กิจกรรมบำบัด (อังกฤษ: Occupational Therapy) เป็นวิชาชีพทางวิทยาศาสตร์สุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีโดยอาศัยกิจกรรมเป็นสื่อ เป้าหมายเบื้องต้นของกิจกรรมบำบัด คือ การส่งเสริมให้บุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย ผู้พิการทางกาย เด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการหรือการเรียนรู้ ผู้ป่วยจิตเวช ผู้สูงอายุ ฯลฯ สามารถทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มความสามารถ ซึ่งนักกิจกรรมบำบัดจะต้องอาศัยความรู้หลายๆด้าน เพื่อช่วยลดข้อจำกัดทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคมของบุคคลเหล่านั้น อีกทั้งยังอาจต้องช่วยปรับ/ให้คำแนะนำในการปรับสภาพแวดล้อม เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มศักยภาพ ผู้ประกอบวิชาชีพกิจกรรมบำบัด ต้องสอบใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ สาขากิจกรรมบำบัดก่อน จึงจะสามารถปฏิบัติงานได้
วิชาชีพกิจกรรมบำบัดเริ่มมีครั้งแรกในประเทศไทย ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา โดยในระยะแรกงานทางกิจกรรมบำบัดจะเน้นหนักไปในการใช้งานศิลปะและงานอาชีพในการรักษาคนไข้จิตเวชที่อยู่ในโรงพยาบาล ต่อมา ได้มีการขยายขอบเขตงานไปยังผู้ที่มีปัญหาทางด้านร่างกายที่ โรงพยาบาลศิริราช ในระยะแรกนี้ วิชาชีพกิจกรรมบำบัด ถูกเรียกว่า อาชีวบำบัด เนื่องจากมีการนำงานอาชีพมาใช้ในการรักษาค่อนข้างมาก
หลังจากนั้น ได้มีการเตรียมการเปิดโรงเรียนอาชีวบำบัดขึ้นในประเทศไทย ที่ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยนายแพทย์ เทอดชัย ชีวะเกตุ ทางมหาวิทยาลัยได้จัดส่งนักกายภาพบำบัด และ พยาบาล จำนวน 6 คนเพื่อไปศึกษาและฝึกปฏิบัติด้านกิจกรรมบำบัดยังประเทศเยอรมนี และประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงการเตรียมตั้งภาควิชานี้เอง ได้มีการพิจารณา คำว่า อาชีวบำบัด นั้น อาจไม่ครอบคลุมถึงบทบาทของนักกิจกรรมบำบัดทั้งหมด จึงได้เริ่มมีการใช้คำว่า กิจกรรมบำบัด ขึ้น และ ภาควิชากิจกรรมบำบัดก่อตั้งขึ้นและเริ่มรับนักศึกษากิจกรรมบำบัดรุ่นแรกเข้าศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ต่อมาหลักสูตรกิจกรรมบำบัดได้เปิดขึ้นเป็นแห่งที่สองที่สาขากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเริ่มเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา พ.ศ. 2551
นักกิจกรรมบำบัดทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ที่มีความบกพร่องหรือพิการทางร่างกาย จิตใจ การเรียนรู้ และการพัฒนาเด็ก โดยใช้กระบวนการประเมิน การบำบัดฟื้นฟู การส่งเสริม การป้องกัน ด้วยสื่อ เทคนิค และวิธีการทางกิจกรรมบำบัด เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและทักษะความสามารถของการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต ได้แก่ การดูแลตนเอง การศึกษา การทำงาน การใช้เวลาว่าง การพักผ่อน และการเข้าสังคม ตาม
มาตรา 3 ในพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขากิจกรรมบำบัดเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2545
"กิจกรรมบำบัด" หมายความว่า การกระทำเกี่ยวกับความสามารถของบุคคลที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย จิตใจ การเรียนรู้และการพัฒนาเกี่ยวกับเด็ก โดยกระบวนการตรวจ ประเมิน ส่งเสริม ป้องกันบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ เพื่อให้บุคคลดำเนินชีวิตได้ตามศักยภาพโดยนำกิจกรรม วิธีการ และอุปกรณ์ที่เหมาะสมมาเป็นวิธีการในการบำบัด
มาตรา ๑๑ ผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขากิจกรรมบำบัดต้องมีความรู้ในวิชาชีพคือเป็นผู้ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาสาขากิจกรรมบำบัดจากสถาบันการศึกษาที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขากิจกรรมบำบัดรับรอง และต้องสอบความรู้ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขากิจกรรมบำบัดกำหนด สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย ต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะสาขากิจกรรมบำบัดจากประเทศที่สำเร็จการศึกษาด้วย
