การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ (อังกฤษ: Thailand National Games) เป็นการแข่งขันกีฬาหลายประเภท ระหว่างภูมิภาคในประเทศไทย โดยกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นผู้อำนวยการจัดแข่งขัน และมีกลุ่มนักกีฬาจาก 77 จังหวัดในประเทศไทยเข้าร่วม ปัจจุบันจัดการแข่งขันเป็นประจำทุกปี จากนั้นตั้งแต่การแข่งขันครั้งที่ 46 ประจำปี พ.ศ. 2561 จะปรับลดกำหนดแข่งขันลงเป็น 2 ปีต่อครั้ง
กีฬาแห่งชาติ เดิมเรียกว่า "กีฬาเขตแห่งประเทศไทย" จัดโดยองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย (อสกท.; ปัจจุบันคือ การกีฬาแห่งประเทศไทย; กกท.) เพื่อคัดเลือกผู้แทนนักกีฬาจากประเทศไทยไปแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 กีฬาเขตแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 จัดการแข่งขันที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1-5 พ.ย. พ.ศ. 2510 แบ่งการแข่งขันเป็นเขต จึงใช้ชื่อการแข่งขันว่า กีฬาเขตแห่งประเทศไทย โดยแข่งขันครั้งแรก แบ่งกลุ่มนักกีฬาออกเป็น 5 เขตจากภูมิภาคต่างๆ
หลังจากนั้น เมื่อจัดแข่งขันกีฬาเขตแห่งประเทศไทยครั้งต่อๆ มา จึงมีการปรับเพิ่มกลุ่มนักกีฬาตามเขตภูมิภาค ขึ้นเป็นลำดับตามความเหมาะสม โดยเฉพาะในการแข่งขันกีฬาเขตแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5 ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 10 เขต โดยแยกกรุงเทพมหานคร ออกมาจากเขต 1 เป็นเขต 10
ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 คณะกรรมการ อสกท.มีมติให้เปลี่ยนไปใช้ชื่อใหม่ว่า กีฬาแห่งชาติ เริ่มตั้งแต่การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ประจำปี พ.ศ. 2528 พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในการแข่งขันเพื่อเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่วงการกีฬาของชาติ
ต่อมาในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ การกีฬาแห่งประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬาแห่งชาติ โดยปรับลดกำหนดแข่งขันลงจากปีละ 1 ครั้งเป็น 2 ปีต่อครั้ง และปรับปรุงการแบ่งกลุ่มนักกีฬา จากเดิมที่แบ่งตามภูมิภาคจำนวน 10 เขต มาเป็นแบ่งตามจังหวัดทั้ง 76 และแข่งขันแบบ 2 ปีครั้งมาอีก 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 33 เชียงใหม่, ครั้งที่ 34 ราชบุรี, ครั้งที่ 35 สุพรรณบุรี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2549 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ กกท.ปรับเพิ่มกำหนดแข่งขันขึ้นจาก 2 ปีต่อครั้ง กลับไปเป็นปีละ 1 ครั้งตามเดิม ในครั้งที่ 36 นครศรีธรรมราช โดยให้เหตุผลเพื่อความต่อเนื่องในการพัฒนาวงการกีฬา แต่ยังแข่งขันในนามจังหวัดเหมือนเดิม
จากนั้นในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 40 ประจำปี พ.ศ. 2555 มีการเพิ่มกลุ่มนักกีฬา ขึ้นจาก 76 เป็น 77 จังหวัด เนื่องจากมีการก่อตั้งจังหวัดบึงกาฬขึ้นใหม่
วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ที่ประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยมีมติให้ปรับลดกำหนดการจัดแข่งขันกีฬาแห่งชาติลงจากปีละ 1 ครั้ง เป็น 2 ปีต่อครั้ง และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามนั้น เพื่อให้นักกีฬาได้มีเวลาในการเตรียมตัว ก่อนเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ เนื่องจากปัจจุบันมีการแข่งขันกีฬาทั้งในและต่างประเทศหลายรายการ ทำให้การเตรียมตัวของนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันซ้ำซ้อนกัน ซึ่งส่งผลกระทบฝึกซ้อมและงบประมาณในการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อความสอดคล้องกับการแข่งขันกีฬาหลายรายการทั้งในและต่างประเทศเหล่านั้น โดยจะเริ่มในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 46 ประจำปี พ.ศ. 2561 เพื่อให้สลับกับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์
ไฟพระฤกษ์ เป็นไฟที่อัญเชิญมาเพื่อประกอบพิธีเปิดกีฬาแห่งชาติและจุดในกระถางคบเพลิงตลอดการแข่งขัน ไฟพระฤกษ์สำหรับการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ เริ่มมีครั้งแรกในการแข่งขันกีฬาเขตแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2510 โดยคณะกรรมการจัดการแข่งขันจะต้องขอพระราชทานไฟพระฤกษ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อนำมา ทั้งนี้ คณะกรรมการจัดการแข่งขันจะต้องทำหนังสือติดต่อไปยังสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลถึงกำหนดนัดหมาย วัน เวลา สถานที่ ให้คณะกรรมการเข้าเฝ้ารับพระราชทานไฟพระฤกษ์นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงจุดจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วพระราชทานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติในปีนั้นๆ ที่กรุงเทพมหานคร
โดยวิธีการจุดไฟพระฤกษ์นั้น สำนักพระราชวังจะนำพระแว่น “สุรยกานต์” ไปทอดไว้ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่ละปี สำหรับพระราชพิธีจัดไฟขึ้นอยู่กับสถาวะอากาศ และเมื่อทรงประกอบพระราชพิธีจัดไฟเรียบร้อยแล้ว สำนักพระราชวังจะนำไฟพระฤกษ์ไปเก็บรักษาไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และจะเลี้ยงไว้สำหรับใช้ในปีนั้น จนกระทั่งถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ ของปีนั้น ไฟพระฤกษ์ที่เลี้ยงไว้นี้จะใช้ในพระราชพิธีต่างๆ รวมทั้งเชิญไปใช้ในการพระราชทานเพลิงศพบุคคลที่สมควรด้วย
การแข่งขันกีฬาแห่งชาติในปัจจุบันกำหนดให้มีการจัดการแข่งขันในรอบคัดเลือก เพื่อเลือกตัวแทนนักกีฬาของแต่ละจังหวัดให้เข้ามาแข่งขันในรอบสุดท้ายในระดับประเทศในปีนั้นๆ โดยรอบคัดเลือกในระดับภาคนี้จะจัดแยกกันออกไปในแต่ละภาคแบ่งออกเป็น 5 ภาค คือ
พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง
มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี และอุบลราชธานี