พระอาชญาเจ้าขุนรามราชรามางกูร (ลาว : ??????????????????????????????????, อังกฤษ : Phra Arjjaya Chao Khun Rammaraja Ramangkura, ราว พ.ศ. ๒๓๐๐-๒๔๐๐) ทรงเป็นเจ้าเมืองพนม (เมืองธาตุพนม) อันเป็นเมืองกัลปนาหรือเมืองพุทธศาสนานครพระองค์แรกจากราชวงศ์เวียงจันทน์ เมื่อครั้งธาตุพนมยังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรศรีสัตนาคนหุตล้านช้างเวียงจันทน์ ก่อนตกเป็นประเทศราชของราชอาณาจักรสยาม และทรงเป็นเจ้าขุนโอกาส (ขุนโอกลาษ) ผู้รักษากองข้าอุปัฏฐากพระบรมมหาธาตุเจ้าเจดีย์พระนม (พระธาตุพนม วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร) พระองค์แรกแห่งราชวงศ์เวียงจันทน์ ระหว่างราวปี พ.ศ. ๒๓๓๐-๒๓๕๐ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๓ (สมเด็จพระเจ้าสิริบุญสาร) ถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๕ (สมเด็จพระเจ้าอนุวงศ์) แห่งราชอาณาจักรเวียงจันทน์ ทรงเป็นต้นตระกูล รามางกูร (Ramangkura) แห่งอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ในภาคอีสานของประเทศไทย และทรงเป็นต้นตระกูล ลามางกูน (????????) หรือ รามางกูร (????????) แห่งนครเวียงจันทน์ ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อีกทั้งทรงเป็นผู้บูรณะและสถาปนาวัดหัวเวียงรังษีร้าง (วัดสวนสั่ง) ซึ่งเป็นวัดสำคัญอันเก่าแก่ของทิศหัวเวียงพระธาตุพนม
พระอาชญาเจ้าขุนรามราชรามางกูร ทรงมีพระนามเดิมว่าเจ้ารามราชหรือเจ้าลาม บ้างออกพระนามว่าท้าวลามหรือท้าวพระราม คนทั่วไปนิยมออกพระนามว่าญาหลวงรามราชหรืออาชญาหลวงราม ในเอกสารอนุญาตให้ใช้สกุลรามางกูร พุทธศักราช ๒๔๙๐ ของอาชญาเจ้าพระอุปฮาชา (เฮือง รามางกูร) ผู้มีศักดิ์เป็นพระนัดดา ออกพระนามของพระองค์ว่าขุนรามฯ และในเอกสารการสืบลำดับวงศ์สกุลอีกฉบับของนายคำมี รามางกูร (ท้าวคำมี บุคคละ) ผู้มีศักดิ์เป็นปนัดดา ออกพระนามของพระองค์ว่าขุนรามรามางกูร พระเถระและคนแก่ชาวธาตุพนมส่วนใหญ่บ้างก็นิยมออกพระนามว่าเจ้าพ่อขุนรามหรือเจ้าพ่อขุนโอกาส พระนามอันเป็นที่นิยมทั่วไปของบุตรหลานนิยมออกพระนามว่าขุนราม ทรงบรรดาศักดิ์ลาวโบราณที่ ขุนโอกาส อันเป็นการเรียกบรรดาศักดิ์ของเจ้าผู้ปกครองกองข้าโอกาสเมืองกัลปนาของลาวในสมัยโบราณ เป็นเหตุให้ในเอกสารพื้นประวัติวงศ์เจ้าเมืองพนมออกพระนามของพระองค์ว่าพระรามราชเจ้าขุนโอกาส (พระรามราชเจ้าขุนเอากาส) ส่วนราชทินนาม รามราชรามางกูร นั้นแปลว่า หน่อเนื้อเชื้อไขของราม หมายถึง เจ้ารามราชผู้เป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของเจ้าพระยาเมืองฮามนามฮุ่งศรี (เจ้าพระยาเมืองรามนามรุ่งศรี) ผู้เป็นพระบิดา หรืออาจหมายถึงเจ้ารามราชผู้เป็นหน่อแห่งพระราม เนื่องจากในตำนานกล่าวว่าพระองค์ทรงเป็นพระรามโพธิสัตว์กลับชาติมาเกิดสันนิษฐานว่าพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานราชทินนาม รามราชรามางกูร นี้แก่ราชวงศ์ผู้อพยพเข้ามาดูแลกองข้าโอกาส (ข้าอุปัฏฐาก) พระธาตุพนมและชาวเมืองธาตุพนมหลังการแตกศึกจำนวนหลายครั้งของเมืองธาตุพนมจนกลายเป็นเมืองร้าง ภายหลังจากพระองค์ขึ้นเป็นเจ้าเมืองธาตุพนมแล้ว ในเอกสารพื้นประวัติวงศ์เจ้าเมืองพนมได้ออกพระนามเต็มว่า พระอาจชญาหลวงเจ้าพระรามราชปราณีสีสุธมฺมราชา สหสฺสาคามเสลามหาพุทฺธปริษทฺทะบัวระบัติ โพธิสตฺวขัตฺติยวรราชวงศา พระหน่อรามาพุทธังกูร เจ้าเอากาสศาสนานครพฺระมหาธาตุเจ้าพฺระนม พิทักษ์บุรมมหาเจติย วิสุทฺธิรตฺตนสถาน
เชื้อสายฝ่ายพระบิดา พระอาชญาเจ้าขุนรามราชรามางกูร (ราม) เป็นพระโอรสในเจ้าพระยาเมืองฮามนามฮุ่งศรี (เจ้าพระยาเมืองรามนามรุ่งศรี) หรืออาชญาเจ้าคำอยู่ กับเจ้านางโมคส์คะลีศรีราชเทวี หรืออาชญานางบุคคะลี ฝ่ายเจ้าพระยาเมืองฮามนามฮุ่งศรี (คำอยู่) เป็นพระโอรสในเจ้าพระยาแสนศรีสุวณฺณไชยปุคฺคล หรือเจ้าคำมุก บ้างออกพระนามว่าเจ้าคำปุกมุกดา บรรดาศักดิ์เดิมที่เจ้าพระยานาเหนือ กรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่แห่งนครจำปาศักดิ์ กับเจ้านางลาดโนลีศรีสุวรรณเทวี หรืออาชญานางแพงสุวรรณ บ้างออกพระนามว่าอาชญานางแพง ฝ่ายเจ้าพระยาแสนศรีสุวณฺณไชยปุคฺคล (คำมุก) เป็นพระโอรสในเจ้าพระยาหลวงบุตร์โคตรวํสาเสดฺถบัวระพาสุวณฺณไชยปุคฺคล หรือเจ้าบุตรโคตร์ บ้างออกพระนามว่าเจ้าพระยาบุตรโคตรวงศา กรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่แห่งนครจำปาศักดิ์ กับเจ้านางเทพกินนะลีศรีขัติยราชวงศา หรืออาชญานางเทพกินรี ฝ่ายเจ้าพระยาหลวงบุตร์โคตรวํสาเสดฺถบัวระพาสุวณฺณไชยปุคฺคล (บุตรโคตร์) ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๓ หรือสมเด็จพระเจ้าสิริบุญสาร พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรศรีสัตนาคนหุตล้านช้างเวียงจันทน์พระองค์ที่ ๔ กับพระชายาพระนางนาถจันทรมาสศรีราชเทวี หรือเจ้านางจันทะมาส เชื้อสายเจ้านายผู้ปกครองเวียงกะบองขอนหรือเมืองศรีโคตรบองบริเวณปากเซบั้งไฟของลาว เจ้าพระยาหลวงบุตร์โคตรวํสาเสดฺถบัวระพาสุวณฺณไชยปุคฺคล (บุตรโคตร์) ทรงเป็นพระเชษฐาต่างพระราชมารดากับสมเด็จพระเจ้านันทเสน พระมหากษัตริย์เวียงจันทน์พระองค์ที่ ๕ สมเด็จพระเจ้าอินทวงศ์ พระมหากษัตริย์เวียงจันทน์พระองค์ที่ ๖ และสมเด็จพระเจ้าอนุวงศ์ พระมหากษัตริย์เวียงจันทน์พระองค์ที่ ๗ ฝ่ายเจ้านางเทพกินนะลีศรีขัติยราชวงศา ผู้เป็นพระปัยยิกา (ย่าทวด) ในพระอาชญาเจ้าขุนรามราชรามางกูร (ราม) นั้น เป็นพระราชธิดาในเจ้าวรขัติยวงศาพระยาราชาละครเจ้าเมืองละครพนมหรือเมืองนครบุรีราชธานีศรีโคตรบูรหลวง กับนางรัตนะยอดหล้าเทวี ฝ่ายเจ้านางลาดโนลีศรีสุวรรณเทวี ผู้เป็นพระอัยยิกา (ย่า) ในพระอาชญาเจ้าขุนรามราชรามางกูร (ราม) นั้น เป็นพระธิดาในเจ้าพระยาหลวงเมืองซ้าย กรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่แห่งนครเวียงจันทน์ กับนางหน่อพะลีจันทร์
เชื้อสายฝ่ายพระมารดา เจ้านางโมคส์คะลีศรีราชเทวี หรืออาชญานางบุคคะลี ผู้เป็นพระมารดาของพระอาชญาเจ้าขุนรามราชรามางกูร (ราม) นั้น เป็นพระธิดาในเจ้าพระยาหลวงสุกขรนันทา หรือเจ้าศรีสุรีจันทน์ กรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่แห่งนครจำปาศักดิ์ กับเจ้านางศรีสุวัณณคำลาย ฝ่ายเจ้าพระยาหลวงสุกขรนันทา (ศรีสุรีจันทน์) เป็นพระโอรสในสมเด็จเจ้าราชวงศ์ (สุริโย) เจ้านายในคณะอาญาสี่แห่งนครจำปาศักดิ์ กับเจ้านางแก้วรัตนะคัณฑี ฝ่ายสมเด็จเจ้าราชวงศ์ (สุริโย) เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร หรือเจ้าหน่อกษัตริย์ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จำปาศักดิ์ ผู้เป็นต้นราชตระกูล ณ จัมปาศักดิ์ กับพระนางแก้วยอดฟ้ารัตนะจำปาราชเทวี ฝ่ายเจ้านางแก้วรัตนะคัณฑีผู้เป็นพระปัยยิกา (ยายทวด) ในพระอาชญาเจ้าขุนรามราชรามางกูร (ราม) นั้น เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หลวงไชยะกุมมาร พระมหากษัตริย์แห่งนครจำปาศักดิ์พระองค์ที่ ๒ กับนางนักสนมสุมุงคุล ฝ่ายเจ้านางศรีสุวัณณคำลายผู้เป็นพระอัยยิกา (ยาย) ในพระอาชญาเจ้าขุนรามราชรามางกูร (ราม) นั้น เป็นพระธิดาในพระยาเมืองเพ็ง เจ้าเมืองละครเพ็งในประเทศลาว กับพระนางอักคี
ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๐ เรื่อง คำให้การพระยาเมืองฮาม ซึ่งเป็นเอกสารฝ่ายสยาม ได้กล่าวถึงเชื้อสายของพระอาชญาเจ้าขุนรามราชรามางกูร (ราม) ไว้ดังความว่า ...หลวงเสนีพิทักษ์ ขุนพิศณุแสน ข้าหลวง วัน ๒ ๑๒ ค่ำ ปีจออัฏฐศกศักราช ๑๒๔๘ นายทองมหาดเล็ก เจ้าราชสัมพันธวงษ์ เจ้าหมุนเมือ ณ จำปาศักดิ์ ราชวงศ์ผู้ว่าราชการเมืองเชียงแตง นั่งพร้อมกัน ณ ทำเนียบที่พักเมืองเชียงแตง ได้หาตัวพระยาเมืองฮามมาถามด้วยรายเขตต์แดนเมืองเชียงแตง กับเมืองพนมเปญติดต่อกัน พระยาเมืองฮาม อายุ ๕๖ ปีให้การว่า เดิมพระยาเมืองฮาม ชื่อนายอยู่ บุตรพระยานาเหนือ มารดาชื่อแพง ตั้งบ้านเรือนอยู่จำปาศักดิ์ ครั้นอายุพระยาเมืองฮามได้ยี่สิบเก้าปี มาได้บุตรสาวของเพี้ยนันทา เมืองนครจำปาศักดิ์เป็นภรรยาพระยาเมืองฮาม ก็ได้รับราชการอยู่กับเจ้านครจำปาศักดิ์คำ ๆ ตั้งให้เป็นที่เพี้ยสุขรนันทา รับราชการมาช้านาน เจ้านครจำปาศักดิ์ถึงแก่พิราลัยแล้ว เจ้าคำศุขลงไปรับสัญญาบัตรเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ พระยาเมืองฮามได้เข้ารับราชการมาช้านาน เจ้านครจำปาศักดิ์จึงตั้งให้เป็นที่พระยาเมืองฮาม ข้าพเจ้าได้ทราบความเมื่อครั้งปีวอกฉศก ศักราช ๑๒๔๖ ปี มีท้องตราพระราชสีห์โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาราชเสนาแต่ยังเป็นที่หลวงภักดีณรงค์ ขึ้นมาจัดการอยู่ที่เมืองนครจำปาศักดิ์ พระยาราชเสนาได้หาตัวอุปฮาดราชวงศ์ เมืองเชียงแตงแลกรมการผู้ใหญ่ผู้น้อย