ความปรารถนาหรือความเชื่อที่อยู่เหนือเหตุผล หรือ การคิดตามความปรารถนา (อังกฤษ: Wishful thinking) เป็นการตั้งความเชื่อและการตัดสินใจ ตามสิ่งที่เราชอบใจ แทนที่จะตามหลักฐาน เหตุผล หรือความเป็นจริง เป็นผลของการแก้ความขัดแย้งกันระหว่างความเชื่อและความต้องการ งานศึกษาต่าง ๆ แสดงผลเหมือน ๆ กันว่า เมื่อตัวแปรอื่น ๆ เท่ากัน เราจะพยากรณ์ผลที่ดีน่าชอบใจว่า มีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าผลร้าย แต่ก็มีงานวิจัยในปี ค.ศ. 2013 ที่แสดงว่า ในบางสถานการณ์เช่นเมื่อภัยสูงขึ้น ปรากฏการณ์ตรงกันข้ามจะเกิดขึ้น
มีนักจิตวิทยาที่เชื่อว่า ความคิดเชิงบวกจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมเชิงบวก และดังนั้น จะทำให้เกิดผลที่ดีกว่า ซึ่งเรียกว่า "Pygmalion effect"[ต้องการอ้างอิง]
นอกจากจะเป็นความเอนเอียงทางประชาน (cognitive bias) และวิธีที่แย่ในการตัดสินใจแล้ว มีการนับว่า การคิดตามความปรารถนาเป็นเหตุผลวิบัติอรูปนัย (informal fallacy) อย่างหนึ่ง เมื่อเราคิดว่า สิ่งหนึ่งเป็นจริง เพราะว่าเราอยากให้มันเป็นจริง โดยมีรูปแบบว่า "ฉันอยากให้ ก เป็นจริง/เท็จ ดังนั้น ก จึงเป็นจริง/เท็จ"
การเห็นตามความปรารถนา (wishful seeing) เป็นปรากฏการณ์ที่สภาพใจมีอิทธิพลเห็น เรามักจะเชื่อว่า เราเห็นโลกดังที่โลกเป็นจริง ๆ แต่งานวิจัยแสดงว่าความเชื่อนี้ไม่เป็นจริง ในปัจจุบัน การเห็นตามความปรารถนาจัดเป็น 2 อย่าง ตามขั้นตอนกระบวนการเห็น คือ เมื่อจัดประเภทสิ่งที่เห็น (categorization of objects) หรือเมื่อสร้างตัวแทนของสิ่งแวดล้อม (representations of an environment)
การคิดตามความปรารถนา เป็นเรื่องที่เสนอเป็นครั้งแรกจากแนวคิดทางจิตวิทยาที่เรียกว่า "New Look" ซึ่งเป็นแบบจิตวิทยาที่สร้างความนิยมโดยเจโรม บรูเนอร์ และเซซิล กูดแมน ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 ในงานศึกษาคลาสสิกปี 1947 พวกเขาให้เด็กบอกขนาดของเหรียญกระษาปณ์ โดยให้แสดงด้วยขนาดของรูกลม ๆ ที่กล่องไม้ คือให้เด็กแต่ละคนถือเหรียญในมือซ้าย ในส่วนสูงและระยะทางเท่ากับรูบนกล่องไม้ แล้วหมุนลูกบิด เพื่อเปลี่ยนขนาดของรูด้วยมือขวา มีเด็กสามกลุ่ม เป็นกลุ่มทดลองสองกลุ่มและกลุ่มควบคุม แต่ละกลุ่มมีเด็ก 10 คน กลุ่มควบคุมจะประเมินขนาดเหรียญกระดาษแทนเหรียญกระษาปณ์ การทดลองพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว เด็กกลุ่มทดลองจะประเมินขนาดเหรียญ ใหญ่เกินความจริง 30%
ในการทดลองที่สอง พวกเขาแบ่งเด็กขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจ แล้วก็ให้เด็กทั้งที่ "รวย" และ "จน" ประเมินขนาดเหรียญกระษาปณ์โดยวิธีเดียวกัน และเหมือนกับที่คาดหวัง เด็กทั้งสองกลุ่มประเมินขนาดเหรียญเกินความจริง แต่เด็กกลุ่มจน ประเมินเกินมากถึง 50% ในขณะเด็กกลุ่มรวย ประเมินเกินเพียงแค่ 20% นักวิจัยสรุปจากผลที่ได้นี้ว่า เด็กจนต้องการเงินมากกว่า ดั้งนั้น จึงเห็นเหรียญใหญ่กว่า สมมุติฐานนี้ เป็นฐานของจิตวิทยาแบบ "New Look" ซึ่งเสนอว่า ประสบการณ์ที่เป็นอัตวิสัยเกี่ยวกับวัตถุ จะมีอิทธิพลเห็นวัตถุนั้น
แม้ว่าจะมีงานวิจัยต่อ ๆ มาที่สามารถทำซ้ำผลที่ได้ ต่อมา วิธีแบบ "New Look" ก็ตกความนิยมไปในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 เพราะการทดลองเต็มไปด้วยความผิดพลาดทางระเบียบวิธี ที่ไม่ได้กำจัดตัวแปรสับสน (confounding) แต่งานวิจัยในปี ค.ศ. 2013 ได้เพิ่มความนิยมในมุมมองนี้อีก และได้ปรับปรุงระเบียบวิธี ที่แก้ปัญหาในงานศึกษาดั้งเดิม
