กาแฟขี้ชะมด หรือ กาแฟชะมด (อินโดนีเซีย: Kopi Luwak, อังกฤษ: civet coffee) หมายถึงเมล็ดกาแฟที่สัตว์กลุ่มชะมดโดยเฉพาะคืออีเห็นข้างลาย (Paradoxurus hermaphroditus) ได้กินและถ่ายออกมาแล้ว นอกจากนั้นแล้ว ยังหมายถึงเครื่องดื่มกาแฟที่ทำมาจากเมล็ดกาแฟชนิดนี้ โดยที่คนอินโดนีเซียเรียกกาแฟชนิดนี้ว่า Kopi Luwak (โกปิ ลูวะก์) (ซึ่งคำว่า Kupi เป็นภาษาอินโดนีเซีย แปลว่า กาแฟ ส่วนคำว่า Luwak หมายถึงอีเห็นข้างลาย) มีราคาซื้อขายที่สูงมาก เมื่อขายปลีกเป็นกาแฟปรุงสำเร็จถ้วยละ 500-1,500 บาท และขายเป็นเมล็ดกาแฟ กิโลกรัมละ 100,000 บาท (ราคาในประเทศไทย)
ผู้ผลิตการแฟอ้างว่า วิธีการที่ให้กำเนิดกาแฟนี้ เพิ่มคุณภาพผ่านกลไกสองอย่างคือ การคัดเลือกเมล็ด และการย่อย คือ ชะมดจะเลือกกินเมล็ดกาแฟซึ่งมีคุณภาพที่ดีกว่า และกลไกการย่อยของชะมดอาจจะเพิ่มรสชาติของเมล็ดกาแฟ คือ ชะมดจะกินเมล็ดกาแฟพร้อมกับเนื้อเข้าไป และจะเกิดการหมักในทางเดินอาหาร เอนไซม์ Protease ซึ่งช่วยย่อยโปรตีนจะซึมเข้าไปในเมล็ด ทำให้เกิดเพปไทด์ที่สั้นกว่าและจำนวนกรดอะมิโนอิสระที่มากกว่า ส่วนเมล็ดจะผ่านระบบทางเดินอาหารของตัวชะมดจนกระทั่งถ่ายออกมา ซึ่งชาวไร่จะเก็บและนำผ่านกระบวนการผลิตต่อไป
วิธีการผลิตกาแฟดั้งเดิมที่เก็บมูลชะมดในป่า ได้เปลี่ยนไปเป็นกระบวนการขังชะมดไว้ในกรงแล้วบังคับให้กินเมล็ดกาแฟ ซึ่งได้สร้างปัญหาด้านจริยธรรมเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงชะมด เพราะชะมดถูกบังคับให้อยู่ใน "สิ่งแวดล้อมที่น่าสะพรึงกลัว" รวมทั้งการถูกขังแยก อาหารที่ไม่ดี กรงที่เล็ก และอัตราการตายในระดับสูง ในปี ค.ศ. 2013 เจ้าหน้าที่ของบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ (BBC) ได้ทำการตรวจสอบไร่กาแฟชะมดในเกาะสุมาตรา แล้วได้พบว่ามีการทารุณสัตว์ นอกจากนั้นแล้ว วิธีการเลี้ยงชะมดเป็นฟาร์มยังได้รับคำวิจารณ์จากชาวไร่ที่ใช้วิธีดั้งเดิมอีกด้วย เพราะว่า โดยวิธีนี้ ชะมดจะไม่สามารถเลือกสิ่งที่กินได้ ดังนั้น เมล็ดกาแฟที่ผ่านการผลิตจะมีคุณภาพดีสู้การเก็บจากมูลของชะมดป่าไม่ได้ เจ้าหน้าที่ขององค์กรการกุศล Traffic ซึ่งเป็นองค์กรมีเป้าหมายในการลดความเสี่ยงความสูญพันธุ์ของสัตว์และพืชที่มีการค้าขาย ได้แจ้งว่า การค้าขายตัวชะมดเพื่อผลิตกาแฟ เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อจำนวนชะมดที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
