คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (อังกฤษ: United Nations Security Council; UNSC) เป็นหน่วยงานหนึ่งใน 6 หน่วยงานหลักของสหประชาชาติ
คณะมนตรีนี้ประกอบด้วยสมาชิกถาวร (Permanent members) 5 ประเทศ คือ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา และสมาชิกไม่ถาวร (Non-permanent members) 10 ประเทศ ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี และไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งซ้ำได้ในทันทีเมื่อหมดวาระ
สมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติใน พ.ศ. 2558 ได้แก่ ชาด ไนจีเรีย แองโกลา จอร์แดน มาเลเซีย ชิลี เวเนซุเอล่า นิวซีแลนด์ สเปน และลิทัวเนีย ประเทศไทยนั้นเคยได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อ พ.ศ. 2528 - 2529
การเลือกตั้งสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC จะแบ่งตามกลุ่มภูมิภาค 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิก กลุ่มแอฟริกา กลุ่มลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (GRULAC) กลุ่มยุโรปตะวันออก (EES) และ กลุ่มยุโรปตะวันตกและประเทศอื่น (WEOG) โดยกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิกได้รับการจัดสรรที่นั่ง 2 ที่ กลุ่มแอฟริกา 3 ที่ กลุ่ม GRULAC 2 ที่ กลุ่มยุโรปตะวันออก 1 ที่ และกลุ่ม WEOG 2 ที่
โดยเลือกตั้งสมาชิกไม่ถาวร UNSC จะมีขึ้นในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly – UNGA) ซึ่งมีการประชุมหลักๆ ในช่วงเดือนกันยายน ถึงธันวาคมของทุกปี โดยประเทศที่จะได้รับการเลือกตั้งจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 2 ใน 3 ของสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุม UNGA โดยเป็น การลงคะแนนลับ ทั้งนี้ สมาชิก UNSC ที่ได้รับการเลือกตั้งใหม่ จะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 มกราคม ของปีถัดไป
กลุ่มจี4 ได้เสนอให้มีการเพิ่มจำนวนสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจากปัจจุบัน 15 ประเทศ เป็น 25 ประเทศ โดยให้เพิ่มสมาชิกถาวรหกประเทศ และสมาชิกไม่ถาวรสี่ประเทศ รวมทั้งจากเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา ซึ่งทางด้านสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสได้ให้การสนับสนุนข้อเสนอของกลุ่มจี4 ส่วนด้านสหรัฐอเมริกาก็เห็นด้วยกับการเพิ่มจำนวนสมาชิกทั้งประเภทถาวรและไม่ถาวรในปริมาณจำกัด และต้องการให้มีการคัดเลือกสมาชิกถาวรใหม่โดยพิจารณาจากการเข้ามีส่วนร่วมในการรักษา สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และทางด้านรัสเซียและจีนก็ได้แสดงการสนับสนุนการเพิ่มจำนวนสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคง แต่ต้องการให้เพิ่มจำนวนเพียงจำกัดและอย่างค่อยเป็นค่อยไป และขึ้นอยู่กับความเห็นชอบในวงกว้างที่สุดในหมู่บรรดาสมาชิกสหประชาชาติ
ข้อ 27 ของกฎบัตรสหประชาชาติกำหนดวิธีการลงคะแนนเสียงข้อมติ คือ แต่ละประเทศสมาชิกฯ มีคะแนนเสียงหนึ่งคะแนนเท่ากัน โดยคำวินิจฉัยของ UNSC ในทุกเรื่องจะต้องกระทำด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบของสมาชิกอย่างน้อย 9 ประเทศ โดยต้องรวมคะแนนเสียงเห็นพ้องของประเทศสมาชิกถาวรทั้ง 5 ประเทศ ด้วย (เป็นที่มาของคำว่า “สิทธิยับยั้ง” (veto) อย่างไรก็ดี ไม่มีคำว่า veto ปรากฏในกฎบัตรฯ) ยกเว้นในกรณีคำวินิจฉัยเรื่องวิธีการดำเนินการ (procedural matters) ต้องการเสียงเห็นชอบจากสมาชิกประเภทใดก็ได้จำนวนอย่างน้อย 9 ประเทศ
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