ขายหัวเราะ เป็นชื่อของนิตยสารการ์ตูนไทยรายสัปดาห์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ภายใต้การบริหารงานของ วิธิต อุตสาหจิต และเป็นหนังสือการ์ตูนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเล่มหนึ่งในประเทศไทย ควบคู่ไปกับนิตยสารมหาสนุก ซึ่งจัดพิมพ์โดยบรรลือสาส์นเช่นกัน เริ่มตีพิมพ์ฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2516 ในเวลาต่อมา ทางบันลือกรุ๊ป ได้ใช้งบ 10 ล้านบาทสำหรับการจัดทำขายหัวเราะในรูปแบบอีแม็กกาซีน โดยเวอร์ชันทดลองแรกเริ่ม มียอดดาวน์โหลดกว่า 2 หมื่นครั้ง ภายในช่วงระยะเวลา 4 วัน นอกจากนี้ ขายหัวเราะยังจัดเป็นนิตยสารการ์ตูนไทยที่สามารถทำยอดขายได้กว่าล้านเล่มของแต่ละเดือน ตลอดช่วงระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา
ขายหัวเราะ เปิดตัวครั้งแรกในวันพฤหัสบดีที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2519 เป็นนิตยสารที่นำเสนอการ์ตูนตลกสามช่องจบ หรือ การ์ตูนแก๊กเกือบตลอดทั้งเล่ม ภายในลงพิมพ์เรื่องขำขันแทรกเป็นช่วงๆ และเรื่องสั้นสามเรื่องในแต่ละฉบับ ซึ่งไอเดียในการเขียนการ์ตูนแก๊ก ขำขัน และเรื่องสั้นเหล่านี้ ผู้อ่านสามารถเขียนเพื่อนำเสนอให้ทางนิตยสารตีพิมพ์ได้ โดยต้องผ่านการพิจารณาจากกองบรรณาธิการก่อน นักเขียนเรื่องสั้นที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายคนก็เคยมีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารฉบับนี้ เช่น อธิชัย บุญประสิทธิ์, ดำรง อารีกุล, น้ำอบ, นอติลุส, เพชรน้ำเอก เป็นต้น นอกจากนี้ยังถูกลงในรายการ 3 โลกการ์ตูน ทางช่อง 3 ที่ต่ายกับนิคและบอกอวิธิตเป็นพิธีกร
ส่วนขนาดรูปเล่มของขายหัวเราะ ในสมัยเริ่มแรกมีรูปเล่มขนาดใหญ่เท่ากระดาษ A4 ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 จึงได้เริ่มปรับขนาดหนังสือให้เล็กลง โดยใช้ชื่อหนังสือเล่มเล็กว่า "ขายหัวเราะฉบับกระเป๋า" มีขนาดเท่ากระดาษ B5 ซึ่งเป็นขนาดของหนังสือขายหัวเราะในปัจจุบัน ส่วนขายหัวเราะฉบับเดิมก็ยังคงพิมพ์ต่อไป จนกระทั่งมีการยกเลิกในเวลาต่อมา เหลือเพียงขายหัวเราะฉบับกระเป๋าเท่านั้น
ราคาขายของขายหัวเราะในสมัยเล่มใหญ่นั้นอยู่ที่ 5 บาท (ต่อมาได้เพิ่มเป็น 6 และ 7 บาท) ต่อมาเมื่อมีการปรับขนาดลงมาเป็นฉบับกระเป๋า จึงมีการปรับราคาหนังสือใหม่เป็น 10 บาท ภายหลังจึงขึ้นราคาเป็น 12 บาท และ 15 บาท (ราคาปัจจุบัน ปรับขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2549) ตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น
กำหนดการออกนิตยสารนั้นเดิมกำหนดออกเป็นรายปักษ์ (ราย 15 วัน) ภายหลังจึงปรับให้ออกเป็นรายสิบวันและรายสัปดาห์พร้อมกับมหาสนุก โดยขายหัวเราะมีกำหนดออกในวันอังคาร ส่วนมหาสนุกออกจำหน่ายในวันศุกร์ ต่อมาจึงปรับกำหนดออกอีกครั้งให้เป็นวันพุธทั้งสองฉบับในเดือนเมษายน พ.ศ. 2541
รายชื่อนักเขียนของขายหัวเราะในปัจจุบันนี้อ้างอิงตามที่ปรากฏรายชื่อนามปากกาในนิตยสารขายหัวเราะ ฉบับที่ 1033 ประจำวันพุธที่ 20-26 พฤษภาคม 2552
วิธิต อุตสาหจิต ผู้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการได้เคยให้สัมภาษณ์ผ่านประชาชาติออนไลน์ว่า มีหนังสือขายหัวเราะจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น