กลไกทางประชานที่แน่นอน ของการคิดตามความปรารถนาและการเห็นตามความปรารถนา ยังไม่ชัดเจน แต่ก็มีทฤษฎีที่เสนอ คืออาจจะเกิดจากกลไก 3 อย่างคือ ความเอนเอียงโดยใส่ใจ (attention bias) ความเอนเอียงในการตีความ (interpretation bias) หรือ ความเอนเอียงโดยตอบสนอง (response bias) ดังนั้น จึงมีช่วง 3 ช่วงตามลำดับในการประมวลผลทางประชาน ที่การคิดตามความปรารถนาอาจเกิดขึ้น ในช่วงการประมวลผลทางประชานที่ต่ำสุด เราอาจใส่ใจในสิ่งต่าง ๆ โดยคัดเลือก คือจะใส่ใจในหลักฐานที่สนับสนุนความปรารถนาของตน แล้วไม่ใส่ใจหลักฐานที่ค้าน หรือว่า การคิดตามความปรารถนาอาจจะเกิดขึ้นจากการตีความสิ่งต่าง ๆ โดยคัดเลือก ในกรณีนี้ เราไม่ได้เปลี่ยนความใส่ใจในสิ่งต่าง ๆ แต่เปลี่ยนความสำคัญที่ให้ หรือว่า การคิดตามความปรารถนา อาจเกิดขึ้นในระดับการประมวลผลทางประชานที่สูงกว่า เช่น เมื่อตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ด้วยความเอนเอียง
ส่วนการเห็นตามความปรารถนา อาจจะมีกลไกเช่นเดียวกันการคิดตามความปรารถนา เพราะว่า เป็นการประมวลวัตถุที่รับรู้ รวมทั้งสิ่งที่เห็น แต่ว่า เพราะมีการประมวลผลสิ่งที่เห็นก่อนจะเกิดความสำนึก ให้สัมพันธ์กับผลที่ต้องการ ดังนั้น ความเอนเอียงในการตีความ และ ความเอนเอียงโดยตอบสนอง จะไม่สามารถเกิดขึ้นในระยะนี้ เพราะว่า ความเอนเอียงเหล่านั้น จะเกิดขึ้นในช่วงประมวลผลทางประชานที่ประกอบด้วยความสำนึก และดังนั้น กลไกที่สี่ที่เสนอซึ่งเรียกว่า perceptual set อาจจะสามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ คือว่า มีสภาพทางจิตใจหรือการสร้างความสัมพันธ์ ที่ทำงานก่อนที่จะเห็น และจะช่วยนำทางการประมวลผลของระบบการเห็น ดังนั้น สิ่งที่เห็น จึงอาจสามารถรู้จำได้ง่าย
มีนักวิชาการบางท่านที่เชื่อว่า การเห็นตามความปรารถนา เป็นผลจากการประมวลผลทางประชานในระดับสูง ซึ่งสามารถมีผลรับรู้วัตถุ (perceptual experience) ไม่ใช่เพียงแค่มีผลประมวลผลในระดับสูงเท่านั้น ส่วนนักวิชาการพวกอื่นไม่เห็นด้วยเพราะเชื่อว่า ระบบรับความรู้สึกทำงานโดยเป็นหน่วยจำเพาะ (modular) และสภาวะทางประชานจะมีอิทธิพล ก็ต่อเมื่อมีการรับรู้สิ่งเร้าแล้ว อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์การเห็นตามความปรารถนา แสดงความเกี่ยวข้องของการประมวลผลระดับสูงกับการรับรู้
การเห็นตามความปรารถนา ปรากฏว่าเกิดขึ้นในช่วงแรก ๆ ในการจัดประเภทของสิ่งที่รับรู้ ในงานวิจัยที่ทดลองโดยรูปที่คลุมเครือ (ambiguous image) หรือโดยแข่งขันระหว่างสองตา (binocular rivalry) โดยรับรู้ (perception) ได้รับปัจจัยทั้งจากการประมวลผลทางประชานระดับบน (top-down) และระดับล่าง (bottom-up) ในเรื่องการเห็น การประมวลผลระดับล่างที่เป็นปัจจัยนั้น เป็นกระบวนการมีขั้นตอนที่แน่นอน ไม่เหมือนกับกับการประมวลผลระดับบน ซึ่งยืดหยุ่นได้ดีกว่า ในการประมวลผลระดับล่าง สิ่งเร้าจะกำหนดได้โดยตรึงตาอยู่กับที่ ระยะทาง และบริเวณโฟกัส ของวัตถุที่เห็น ในขณะที่การประมวลผลระดับบน จะกำหนดโดยสิ่งที่อยู่แวดล้อมมากกว่า ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ในการทดลองที่ใช้เทคนิค priming (การเตรียมการรับรู้) และเปลี่ยนสภาวะต่าง ๆ ทางอารมณ์
แบบจำลองที่ใช้ผ่าน ๆ มา เป็นการประมวลข้อมูลไปตามลำดับชั้น ซึ่งอธิบายการประมวลผลทางตาระยะต้น ๆ ว่า เป็นไปในทางเดียว คือ ผลการเห็นที่ประมวลจะส่งไปยังระบบความคิด (conceptual system) แต่ระบบความคิดจะไม่มีผลต่อกระบวนการทางตา แต่ในปัจจุบันนี้ ผลงานวิจัยปฏิเสธแบบจำลองนี้ และบอกเป็นนัยว่า ข้อมูลความคิดสามารถมีผลโดยตรงประมวลผลทางตาชั้นต้น ๆ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สร้างความโน้มเอียงให้กับระบบการรับรู้เท่านั้น