เมืองธราบริวัฒ เมืองศรีทันดร เมืองแสนปาง ขึ้นมาพร้อมกันที่เมืองนครจำปาศักดิ์ พระยาราชเสนา กับเจ้านครจำปาศักดิ์ ได้ถามอุปฮาดราชวงศ์เมืองเชียงแตง ว่าอาณาเขตต์เมืองพนมเปญมาติดต่อกับเมืองเชียงแตงที่ตำบลใดได้ปักปันสิ่งใดไว้เป็นสำคัญ อุปฮาดราชวงศ์เมืองเชียงแตง แจ้งความต่อพระยาราชเสนาข้าหลวง แลเจ้านครจำปาศักดิ์ว่า เขตต์แดนเมืองเชียงแตงต่อติดกับเมืองพนมเปญนั้นมีต้นมะขามที่บุ่งขลาท้ายเกาะแพ ด่านจะลับนั้นต่อติดกันที่ต้นกะโดนต้นหนึ่ง ต้นรังต้นหนึ่งหว่างเขาตาปมแต่เดิมมา ภายหลังเจ้าพระยาบดินทร์เดชา ฯ ก็ได้แต่งข้าหลวงออกมาปักปันเขตต์แดนที่ตำบลบุ่งขลาแห่งหนึ่ง ด่านจะลับแห่งหนึ่ง ครั้นปีฉลูสัปตศก ศักราช ๑๒๒๗ ปี เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์แต่ยังเป็นเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์ ได้ลงไปวัดเส้นตรวจทางไปถึงบุ่งขลา ได้เอาหลักเสาไม้แก่นปักซ้ำรอยหลักเดิมหลักหนึ่ง ไปปักด่านจะลับตามรอยหลักเดิมหลักหนึ่ง แล้วพระยาราชเสนากับเจ้านครจำปาศักดิ์ แต่งให้ข้าพเจ้ากับอำมาตย์เสนาเพี้ยเมืองซองเมืองนครจำปาศักดิ์ กับราชบุตรแสนปานท้าวสีโสราชเมืองศรีทันดร ไปปักหลักเขตต์แดนพร้อมด้วยอุปฮาดราชวงศ์เมืองเชียงแตง ข้าพเจ้าพร้อมกันได้ออกไปถึงด่านบุ่งขลาได้ตรวจตราเห็นว่ามีต้นมะขามสามต้น แต่หลักเก่านั้นชำรุดผุโค่นเสียหมด ข้าพเจ้าจึงตัดไม้แก่นปักลงไว้ที่ตำบลบุ่งขลาหลักหนึ่ง แต่ที่ด่านจะลับนั้นได้ตรวจตราเห็นว่ามีต้นกะโดนต้นหนึ่ง ต้นรังต้นหนึ่งอยู่หว่างช่องเขาตาปม แต่ต้นกะโดนต้นรังห่างพ้นเขาตาปมประมาณสิบเส้น ข้าพเจ้าก็พร้อมกันตัดเสาไม้แก่นปักไว้ห่างต้นรังเข้ามาสองวา ซ้ำรอยหลักเดิม แล้วข้าพเจ้าก็กลับมาแจ้งความต่อพระยาราชเสนาเจ้านครจำปาศักดิ์ ข้าพเจ้าให้การตามรู้ตามเห็น สิ้นคำให้การข้าพเจ้าแต่เท่านี้ ข้าพเจ้าได้ประทับตรารูปองคตถือพระขรรค์ไว้เป็นสำคัญ...
บรรดาศักดิ์ของพระบิดาและพระอัยกาในพระอาชญาเจ้าขุนรามราชรามางกูร (ราม) นั้น เป็นบรรดาศักดิ์ปรากฏในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์โบราณของลาว เรียกว่า "ขื่อบ้านขางเมือง" หมายถึงกรมการเมืองช่วยราชการเจ้านายในคณะอาญาสี่ บรรดาศักดิ์เจ้าพระยาเมืองฮามนามฮุ่งศรี หรือพระยาเมืองฮามของพระบิดานั้น คือข้าราชการพลเรือนชั้นผู้ใหญ่คอยกำกับช่วยเหลือพระยาเมืองขวา พระยาเมืองซ้าย และพระยาเมืองกลาง ในการดูแลพัศดุของนครประเทศราช ทำนองเดียวกับพะทำมะรงหรือพัศดีของสยาม รวมทั้งดูแลนักโทษ ดูแลโบสถ์ วิหาร ศาลา วัดวาอาราม กำกับการสักเลกไพร่ รักษาบัญชีเลกไพร่ที่ไปมีภริยาอยู่ต่างเมือง ตำแหน่งพระยาเมืองฮามนี้จะทำงานคู่กับพระยาเมืองคุก และพระยาเมืองแพน ส่วนบรรดาศักดิ์เจ้าพระยานาเหนือ หรือพระยานาเหนือของพระอัยกานั้น เป็นบรรดาศักดิ์คู่กับพระยานาใต้ ทำหน้าที่จัดหาเสบียงไว้ในยุ้งฉางสำหรับเป็นกำลังแก่บ้านเมืองยามศึกสงคราม เก็บส่วยในเขตแขวงบ้านเมือง เก็บเงินไพร่พลที่อพยพไปมีภริยาอยู่หัวเมืองอื่น โดยมีภูมิลำเนาอยู่แล้วหรือยังไม่มีภูมิลำเนาก็ตาม เรียกว่า เลกเขยสู่ หรือ เดินทุ่ง เป็นผู้สำรวจสำมะโนครัวของบ้านเมืองในชั่ว 3 ปี ต่อครั้ง เป็นผู้ควบคุมยวดยานสัตว์พาหนะ และควบคุมการแทงจำหน่ายเลก เช่น หนี หาย ตาย ชรา พิการ อุปสมบถ เป็นต้น นอกจากนี้ ในสำเนาสุภอักษรที่เสนาบดีแห่งกรุงธนบุรีได้มีมาถึงเสนาบดีแห่งนครเวียงจันทน์ ครั้งที่ ๒ ได้ออกพระนามของพระอัยกาในพระอาชญาเจ้าขุนรามราชรามางกูร (ราม) ไว้ดังความว่า ...ประการหนึ่งเร่งตัดท่าทางขนข้าวปลาเสบียงอาหาร อย่าให้กองทัพไปเถิงกรุงศรีสัตนาคณหูต ประการหนึ่งจงโอบอ้อมเอาไทข้าขอบขันธเสมากรุงเทพไว้ จะได้กลับกรุงศรีสัตนาคณหูต เห็นจะรุ่งเรืองเป็นใหญ่ เพราะเป็นใจไปด้วยพม่าแท้ อย่าให้ไพร่ลาวเป็นสุขได้ แต่ไพร่เมืองลาวเข้าไปสู่พระบรมโพธิสมภารประมาณหมื่นหนึ่งแล้ว บัดนี้ได้ส่งพระยาหลวงเมืองแสน พระยาหาญอาษา พระยาจันทอง พระยาโคตร พระยาบุตรโคตรแวงบ่าวบูรพา ทัพหมู่เตรียมหากับไพร่ชาย ๖๑ หญิง ๓ เป็น ๖๔ คน ขึ้นมาให้อัครมหาเสนาธิบดี และเสนาบดีทูลถวายแด่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคณหูตตามรับสั่ง สุภอักษร มา ณ วัน ๖ ๖ ฯ ๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๖๖ ปีมะแม ศ. ศก ให้พระยาหลวงเมืองแสนถือไปล้านช้าง...
