คณะองคมนตรีในประเทศไทย คือกลุ่มบุคคลที่ให้คำปรึกษาแก่พระมหากษัตริย์ โดยในอดีตเคยใช้ชื่อ ปรีวีเคาน์ซิล (สภาที่ปฤกษาในพระองค์), องคมนตรีสภา, และ สภากรรมการองคมนตรี ตามลำดับ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นชื่อปัจจุบัน
คำ "องคมนตรี" ในภาษาไทย เกิดขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ 5 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งสภาขึ้น 2 สภา คือ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of state) จำนวน 12 คน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 (ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2437 ได้ยกเลิกไปและจัดตั้ง รัฐมนตรีสภา ขึ้นแทน) และปรีวีเคาน์ซิล (Privy council) หรือ ที่ปฤกษาในพระองค์ จำนวน 49 คน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2417 (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น องคมนตรีสภา)
ในรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งองคมนตรี จำนวน 40 คน ตั้งเป็น สภากรรมการองคมนตรี ทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมาย ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองคมนตรี ขึ้นใหม่ทุกปีในวันที่ 4 เมษายน เนื่องในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เมื่อสิ้นรัชกาลจึงมีองคมนตรีมากถึง 233 คน
ในรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเป็น 3 องค์กร คือ อภิรัฐมนตรีสภา เสนาบดีสภา และสภากรรมการองคมนตรี โดยอภิรัฐมนตรีสภาก่อตั้งเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เทียบเท่าได้กับสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 ประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่จำนวน 5 พระองค์ ซึ่งทรงเคยรับราชการตำแหน่งสำคัญในรัชกาลที่ 5 ประกอบด้วย
ต่อมาเมื่อมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ในระยะแรกคณะราษฎรได้มีประกาศยกเลิกอภิรัฐมนตรีสภา และพระราชบัญญัติองคมนตรี เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 และว่างเว้นมาเป็นเวลา 15 ปี จนกระทั่งในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490 จึงมีบทบัญญัติคล้ายคลึงกันโดยกำหนดให้มี "คณะอภิรัฐมนตรี" ทำหน้าที่นี้ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะองคมนตรี" ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 และใช้มาตราบจนถึงปัจจุบัน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ระบุว่าเป็นคณะบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิเป็น ประธานองคมนตรี คนหนึ่งและ องคมนตรี อื่นอีกไม่เกิน 18 คน ความเห็นที่ถวายต่อพระมหากษัตริย์ ต้องเป็นพระราชกรณียกิจ ที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษาเท่านั้น การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีหรือการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดย ประธานองคมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง องคมนตรี หรือให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ๆ ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ และพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออก หรือมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง
คณะองคมนตรี จะทำการประชุมทุกสัปดาห์ ณ ทำเนียบองคมนตรี บริเวณพระราชอุทยานสราญรมย์ ใกล้พระบรมมหาราชวัง ด้านถนนสนามไชย