กาแฟขี้ชะมดเป็นกาแฟที่แพงที่สุดชนิดหนึ่งในโลกโดยมีราคาขายปลีกนอกประเทศไทยถึง €550 หรือ US$700 ต่อกิโลกรัม ใกล้เคียงกับราคาของกาแฟงาดำ (Black Ivory coffee) ซึ่งเป็นกาแฟขี้ช้างผลิตในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งมีราคาที่ €850 / US$1100 ส่วนราคาที่จ่ายให้กับพ่อค้าคนกลางที่เก็บผลผลิตในประเทศฟิลิปปินส์อยู่ที่ประมาณ US$20 ต่อกิโลกรัม ส่วนกาแฟขี้ชะมดเลี้ยง (พิจารณาว่า มีเกรดต่ำ) ในซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศอินโดนีเซียมีราคาเริ่มตั้งแต่ US$100 ต่อกิโลกรัม (ประมาณ 5 เท่าของเมล็ดกาแฟอาราบิก้าคุณภาพสูงที่ปลูกในพื้นที่) การจะซื้อกาแฟขี้ชะมดที่ไม่ได้เลี้ยงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากในอินโดนีเซีย และการจะตรวจว่าเป็นของปลอมหรือไม่ยากยิ่งกว่านั้น เพราะว่า ไม่มีกฎหมายบังคับการใช้ชื่อสินค้าว่า "kopi luwak" และมีแม้แต่ตรากาแฟราคาถูกในพื้นที่ที่ใช้ชื่อว่า "Luwak", ซึ่งขายกาแฟมีราคาน้อยกว่า US$3 ต่อกิโลกรัม แต่บางครั้งจะมีการขายออนไลน์โดยหลอกว่าเป็นกาแฟขี้ชะมดของแท้
การตรวจสอบโดยองค์กรการกุศล People for the Ethical Treatment of Animals (มนุษย์เพื่อการปฏิบัติที่มีจริยธรรมต่อสัตว์) ซึ่งมีสโลแกนว่า "สัตว์ไม่ใช่ของเราเพื่อกิน ใส่ ทดลอง ใช้เพื่อการบันเทิง หรือทำทารุณกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง" พบว่า การฉ้อฉลเป็นเรื่องแพร่หลายในธุรกิจนี้ เพราะว่าผู้ผลิตยินดีที่จะติดป้ายกาแฟที่มาจากชะมดเลี้ยง ว่ามาจากชะมดป่า การตรวจสอบโดย BBC ในปี ค.ศ. 2013 พบผลอย่างเดียวกัน
กาแฟขี้ชะมดโดยมากจะผลิตบนเกาะสุมาตรา เกาะชวา จังหวัดบาหลี และเกาะซูลาเวซี ในประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการเก็บกาแฟจากชะมดป่าหรือชะมดเลี้ยงบนเกาะของประเทศฟิลิปปินส์ (ซึ่งเรียกว่า kape motit ในเขต Cordillera เรียกว่า kape alamid สำหรับผู้ใช้ภาษาตากาล็อก และ kape mel? หรือ kape musang ในเกาะมินดาเนา) และในประเทศติมอร์-เลสเต (ซึ่งเรียกว่า kaf?-laku) ในประเทศเวียดนาม กาแฟชะมดเรียกว่า c? ph? Ch?n ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Weasel coffee ซึ่งในที่ที่นิยม อาจจะผลิตโดยใช้สารเคมี ส่วนในประเทศไทย เริ่มปรากฏไร่ผลิตกาแฟขี้ชะมดที่จังหวัดกาญจนบุรีตราด ชุมพร และเชียงราย