สถานะของผู้ปกครองข้าโอกาสพระธาตุพนมที่ถูกกล่าวถึงในตำนาน เอกสาร และจารึกต่างๆ ได้ปรากฏอยู่ ๓ สถานะ ได้แก่
ก่อน พ.ศ. ๑๘๙๖ (จ.ศ. ๗๑๕) สมัยขอมเรืองอำนาจ เจ้านายผู้ปกครองเมืองธาตุพนมปรากฏในตำนานยุคแรกว่า เดิมมีสถานะเป็นนายด่านหรือนายกอง แบ่งการปกครองออกเป็น ๓ กองใหญ่ มีพระยาสหัสสรัฏฐา (เจ้าแสนเมือง) พระราชนัดดาในพระยานันทเสน (ก่อน พ.ศ. ๑๘๙๖) แห่งราชวงศ์ศรีโคตรบูรเป็นผู้ปกครองสูงสุด โดยมีพระยาทักขิณรัฏฐา (เจ้าเมืองขวา) และพระยานาคกุฏฐวิตถาระ (พระยาโต่งกว้าง) เป็นผู้ช่วย ต่อมา ในสมัยพระยาสุมิตตธัมมะวงศาเอกะราชามรุกขนครเจ้าเมืองมรุกขนคร ในอุรังคธาตุนิทานกล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นพระยาสุริยวงศาแห่งเมืองสาเกตุนครและเป็นพระยาศรีโคตรบองแห่งเมืองศรีโคตรบูรกลับชาติมาเกิด ยุคนี้กล่าวถึงผู้ปกครองธาตุพนมว่าได้รับการแต่งตั้งและได้รับพระราชทานสิ่งของต่างๆ จากพระยาสุมิตตธัมมะวงศา ดังความว่า ...พระยาสุมิตตธรรมจึงตรัสสั่งให้อาณัติแก่คนทั้งหลายว่า บุคคลเหล่าใดพอใจในการพระราชศรัทธา เราจะให้รับราชการเป็นข้าอุปัฏฐากมหาธาตุ...แล้วพระยาเทวะอามาตย์กดเอาเส้นได้สามพันถ้วน แล้วจึงให้ล่ามหลวงเอาเส้น และให้เป็นเจ้าเวียกเจ้าการ พระยาสุมิตตธรรมเจ้า จึงให้เอาพระเนียนเงิน พระเนียนคำ และเครื่องเฮ็ดเวียกบ้านการเมืองทั้งมวล ให้พระยาและเทวะอามาตย์ไปปงให้แก่คนทั้งหลาย แล้วพระยาเทวะอามาตย์เอาไปให้ล่าม นำไปแจกยายแก่นายด่านนายกอง เงินพัน คำพัน เสื้อผ้า ส่วนคนทั้งหลายนอกนั้นได้รับพระราชทาน เงินฮ้อย คำฮ้อย เสื้อผ้า พร้อมทั้งเครื่องใช้ในการงาน เป็นต้นว่า จก เสียม พร้า มีด ขวานน้อย ขวานใหญ่ สิ่ว ซี งัว ควาย พร้อมกับเกวียนลำหนึ่ง เรือลำหนึ่ง ทุกๆ คนเสมอกัน...
ราว พ.ศ. ๒๐๖๓-๒๐๙๐ (จ.ศ. ๘๘๒-๙๐๙) หลังขอมเสื่อมอำนาจลง ในสมัยพระเจ้าโพธิสาลราชแห่งนครหลวงพระบาง ปรากฏเจ้านายผู้ปกครองธาตุพนมในนิทานอุรังคธาตุว่าถูกส่งมาจากราชสำนักล้านช้างหลวงพระบางและมีเชื้อสายเป็นข่าเมืองส่วย เดิมเป็นข้าหัตถบาทในพระเจ้าโพธิสาลราช ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงถึงชั้นเจ้าหัวพัน เทียบได้กับเจ้าเมืองชั้นโท ราชทินนามว่า เฮือนหิน หมายถึงปราสาทหิน เนื่องมาจากชาวลาวนิยมเรียกศาสนสถานขอมหรือจามโบราณว่า เฮือนหิน มีอำนาจและบริวารมากแต่ไม่อาจอาศัยอยู่ในธาตุพนมได้ด้วยเหตุผลทางการเมือง พระมหากษัตริย์ลาวตั้งตำแหน่งเฉพาะนี้พระราชทานแก่เจ้านายผู้ปกครองธาตุพนมเป็นพิเศษ ดังความว่า ...ครั้งนั้นยังมีลูกข้าสองคน เมืองส่วยเอามาถวายแต่น้อยๆ พระองค์เลี้ยงไว้เป็นข้าหัตถบาส ผู้อ้ายนั้นชื่อว่า ข้าชะเอง ผู้น้องให้กินเฮือนหิน จึงได้ชื่อว่า พันเฮือนหิน พระโพธิสาลราชโปรดให้เป็นใหญ่ ปกครองข้าโอกาสทั้งมวล พระราชทานจุ้มและหลั่งน้ำไว้...ครั้นอยู่ต่อมาบ่เถิงปี พันเฮือนหินจึงได้หนีกลับขึ้นมาและเฝ้าพระยาโพธิสาลราช พระองค์จึงตรัสว่า กูหากให้เขือพี่น้อง เป็นข้อยพระมหาธาตุเจ้าแล้ว กูจักใช้สอยด้วยการอันอื่นย่อมบ่เป็น เมื่อมักมาอยู่ก็อยู่ชั่วคราว เถิงกาละออกวัสสา เขือจงนำเครื่องสักการะบูชา และเครื่องทานกูไปบูชาเป็นปกติเทิน ครั้งนั้น ข้าชะเองผู้อ้าย จึงเอาคนสามสิบคนเมืออยู่ด้วยสืบหน้าตามหลังพันเฮือนหิน แล้วแต่งคนเทียวส่งข้าวกกหมกปลาอีกฮ้อยสามสิบคน ครั้งนั้นขุนพันทั้งหลายมีความสงสัยพันเฮือนหิน จึงให้แต่งใส่เวียกชารืม สามสิบด้ามขวาน จึงได้เฮ็ดชารืมตั้งแต่นั้นมา...
