คลอง (อังกฤษ: canal) คือ ทางน้ำหรือลำน้ำที่เกิดขึ้นเองหรือขุดเชื่อมกับแม่น้ำหรือทะเล ในภาษาไทยมีคำที่ใช้เรียกทางน้ำหรือลำน้ำขนาดต่างๆ รวมกันว่า แม่น้ำคูคลอง โดยแม่น้ำเป็นลำน้ำที่มีขนาดใหญ่มาก ส่วนคลอง และคูมีขนาดเล็กรองลงมาตามลำดับ คลองมักจะเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำ สู่แม่น้ำ หรือ ระหว่างทะเลสาบ และมหาสมุทร คลองมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในการส่งน้ำสำหรับการเดินทาง และอุปโภคบริโภค คลองที่เก่าแก่ที่สุดปรากฏในยุคเมโสโปเตเมีย 4000 ปีก่อนคริสต์ศักราช
ปัจจุบันในประเทศไทย คลองในฐานะที่เป็นเส้นทางการขนส่งทางน้ำเริ่มมีใช้ลดน้อยลง เนื่องจากการเพิ่มของถนนและทางรถไฟ ทำให้คลองในหลายสถานที่ไม่ได้รับความดูแล เกิดความเน่าเสียได้ง่าย ในหลายๆเมือง ได้นำคลองมาใช้ในการนันทนาการแทนที่ โดยมีการล่องเรือนำเที่ยวเมืองภายในคลอง
วัตถุประสงค์ในการขุดคลองข้างต้นนั้น บางครั้งเป็นการขุดคลองเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ในสมัยโบราณ ส่วนใหญ่เป็นการขุดคลองด้วยเหตุผลข้อที่ 1 หรือข้อที่ 2 ในช่วงต่อมา มีวัตถุประสงค์ข้อที่ 3 และข้อที่ 4 เข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนวัตถุประสงค์ข้อที่ 5 นั้นเป็นการขุดคลองเพื่อการประปาในสมัยใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของเมืองหรือชุมชนใหญ่ๆ ในด้านการมีน้ำที่สะอาดสำหรับการอุปโภคและบริโภค
คลองในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นคลองที่คนขุดขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ต่างๆ แต่ก็มีบางคลองที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศ มักเรียกลำน้ำเล็กๆ บางสายที่เกิดเองตามธรรมชาติว่า "คลอง" เช่น คลองกระแส จังหวัดระยอง คลองใหญ่ จังหวัดตราด คลองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี คลองปากนคร จังหวัดนครศรีธรรมราช และคลองนาทวี จังหวัดสงขลา แต่ในภาคเหนือและภาคกลางของประเทศ ถ้ากล่าวถึงคลอง ก็หมายถึงลำน้ำที่คนขุดขึ้นเพียงอย่างเดียว