เขตในสมองที่กระตุ้นการเห็นและการคิดตามความปรารถนา เป็นเขตเดียวกันกับการระบุกลุ่มของตน (social identification) และความรู้สึกที่ดี (social reward) ทางสังคม งานศึกษาหนึ่งตรวจสอบโครงสร้างเหล่านี้โดยใช้ MRI เมื่อผู้ร่วมการทดลองประเมินค่าความน่าจะเป็น ของชัยชนะของทีมอเมริกันฟุตบอล แต่ก่อนที่จะให้ประเมิน ผู้ร่วมการทดลองจะชี้ว่าชอบ ไม่ชอบ และรู้สึกเฉย ๆ กับทีมไหนบ้าง รู้กันมาก่อนแล้วว่า การคิดตามความปรารถนาสัมพันธ์กับการระบุกลุ่มทางสังคม (social identity theory) ที่เราจะชอบใจคนในกลุ่มของเรา (Ingroups หรือกลุ่มใน) มากว่าคนนอกกลุ่ม (Ougroups หรือกลุ่มนอก) และในงานศึกษานี้ ก็พบว่า ผู้ร่วมการทดลองจะชอบใจ ทีมที่ตัวเองรู้สึกว่าตนคล้ายคลึงมากที่สุด
ในช่วงเวลาที่ทดสอบความคิดตามความปรารถนา มีการทำงานที่ต่างกันในสมอง 3 เขต คือ คอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้าส่วนหลังด้านใน (dorsal medial prefrontal cortex) สมองกลีบข้าง และ fusiform gyrus ในสมองกลีบท้ายทอย การทำงานที่แตกต่างกันในสมองกลีบท้ายทอยและสมองกลีบข้าง บอกเป็นนัยว่า มีความใส่ใจแบบคัดเลือกโดยเฉพาะอย่างหนึ่งที่ให้กับสิ่งที่รับรู้ ซึ่งเป็นหลักฐานว่า มีการประมวลผลทางประชานในระดับต่ำ หรือว่ามีความเอนเอียงโดยใส่ใจ (attention bias)
แต่ว่าการทำงานที่แตกต่างกันในคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า ก็แสดงด้วยว่ามีการประมวลผลทางประชานระดับสูง ซึ่งสัมพันธ์กับความชอบใจเนื่องกับการระบุกลุ่มทางสังคม ดังนั้น เมื่อสิ่งที่รับรู้เกี่ยวข้องกับผู้ประเมิน เช่นเป็นทีมอเมริกันฟุตบอลที่ตนชอบ ก็จะเกิดการทำงานในคอร์เทกซ์ และการระบุกลุ่มของตน ซึ่งทำให้เกิดความสุขสบาย ก็จะกระตุ้น reward system (ระบบรางวัล เป็นระบบที่ให้ความรู้สึกสุขสบาย เมื่อมีการกระทำที่เข้ากัน) ให้ทำงาน การทำงานที่แตกต่างกันของระบบรางวัล ปรากฏพร้อมกับการทำงานของสมองกลีบท้ายทอยเท่านั้น ดังนั้น การทำงานของระบบรางวัลเนื่องจากการระบุกลุ่มของตน อาจจะนำทางการใส่ใจในการเห็น
วิถีประสาท Magnocellular (M) และ Parvocellular (P) ซึ่งส่งสัญญาณไปที่ orbitofrontal cortex ในคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า มีบทบาทสำคัญในการประมวลผลทางตา ที่ได้รับอิทธิพลจากการประมวลผลทางประชานระดับสูง สัญญาณสิ่งเร้าที่ส่งผ่านวิถีประสาท M จะเริ่มการทำงานใน orbitofrontal cortex และวิถีประสาท M แบบเร็ว จะเชื่อมกับระบบรู้จำวัตถุทั้งในระบบสายตาเบื้องต้น ทั้งในสมองกลีบขมับด้านหลัง (Inferotemporal cortex) ให้ทำงานกับ orbitofrontal cortex ร่วมกันสร้างการคาดหมายว่า สิ่งที่รับรู้นั้นคืออะไร สิ่งเร้าที่ใช้กระตุ้นวิถีประสาท M เป็นลายวาดไม่มีสี ภายใต้แสงที่ต่ำ ส่วนที่ใช้กระตุ้นวิถีประสาท P เป็นลายวาดมีสี ภายใต้แสงที่กระจายทั่วกัน มีการตรวจสอบโดยให้ผู้ร่วมการทดลองชี้ว่า ลายที่วาดใหญ่หรือเล็กกว่ากล่องรองเท้า แล้วใช้ fMRI เพื่อสอดส่องการทำงานใน orbitofrontal cortex และสมองกลีบขมับด้านหลัง เพื่อตัดสินใจว่า วิถีประสาทไหนจะช่วยให้รู้จำวัตถุได้เร็วกว่า ผลการทดลองสนับสนุนความคิดว่า เซลล์ประสาทในวิถีประสาท M มีบทบาทสำคัญในการรู้จำวัตถุที่มีรายละเอียดต่ำ เพราะช่วยให้เกิดกระบวนการทำงานในระบบประชานระดับสูงมีผลเป็นการคาดหมายวัตถุ ที่ช่วยให้รู้จำวัตถุได้เร็วขึ้น
มนุษย์มีเขตลานสายตาจำกัด ที่ต้องย้ายไปตามสิ่งเร้าที่ต้องการเห็น การใส่ใจเป็นกระบวนการทางประชานที่ทำหน้าที่นี้ให้สำเร็จ และอาจเป็นเหตุของปรากฏการณ์การเห็นตามความปรารถนา ส่วนความคาดหวัง ความปรารถนา และความกลัว ล้วนแต่เป็นปัจจัยในการย้ายความใส่ใจ และดังนั้น ความรู้สึกเหล่านี้ อาจมีอิทธิพลต่อประสบการณ์การรับรู้ นอกจากนั้นแล้ว การใส่ใจจะช่วยในการวางแผนการเคลื่อนไหว เป็นกลไกที่สิ่งเร้าทางตาสามารถมีผลต่อพฤติกรรม
ความบกพร่องของการใส่ใจ อาจนำไปสู่ประสบการณ์รับรู้ที่แปรไป Inattentional blindness (ความบอดเพราะไม่ใส่ใจ) ที่เกิดขึ้นเมื่อเราไม่สังเกตเห็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดหวัง เป็นความบกพร่องเช่นนี้อย่างหนึ่ง ในการทดลองหนึ่งที่ใช้ปรากฏการณ์ความบอดเพราะไม่ใส่ใจ นักวิจัยให้ผู้ร่วมการทดลองตรึงตราที่กากบาทตรงกลางจอคอมพ์ แรกสุด จะมีตัวเลขที่แสดงว่าจะมีอักษรกี่ตัวมาปรากฏที่แขนของกากบาท ฉายที่กลางกากบาท แล้วอักษรก็จะปรากฏตรงแขน ในการทดลองสี่ครั้ง ตัวเลขที่แสดงจะเท่ากับจำนวนอักษรที่ปรากฏ แต่ในการทดลองที่ 5 ผู้ร่วมการทดลองครึ่งหนึ่งจะเห็นเลขน้อยกว่าที่ตัวอักษรจะปรากฏ และอีกครึ่งหนึ่งจะเห็นตัวเลขเท่ากับจำนวนอักษร แล้วอักษรก็จะปรากฏ แต่มาพร้อมกับสิ่งเร้าที่ไม่ได้คาดหวังอีกตัวหนึ่ง และจะมีการถามผู้ร่วมการทดลองว่า มีอักษรอะไรที่ปรากฏ และเห็นสิ่งเร้าอื่น ๆ อีกหรือไม่ ผู้ร่วมการทดลองที่คาดหวังว่าจะมีอักษรปรากฏน้อยกว่าความจริง จะเกิดความบอดเพราะไม่ใส่ใจมากกว่า และไม่สามารถตรวจจับสิ่งเร้าที่เพิ่มขึ้น บ่อยครั้งกว่าผู้ร่วมการทดลองที่คาดหวังว่าจะมีอักษรปรากฏตรงความจริง ผลการทดลองนี้แสดงว่า การคาดหวังจะมีอิทธิพลต่อสมรรถภาพในการใส่ใจ ซึ่งเป็นหลักฐานอีกอย่างหนึ่งว่า กระบวนการทางประชานต่าง ๆ ต้องทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างประสบการณ์การรับรู้
แม้ว่าความใส่ใจจะช่วยการประมวลผลเพื่อการรับรู้ แต่ว่า การไม่ใส่ใจสิ่งเร้า กลับทำให้รู้สึกว่า สิ่งเร้าปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นได้ ในการทดลองหนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองจะได้ตัวชี้ล่วงหน้าว่า ควรจะใส่ใจที่แนวทแยงมุมไหน (ในสองแนว) จากนั้นก็จะมีการแสดงสิ่งเร้า ซึ่งเป็นตะแกรงรูปกลมที่มีลายต่าง ๆ กัน แล้วก็จะแสดงตัวชี้แนวทแยงมุม (ที่อาจไม่เหมือนตัวชี้ล่วงหน้า) ที่ผู้ร่วมการทดลองต้องตัดสินการรับรู้ของตน ในกรณี 70% ตัวชี้ที่แสดงก่อน จะเหมือนกับตัวชี้จริง ๆ และในกรณี 30% จะไม่เหมือน หลังจากนั้น ก็จะให้ผู้ร่วมการทดลอง บอกลายของตะแกรงในแนวทแยงมุม ที่ตัวชี้จริง ๆ บอก แล้วรายงานความชัดเจนของเขตนั้น ด้วยวิธีการเช่นนี้ จึงสามารถเปรียบเทียบสิ่งเร้าที่ใส่ใจ (คือที่ชี้บอกล่วงหน้า) และที่ไม่ใส่ใจ (ที่ชี้บอกไม่ตรงการทดสอบจริง ๆ) ผู้ร่วมการทดลองกลับรายงานว่า เขตที่ไม่ได้ใส่ใจเห็นชัดเจนกว่า ดังนั้น การไม่ใส่ใจ อาจทำให้ประเมินค่าความชัดเจนของการรับรู้สูงเกินจริง งานศึกษานี้บอกเป็นนัยว่า ความเอนเอียงโดยใส่ใจซึ่งเป็นกลไกของการคิดตามความปรารถนา ไม่ได้อาศัยสิ่งที่เราจ้องดูอยู่เป็นปัจจัยเท่านั้น แต่ต้องอาศัยสิ่งเร้าที่ไม่ได้ใส่ใจด้วย
เราตัดสินใจว่าคนอื่นมีอารมณ์เป็นอย่างไร อาศัยสีหน้า อากัปกิริยา และพื้นเพประวัติสิ่งแวดล้อม แต่ว่า พื้นเพประวัติสิ่งแวดล้อม และพื้นฐานทางวัฒนธรรม ปรากฏว่ามีอิทธิพลรับรู้และการตีความ ความแตกต่างที่พบในวัฒนธรรมต่าง ๆ ในเรื่องความบอดการเปลี่ยนแปลง (change blindness) สัมพันธ์กับการใส่ใจกับสิ่งที่เห็นโดยเป็นแบบเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมของชาวตะวันออก มักจะเน้นสิ่งที่แวดล้อมวัตถุ ในขณะที่วัฒนธรรมตะวันตก จะโฟกัสที่วัตถุหลัก ดังนั้น วัฒนธรรมสามารถมีอิทธิพลต่อข้อมูลที่ได้จากใบหน้า เหมือนกับที่มีสังเกตดูวัตถุหนึ่ง ๆ ในสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น คนผิวขาวมักจะสนใจที่ตา จมูก และปาก ในขณะที่คนเอเชีย มักจะโฟกัสอยู่ที่ตา มีการทดลองที่ให้ผู้ร่วมการทดลองจากวัฒนธรรมต่าง ๆ ดูรูปใบหน้า แล้วให้จัดกลุ่มตามอารมณ์ที่แสดงบนใบหน้า ดังนั้น ความต่าง ๆ กันของส่วนต่าง ๆ บนใบหน้า จะทำให้เกิดการตีความอารมณ์ต่าง ๆ กัน การโฟกัสที่ตาของคนเอเชีย อาจทำให้เห็นใบหน้าที่สะดุ้งตกใจ ว่าเป็นความประหลาดใจ มากกว่าจะเป็นความกลัว ดังนั้น พื้นเพของบุคคล อาจจะทำให้ตีความอารมณ์ต่าง ๆ กัน ความแตกต่างในการรับรู้อารมณ์ทางตา ดูเหมือนจะบอกเป็นนัยว่า ความเอนเอียงโดยใส่ใจ เป็นกลไกของการเห็นตามความปรารถนา เพราะว่า มีการใส่ใจบางส่วนของใบหน้า (เช่น จมูกและตา) และมีบางส่วนที่ไม่ได้รับการใส่ใจ (เช่น ปาก)
