ขนอน คือ ด่านเก็บภาษีอากรเมื่อผ่านเข้าไปในเขตหนึ่ง ๆ สมัยกรุงสุโขทัยจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว
ประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีอากรมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า "เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี...เจ้าเมืองบ่เอาจังกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขาย..." หมายความว่า ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงเป็นสมัยปลอดภาษีในการค้าขาย
ในสมัยสุโขทัย จังกอบคือภาษีชนิดหนึ่งอันเก็บจากผู้นำสัตว์และสิ่งของสินค้าไปเพื่อขายในที่ต่าง ๆ หรือนำเข้ามาขายในกรุงสุโขทัย การเรียกเก็บจังกอบใช้วิธี "สิบชักหนึ่ง" หรือ "สิบหยิบหนึ่ง" คือเก็บในอัตราร้อยละสิบตามภาษาปัจจุบัน และจังกอบนั้นไม่จำเป็นต้องชำระเป็นเงินสดเสมอไป อาจเป็นสิ่งขอหรือสัตว์ก็ได้เนื่องจากระบบการเงินในสมัยนั้นยังไม่สมบูรณ์
รัฐบาลสมัยสุโขทัยจะจัดตั้งด่านเก็บจังกอบสำหรับสินค้าทั่วไปในสถานที่ที่สะดวกแก่ผู้ชำระ เป็นต้นว่า ทางบกตั้งที่ปากทางหรือทางที่จะเข้าเมือง ทางน้ำตั้งที่ใกล้ท่าแม่น้ำหรือเป็นที่ทางร่วมสายน้ำ ด่านเก็บจังกอบนี้เรียก "ขนอน" ขนอนในสมัยสุโขทัยนี้มีหลายประเภทโดยเรียกชื่อตามสถานที่ตั้ง เช่น ขนอนบก ขนอนน้ำ ขนอนชั้นนอก ขนอนชั้นใน และขนอนตลาด เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะปรากฏหลักฐานว่าในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงเป็นสมัยปลอดภาษีค้าขาย แต่ก็ไม่ปรากฏว่าหลังสมัยนั้นจะมีการเก็บอีกหรือไม่
ในสมัยอยุธยา ปรากฏหลักฐานว่ารายได้ประเภทหนึ่งของรัฐบาลมาจากการเก็บ "จังกอบ" ซึ่งสมัยนี้เปลี่ยนมาเรียกว่า "อากรขนอน" หรือ "ภาษีผ่านด่าน" โดยเก็บจากผู้นำสินค้าผ่านด่านอันตั้งไว้ทั้งทางบกและทางน้ำ วิธีการเรียกเก็บคงใช้เหมือนสมัยสุโขทัย