คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. (National Peace Keeping Council - NPKC) เป็นคณะนายทหารที่ก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก, พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก และพลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ
คณะ รสช. ได้ออกคำสั่งคณะ รสช. ฉบับที่ 26 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 แต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) มีพลเอกสิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธาน ทำการอายัติและตรวจสอบทรัพย์สินของอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จำนวน 23 คน ผลการตรวจสอบทรัพย์สิน สรุปให้ยึดทรัพย์ของอดีตรัฐมนตรีจำนวน 10 คน
ในเวลาต่อมา ผู้ถูกยึดทรัพย์ได้ฟ้องคดีต่อศาลว่า คำสั่งของ รสช. และ คตส. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกามีคำพิพากษาในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2536 ว่าคำสั่งดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย และให้เพิกถอนคำสั่งการยึดทรัพย์
สภาฯ ตั้งขึ้นหลังประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 ตามมาตรา 18 ให้มีสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ประกอบด้วยบุคคลตามประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 และประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 เป็นกรรมการ ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ อาจแต่งตั้งกรรมการสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเพิ่มขึ้นได้อีกไม่เกินสิบห้าคน ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเป็นประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติคนหนึ่งซึ่งสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติแต่งตั้งเป็นรองประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และให้เลขาธิการคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเป็นเลขาธิการสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ให้สภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติแต่งตั้งบุคคลซึ่งเป็นหรือไม่ได้เป็นกรรมการสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เป็นรองเลขาธิการสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติคนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้ ในกรณีที่ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติทำหน้าที่ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และในกรณีที่ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และรองประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ
มีอำนาจหน้าที่ร่วมกับคณะรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีจะแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเสนอแนะหรือให้ความคิดเห็นในเรื่องใดๆ ที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่คณะรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดิน และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญการปกครองนี้ ในการประชุมร่วมกันของสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้ ให้ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
สภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติสิ้นสุดลงเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาแทนธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