ราว พ.ศ. ๒๒๒๔ (จ.ศ. ๑๐๔๓) สมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแห่งนครเวียงจันทน์ ปรากฏนามเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ของธาตุพนมได้สร้างพระพุทธรูปทองคำขึ้นองค์หนึ่ง ค้นพบเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ (จ.ศ. ๑๓๑๖) พระพุทธรูปองค์นี้มีฐานบุเงินประดิษฐานใต้พระวิหารวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ปรากฏพระนามตามจารึกว่า พระเจ้าสุวรรณาวรวิสุทธิ์ อุตมวิโรจน์ โชติรัตนาลังการ ฐานบุเงินของพระพุทธรูปจารึกนามถึงเจ้านายชั้นสูงของธาตุพนมว่า ...สังกราช ๔๓ ตัว ปีฮ้วงเฮ้า เดือน ๑๒ แฮม ๔ ค่ำ วัน ๕ มื้อกัดใส้ ยามแถใกล้เที่ยง วันฤกษ์ ๔ ลูก นาทีฤกษ์ ๕๙ ติดถี ๑๘ นาทีติดถี ๕๖,๕๓๘ มาส เกณฑ์ ๕๘๑ อาวมาน ๑๕,๕๙๙ หรคุณ หัวท้าวเคยแปง เล่าคึดกับทังมาตุปิตาชายา มีประสาทะสัทธา ประกอบด้วยมหากุสละเจตนา เลื่อมใสในวรพุทธศาสนายิ่ง จิงได้สร้างพระพุทธฮูปเจ้าขึ้นนามวิเศษ... ต่อมา หลังสมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (พ.ศ. ๒๑๘๑-๒๒๓๘) ยังปรากฏจารึกลานเงินพระราชสาส์ตราตั้งค้นพบในองค์พระธาตุพนม จารึกว่า ...จุลศักราชได้ ๕๗ ตัว เดือน ๑๒ ขึ้น ๖ ค่ำ วัน ๕ พระราชอาชญาเจ้านครวรกษัตริย์ขัติยราชวงศา เจ้าสิทธิพระพรนามกรแสนจันทรานิทธสิทธิมงคลสุนทรอมร... ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า เจ้านครวรกษัตริย์ขัติยราชวงศาแห่งเมืองนครพนมอาจโปรดเกล้าให้แสนจันทนิธสิทธิมงคลสุนทรอมร (พ.ศ.๒๒๓๘) มาเป็นผู้ปกครองเมืองธาตุพนม หลังจากนั้นไม่นาน ในตำนานบ้านดงนาคำได้กล่าวถึงผู้ปกครองธาตุพนมว่าถูกแบ่งออกเป็น ๓ กอง เหมือนครั้งแรกตั้งเมืองธาตุพนม ดังความความว่า ...ตามคำให้การของชาวบ้านดงนาคำ อยู่ในประเทศลาว ตรงข้ามกับธาตุพนม ซึ่งได้บอกกันสืบต่อๆ มาจากบรรพบุรุษว่า เมื่อสร้างยอดพระธาตุเสร็จแล้ว เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กได้สั่งให้หัวหน้าข้าโอกาสทั้ง ๓ คน คือแสนกลางน้อยศรีมงคล แสนพนม และแสนนาม พาครัวลูกหลานบ่าวไพร่อพยพจากบ้านธาตุพนมไปตั้งภูมิลำเนาอยู่แถวดงนาคำ ลึกจากฝั่งโขงเข้าไปในฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเขตประเทศลาว ก่อนไปเจ้าราชครูฯ ให้โอวาทว่า สูเจ้าจุ่งลูกหลานญาติพี่น้องจุ้มเจื้อเชื้อแนว ไปสร้างบ้านแปงเฮือนเฮ็ดไฮ่ใส่นาอยู่แถวดงนาคำบ่อนดินดำน้ำซุ่มพุ้น ที่นั้นมีผลหมากไม้บ่ไฮ้บ่อึด มียอดบุ่นยอดหวาย เผิ่งมิ้มของป่าของดงก็มาก ที่สร้างแปงไฮ่นาก็กว้างบ่อึดบ่หยาก ให้เคารพยำแยงคุณแก้ว ๓ ประการอย่าได้ประมาท ให้เอาบั้งจุ้มพระธาตุพนม (ตำนาน) เป็นที่ไหว้สักการะบูชาพิทักษ์ฮักษาอย่าขาด เพื่อให้เป็นเนื้อหนังอุปกรณ์แก่พระชินธาตุเจ้าตามเฒ่าแก่บูฮานมา ก็หากจักวุฒิศรีสวัสดิ์แก่สูเจ้าทั้งหลายทุกเมื่อหั่นแลฯ ดังนี้ ส่วนแสนกลางน้อยศรีมุงคุล ได้อพยพพวกพ้องไปตั้งอยู่บ้านมะนาว แสนพนมไปตั้งอยู่บ้านดงใน แสนนามพาครอบครัวไปตั้งอยู่บ้านดงนอก ทั้ง ๓ บ้านถือพระบรมธาตุและตำนานพระธาตุเป็นสรณะอันศักสิทธิ์สืบมาจนบัดนี้ ตำนานพระธาตุพนมที่ชาวดงนาคำได้ไว้นั้น เล่ากันว่าเป็นฉบับดั้งเดิม และละเอียดถูกต้องกว่าฉบับอื่นๆ จารึกลงในลานทองบรรจุหีบศิลาอย่างดี ต้องเปลี่ยนวาระกันสักการะบูชาบ้านเรือนละ ๓ วันเวียนกันไป ถือขลังและศักดิ์สิทธิ์จนเข้ากระดูกดำ ใครไปขอดูก็มิได้เพราะได้สั่งความกันไว้แต่สมัยก่อนโน้น และบอกลักษณะเจ้าเก่าที่จะมานั้นว่า ต้องพิสูจน์โดยนำเอาน้ำใส่โอ (ขัน) ใหญ่และให้เหยียบดู ถ้าน้ำไม่ล้นโอก็ใช่... หลังจากยุคนี้แล้ว สถานะของเจ้านายผู้ปกครองธาตุพนมก็เปลี่ยนไปตามความเสื่อมความเจริญของบ้านเมือง บางยุคก็เป็นขุนโอกาสบ้างนายกองข้าโอกาสบ้าง หัวหน้าข้าอุปัฏฐากบ้าง กวานเมืองบ้าง กวานเวียงพระธาตุบ้าง เจ้าเมืองบ้าง
พ.ศ. ๒๓๔๘ (จ.ศ. ๑๑๖๘) สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๕ (สมเด็จพระเจ้าอนุวงศ์) แห่งนครเวียงจันทน์ (พ.ศ. ๒๓๔๘-๒๓๗๑) เจ้าพระยาจันทสุริยวงศาเจ้าเมืองบังมุก (มุกดาหาร) ได้มีศรัทธาเสด็จมาปฏิสังขรณ์และผูกพัทสีมาในวัดพระธาตุพนม พร้อมทรงจารึกอิฐเผาไว้ด้วย จารึกนี้กล่าวถึงพระนามของเจ้านายชั้นสูงผู้ปกครองข้าโอกาสพระธาตุพนมไว้ว่า ...ศักราชล่วงได้ ฮ้อย ๖๘ ตัว ปีฮวายยี่ เจ้าพระยาจันทสุริยวงศา เมืองมุกดาหาร กับทั้งปุตตนัตตาภริยา มีอัคคะมหาเสนาเจ้าใหญ่ทั้งปวง มีปัสสาทสัทธาในวรศาสนาอันล้ำยิ่ง จึงให้พระยาหลวงเมืองจันทน์ ขึ้นมาปัคคัยหะกับขุนโอกลาษ พร้อมกันโมทนาเจ้าสังฆราชกับทั้งอันเตวาสิก พร้อมกันริจนาสิมมาสืบฮอยมืออรหันตาเจ้าไว้ ขอให้ได้ดังใจจงนิพพานปัจจโยโหตุฯ... ต่อมา พ.ศ. ๒๔๔๐ (จ.ศ. ๑๒๕๙) แอร์มอนิเย นักเดินทางชาวฝรั่งเศส ได้ทำการสอบถามถึงเชื้อสายของขุนโอกาส (ขุนโอกลาษ) เมืองธาตุพนมกับชาวบ้าน ได้รับคำตอบว่า ขุนโอกาสเมืองธาตุพนมซึ่งได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมพร้อมกับเจ้าพระยาหลวงเมืองจันทน์ตามจารึกผูกพัทสีมาวัดพระธาตุพนมนั้น ต่างเป็นอนุชาของเจ้าเมืองบังมุกซึ่งสืบเชื้อสายจากราชวงศ์เวียงจันทน์ ดังปรากฏในบันทึกว่า ...