กำเนิดของกาแฟขี้ชะมดสืบเนื่องกับประวัติการผลิตกาแฟในประเทศอินโดนีเซีย ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ชาวดัตช์ได้เริ่มทำไร่กาแฟซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ ในอาณานิคมคือหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ รวมทั้งเกาะชวาและเกาะสุมาตรา กาแฟที่เริ่มปลูกเป็นกาแฟอาราบิกาจากประเทศเยเมน ในสมัยที่มีกฎหมายบังคับปลูกพืช รัฐบาลดัชต์ห้ามทั้งชาวไร่กาแฟพื้นเมืองและคนงานจากการเก็บผลกาแฟเพื่อบริโภคเอง แต่ว่า แม้กฎหมายก็ห้ามความต้องการที่จะลิ้มรสเครื่องดื่มกาแฟไม่ได้ ไม่นานสักเท่าไร คนอินโดนีเซียก็เริ่มรู้ว่า ตัวอีเห็นข้างลาย (เป็นสัตว์ในวงศ์ชะมด) นั้นกินผลกาแฟ แต่กลับถ่ายเมล็ดกาแฟออกมาทั้งดุ้น ดังนั้น จึงเริ่มเก็บเมล็ดกาแฟจากมูลของชะมด แล้วทำความสะอาด คั่วแล้วบดเพื่อทำเครื่องดื่มกาแฟ เรื่องความหอมของกาแฟขี้ชะมดจากนั้นจึงเริ่มกระจายไปจนกระทั่งเจ้าของไร่คนดัชต์รู้ ซึ่งก็กลายมาเป็นสิ่งที่นิยมชื่นชอบ แต่ว่า เพราะมีน้อยและเป็นกระบวนการผลิตที่แปลก กาแฟขี้ชะมดจึงเป็นบริโภคภัณฑ์มีราคาแพงแม้ในช่วงสมัยล่าอาณานิคม[ต้องการอ้างอิง]
งานประเมินรสชาติของกาแฟอย่างเป็นกลาง ๆ ไม่ค่อยมี เนื่องจากชื่อกาแฟหมายถึงเมล็ดที่เก็บมาจากมูลของชะมด ดังนั้น รสชาติจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดและแหล่งกำเนิดของเมล็ดกาแฟ กับกระบวนการผลิตหลังจากเก็บ การคั่ว การบ่ม และการต้มกาแฟ นอกจากนั้นแล้ว ความสามารถในการเลือกผลกาแฟ อาหารอื่น ๆ และสุขภาพของตัวชะมด (เช่น ระดับความเครียด) อาจมีอิทธิพลผลิตและดังนั้นต่อรสชาติ
ในอุตสาหกรรมกาแฟ กาแฟขี้ชะมดถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ใช้เรียกร้องความสนใจ หรือสร้างความแปลก มีบทความของสมาคมกาแฟพิเศษของอเมริกา (Specialty Coffee Association of America ตัวย่อ SCAA) ได้กล่าวว่า มี "มติทั่ว ๆ ไป (ร่วมกัน) ในธุรกิจนี้ว่า... จริง ๆ แล้ว มีรสชาติที่ไม่ดี" บทความนั้น อ้างผู้เชี่ยวชาญในรสชาติของกาแฟผู้ทำการเปรียบเทียบเมล็ดกาแฟชะมดและกาแฟธรรมดา ผู้เชี่ยวชาญนั้นกล่าวว่า
เป็นเรื่องชัดเจนว่า กาแฟขี้ชะมดนั้นขายได้โดยอาศัยเรื่องที่เล่า ไม่ใช่อาศัยคุณภาพที่ดีกว่า... (คือ) โดยใช้วิธีการให้คะแนนตามมาตรฐานของ SCAA กาแฟขี้ชะมดได้คะแนนสองคะแนนต่ำกว่ากาแฟสามอย่างอื่น (ที่ใช้เปรียบเทียบ) ดูเหมือนว่า วิธีการผลิตจะลดรสชาติและระดับกรด (รสเปรี้ยว) ที่ดี แต่ทำให้ลื่นปากลื่นคอยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนเห็นว่า เป็นจุดดีของกาแฟ (ขี้ชะมด)