การเห็นตามความปรารถนา อาจสัมพันธ์กับความเอนเอียงโดยมองในแง่ดี (optimism bias) ที่เรามักจะหวังผลที่ดีจากเหตุการณ์ต่าง ๆ แม้ว่า ความหวังเช่นนั้นอาจจะไม่เข้ากับความเป็นจริง ในงานทดลองเพื่อกำหนดวงจรประสาทที่สัมพันธ์กับความเอนเอียงนี้ มีการใช้ fMRI เพื่อสร้างภาพสมองของบุคคลที่กำลังระลึกถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต (autobiographical memory) แล้วให้ผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนความทรงจำเหล่านั้นโดยค่าลักษณะต่าง ๆ คะแนนที่ให้แสดงว่า ผู้ร่วมการทดลองเห็นเหตุการณ์เชิงบวกในอนาคต ว่ามีค่าบวกสูงกว่าเหตุการณ์บวกในอดีต และเหตุการณ์เชิงลบว่าอยู่ห่างไกลกว่าตามกาลเวลาเกินความจริง ส่วนเขตในสมองที่ทำงานก็คือ anterior cingulate cortex ด้านหน้า (rostral ACC ตัวย่อ rACC) และอะมิกดะลา ในสมองซีกขวา และจะทำงานน้อยกว่าเมื่อระลึกถึงเหตุการณ์เชิงลบในอนาคต รู้กันมาก่อนแล้วว่า rACC มีส่วนในการประเมินข้อมูลเชิงอารมณ์ และเชื่อมต่อกับอะมิกดะลาในระดับสูง มีการเสนอว่า rACC ควบคุมการทำงานในเขตสมอง ที่เกี่ยวกับอารมณ์และความจำอาศัยเหตุการณ์ (autobiographical memory) จึงทำให้สามารถเกิดความรู้สึกเชิงบวกกับเหตุการณ์ในอนาคตได้
เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณา การเคลื่อนไหวของตาและการทำงานในสมอง ว่าสัมพันธ์กับการคิดและการเห็นตามความปรารถนา และการมองในแง่ดี (optimism) อย่างไร งานวิจัยในปี ค.ศ. 2006 ตรวจสอบการมอง (gaze) ที่ประกอบด้วยแรงจูงใจ ซึ่งนักวิจัยอ้างว่า มีสหสัมพันธ์ระดับสูง กับความสนใจและบุคลิกภาพของคนมอง คือมีการให้ผู้ร่วมการทดลองที่แจ้งเองว่า ตนเองเป็นคนมองโลกในแง่ดีในระดับต่าง ๆ ดูรูปมะเร็งผิวหนัง ลายวาดที่คล้ายกับมะเร็งผิวหนัง และใบหน้าที่มีสีหน้าเฉย ๆ โดยใช้ระบบติดตามลูกตา ที่วัดการย้ายที่การมอง นักวิจัยพบว่า คนหนุ่มสาวที่มองโลกในแง่ดีมากกว่า จะดูรูปมะเร็งน้อยกว่าหนุ่มสาวที่มองโลกในร้าย ผลงานทดลองนี้ทำซ้ำได้ในงานศึกษาต่อมา ที่ตรวจสอบความเสี่ยงทางพันธุกรรมของผู้ร่วมการทดลอง เป็นโรคมะเร็งผิวหนัง คือพบว่า แม้ว่าผู้ร่วมการทดลองบางส่วนจะมีความเสี่ยงสูงกว่า การมองโลกในแง่ดีมากกว่า ก็ยังสัมพันธ์กับการมองรูปมะเร็งผิวหนังน้อยกว่า ทั้ง ๆ ที่รูปควรจะเป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับผู้มีความเสี่ยงสูง
การศึกษาเรื่องการคิดตามความปรารถนาในสาขาจิตวิทยา มักจะใช้รูปภาพที่ไม่ชัดเจน (ambiguous image) เพราะมีสมมุติฐานว่า เมื่อมีสิ่งเร้าที่ไม่ชัดเจน ผู้ร่วมการทดลองจะตีความสิ่งเร้าตามวิธีที่ขึ้นกับพื้นเพประวัติสิ่งแวดล้อมที่ได้ประสบ หรือกับ priming ที่ได้ งานศึกษาในปี ค.ศ. 2013 ตรวจสอบการคิดตามความปรารถนาโดยทดลองสองงาน งานหนึ่งใช้รูปคลุมเครือ 2 รูป รูปแรกอาจเห็นเป็นตัวอักษรอังกฤษ “B” หรือเลข “13” ก็ได้ และอีกรูปหนึ่งอาจจะเป็นม้าหรือาจจะเป็นแมวน้ำก็ได้ การทดลองงานที่สองทดสอบโดยแข่งขันระหว่างสองตา ที่แสดงสิ่งเร้าสองอย่างที่ตาแต่ละข้างพร้อม ๆ กัน คืออักษร “H” และเลข “4” ในการทดลองทั้งสอง นักวิจัยได้ให้ค่าสิ่งเร้าอันหนึ่งโดยเป็นผลที่น่าปรารถนา และสิ่งเร้าอีกอันหนึ่งว่าไม่น่าปรารถนา คือ ในการทดลองแรก อักษร “B” มีค่าเป็นน้ำส้มคั้นสด และเลข “13” เป็นสมูททีสุขภาพที่ไม่น่ารับประทาน และในการทดลองที่สอง อักษรมีค่าเป็นการได้ทรัพย์ และตัวเลขมีค่าเป็นการเสียทรัพย์ ผลงานทดลองแสดงว่า เรามีโอกาสที่จะเห็นสิ่งเร้าที่มีผลบวก มากกว่าสิ่งเร้าที่มีผลลบสหสัมพันธ์ที่มีกำลังระหว่างการรับรู้กับสิ่งเร้าเชิงบวก เทียบกับสิ่งเร้าเชิงลบ แสดงว่า เรามักจะเห็นความเป็นจริงในโลกตามความปรารถนาของเรา การเห็นตามความปรารถนา บอกเป็นนัยว่า การรับรู้ของเราจะขึ้นอยู่กับแรงจูงใจ (motivation-based)