ที่ด้านตะวันออกมีกุฏิของพระสงฆ์ และวิหารจำนวนมาก เสาทำด้วยอิฐ หลังคามุงด้วยดินขอ วิหารหลังหนึ่งในจำนวนที่มีนั้น อ้างว่าสร้างโดยเจ้าอนุจากนครเวียงจันทน์ ซึ่งพังทลายไปครึ่งหนึ่งแล้ว วิหารลงรักปิดทอง มีจิตรกรรมและประติมากรรมที่ประตูวิหารทั้ง ๓ ด้าน อีกหลังหนึ่งนั้นไม่สวยเท่าวิหารที่กล่าวมา ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี มีจารึกภาษาลาวเขียนย้ำสามครั้ง บอกว่า เจ้าเมืองบังมุก พร้อมด้วยอนุชาทั้ง ๒ ซึ่งมียศศักดิ์เหมือนกัน ได้มาสร้างวิหารบูชาพระธาตุ... เกี่ยวกับเรื่องขุนโอกาสผู้ดูแลรักษาข้าโอกาสพระธาตุพนม และปฏิบัติวัฏฐากพระมหาธาตุเจ้าพนมนี้ ชาวเมืองธาตุพนมยกย่องกันมานานว่า ตระกูลรามางกูร ถือเป็นเชื้อสายโดยตรงของขุนโอกาส พระครูสิริเจติยานุรักษ์ พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ผู้มีพรรษามากของวัดพระธาตุพนม ได้เคยสนิทคุ้นเคยกับทายาทลูกหลานของตระกูลรามางกูรในวัดพระธาตุพนมมานาน ได้แสดงทรรศนะว่า ...ตระกูลรามางกูร เป็นตระกูลเก่าแก่ของอำเภอธาตุพนม เป็นตระกูลขุนโอกาสที่มีความสำคัญกับวัดพระธาตุพนมมาช้านาน และได้มีการใช้ชื่อ ขุนรามรามางกูร เป็นชื่อเรือยาวด้วยว่า เรือเจ้าพ่อขุนรามฯ แห่งวัดมรุกขาราม...บุตรหลานของตระกูลรามางกูรจะเกี่ยวข้องกับวัดพระธาตุพนมมาโดยตลอด เป็นไวยาวัจกรบ้าง เป็นมัคคทายกบ้าง...ทั้งมหาดวง รามางกูร ...พ่อใหญ่บุญ รามางกูร ก็เป็นไวยาวัจกร...พ่อใหญ่เศียร รามางกูร ก็เป็นมัคคทายก...
พ.ศ. ๒๔๒๕ (จ.ศ. ๑๒๔๔) ดร.เปแนซ์ หมอฝรั่งนักสำรวจชาวฝรั่งเศสได้บันทึกในหนังสือ Le Tour du Monde ว่าได้เดินทางเรือสำรวจแม่น้ำโขงขึ้นตอนเหนือผ่านเมืองธาตุพนม ราวเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๕ บันทึกนี้กล่าวถึงเจ้าเมืองธาตุพนมว่า ...ขณะเดินทางผ่านนครพนมนั้น เมืองต่าง ๆ ริมแม่น้ำโขงกำลังเป็นอหิวาตกโรค...ชาวบ้านชาวเมืองไม่ยอมฝังศพคนตายที่ตายด้วยอหิวาต์ เขาจะทิ้งศพลงน้ำโขงทุกราย แม้หมอแนซ์จะได้พยายามชี้แจงให้เจ้าเมืองธาตุพนมเกี่ยวกับเรื่องอหิวาต์ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรและขอร้องให้นำศพไปฝังเสีย เจ้าเมืองก็หายอมไม่ กลับตอบว่าเป็นธรรมเนียมของชาวบ้านชาวเมืองเช่นนี้ อหิวาต์มาจากทางเหนือเราก็ต้องส่งลงไปทางใต้ต่อไป... ดร. วีรพงษ์ รามางกูร (ดร. โกร่ง) อดีตรองนายกรัฐมนตรี, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายกสมาคมมิตรภาพไทย-ลาว ผู้สืบเชื้อสายเจ้าเมืองธาตุพนมมาโดยตรง ได้แสดงทรรศนะถึงเชื้อสายเจ้าเมืองธาตุพนมว่า ...ตระกูลผมเป็นเจ้ามืองธาตุพนมมาโดยตลอด นามสกุลนี่มาจากปู่ทวด มีบรรดาศักดิ์เป็นขุน คงจะเป็นหัวเมืองชั้นจัตวา เพราะว่าเจ้าเมืองแค่ขุนเท่านั้นเอง ชื่อว่า ขุนราม ก็เลยเอามาเป็นนามสกุลของตระกูล รามางกูรก็เลือดเนื้อเชื้อไขของราม คือขุนราม ลูกของขุนรามก็เป็นเจ้าเมืองต่อมา แต่ว่าเมืองคงจะใหญ่ขึ้น คิดว่าคงปลายกรุงศรีอยุธยาสืบทอดกันมาหลายชั่วคน ลูกของขุนรามก็เป็นเจ้าเมือง ต่อมามีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงแล้ว แสดงว่าเมืองใหญ่ขึ้น ชื่อว่า หลวงปราณีพุทธบริษัท ลูกของหลวงปราณีฯ ก็เป็นเจ้าเมืองต่อมา ชื่อว่า หลวงกลางน้อยศรีมงคล หลวงกลางน้อยฯ เป็นปู่ทวดของผม เป็นพ่อของปู่ของผมชื่อว่า เรือง ภาษาอีสานคือ เฮือง...ทีนี้หลวงกลางน้อยศรีมงคลเป็นเจ้าเมืองที่เป็นคนท้องถิ่นคนสุดท้ายของเมืองธาตุพนม หลังจากนั้นก็มีการปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ ๕ สมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ พระองค์เจ้าชายดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็เลิกเอาคนท้องถิ่นเป็นเจ้าเมือง ส่งข้าราชการจากกรุงเทพมหานครไป ก็เลยหมด ปู่ผมก็ไม่ได้เป็นเจ้าเมือง...ความที่ปู่มีความฝังใจอยากให้ลูกหลานเป็นเจ้าเมือง ก็บอกว่าให้ผมเรียนรัฐศาสตร์ให้เรียนปกครองและให้เข้ากระทรวงมหาดไทย... จากนั้น ในราวก่อน พ.ศ. ๒๔๑๖ (จ.ศ. ๑๒๓๕) ตระกูลเจ้าเมืองหรือขุนโอกาสเมืองธาตุพนมที่ถูกปกครองโดยเจ้านายสายราชวงศ์เวียงจันทน์ คือตระกูลของพระอาชญาเจ้าขุนรามราชรามางกูร ได้ถูกโยกย้ายอำนาจการปกครองไปสู่ทายาทสายชายาของพระอาชญาหลวงกลางน้อยศรีวรมุงคุล (ศรี) ผู้เป็นพระโอรสของพระองค์ ทายาทสายนี้ถูกลดอำนาจลงและปกครองธาตุพนมในฐานะนายกองข้าพระธาตุพนม ปรากฏนามท่านแรกคือหลวงอามาตย์ (อำนาจ) อดีตกวานเวียงชะโนด เมืองมุกดาหาร ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากยั้งกระหม่อมบ่าวหลวงเจ้าเมืองหลวงโพนสิมในแขวงสุวรรณเขตของลาว จากนั้นเครือญาติอีก ๒ ท่าน คือท้าวสุริยะ (อ้วน) และท้าวราชวัตริ์ (คูณ) ก็ปกครองกองข้าพระธาตุพนมสืบต่อมา ปรากฏว่าสยามได้แผ่อำนาจการปกครองมายังธาตุพนมบ้างแล้ว ดังปรากฏในเอกสารประวัติบ้านชะโนดว่า ...อามาตย์ผู้น้องมีบุตรชาย ๒ คน คือ อ้วน ๑ คูณ ๑ บุตรีหนึ่งชื่อซาว เติบโตขึ้นบ่าวอ้วนบ่าวคูณได้ลงไปเรียนเป็นกองปกครองข้าพระธาตุพนมที่กรุงเทพฯ ได้รับชื่อเป็นสุริยะราชวัตร์ขึ้นเป็นใหญ่ในบ้านชะโนด พวกนี้เป็นเชื้อลูกหลานบ่าวคำสิงห์ทั้งหมด...