ทิม คาร์เม็น ผู้เป็นผู้สื่อข่าวในเรื่องอาหารของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ (ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ยอดนิยมในเมืองวอชิงตัน ดี.ซี.) ได้ทำงานปริทัศน์กาแฟขี้ชะมดที่มีขายต่อคนอเมริกันแล้วสรุปว่า
มีรสชาติเหมือนกับ...โฟลเกอร์ส (กาแฟสำเร็จรูปยี่ห้อหนึ่ง) (มีรสชาติ) เก่า ไม่มีชีวิตชีวา เหมือนกับมูลของไดโนเสาร์ที่กลายเป็นหินแล้วเอาไปแช่ในน้ำใช้ของอ่างอาบน้ำ ผมดื่มมันได้ไม่หมด
นักวิจารณ์บางท่านอ้างโดยทั่ว ๆ ไปว่า กาแฟขี้ชะมดเป็นการแฟที่แย่ ซื้อขายเพื่อความแปลกประหลาดมากกว่าเพื่อรสชาติ นายมาซิโม มาร์โคน ผู้ได้ทำการตรวจสอบทางเคมีของเมล็ดกาแฟต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่า คุณสมบัติอะไรในกาแฟทำให้ดีกว่าทำเครื่องดื่มกาแฟ เขาได้จ้างคนทดสอบรสชาติกาแฟมืออาชีพในการทดสอบแบบบอด แม้ว่าผู้ทดสอบจะสามารถบอกได้ว่า กาแฟขี้ชะมดต่างจากกาแฟอื่น แต่ผู้ทดสอบไม่มีคำชมอะไรนอกจากว่า มันเปรี้ยวน้อยกว่าและลื่นคอกว่า นายมาร์โคนจึงได้ให้ความเห็นไว้ว่า
เจ้าตัวลูวะก์ ซึ่งก็คือสัตว์เล็ก ๆ คล้ายแมว หลังจากมืดแล้วจะออกมาหม่ำผลกาแฟที่สุกที่สุดที่ดีที่สุดของเรา มันจะย่อยผลแล้วถ่ายเมล็ดออกมา ซึ่งคนไร่ของเราจะเก็บ ทำความสะอาด แล้วคั่ว เป็นของที่อร่อยมาก กระบวนการอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการหมักโดยธรรมชาติที่เกิดในท้องของลูวะก์ ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ทำให้แตกต่าง สำหรับคนชวาแล้ว นี่เป็นกาแฟที่ยอดที่สุดในบรรดากาแฟทั้งหมด เป็นโกปิ ลูวะก์ของเราเอง
อีเห็นข้างลายเป็นสัตว์กินผลไม้โดยมาก มักกินเบอร์รี่และผลไม้มีเนื้อเช่นลูกไทรและลูกปาล์ม นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังกินสัตว์มีกระดูกสันหลังเล็ก ๆ แมลง ผลไม้สุก และเมล็ด
การผลิตในยุคแรก ๆ เป็นการเก็บเมล็ดกาแฟในป่าในที่ที่อีเห็นจะถ่ายเพื่อแสดงอาณาเขตของตน ส่วนในฟาร์ม อีเห็นจะถูกขังไว้หรือปล่อยไว้ให้อยู่ในเขตที่กั้นไว้ อีเห็นกินผลกาแฟเพื่อจะเอาเนื้อ หลังจากประมาณวันครึ่งที่อยู่ในทางเดินอาหาร เมล็ดก็จะมีการถ่ายออกพร้อมกับมูลที่ออกมาเป็นพวง ๆ โดยเมล็ดจะยังคงรูปร่างเหมือนเดิม และยังปกคลุมด้วยชั้นในของเนื้อกาแฟอยู่