มีงานศึกษามากมายที่อ้างว่า สิ่งที่มนุษย์รับรู้หรือเห็น ขึ้นอยู่กับแรงจูงใจและเป้าหมายภายใน แต่ว่า ก็ยังสำคัญที่จะพิจารณาว่า สถานการณ์ที่ใช้เป็น priming ในงานศึกษาบางงาน หรือว่าแม้แต่ มุมมองภายในของผู้ร่วมการทดลอง อาจจะมีผลตีความสิ่งเร้า ดังนั้น จึงมีงานศึกษาหนึ่งในปี ค.ศ. 2007 ที่แบ่งนักศึกษาปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยคอร์เนลออกเป็นสามกลุ่ม แล้วให้นักศึกษาจินตนาการให้ละเอียดที่สุดในเรื่องสามเรื่อง คือ ให้มองขึ้น (ให้จิตนาการเงยหน้าดูตึกขนาดใหญ่) ให้มองลง (ก้มหน้าดูหุบเขาลึก) และให้มองตรง ๆ (มองตรงดูสนามที่ราบเรียบ) แล้วก็แสดงลูกบาศก์เนกเกอร์ที่ตีความได้หลายแบบบนจอคอมพิวเตอร์ แล้วให้กดปุ่มเมาส์ที่เส้นสีน้ำเงินที่ดูใกล้กว่า เส้นที่ผู้ร่วมการทดลองเลือก จะขึ้นอยู่กับว่า ผู้ร่วมการทดลองเห็นว่า ลูกบาศก์มีก้นขึ้นหรือมีก้นลง ผลงานศึกษานี้แสดงว่า ผู้ร่วมการทดลองที่มองขึ้นโดยมากจะเห็นลูกบาศก์ว่ามีก้นขึ้น ที่มองลงโดยมากจะเห็นว่ามีก้นลง และที่มองตรง ๆ จะเห็นว่ามีก้นขึ้นก้นลงแบ่งเท่า ๆ กัน ซึ่งแสดงว่า การใช้ภาษาในช่วง priming จะมีผลรู้จำวัตถุ (object identification)
ผลงานคล้าย ๆ กันก็มีในงานศึกษาในปี ค.ศ. 2001 ซึ่งศึกษาการคิดตามความปรารถนาและการรู้จำวัตถุแบบมีเป้าหมาย (goal-oriented object identification) โดยตรวจสอบระดับความกระหายน้ำของผู้ร่วมการทดลอง สัมพันธ์กับความโน้มเอียงในการชี้บอกสิ่งเร้าที่มีความใสไม่ชัดเจน ว่าใส (นักวิจัยกล่าวว่า ความใสเป็นคุณสมบัติที่ไม่ชัดแจ้งเกี่ยวข้องกับน้ำ ซึ่งปกติเป็นสารที่ใส) งานวิจัยแสดงความโน้มเอียงที่ชัดเจนของผู้ร่วมการทดลองที่หิวน้ำ (โดยให้รับประทานมันฝรั่งทอดก่อนการทดลอง) ที่จะตีความสิ่งเร้าที่คลุมเครือว่าใส และผู้ร่วมการทดลองที่ไม่หิวน้ำ (โดยให้ทานน้ำจนกระทั่งบอกเองว่า ไม่หิวน้ำแล้ว) มีโอกาสน้อยกว่าที่จะตีความสิ่งเร้าคลุมเครือว่าใส งานวิจัยสรุปว่า การเปลี่ยนสภาวะทางชีวภาพ ในกรณีนี้คือความหิวน้ำ ที่สามารถมีอิทธิพลคิดตามความปรารถนา สามารถมีผลโดยตรงกับการเห็นสิ่งเร้า
งานศึกษาปี ค.ศ. 2011 แสดงผลของการคิดตามความปรารถนา โดยแสดงผลงานวิจัยที่กุขึ้นสองงานกับพ่อแม่ เกี่ยวกับผลของการเลี้ยงลูก โดยส่งไปสถานรับเลี้ยงเด็ก เทียบกับเลี้ยงอยู่ที่บ้าน พ่อแม่ที่สบสน (คือตั้งใจจะส่งลูกไปที่เลี้ยงเด็กแม้ว่าจะเชื่อว่า เลี้ยงอยู่ที่บ้านดีกว่า) ให้คะแนนดีกว่ากับงานวิจัยที่บอกว่า เลี้ยงที่สถานรับเลี้ยงเด็กดีกว่า และให้คะแนนแย่กว่ากับงานวิจัยที่บอกว่า เลี้ยงอยู่ที่บ้านดีกว่า ส่วนพ่อแม่ที่ไม่สับสน (ที่คิดว่าเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้านดีกว่า และตั้งใจจะเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้านเท่านั้น) ให้คะแนนดีกว่ากับงานวิจัยที่บอกว่า เลี้ยงลูกอยู่ที่บ้านดีกว่า ดังนั้น พ่อแม่ล้วนแต่ให้คะแนนกับงานวิจัย ที่เข้ากับความตั้งใจในการเลี้ยงลูกของตน ว่าดีกว่า แม้ว่า (ในกรณีของพ่อแม่ที่สับสน) งานวิจัยจะแสดงผลตรงกับข้าม กับความเชื่อเบื้องต้นของตน ในการตรวจสอบหลังการทดลอง พ่อแม่ที่สับสน จะเปลี่ยนความเชื่อเบื้องต้นของตน แล้วอ้างว่า ตนเชื่อว่า การเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้านไม่ได้ดีกว่าเลี้ยงที่สถานรับเลี้ยงเด็ก ส่วนพ่อแม่ที่ไม่สับสน ก็ยังอ้างต่อไปว่า การเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้านดีกว่า แม้ว่าจะลดระดับลง