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๒๓ (จ.ศ. ๑๒๔๒) สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ซึ่งสำเร็จราชการมหาดไทย ได้ทรงมีท้องตรามาถึงเจ้าเมืองมุกดาหารและเจ้าเมืองนครพนม เกี่ยวกับเรื่องการตั้งท้าวอุปละ (ถง) เชื้อสายเจ้านายเดิมของเมืองธาตุพนมให้มีบรรดาศักดิ์ที่ พระพิทักษ์เจดีย์ นายกองข้าตัวเลกพระธาตุพนม ซึ่งปรากฏในเอกสาร ร.๕ ร.ล.ตราน้อย เล่มที่ ๔ จ.ศ. ๑๒๔๒ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้มีข้อความกล่าวถึงเจ้าเมืองธาตุพนมว่า ...แต่ท้าวอุปละกับครอบครัวตัวเลกรายนี้ก็ปรนนิบัติรักษาอารามพระเจดีย์พระธาตุพนมมาช้านานหลายเจ้าเมืองแล้ว ถ้าจะไม่ตั้งเป็นหมวดเป็นกองไว้ ท้าวเพี้ยตัวเลกข้าพระธาตุจะพากันโจทย์ไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองเลกข้าพระธาตุพนมก็จะร่วงโรยเบาบางลงจะเสียไพร่พลเมือง... อย่างไรก็ตาม ในบันทึกการเดินทางครั้งนี้ยังพบว่า แม้ก่อนหน้านี้เมืองธาตุพนมจะเคยปกครองโดยเจ้าเมือง แต่ในราว พ.ศ. ๒๔๔๐ เป็นช่วงเวลาที่เมืองธาตุพนมปราศจากผู้ปกครองที่มีอำนาจเป็นเอกเทศจากเมืองอื่นๆ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องมาจากการเข้าแทรกแซงกิจการท้องถิ่นของเจ้าเมืองนครพนมและเจ้าเมืองมุกดาหาร และตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๔ (จ.ศ. ๑๒๔๓) ขึ้นไปเมืองธาตุพนมเคยเป็นเมืองอิสระจากอำนาจรัฐต่างๆ มาก่อน อำนาจนั้นสิ้นสุดลงใน พ.ศ. ๒๔๒๕ (จ.ศ. ๑๒๔๔) จนเป็นเหตุให้ผู้ปกครองธาตุพนมถูกแต่งตั้งโดยอำนาจจากสยาม และดังปรากฏในบันทึกว่า ...ความจริงก็คือว่า ประชาชนในถิ่นอารยธรรมแห่งนี้ และทุกคนที่ดูแลรักษาพระธาตุนั้น อยู่ภายใต้คำสั่งของขุนนาง ๒ คน ๑. พระพิทักษ์เจดีย์ เป็นหัวหน้าสำคัญ ซึ่งขึ้นกับเจ้าเมืองละคร ๒. หลวงโพธิ์สาราช ปลัดกอง ซึ่งขึ้นกับเจ้าเมืองบางมุก ยศศักดิ์ของขุนนางท้องถิ่นทั้ง ๒ นี้ ตกทอดต่อไปหาคนในครอบครัวเดียวกันได้ พวกเขาได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากสมเด็จมหามาลา นายกรัฐมนตรี จังหวัดภาคเหนือ ก่อนปี ๑๘๘๑ (พ.ศ. ๒๔๒๔) พวกเขาไม่ได้ขึ้นกับผู้ใด แต่ว่าหลังจากเกิดมีข้อพิพาท พวกเขาได้ขอความอารักขาจากเจ้าเมืองบางมุกและเจ้าเมืองละคอน และตั้งแต่นั้นมาเจ้าเมืองทั้งสอง ก็เข้าแทรกแซงกิจการท้องถิ่นของธาตุพนมเรื่อยมา ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชน ซึ่งไม่เพียงแต่อยู่ในดินแดนอารยธรรมเท่านั้น ทุกหมู่บ้านในเขตที่มีหน้าที่ดูแลรักษาพระธาตุพนม ฉะนั้นคนดูแลรักษาพระธาตุพนมสมัยก่อนมีจำนวนมากมาย ได้ลดลงเหลือ ๒ พันคน ทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนนั้นขึ้นกับบางมุก หรือละคร ๒ จังหวัดอยู่ใกล้เคียงกับพระธาตุพนม ไม่อาจจะเป็นเมืองได้และไม่อาจจะให้มีเจ้าเมืองได้ พระธาตุซึ่งเป็นพระเจ้าองค์เดียวเท่านั้น ที่สามารถทำให้เจ้าเมืองทุกคนตายลงโดยพลัน ข้าราชการพลเรือน ๒ คน ที่บังคับบัญชาพลเมืองนั้น จะต้องเห็นพ้องกับเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมเสียก่อน ในกิจการต่างๆ ที่จะทำเกี่ยวกับวัดพระธาตุพนม...