แม้ว่าจะสัมผัสกับมูลและสิ่งมีชีวิตที่นำโรคได้อื่น ๆ แต่เมล็ดกลับมีสิ่งมีชีวิตที่ก่อให้เกิดโรคได้สืบเนื่องกับอุจจาระน้อยมาก นอกจากนั้นแล้ว ผนังผลชั้นใน (endocarp) ที่หุ้มล้อมเมล็ด ก็จะไม่ได้มีการย่อยอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น หลังจากที่เก็บเมล็ดแล้ว ชาวไร่จะล้างให้สะอาด และเอาผนังผลชั้นในออกด้วย
เกาะสุมาตราเป็นแหล่งผลิตกาแฟขี้ชะมดที่ใหญ่ที่สุด โดยใช้เมล็ดกาแฟอาราบิกา ที่ปลูกในกลุ่มเกาะอินโดนีเซียมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 แล้ว เขตผลิตสำคัญอยู่ในจังหวัดลัมปุง จังหวัดเบิงกูลู และเขตปกครองพิเศษอาเจะห์โดยเฉพาะในเขตกาโยของเมือง Takengon ส่วนกาแฟขี้ชะมดตากาล็อกมาจากชะมดที่กินเมล็ดกาแฟประเภทต่าง ๆ และขายในเขตจังหวัดบาตันกัสและในร้านขายของขวัญใกล้สนามบินต่าง ๆ ในประเทศฟิลิปปินส์
ส่วนประเทศเวียดนามมีไร่ 2 แห่งที่มีชะมดป่ากว่า 300 ตัวในจังหวัดดั๊กลัก ในขณะที่เกาะมินดาเนาในประเทศฟิลิปปินส์มีไร่ 2 แห่งที่มีชะมดป่า 200 ตัว (ในเมืองดาเวา) และ 100 ตัว (ในเมือง Cagayan de Oro) แต่หมู่เกาะอินโดนีเซียที่มีการค้นพบ "โกปิ ลูวะก์" ได้เป็นผู้นำการผลิตในตลาดโลกมาเกือบ 3 ศตวรรษแล้ว โดยมีไร่กาแฟชะมดเล็ก ๆ ที่กำลังเกิดเพิ่มขึ้นอย่างมากมายในชนบท
มีงานศึกษาหลายงานที่ตรวจสอบกระบวนการย่อยผลกาแฟโดยกรดและเอนไซม์ในกระเพาะอาหาร และกระบวนการหมักเมล็ดกาแฟในทางเดินอาหารของชะมด งานวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์โภชนาการมาซิโม มาร์โคนที่ University of Guelph ในรัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา แสดงว่ามีสารคัดหลั่ง (secretion) จากระบบทางเดินอาหารของชะมดที่ซึมเข้าไปในเมล็ดกาแฟ เป็นสารที่มีเอนไซม์ Protease ซึ่งช่วยย่อยโปรตีนในเมล็ดกาแฟ ทำให้เกิดเพปไทด์ที่สั้นกว่าและจำนวนกรดอะมิโนอิสระที่มากกว่า โปรตีนเหล่านี้ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำสีให้เข้มขึ้นผ่านปฏิกิริยาเมล์ลาร์ด (Maillard reaction) โดยไม่ใช้เอนไซม์ ที่เกิดขึ้นเมื่อมีการคั่วเมล็ดกาแฟในภายหลัง นอกจากนั้นแล้ว ในขณะที่อยู่ในตัวชะมด เมล็ดจะเริ่มงอกซึ่งช่วยลดความขม มาร์โคนยังทำการวิเคราะห์สารประกอบระเหยง่ายที่ทำให้กาแฟมีรสและกลิ่นเหมือนกาแฟอีกด้วย แล้วพบว่า มีความแตกต่างโดยนัยสำคัญจากกาแฟธรรมดา เขาสรุปว่า
ดร. ดาวิลา คอร์เทส กล่าวว่า โครงสร้างโปรตีนที่เปลี่ยนไปจะทำลายความเป็นยาขับปัสสาวะของกาแฟ