นักกิจกรรมบำบัดจึงทำงานในสถานที่ที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ โรงพยาบาลใหญ่ ๆ ทั้งของราชการและเอกชน โรงพยาบาลทางจิตเวช โรงเรียนเด็กพิเศษ ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการให้กับองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตตลอดทุกช่วงวัย
นักกิจกรรมบำบัดประเมินและออกแบบโปรแกรมที่มีลักษณะเฉพาะของผู้รับบริการ เน้นกรอบความคิดที่หลากหลายโดยครอบคลุมด้านบุคคล สิ่งแวดล้อม และการกระทำกิจกรรมที่มีเป้าหมาย มีคุณค่า และมีความสุข ตลอดจนการสร้างทักษะการจัดการตนเองในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดการความล้า การสงวนพลังงาน การจัดการความเครียด การจัดการกิจกรรมยามว่าง การฟื้นพลังชีวิต การพัฒนาทักษะทางจิตสังคม การพัฒนาทักษะทางการรู้คิด/ความคิดความเข้าใจ การพัฒนาทักษะชีวิต การพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เป็นต้น รวมทั้งประเมินและประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วย อุปกรณ์เสริม เครื่องดามมือ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม
นักกิจกรรมบำบัดริเริ่มโปรแกรมที่น่าสนใจในช่วง พ.ศ. 2550 ถึงปัจจุบัน ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์มากขึ้นในประเทศไทย ได้แก่ ช้างบำบัด การใช้ความรู้สึกที่หลากหลาย การผ่อนคลายความเครียด การจัดการความล้า การจัดการใช้เวลาทำกิจกรรมยามว่าง การจัดระบบบริการกิจกรรมบำบัดมหิดล (ในผู้รับบริการอัมพาต) กิจกรรมบำบัดสร้างสรรค์ด้วยศิลปะและดนตรี กิจกรรมบำบัดกับอาชาบำบัด การจัดกิจกรรมกลุ่มแบบพลวัต กิจกรรมบำบัดพัฒนาชีวิตหลังโรคต่างๆ เช่น มะเร็ง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง สายตาเลือนราง ซึมเศร้า ติดสารเสพติด ปวดหลัง สมองพิการ กล้ามเนื้ออ่อนแรงในนักดนตรี กลืนลำบาก ฯลฯ
เมื่อท่าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มาเยี่ยมที่คณะกายภาพบำบัด ก็ได้บันทึกถึงความหมายของคำว่า "กิจกรรมบำบัด" ผ่านบล็อก Go to Know
อาจารย์และนักกิจกรรมบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้บริการวิชาการด้านกิจกรรมบำบัดจนเป็นที่รู้จักในสื่อสาธารณะ ยกตัวอย่าง 1. รายการ ยิ้มสู้ ตอน หมออาสา...มาหานะเธอ ผลงาน คู่มือกิจกรรมบำบัดที่บ้าน หนึ่งในห้าโครงการต้นแบบ อาสา บวก บวก Ignite Thailand 2. รายการ Change Mahidol Channel ตอน บำบัดชีวิต พิชิตความล้า ผลงาน โปรแกรมการจัดการความล้าด้วยกิจกรรมบำบัด ครั้งแรกในเมืองไทย 3. รายการ เล็กๆเปลี่ยนโลก Mahidol Channel ตอน สุขกาย สบายใจ เราสร้างได้ ผลงาน โปรแกรมสุขภาวะจิตสังคม ได้รับทุน Go to Know และ สสส. ให้พัฒนาชุมชนนักปฏิบัติกิจกรรมบำบัด 4. บันทึก "กิจกรรมบำบัดชีวิต" ที่รวบรวมมากกว่า 900 บันทึก และต่อยอดกับชุมชนนักปฏิบัติกิจกรรมบำบัด คลิกคำสำคัญแนะนำในหน้าแรกของ Go to Know 5. ได้พัฒนาโมเดลการจัดระบบบริการกิจกรรมบำบัดมหิดล โมเดลทักษะชีวิตต้นไม้ และโมเดลการแปลความรู้กิจกรรมบำบัดศึกษา ซึ่งได้บันทึกเป็นเอกสารอ้างอิงที่ 60-62 ในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ 6. ได้เผยแพร่ความรู้สู่นิตยสารต่างๆ เช่น ชีวจิต Bแมกกาซีน Mother & Care ฯลฯ
นอกจากนี้ต้นแบบของ "โอทีบ้านนอก" ได้สร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนางานกิจกรรมบำบัดเพื่อชุมชนคนไทยได้อย่างกว้างขวาง
รวมทั้ง ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง ประธานหลักสูตรกิจกรรมบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แต่งหนังสือเผยแพร่งานกิจกรรมบำบัดเพื่อประชาชนไทย อาทิ กิจกรรมบำบัดพัฒนาชีวิต กิจกรรมบำบัดพัฒนาจิตสังคม จิตสำนึก ฝึกสมอง หลังอัมพาต การจัดการตนเองเมื่อเป็นมะเร็ง กิจกรรมบำบัดที่บ้าน นิตยสารเพื่อนรักษ์ เลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นดอกเตอร์ การพัฒนาแบบประเมินทางกิจกรรมบำบัดด้านสุขภาพจิตและจิตเวช และเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการเครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำสุขภาวะใหม่ ซึ่งผลลัพธ์ในอนาคต คือ การพัฒนาระบบกิจกรรมบำบัดเพื่อสังคมไทย ต่อไป ตัวอย่าง โรงเรียนการจัดการความสุข
พระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2545 กำหนดให้กิจกรรมบำบัดเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542