พ.ศ. ๒๔๔๙ (จ.ศ. ๑๒๖๘) หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินอีสานจากระบบเจ้าเมืองและคณะอาญาสี่ มาเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลแล้ว สมเด็จกรมฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จมาตรวจราชการมณฑลอุดร พระองค์ได้เดินทางไปยังหัวเมืองสำคัญต่างๆ ริมฝั่งโขง ทรงบรรยายถึงเหตุการณ์ต่างๆ ริมฝั่งโขง นามของเจ้าเมืองธาตุพนมได้ปรากฏขึ้นอีกครั้ง โดยพระองค์ได้กล่าวว่า พระองค์ได้ขึ้นเรือของเจ้าเมืองธาตุพนมด้วย ความว่า ...ฉันออกจากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ไปด้วยรถไฟพิเศษจนถึงนครราชสีมา จึงลงเรือไฟมาจากเมืองหนองคายระยะทาง ๔ วันถึงเมืองนครพนม ขึ้นเดินบก ขี่ม้าจากเมืองนครพนมทาง ๓ วันถึงเมืองสกลนคร จากเมืองสกลนครเดินบกวกกลับลงไป ๓ วันถึงพระธาตุพนมที่ริมแม่น้ำโขง ลงเรือยาวพายล่องจากพระธาตุพนมทาง ๒ วันถึงเมืองมุกดาหาร...จนมาลงเรือยาวพายล่องจากพระธาตุพนมลงมาเมืองมุกดาหาร ฉันลงเรือพายของเจ้าเมืองมา จึงได้เห็นน้ำวนในแม่น้ำโขงถนัด ที่แก่งคันกะเบา...
พระอาชญาเจ้าขุนรามราชรามางกูร (ราม) เป็นต้นสกุล รามางกูร (Ramangkura) และสกุล บุคคละ (Bhuccala) ผู้จดทะเบียนตั้งสกุลรามางกูรคือ เจ้าพระอุปฮาต (เฮือง) หรือนายฮ้อยเฮือง สกุลเดิม บุคคละ เป็นบุตรชายคนที่ ๓ ของพระอาชญาเจ้าหลวงกลางน้อยศรีวรมุงคุล (ศรี) เจ้าเมืองธาตุพนมองค์ที่ ๒ กับอาชญานางบุษดี เชื้อสายท้าวหม่อมบ่าวหลวงเจ้าเมืองหลวงโพนสิม เจ้าพระอุปฮาต (เฮือง) มีศักดิ์เป็นพระนัดดาของพระอาชญาเจ้าขุนรามราชรามางกูร (ราม) ส่วนผู้จดทะเบียนตั้งสกุลบุคคละคือ เจ้าพระอัคร์บุตร (บุญมี) บุตรชายคนแรกของพระอาชญาเจ้าหลวงกลางน้อยศรีวรมุงคุล (ศรี) เจ้าเมืองธาตุพนมองค์ที่ ๒ กับอาชญานางบุษดี เจ้าพระอัคร์บุตร (บุญมี) มีศักดิ์เป็นพระนัดดาของพระอาชญาเจ้าขุนรามราชรามางกูร (ราม) ทายาทผู้ร่วมใช้สกุลรามางกูรมาจากสายสกุลเดิม ๓ สาย คือ สกุล บุคคละ ๑ สกุล ประคำมินทร์ ๑ สกุล บัวสาย ๑ สกุลบุคคละถือเป็นสกุลเดิมของเจ้าพระอุปฮาต (เฮือง) ผู้ตั้งสกุล สกุลประคำมินทร์เป็นสกุลเดิมของธิดาพระอาชญาเจ้าขุนรามราชรามางกูร (ราม) ส่วนสกุลบัวสายมิใช่สกุลที่สืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองธาตุพนม แต่สืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองเรณูนคร
ในชั้นต้น มีผู้ใช้สกุลรามางกูร ๑๓ ท่าน (รวมเจ้าพระอุปฮาต (เฮือง)) ทายาทผู้ขอร่วมใช้สกุลรามางกูรเมื่อแรกตั้งสกุลนั้นมี ๑๒ ท่าน เดิมมี ๙ ท่าน ต่อมามีทายาทมาขอร่วมใช้อีก ๓ ท่าน บรรดาผู้ใช้สกุลรามางกูรที่สืบเชื้อสายสายตรงจากพระอาชญาเจ้าขุนรามราชรามางกูร (ราม) มี ๑๑ ท่าน อีก ๑ ท่าน มีฐานะเป็นญาติข้างภริยาของเจ้าพระอุปฮาต (เฮือง) จึงมิใช่สายเลือดโดยกำเนิด แต่นับถือว่าเป็นบุตรบุญธรรมและมีเชื้อสายเจ้านายฝ่ายเมืองเรณูนคร ผู้ใช้สกุลรามางกูรทั้ง ๑๒ ท่านนี้ มีทายาทที่เกิดแต่บุตร์ชายของพระอาชญาเจ้าหลวงกลางน้อยศรีวรมุงคุล (ศรี) อยู่ ๘ ท่าน ๘ ท่านนี้ มีศักดิ์เป็นทายาทชั้นเหลนของพระอาชญาเจ้าขุนรามราชรามางกูร (ราม) อีก ๓ ท่านหลังเป็นทายาทอันเกิดแต่บุตร์ธิดาของอาชญานางหล้าน้องสาวของพระอาชญาเจ้าหลวงกลางน้อยศรีวรมุงคุล (ศรี) นับว่า ๓ ท่านหลังนี้ เป็นทายาทชั้นเหลนของพระอาชญาเจ้าขุนรามราชรามางกูร (ราม) เช่นกัน แต่เป็นทายาทที่สืบมาทางฝ่ายสตรีนับลงมาได้ ๒ ชั้น คือชั้นมารดาและชั้นยาย ๒ ท่าน สืบมาทางฝ่ายสตรีแล้วผ่านทางบุรุษลงมาได้ ๑ ชั้น คือชั้นบิดาและชั้นย่าอีก ๑ ท่าน ในบรรดาทายาทที่สืบสกุลรามางกูรสายตรงจากพระอาชญาหลวงกลางน้อยศรีวรมุงคุล (ศรี) ชั้นหลานนั้นมีเพียง ๘ ท่าน เป็นบุตร์เจ้าพระอัคร์บุตร์ (บุญมี) ๒ ท่าน เป็นบุตร์ท้าวจารย์พุทธา ๑ ท่าน เป็นบุตร์เจ้าพระอุปฮาต (เฮือง) ๓ ท่าน เป็นบุตร์ท้าวพรหมบุตร์ (เที่ยง) ๒ ท่าน นับรวม ๘ ท่านนี้เข้ากับทายาทบุญธรรมของเจ้าพระอุปฮาต (เฮือง) ซึ่งเป็นเชื้อสายเจ้าเมืองเรณูนครแล้วได้ ๙ ท่าน ต่อมาทายาทสายน้องสาวของพระอาชญาหลวงกลางน้อยศรีวรมุงคุล (ศรี) อีก ๓ ท่าน ได้มาขอใช้สกุลร่วมกันภายหลัง จึงนับรวมทายาทผู้ขอใช้สกุลทั้งสิ้น ๑๒ ท่าน นับรวมกับอาชญาเจ้าพระอุปฮาต (เฮือง) ผู้ตั้งสกุลแล้ว จึงรวมผู้ใช้สกุลรามางกูรชั้นต้นสกุลได้ถ้วน ๑๓ ท่านเท่านั้น บรรดาทายาททั้ง ๑๒ ท่าน ซึ่งใช้สกุลรามางกูรร่วมกับเจ้าพระอุปฮาต (เฮือง) เมื่อครั้งแรกตั้งสกุลนั้น มีดังนี้
พงศาวลีของอาชญาเจ้าขุนรามราชรามางกูร จากหนังสือพื้นประวัติวงศ์เจ้าเมืองพนมปรากฏดังนี้