มีกระบวนการทางอุตสาหกรรมหลายอย่างที่พยายามจะลอกเลียนแบบกระบวนการย่อยของชะมดโดยไม่ต้องอาศัยชะมด
นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยฟลอริดาได้จดสิทธิบัตรสำหรับกระบวนการหนึ่งเช่นนี้ ตามใบสมัครสิทธิบัตร มีการทดสอบทางประสาทสัมผัสและตรวจสอบว่า มีการลดระดับความขมของกาแฟอย่างมีนัยสำคัญ บริษัท Coffee Primero ได้ทำสัญญากับมหาวิทยาลัยเพื่อใช้เทคโนโลยีนี้
การเลียนแบบกระบวนการย่อยมีแรงจูงใจหลายอย่าง คือ ราคาแพงของกาแฟขี้ชะมดสร้างแรงกดดันที่จะหาทางผลิตกาแฟให้ได้เป็นจำนวนมาก และการผลิตกาแฟในปัจจุบันใช้แรงงานมาก ไม่ว่าจะเป็นแบบชะมดป่าหรือชะมดเลี้ยง ทั้งผลผลิตที่มีน้อย และแรงงานที่ต้องใช้ ล้วนแต่มีผลทำให้กาแฟมีราคาแพง นอกจากนั้นแล้ว การเลียนแบบอาจเป็นการตอบสนองต่อจำนวนชะมดที่มีลดลง
โดยดั้งเดิมแล้ว จะมีการเก็บกาแฟขี้ชะมดจากมูลของชะมดป่าที่พบรอบ ๆ ไร่กาแฟ ระบบการผลิตที่ไม่เหมือนใครเช่นนี้ ทำให้กาแฟมีน้อย และมีราคาแพง แต่เริ่มพึ่งเร็ว ๆ นี้ มีฟารม์ชะมดในเอเชียอาคเนย์ที่กำลังเพิ่มพูนจำนวน มีผลเป็นชะมดเป็นหมื่น ๆ ตัวต้องถูกขังอยู่ในกรง (คล้ายกรงไก่ในฟาร์มไก่) และถูกบังคับเรื่องการกิน[ต้องการอ้างอิง]
คริส เช็บเฟิร์ด ผู้เป็นรองผู้อำนวยการประจำเขตเอเชียอาคเนย์ขององค์การนอกภาครัฐ Traffic ซึ่งเป็นองค์กรมีเป้าหมายในการลดความเสี่ยงความสูญพันธุ์ของสัตว์และพืชที่มีการค้าขาย ได้กล่าวไว้ว่า
สภาพ (ของชะมด) แย่มาก เหมือนกับไก่ถูกขังในกรง (ในฟาร์มอุตสาหกรรม)... ชะมดจะถูกจับมาจากป่า และจะต้องทนต่อสภาพที่น่าสะพรึงกลัวหลายอย่าง พวกมันจะต่อสู้เพื่ออยู่ด้วยกัน แต่ก็ต้องมาแยกจากกัน และจะต้องทนต่ออาหารที่แย่มาก ๆ ในกรงที่เล็ก ๆ มีอัตราการตายในระดับสูงสำหรับชะมดบางประเภท เป็นความเสี่ยงที่สำคัญอนุรักษ์ชะมด สภาพเช่นนี้กำลังเพิ่มพูนอย่างต่อเนื่องและควบคุมไม่ได้ แต่สาธารณชนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้ว่ากาแฟขี้ชะมดนั้นทำมาอย่างไร เราควรจะรับรู้ว่า ชะมดเป็นหมื่น ๆ ตัวกำลังถูกขังอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ (ผมเชื่อว่า) เราจะรู้สึกสะอิดสะเอียนกับกาแฟ (ขี้ชะมด) ถ้ารู้
