คลองใหญ่ (อังกฤษ: Grand Canal) หรือ ต้า-ยฺวิ่นเหอ (จีนตัวย่อ: ???; จีนตัวเต็ม: ???; พินอิน: D? Y?nh?) ขุดในสมัยราชวงศ์สุย เริ่มขุดตั้งแต่ปี ค.ศ. 587 และใช้เวลาขุดกว่า 30 ปี ใช้แรงงานมนุษย์กว่า 6 ล้านคน จุดประสงค์เพื่อการขนส่งสินค้า การท่องเที่ยวดินแดนเจียงหนาน (ภาคใต้บริเวณปากแม่น้ำแยงซี) และเพื่อเชื่อมต่อดินแดนภาคเหนือและใต้เข้าด้วยกัน โดยให้ลั่วหยางเป็นศูนย์กลาง เริ่มจากอำเภอจั๋วจวิน (ปักกิ่งปัจจุบัน) จนถึงเมืองอู๋หาง (หางโจวปัจจุบัน) เชื่อมต่อกับแม่น้ำใหญ่ ๆ 5 สายในจีน อันได้แก่ แม่น้ำไห่เหอ แม่น้ำฮวงโห แม่น้ำหวยเหอ แม่น้ำแยงซี และแม่น้ำเฉียนถังเจียง มีความยาวกว่า 2,500 กิโลเมตร นับเป็นคลองขุดแรงงานมนุษย์ที่มีความยาวที่สุดในสมัยนั้น และถึงปัจจุบัน โดยแบ่งการขุดเป็น 4 ส่วน ได้แก่ คลองทงจี้ คลองหาน คลองหย่งจี้ และลำน้ำเจียงหนาน
คลองทงจี้ เริ่มจากนครลั่วหยาง เข้าสู่แม่น้ำฮวงโห ไปเชื่อมแม่น้ำหวยเหอที่ไหลผ่านซันหยาง (หวยอานปัจจุบัน) ต่อไปยัง คลองหาน ซึ่งเป็นคลองขุดโบราณจากยุคชุนชิว ในสมัยราชวงศ์โจว ซึ่งผู้ครองแคว้นหวู่ได้สั่งให้ขุดขึ้นตั้งแต่ 486 ปีก่อนคริสตกาล เชื่อมลำน้ำหวยเหอกับแม่น้ำแยงซีที่เมืองเจียงตู (หยางโจวปัจจุบัน) รวมระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร จากทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง ขุดไปเชื่อมกับ ลำน้ำเจียงหนาน ถึงเมืองอู๋หาง (หางโจวปัจจุบัน) ระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร ส่วนทางเหนือได้มีการขุด คลองหย่งจี้ เริ่มจากลั่วโข่วใกล้เมืองลั่วหยาง ขึ้นเหนือสู่จั๋วจวิน (ปักกิ่งปัจจุบัน) ระยะทาง 1,000 กิโลเมตร รวมกับลำคลองเล็กๆ อีกมากมาย เชื่อมโยงเข้าด้วยกันหมดเป็นเครือข่ายครอบคลุมทั้งเหนือใต้ ภาษีผ่านด่านตามคลอง อิฐ และไม้สำหรับสร้างพระราชวังก็ถูกส่งไปยังเมืองหลวงตามคลองสายนี้
ถึงสมัยราชวงศ์หยวน มีการย้ายเมืองหลวงไปยังปักกิ่ง ทำให้มีการขุดคลองไปยังหางโจวอีกสายหนึ่ง ย่นระยะทางลงกว่า 700 กิโลเมตร เหลือเพียง 1,800 กิโลเมตร ซึ่งก็คือส่วนที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน ต่อมาในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ แห่งราชวงศ์หมิงได้มีการขุดลอกบูรณะคลองต้า-ยฺวิ่นเหอให้กว้างและลึกขึ้นเป็นระยะทาง 130 ไมล์ สร้างประตูน้ำ 36 แห่ง โดยใช้แรงงานกว่า 3 แสนคน ใช้เวลาตั้งแต่ ค.ศ. 1411 ถึง ค.ศ. 1415 ปัจจุบันคลองใหญ่มีอยู่หลายช่วงที่ล่องเรือผ่านไปไม่ได้ และไม่ได้ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมค้าขาย แต่ก็ยังคงเป็นเส้นทางล่องเรือท่องเที่ยวที่สำคัญของจีน