งานวิจัยในปี ค.ศ. 2012 ใช้ความคลุมเครือตามธรรมชาติในการตัดสินระยะทาง เพื่อวัดผลของการเห็นตามความปรารถนา ในงานทดลองนี้ ผู้ร่วมการทดลองจะตัดสินระยะทางของสิ่งเร้าต่าง ๆ ในขณะที่ผู้วิจัย จะเปลี่ยนความน่าต้องการของสิ่งเร้าให้มีค่าต่าง ๆ ในการทดลองหนึ่ง มีการทำให้ผู้ร่วมการทดลองหิวน้ำ โดยให้บริโภคอาหารที่มีเกลือ หรือให้หายหิวโดยให้ดื่มจนอิ่ม แล้วให้ประเมินระยะทางไปยังขวดน้ำ ผู้ร่วมการทดลองที่หิวน้ำ ให้คะแนนขวดน้ำว่าน่าชอบใจมากกว่า และเห็นว่าอยู่ใกล้กว่า ผู้ร่วมการทดลองที่ไม่หิวน้ำ
ส่วนในอีกการทดลองหนึ่ง มีการให้ผู้ร่วมการทดลองประเมินระยะทางไปยังผลการทดสอบ ที่เป็นผลเชิงลบหรือผลเชิงบวก และไปยังบัตรของขวัญ (บัตรมีมูลค่าเพื่อซื้อของที่ให้เป็นของขวัญ) มีมูลค่า 100 ดอลล่าร์สหรัฐ ที่ตนมีโอกาสได้หรือไม่ได้ ผู้ร่วมการทดลองจะเห็นผลการทดสอบว่าใกล้กว่า ถ้าเป็นผลเชิงบวก และบัตรของขวัญว่าใกล้กว่า ถ้ามีโอกาสที่จะได้ ผู้ทำการทดลองกำจัดตัวแปรสับสนคืออารมณ์ที่ดี โดยวัดความคิดสร้างสรรค์ด้วยงานสร้างคำ (word creation task) และวัดความตื่นตัวทางสรีระ และกำจัด reporter bias ในการทดลองหนึ่งโดยให้ผู้ร่วมการทดลองโยนถุงบรรจุก้อนกลม ๆ ไปที่บัตรของขวัญที่ยึดอยู่ที่พื้น คือ การโยนถุงใกล้เกินไปแสดงว่า ผู้ร่วมการทดลองเห็นบัตรว่าใกล้กว่า และการโยนถุงไกลเกินไปแสดงว่า เห็นบัตรของขวัญว่าไกลกว่า งานทดลองแสดงว่า ความน่าปรารถนาของวัตถุ จะเปลี่ยนระยะทางที่เห็นของวัตถุ
แต่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างระยะทางที่รับรู้กับความน่าปรารถนา อาจจะซับซ้อนเกินกว่าที่คิดในเบื้องต้น เพราะว่า พื้นเพประวัติสิ่งแวดล้อม (context) อื่น ๆ สามารถมีผลต่อความบิดเบือนของการรับรู้ จริงอย่างนั้น ในเหตุการณ์อันตราย ความเอนเอียงที่เกิดจากความปรารถนาอาจจะหายไป ทำให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง และในเวลาเดียวกัน ความบิดเบือนที่เกิดจากสิ่งเร้าที่อันตราย อาจแก้ได้โดยใช้ psychosocial resources (ทรัพยากรทางจิตสังคม) ซึ่งมีความหมายตามที่กำหนดโดยแบบจิตวิทยา Resources and Perception Model (RPM) ว่าเป็นการได้รับความสนับสนุนจากสังคม (social support), ความรู้สึกว่าตนมีค่า (Self-esteem), ความรู้สึกว่าตนมีความสามารถ (self-efficacy), ความหวัง, การมองในแง่ดี, ความรู้สึกว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ (perceived control), และความเป็นผู้เปิดเผย (self-disclosure) ผู้ร่วมการทดลองจะกำหนดระยะทาง ในขณะที่ผู้ทำงานวิจัยเปลี่ยนแปลงความรู้สึกว่าตนมีค่าของผู้ร่วมการทดลอง โดยให้จินตนาการสถานการณ์ต่าง ๆ แล้วให้ดูสิ่งเร้าที่เป็นอันตราย (แมงมุมทารันทูล่า) หรือที่ไม่เป็นอันตราย (ตุ๊กตาแมว) ความรู้สึกว่าตนมีค่า มีผลรับรู้สิ่งเร้าที่เป็นอันตรายเท่านั้น คือ ความรู้สึกว่าตนมีค่าขึ้น สัมพันธ์กับการประเมินระยะทางที่แม่นยำกว่า ไปยังสิ่งเร้าที่เป็นอันตราย
วิธีการศึกษาอีกอย่างหนึ่ง ที่สามารถแสดงการเห็นตามความปรารถนาได้ ก็คือ โดยสังเกตการสร้างแบบจำลองเป็นตัวแทนของสิ่งแวดล้อมของระบบประสาท (ที่ทำให้เกิดการเห็น) มีงานศึกษาหลายงานที่แสดงหลักฐานสนับสนุนว่า ความปรารถนาหรือแรงจูงใจ จะมีผลประเมินขนาด ระยะทาง ความเร็ว ความยาว และความชัน ของสิ่งแวดล้อม หรือของวัตถุเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น เราจะเห็นวัตถุที่น่าปรารถนาว่าอยู่ใกล้กว่าความจริง การเห็นตามความปรารถนา ยังมีผลเห็นลูกบอลและอุปกรณ์อื่น ๆ ของนักกีฬาด้วย ยกตัวอย่างเช่น นักกีฬาซอฟต์บอลผู้เห็นลูกบอลว่าใหญ่กว่า จะตีลูกบอลได้ดีกว่า และนักกีฬาเทนนิสที่ตีรับลูกบอลได้ดีกว่า จะเห็นเน็ตต่ำกว่า และเห็นลูกบอลว่าช้ากว่า