ในปี ค.ศ. 2013 การตรวจสอบโดยองค์กรการกุศล People for the Ethical Treatment of Animals (มนุษย์เพื่อการปฏิบัติที่มีจริยธรรมต่อสัตว์) ซึ่งมีสโลแกนว่า "สัตว์ไม่ใช่ของเราเพื่อกิน ใส่ ทดลอง ใช้เพื่อการบันเทิง หรือทำทารุณกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง" พบว่า ชะมดป่าถูกจับขังไว้ในฟาร์มในประเทศอินโดนีเซียและประเทศฟิลิปปินส์ ชะมดไม่มีโอกาสที่จะวิ่งไปวิ่งมา ขาดอาหารที่สมควร และไม่มีที่อยู่ที่เพียงพอ คลิปภาพยนตร์ที่ถ่ายในงานตรวจสอบแสดงพฤติกรรมผิดปกติของชะมดเช่น การเดินกลับไปกลับมา การเดินหมุน และการกัดกรง ขนชะมดบ่อยครั้งจะหลุดออก (ดูวิดิโอ Kopi Luwak - Cruelty in Every Cup (เสียงบรรยายเป็นอังกฤษ))
นายโทนี่ ไวลด์ นักการตลาดที่เริ่มนำกาแฟขี้ชะมดไปขายในประเทศตะวันตกกล่าวว่า เขาไม่สนับสนุนการบริโภคกาแฟขี้ชะมดอีกต่อไปเพราะเหตุทารุณกรรมต่อสัตว์ และได้เริ่มการรณรงค์ที่ใช้ชื่อว่า "Cut the Crap (ตัดขี้นั้นออก)" เพื่อหยุดการบริโภคกาแฟขี้ชะมด
ชาวไร่ที่เลี้ยงชะมดขังในเมือง Takengon เกาะสุมาตราเหนือ ได้ยืนยันต่อเจ้าหน้าที่ของ BBC ว่าตนส่งเมล็ดกาแฟขี้ชะมดขายให้กับผู้ส่งออกที่ส่งผลิตภัณฑ์ไปยังยุโรปและเอเชีย
กาแฟขี้ขะมดเป็นกาแฟที่แพงที่สุดอย่างหนึ่งของโลก มีราคาขายประมาณ 220-1,320 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลในปี พ.ศ. 2553 ส่วนกาแฟเพียงพอน (weasel coffee) ของคนเวียดนามที่ได้มาจากเพียงพอนป่า มีราคาที่ US$3,000 ต่อกิโลกรัม ลูกค้าโดยมากเป็นคนเอเชีย โดยเฉพาะคนญี่ปุ่น คนไต้หวัน และคนเกาหลีใต้ ส่วนแหล่งผลิตมีมากมาย แต่ละปีมีผลผลิตไม่เท่ากัน
ราคาที่จ่ายให้คนกลางที่ตระเวนเก็บจากผู้ผลิตในประเทศฟิลิปปินส์อยู่ใกล้ ๆ กับ US$20 ต่อกิโลกรัม
มีร้านกาแฟพิเศษที่ขายกาแฟขี้ชะมดแก้วละ 35-80 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนร้านกาแฟในเมืองจาการ์ตาขายกาแฟขี้ชะมดแก้วละ 6-10 ดอลลาร์สหรัฐ
มีรายงานเกี่ยวกับกาแฟที่ผ่านกรรมวิธีคล้าย ๆ กันแต่เป็นของธรรมชาติ โดยมาจากเก้งหรือนก และกาแฟขี้ช้าง (Black Ivory coffee) ที่ผลิตทางภาคเหนือของไทยโดยบริษัท Black Ivory Coffee Company Ltd
ในปี ค.ศ. 1995 นายจอห์น มาร์ติเนซ์ ของบริษัท จ. มาร์ติเนซ์ และคณะในเมืองแอตแลนตา ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับรางวัลอิกโนเบล (รางวัลโนเบลแบบประชด ๆ ทำนองตลก) สำหรับ "กาแฟลูวะก์ กาแฟที่แพงที่สุดของโลก ทำมาจากเมล็ดกาแฟกินแล้วถ่ายออกโดยตัวลูวะก์ (หรือรู้จักกันว่า อีเห็น) ซึ่งเป็นสัตว์คล้าย ๆ แมวป่าลิงซ์ แต่เป็นสัตว์ท้องถิ่นของอินโดนีเซีย"