1850 รัฐบาลบริติชจึงได้ดำเนินนโยบายโดยเป็นที่ทราบในการสร้างทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมของการล้างชาติพันธุ์ต่อชาวไอร์แลนด์ตามมาตราที่ 2 (c) ที่ระบุในอนุสัญญาพันธุฆาตของสหประชาชาติของปี ค.ศ. 1948 รายงานของบอยล์มีน้ำหนักพอที่ทำให้รัฐนิวเจอร์ซีย์รวมเนื้อหาเกี่ยวกับทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์ให้เป็น “หลักสูตรเกี่ยวกับการล้างชาติพันธุ์และพันธุฆาต” ของการศึกษาระดับมัธยมศึกษา
นักประวัติศาสตร์ปีเตอร์ ดัฟฟีเขียนว่า “อาชญากรรมของรัฐบาลที่สมควรจะได้รับการประณามตลอดไป...” มีรากฐานมาจาก “ความพยายามที่จะปฏิรูปไอร์แลนด์โดยอำนาจของเจ้าของที่ดิน ในการเปลี่ยนจากที่ดินทางเกษตรกรรมไปเป็นที่ดินในการเลี้ยงปศุสัตว์...ที่กลายเป็นนโยบายที่มีความสำคัญกว่าหน้าที่ในการหาอาหาร...ให้แก่ประชากรที่อดอยาก ซึ่งทำให้ไม่เป็นที่น่าประหลาดใจว่ามีผู้ที่มีความเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายพันธุฆาต”
ผู้ออกความเห็นหลายคนโต้ว่าประสบการณ์ทุพภิกขภัยมีผลที่จารึกในความทรงจำทางวัฒนธรรมของชาวไอร์แลนด์ที่คล้ายคลึงกับผู้ที่ประสบกับเหตุการณ์พันธุฆาตที่ยืนยันว่าเป็นสิ่งที่มิได้เกิดขึ้น โรเบิร์ต คีนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ผู้มีผลงานเขียนเกี่ยวกับไอร์แลนด์เสนอว่าทุพภิกขภัยเป็นจิตใต้สำนึกของชาติที่มีพลังที่เปรียบได้กับ “การแก้ปัญหาสุดท้าย” (final solution) ที่เกิดขึ้นกับชาวยิวในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และก็มีที่เห็นว่าวิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยเป็น “แผนการฆ่าล้างชาติที่วางโดยฝ่ายอังกฤษต่อชาวไอร์แลนด์” ความคิดนี้สะท้อนในงานเขียนของเจมส์ ดอนเนลลีนักประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสันใน “Landlord and Tenant in Nineteenth-Century Ireland” (เจ้าของที่ดินและผู้เช่าที่ดินในคริสต์ศตวรรษที่ 19) ที่ตั้งข้อสรุปว่า “ตั้งแต่เมื่อเกือบเริ่มต้นของวิกฤติการณ์ ความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของรัฐบาลในการหยุดยั้งการขับไล่หรือการชะลอการกำจัดผู้เช่าที่ดินเท่ากับเป็นการสนับสนุนอย่างเห็นได้ชัดของความคิดอันแพร่หลายของชาวไอร์แลนด์ที่ว่าเป็นการล้างชาติพันธุ์ที่สนับสนุนโดยอังกฤษ หรืออาจจะกล่าวได้ว่าในทัศนคติของชาวไอร์แลนด์...และแม้ว่าตามความคิดของผมแล้วการล้างชาติพันธุ์มิได้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างและที่เป็นผลจากการขับไล่ที่มีลักษณะของการฆ่าล้างชาติพันธุ์ตามความคิดของชาวไอร์แลนด์หลายคน”
นักประวัติศาสตร์เศรษฐศาสตร์คอร์แม็ค โอเกรดาไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่าวิกฤติการณ์เป็นการจงใจฆ่าล้างชาติพันธุ์ด้วยเหตุผลที่ว่า: ประการที่หนึ่ง “การฆ่าล้างชาติพันธุ์รวมความตั้งใจและสามารถกล่าวได้อย่างแน่นอนว่าไม่มีผู้ใดแม้แต่ผู้ไม่เป็นกลางที่สุดหรือที่ดูถูกเผ่าพันธุ์มากที่สุดของยุคนั้นจะมีความตั้งใจที่จะฆ่าล้างชาวไอร์แลนด์” ประการที่สองสมาชิกในรัฐสภาแทบทุกคนต่างก็ “หวังให้สถานการณ์ในไอร์แลนด์จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น” และ ประการที่สุดท้ายผู้ที่อ้างว่าเป็นการฆ่าล้างชาติพันธุ์มองข้าม “ขนาดของวิกฤติการณ์ที่ผู้พยายามช่วยเหลือต้องประสบทั้งระดับส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น และทั้งของหลวงและของราษฏร์” โอเกรดามีความเห็นว่าวิกฤติการณ์มีต้นตอมาจากการละเลยมากกว่าที่จะเป็นเจตนาของการฆ่าล้างชาติ แต่ผู้ที่มีความรับผิดชอบในการดำเนินการช่วยเหลือเช่นเซอร์ชาร์ลส์ เทรเวเลียนค้านกับความคิดที่ว่า “ละเลย” ผู้มีทัศนคติของผู้ครอบครองว่าทุพภิกขภัยเป็น “วิธีลดจำนวนประชากรที่เกินต้องการ” และเป็น “การตัดสินของพระเจ้า”
นักเขียนผู้เป็นที่รู้จักชาวไอร์แลนด์และนักแต่งเพลงจอห์น วอเตอร์สบรรยายทุพภิกขภัยว่าเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่ประกอบด้วยความทารุณทุกแบบทุกอย่าง และทุพภิกขภัยเป็น “การฆ่าล้างชาติที่มีสาเหตุมาจากการถือชาติถือผิวและถือว่าทำได้ตามเหตุผลทางปรัชญา” และโต้แย้งว่าการทำลายวัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจหลากหลายของไอร์แลนด์ และการลดตัวทางเศรษฐกิจของไอร์แลนด์มาเป็นระบบเกษตรกรรมพืชเดี่ยวเป็นวิกฤติการณ์ของการล้างชาติที่รอแต่เวลาเท่านั้นที่จะเกิดขึ้น
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/ความอดอยากครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์