ความมีแรง จะมีผลรับรู้ระยะทางและความชัน คือคนที่ต้องถือแบกของหนัก จะเห็นเนินเขาว่าชันกว่าไกลกว่า และของที่วางไว้บนเขาเทียบกับของที่วางไว้ในที่ราบ จะดูไกลกว่า คนที่มีสุขภาพแข็งแรง จะเห็นเนินเขาว่าเตี้ยกว่า และนักวิ่งที่เหนื่อยจะเห็นเนินเขาว่าชันกว่า
การรับรู้เช่นนี้ควบคุมโดยหลักการที่เรียกว่า "การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ" (efficient energy expenditure) คือ ความพยายามที่รู้สึกว่าต้องทำมากขึ้น (เช่นเขาชันกว่าความจริง) เมื่อหมดแรง อาจจะยังให้บุคคลพักแทนที่จะใช้พลังงานเพิ่มขึ้น
ความไม่กลมกลืนกันทางประชาน (cognitive dissonance) อาจมีผลรับรู้ระยะทาง ในการทดลองหนึ่ง มีการปรับเปลี่ยนความไม่กลมกลืนกันทางประชานของผู้ร่วมการทดลอง คือ ในกลุ่ม high choice นักศึกษาผู้ร่วมการทดลองจะถูกหลอกให้เชื่อว่า ตนได้เลือกที่จะใส่เสื้อผ้าของคาร์เม็น มิรานดา (นักบันเทิงมีชื่อเสียงในการใส่เสื้อผ้าแปลกประหลาด) แล้วต้องเดินข้ามวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย แต่ในกลุ่ม low choice จะมีการบอกนักศึกษาว่า ต้องใส่เสื้อผ้า ในกลุ่ม high choice เพื่อลดความไม่กลมกลืนทางประชาน นักศึกษาจะเปลี่ยนทัศนคติของตนเพื่อให้เข้ากับเหตุการณ์ คือ จะมองเห็นสิ่งแวดล้อมว่าเล็กน้อยกว่า (เช่น ทางที่ต้องเดินสั้นกว่า) เทียบกับนักศึกษาในกลุ่ม low choice ส่วนการทดลองที่ตรวจสอบการรับรู้ความชัน ให้ผลที่คล้าย ๆ กัน เป็นการทดลองที่นักศึกษาในสองกลุ่ม ต้องดันตัวเองขึ้นทางชันบนสเกตบอร์ดโดยใช้แต่แขนเท่านั้น นักศึกษาในกลุ่ม high choice รู้สึกว่าทางชันน้อยกว่านักศึกษาในกลุ่ม low choice เป็นความรู้สึกที่ลดความไม่กลมกลืนกันทางประชาน งานทดลองทั้งสองนี้บอกเป็นนัยว่า แรงจูงใจมีบทบาทสำคัญในการรับรู้สิ่งแวดล้อม เพื่อจะสนับสนุนเราให้มีพฤติกรรม ที่นำไปสู่การได้สิ่งที่ต้องการ หรือการทำงานที่ต้องการให้สำเร็จ
แม้ว่าเราจะปกติปรับเหตุผล หรือการรับรู้สิ่งแวดล้อมของเรา ให้เข้ากับความปรารถนา ในบางกรณี การเห็นหรือการคิดตามความปรารถนา อาจจะผันกลับ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีภัยเพิ่มขึ้น มีการใช้ภาพลวงตาเอ็บบิงก์เฮาส์ (เป็นภาพลวงตาที่ให้เห็นวงกลมใหญ่/เล็กเกินความจริง) เพื่อวัดการเห็นตามความปรารถนาผกผัน (reverse wishful seeing) ที่พบว่า ผู้ร่วมการทดลองประเมินวงกลมเป้าหมายเชิงลบ (คือมีรูปที่ให้เกิดอารมณ์เชิงลบในวงกลม) ที่ล้อมด้วยวงกลมที่มีรูปเชิงบวกหรือไม่มีรูป ตรงความจริงมากกว่ารูปเป้ามายเชิงบวกหรือเชิงกลาง ๆ
นอกจากนั้นแล้ว ความรู้สึกกลัวยังทำวัตถุที่กลัวให้ดูเหมือนใกล้กว่า โดยมีนัยเดียวกับงานศึกษาที่แสดงว่า วัตถุที่น่าปรารถนาดูเหมือนใกล้กว่า แต่ว่า บางคนอาจจะประสบกับการคิดหรือการเห็นตามความปรารถนาน้อยกว่า ขึ้นอยู่กับอารมณ์และบุคลิกของตน
งานวิจัยในปี ค.ศ. 2000 พบว่า คนที่วัดได้ว่าเป็นคนคิดตามความปรารถนา มีโอกาสที่จะผัดวันประกันพรุ่งมากกว่า เมื่อมีเหตุที่จะให้ทำเช่นนั้น (เช่น บอกว่า งานที่จะต้องทำเป็นงานไม่สนุก) แต่ว่า เมื่อบอกว่างานนั้นสนุก ผลจะไม่แตกต่างจากคนกลุ่มอื่น ซึ่งแสดงว่า เมื่อมีเหตุที่จะให้ผัดวันประกันพรุ่ง คนคิดตามความปรารถนาอาจจะคิดว่า ตัวเองสามารถทำงานให้เสร็จได้ในเวลาที่น้อยกว่า ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นการคิดตามความปรารถนา และดังนั้น จึงผัดวันการทำงานที่ไม่สนุก
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/ความปรารถนาหรือความเชื่อที่อยู่เหนือเหตุผล