คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คตง. (State Audit Commission - SAC) เป็นคณะกรรมการ ที่ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มีหน้าที่กำกับดูแล สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของหน่วยงานของรัฐ เสนอรายงานผลการปฏิบัติงานต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีทุกปี
คตง. ทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดนโยบายและกรอบการทำหน้าที่ให้ ผู้ว่าการ สตง. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของสตง. นำไปปฏิบัติ
นอกจากนี้ คตง. ยังเป็นผู้สรรหาและแต่งตั้ง คณะกรรมการวินัยทางการเงินและการคลัง (ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 คือ คณะกรรมการวินัยทางบประมาณและการคลัง) ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 เพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยโทษทางปกครอง (โดยหลักคือการสั่งปรับเงินเดือน) ข้าราชการหรือนักการเมืองที่กระผิดทางงบประมาณและการคลัง เช่น ยกยอกทรัพย์ ทุจริต หรือไม่ทำตามระเบียบการพัสดุ เป็นต้น ในขณะที่พิจารณาลงโทษทางอาญานั้นเป็นหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. และศาล
สตง. ถูกปรับเปลี่ยนให้มีการบริหารงานแบบ "คณะกรรมการ" หลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ 2540 (หมวด 11) และมีสถานะเป็นองค์กรอิสระจากฝ่ายบริหาร (ก่อนหน้านี้ สตง. อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี) ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 (ปลายปี) ได้มีการประกาศใช้ "พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542" และมี คตง. ชุดแรกใน ปี พ.ศ. 2543 และมี คตง. ชุดที่สองในปี พ.ศ. 2547 ตามรายชื่อที่ปรากฏด้านล่าง
โดย คตง. ชุดแรกนี้มีวาระการดำรงตำแหน่งเพียง 3 ปี (และอยู่ได้เพียงวาระเดียว) เนื่องจากถูกสรรหาตามมาตรา 322 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 (ไม่มี "ประธานศาลปกครอง" ใน "คณะกรรมการสรรหา")
คตง. ชุดที่สองซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี (อยู่ได้เพียงวาระเดียว) กลับทำงานได้เพียง 3 ปี ก่อนสิ้นสภาพลงเมื่อ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 12/2549 หลังรัฐประหาร ปี พ.ศ. 2549
โดย คปค. ให้ผู้ว่าการ สตง. (ในขณะนั้นคือ นางจารุวรรณ เมณฑกา) ปฏิบัติหน้าที่แทน จึงกล่าวได้ว่า ผู้ว่าการ สตง. ในขณะนั้นผูกขาดอำนาจในการตรวจสอบการใช้งบประมาณแต่เพียงผู้เดียว ก่อนมีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญฯ ปี พ.ศ. 2550
รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 252 ได้บัญญัติองค์ประกอบของ คตง. ว่า คตง. ต้องประกอบด้วย “ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกหกคน” รวมเป็น 7 คน โดย “กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน” ถูกสรรหาโดย “คณะกรรมการสรรหา” เดียวกับการสรรหา ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวคือ คณะกรรมการสรรหาดังกล่าวประกอบด้วย 1) ประธานศาลฎีกา 2) ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 3) ประธานศาลปกครองสูงสุด 4) ประธานสภาผู้แทนราษฎร 5) ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 6) บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือก 1 คน และ 7) บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดเลือก 1 คน รวมกรรมการสรรหาทั้งหมด 7 คน
วิธีสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีดังนี้ คือ คณะกรรมการสรรหาลงคะะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมดที่มีอยู่ เพื่อเลือกผู้สมัครเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมา 3 คน (ตามคุณสมบัติในหัวด้านล่าง) และเสนอต่อประธานวุฒิสภา
ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่ย่อมเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542
รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติให้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ภายใน 1 ปี หลังการประกาศรัฐธรรมนูญดังกล่าว และให้สรรหา คตง. ชุดใหม่ (แทนชุดเก่าที่ถูกยกเลิกไปตอนรัฐประหาร พ.ศ. 2549 และมีผู้ว่าการ สตง. ทำหน้าที่แทน) ภายใน 120 วันหลังมีประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2557 มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 131 ตอนพิเศษ 200ง วันที่ 6 ตุลาคม 2557
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน